งานส่งเสริมสุขภาพของนิสิตทันตะ มน. ที่อุ้มผาง


การหา Key person ที่เหมาะสมในงานส่งเสริมสุขภาพ เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

   แม้ว่าจะผ่านมาเกือบเดือนแล้วที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปนิเทศงานนิสิตทันตแพทย์ ที่ไปฝึกงานที่โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก แต่วันนี้เพิ่งจะมีโอกาสเอามาแลกเปลี่ยนเพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ในเรื่องงานส่งเสริมสุขภาพกัน

   โจทย์ที่นิสิตได้รับ คือ การไปฝึกทำโครงการส่งเสริมสุขภาพในชุมชนที่น้องๆ เขาสนใจมาอย่างน้อย 1 โครงการ โดยให้เขาเลือกกลุ่มเป้าหมายกันเองเลยว่าจะทำโครงการกับประชาชนกลุ่มใดก็ได้

   สิ่งที่น่าสนใจ คือ น้องๆ ที่อุ้มผาง เขาเลือกทำโครงการกับกลุ่มครู กศน. ที่มีอยู่ในพื้นที่ ถึงตรงนี้หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่า "ก็ไม่เห็นแปลกใหม่อะไร เพราะใครๆ ก็เลือกลงทำโครงการในพื้นที่โรงเรียนกันเยอะแยะ" หรือ "ครู กศน. เป็นใคร จะมาช่วยอะไรเราได้ ฉันไม่เห็นรู้จัก" แต่สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจในโครงการนี้ตามที่นิสิตเล่าให้ฟัง คือ พื้นที่ อ.อุ้มผาง เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มผู้อพยพ เช่น กะเหรี่ยง พม่า และชนกลุ่มน้อยเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเงิน และไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับบัตรสุขภาพใดๆ ของทางราชการ เวลาที่พวกเขามา รพ. ก็ต้องทำบัตรขาว (เป็นบัตรสุขภาพที่ทาง รพ. ออกให้เอง) และให้การสงเคราะห์ฟรีโดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากทางรัฐบาล ทางกลุ่มนิสิตจึงเล็งเห็นว่า หากประชาชนกลุ่มนี้เจ็บป่วยและมารับการรักษาจากทาง รพ. เป็นจำนวน ก็จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ รพ. ประกอบการเดินทางมารับการรักษาของพวกเขาก็เป็นไปได้อย่างลำบาก บางครั้งกว่าจะเดินทางมาถึงก็สายไปเสียแล้ว ดังนั้น กลุ่มนิสิตจึงริเริ่มทำโครงการส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดปัญหาต่างๆ โดยเข้าหากลุ่มเป้าหมายทางครู กศน.

   เนื่องจากครู กศน. เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิด และมีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนกลุ่มนี้ ความที่พวกเขาอยากมีความรู้ อยากพูดภาษาไทยได้ ทำให้ระบบการศึกษานอกโรงเรียนของที่อุ้มผางค่อนข้างได้รับความสนใจ พวกเขาจะมีการรวมกลุ่มเรียนหนังสือกันสัปดาห์ละ 2 ครั้ง บางคนต้องเดินเท้ามาไกลหลายสิบกิโลเมตรเพื่อเรียนหนังสือ แต่ก็ยังมากันอย่างสม่ำเสมอ มีความเคารพ เชื่อฟัง และปฏิบัติตามในสิ่งที่ครูสอน การที่นิสิตเลือกทำงานกับครู กศน. เพื่อพยายามพัฒนาศักยภาพในด้านสุขภาพของครู จึงน่าจะช่วยขยายแนวความคิดในเรื่องสุขภาพให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มนี้ได้เป็นจำนวนมาก

   ต้องขอแสดงความชื่นชมต่อนิสิตทันตแพทย์กลุ่มนี้ที่สามารถหา Key person ที่เหมาะสมมาเป็นแนวร่วมในการทำงานส่งเสริมสุขภาพ เพราะหากเราสามารถหาบุคคลที่เหมาะสมมาช่วยผสานงานส่งเสริมสุขภาพได้ดีแล้ว ก็จะทำให้การทำงานเป็นไปได้ง่าย สะดวก มีประสิทธิภาพ และกระจายสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม

ปล. ขอขอบคุณ นทพ.วิชุนี วงศ์วาณิชวัฒนา, นทพ.สุจิตรา บุตรดา และ นทพ.ศุภลดา พิชญวิวัฒน์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้ร่วมเรียนรู้

หมายเลขบันทึก: 124026เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2007 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ก็ดีนะคะ เข้าผ่านคุณครูเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าตอนสอนเด็กปฐมวัย เด็กจะเชื่อครู มากกว่าพ่อแม่ซะอีก
  • ให้ความรู้ผ่านคุณครูกลุ่มคนที่เขาให้ความเคราพจะได้ผลดีมากค่ะ
  • เป็นกิจกรรมที่ดีค่ะ น่าชื่นชม

การหา key person เพื่อทำงานส่งเสริมสุขภาพ หรืองานอะไรก็แล้วแต่ในชุมชน จัดว่ามีความสำคัญ การค้นหา key person ก็ขึ้นอยู่กับว่า งานที่เรากำลังจะทำคืออะไร บทบาทของ key person ก็ควรประสานสอดคล้องกับงานนั้นๆ  เช่น หากงานเราต้องการสื่อสารเรื่องสุขภาพ key person ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนในชุมชน และสามารถกระจายข่าวให้เราได้ แต่หากเราต้องการให้เกิดการสั่งการ เราก็ต้องหา key ที่มีอำนาจ ดังนั้นkey person ควรจะเป็นใคร ก็ต้องขึ้นกับจุดมุ่งหมายของการทำงาน

หาก อ.หนิง จะช่วยเล่าเพิ่มเติม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า  นักศึกษากลุ่มนี้ลงไปทำอะไรบ้าง ก็จะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้นว่า ครูกศน. ที่เลือกมาทำงานด้วยนั้น มีความเหมาะสมอย่างไรค่ะ  

ตอนแรกพวกหนูจะลงไปทำโครงการกับกลุ่มครูดอยซึ่งเป็นครูที่อยู่ประจำหมู่บ้านที่ห่างไกลและเป็นที่ปรึกษาของคนในหมู่บ้านเพราะจะอยู่กินที่นั่นตลอด ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกระเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาและไม่ค่อยรู้ภาษาไทย แต่เนื่องจากติดปัญหาเรื่องของระยะเวลาเพราะครูดอยจะลงมาที่อำเภอแค่เดือนละ 1 ครั้ง หนูก็เลยเปลี่ยนไปทำโครงการกับกลุ่มครูพื้นที่ราบ(ประจำศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบล) โดยลงไปดูพื้นที่ ดูบทบาทของครูในการสอน ดูนักเรียนที่มาเรียน แล้วก็มาวิเคราะห์บทบาท สภาพแวดล้อมต่างๆ หลังจากนั้นจึงนัดครูพื้นที่ราบทั้งหมด 4 คน มาร่วมพูดคุยเรื่องสุขภาพของนักเรียนกศน. เนื่องจากครูเหล่านี้ใกล้ชิดกับเด็กจึงรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นเด็กสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ เวลาพ่นยาฆ่าแมลงตอนทำไร่จะไม่ปกปิดร่างกายให้มิดชิด มีวัยรุ่นบางกลุ่มติดบุหรี่ เป็นต้น จึงร่วมกันคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เรื่องที่สนใจจะทำร่วมกันมากที่สุดก็คือเรื่องการสื่อสารภาษาไทยเพราะเมื่อเด็กมีความรู้ความเข้าใจในภาษาไทยแล้ว เขาจะสามารถหาความรู้ด้านอื่นได้ด้วยตัวเขาเอง แต่การดำเนินงานในครั้งแรกเราลองลงไปที่ศูนย์การเรียนตำบลแม่กลองซึ่งมีนักเรียนที่เป็นคนไทยอยู่มากครูจึงลงความเห็นกันว่าควรเปลี่ยนเป็นเรื่องของการให้ความรู้เรื่องยาเสพติดเพราะศูนย์นี้มีปัญหาเด็กผู้ชายบางกลุ่มติดบุหรี่ โดยจะทำเป็นโครงการนำร่อง จากนั้นก็นำมาสรุปผลและคิดแนวทางโครงการเรื่องการสื่อสารต่อไป และวางแผนในการขยายผลต่อไปถึงครูดอย(เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่เราอยากลงไปทำ)ในวันที่จะมีการประชุมประจำเดือนของ กศนค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

นึกถึงตอนเรียนค่ะ กลัวจริงๆ ทันตกรรมชุมชนเนี่ย แต่ปรากฏว่าตอนนี้ ต้องลง survey เข้าใกล้ชุมชนมากเลยค่ะ/ทันตะ มน.รุ่น 1

นั่นแน่ มันหนีไม่พ้นจริงๆ ใช่ไหมล่ะ

เอาเรื่องราวเข้ามาแลกเปลี่ยนกันบ้างก็ได้นะคะ พี่ก็จะได้มีประสบการณ์และเรียนรู้มากขึ้น

ว่าแต่สาวไหนจ๊ะเนี่ย ICY น่ะ

ศัยษ์ครูปราโมท สีทา

ครูแดงค่ะหนูดีใจนะค่ะที่มีครูอย่างครูแดงครูแดงใจดีมากค่ะloveครูแดงนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท