KM PCU นครศรีธรรมราช


การจะให้ผู้เข้าประชุมเกิดความรู้สึก “ปิ๊ง” อยากเอา KM ไปใช้ต่อ จะได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ยังไม่กล้ารับประกัน

อาจารย์อุไร จเรประพาฬ อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มวล. โทรศัพท์มาขอนัดดิฉันเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะขอพาทีมงานจาก สสจ.มาปรึกษาเรื่อง KM ที่มาของเรื่องนี้คืออาจารย์อุไรได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรเรื่อง KM ในการประชุมที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๔-๑๕ กันยายนที่จะถึงนี้ อาจารย์อุไรบอกว่าทีมของจังหวัด “อยากจะจัดเรื่อง KM แต่ไม่รู้จะจัดอย่างไร”
 
เช้าวันนี้คุณกำไล สมรักษ์ หัวหน้ากลุ่มเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน รพ.ปากพนังที่รับหน้าที่เป็นเลขานุการของทีมงานกลางของจังหวัด พาทีมช่วยงานอีก ๒ คนมาพบดิฉัน คุณกำไลบอกว่า “คิดจะทำ KM ชาวบ้านไปก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เรียนรู้เลย”

คุณกำไลไม่ใช่คนไกล เป็นพี่สาวของอาจารย์อุไรนั่นเอง จากการพูดคุยกันทำให้รู้ว่าจังหวัดนครศรีธรรมราชมี PCU จำนวนถึง ๒๕๖ แห่ง แต่ที่มี RN อยู่มีจำนวนน้อยมาก เมื่อถามเป้าหมายของงานนี้คุณกำไลบอกว่า “ให้รู้เรื่องการทำ KM ต่อจากนั้นจะทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ”

ดิฉันได้อธิบายว่า KM เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นทีมงานต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะเอา KM ไปใช้เพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อให้รู้เรื่อง KM พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีของเครือข่าย KM เบาหวาน รวมทั้งตัวอย่างเครือข่าย PCU ที่มีการเอา KM ไปใช้เป็นเครื่องมือพัฒนางานด้านต่างๆ เช่น ศูนย์สุขภาพเมืองของ รพ.พุทธชินราชและ PCU เครือข่ายที่เอา KM ไปใช้ได้ในทุกงาน

ดิฉันแนะนำว่าควรกำหนดเป้าหมายของการเอา KM ไปใช้ให้ชัดเจน แล้วค่อยจัด KM workshop โดยหา/เชิญ PCU ที่มี best practice ในเรื่องนั้นๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและเรียนรู้เครื่องมือ KM อย่างไรก็ตามทีมงานจะต้องมีคนที่รับผิดชอบและมีแผนงานต่อไปที่ชัดเจน ไม่ใช่จัด workshop แล้วก็จบกันไป นอกจากนี้การจัด workshop ต้องมีการวางแผนและเตรียมการอย่างดี

สำหรับการประชุมในวันที่ ๑๔-๑๕ กันยายนนี้ ดิฉันคาดว่าน่าจะได้เพียงการแนะนำให้ผู้เข้าประชุมรู้จักว่า KM คืออะไร ดิฉันเสนอให้อาจารย์อุไรใช้ VCD ของ รพ.บ้านตากเป็นตัวนำ การจะให้ผู้เข้าประชุมเกิดความรู้สึก “ปิ๊ง” อยากเอา KM ไปใช้ต่อ จะได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ยังไม่กล้ารับประกัน

คุยกันไปมาหลายเรื่อง ในที่สุดคุณกำไลบอกว่าได้ไอเดียแล้วว่าควรจะไปทำอะไรบ้าง ดิฉันไม่ลืมที่จะบอกว่าอยากให้ KM เป็นเครื่องมือขยายความสำเร็จ ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยเกิดความภาคภูมิใจและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เกิดการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 124860เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2007 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีครับ ดร.วัลลา
  • มา ลปรร.ครับ
  • เห็นด้วยครับหากใช้ วีซีดีของ รพ.บ้านตาก เพราะทำไห้เห็นภาพได้ชัดเจนมาก
  • แต่ก่อนที่จะดูวีซีดี อาจจะเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับหลัก/แนวทางการนำKMมาใช้ในการสนับสนุนการทำงานเป็นเบื้องต้นก่อน
ขอบคุณคุณสิงห์ป่าสักสำหรับคำแนะนำดีๆ

จนป่านนี้ผมก็ยังไม่ได้ดูของ รพ.บ้านตาก เลยครับ เพราะที่ซื้อมาตอน มหกรรม KM ปี่ที่แล้ว ก็เอามาเปิดไม่ได้ จนเก็บลืมไปเลย ยังไงปีนี้จะไปหามาดูอีกครับ

แฮะๆ และขออนุญาต ถามถึง VCD มหกรรม KM เบาหวาน ครั้งที่ 1 ของเราด้วยครับ

เรียนคุณเอนก

VCD เครือข่ายเบาหวาน-ทางผู้จัดทำจะปรับแก้อีกครั้ง ต้องถามทางคุณธวัชว่าเรียบร้อยหรือยัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท