ในการปฏิบัติธรรม ทำอะไร และอย่างไร? 2


การที่ผู้คนมีศรัทธาในพุทธศาสนายังต้องมีการปรับให้ศรัทธากับปัญญานั้นให้มีความสมดุลกันด้วยเช่นกัน เพราะจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมคือการให้เกิดปัญญาในการกำจัดกิเลส

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ตามที่ตั้งอยู่ตามที่ดำรงอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีอยู่ในกายนี้

 พุทธดำรัส

ดังนั้นในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องพยายามกำหนดรู้อย่างจดจ่อและต่อเนื่องถึง ความหนัก-เบา การเคลื่อนไหว-การหยุดนิ่ง ให้เข้าใจว่าเป็นการทำงานของรูปธาตุทั้งสี่ที่ปรากฏ เช่นการยกขึ้น คือธาตุไฟ ที่เปลวไฟย่อมลอยสูงขึ้น หรือสภาวะเย็น-ร้อนตามร่างกาย ก็เป็นลักษณะของธาตุไฟ การวางลง คือการทำงานของธาตุน้ำ ที่ไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ การตั้งตรง ตึง-หย่อน ผลักดัน-เคลื่อนไป  คือการทำงานของธาตุลม และสภาวะอ่อนหรือแข็งของร่างกาย คือ ธาตุดิน นี่เท่ากับเป็นการเห็นว่าร่างกายเรานี้เป็นเพียงกองลมหรือกองรูป ไม่เป็นบุคคล ตัวเรา ของเรา บุรุษ สตรี

นี่เป็นเพียงคำอธิบายแบบย่นย่อจากสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการไปปฏิบัติธรรมที่วัดท่ามะโอ ลำปาง โดยมีพระคันธสาราภิวงศ์ เป็นวิปัสสนาจารย์และได้สอนหลักวิชาการนี้ และการอ่านจากตำรา เรื่อง สติปัฏฐาน ๔ ที่ท่านเขียนเผยแพร่ (แปลว่าที่ถูกคือวิชาการที่ท่านสอน ที่อาจผิดคือเป็นไปตามความเข้าใจของผู้เขียนซึ่งยังเป็นนักเรียนอนุบาลในการปฏิบัติธรรมแต่อยากเล่าแบ่งปันประสบการณ์ ท่านผู้รู้โปรดชี้แนะ)

กิจกรรมหลักของการปฏิบัติธรรมในแนวสติปัฏฐาน ๔  ที่ผู้เขียนได้ปฏิบัติที่วัดนี้ ได้แก่

·       การสมาทานศีล ๕ (หลายท่านรับ ศีล ๘) ทุกวัน

·       การนั่งกรรมฐาน เป็นการนั่งแบบหลับตาและกำหนดรู้การยุบ-พอง หรือเจริญพุทธานุสติภาวนา(นะโมตัสสะฯ) เจริญเมตตาภาวนา (สัพเพสัตตาฯ) ซึ่งมีวิธีการเฉพาะ รวมทั้งการนั่ง แล้วยกมือขึ้น-ลง ช้าๆ ทีละข้าง กำหนดรู้การเคลื่อนไหว และ หนัก-เบาของมือ ผู้เขียนก็ได้มาเรียนรู้วิธีการใหม่ที่นี่เป็นครั้งแรก ใหม่ๆจะยังมีรูปร่างของอวัยวะ เช่นท้อง หรือ มือ ปรากฏในการกำหนด แต่เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ สัณฐานของอวัยวะจะหายไป เหลือเพียงความรู้สึกของการทำงานของธาตุทั้ง ๔

·       การเดินจงกรม (ไม่ใช่จงกลม) มีผู้บอกว่า จงกรม  แปลว่า การเดินกลับไป กลับมา อย่างกำหนดรู้ ที่นี่สอนการเดินแบบ ยก-ย่าง-เหยียบ โดยให้เดินในความช้า-เร็วตามธรรมชาติ ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป ท่านอาจารย์สอนว่า การเดินจงกรมนั้นก่อให้เกิดสมาธิเร็วกว่าการนั่งกรรมฐาน เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติควรทำให้ดีที่สุด สมาธิที่เกิดขึ้นจากการเดินจงกรมจะส่งผลให้การนั่งและการทำอิริยาบถย่อยมีคุณภาพตามไปด้วย

ผู้เขียนนั้นชอบการเดินจงกรมมาก แต่ท่านอาจารย์แนะนำว่าไม่ควรเดินต่อเนื่องกันนานเกินชั่วโมง หรือชั่วโมงครึ่งขาจะเดี้ยง จะปฏิบัติไม่รอดครบเจ็ดวัน ให้สลับกับการนั่งปฏิบัติบ้างอย่างน้อยสักครึ่งชั่วโมง

·       การกำหนดรู้อิริยาบถย่อย เรื่องนี้อาจนับได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ เดิมเคยสงสัยว่าทำไมผู้ปฏิบัติธรรมต้องทำอะไรช้ามากๆขนาดนั้น แม้อยู่นอกห้องฝึกปฏิบัติ เช่น กว่าจะก้าวย่าง กว่าจะเหยียดมือไปจับลูกบิดประตู กว่าจะยกช้อนตักอาหารเข้าปาก  ท่านอาจารย์สอนว่าถ้านักปฏิบัติกำหนดรู้อิริยาบถย่อยน้อย ก็จะส่งผลให้เกิดความฟุ้งซ่านอยู่เสมอ และนักปฏิบัติจะพูดกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา(ฟุ้งซ่าน)  การเจริญสตินั้นที่จริงท่านบอกว่าต้องทำตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับสนิท คือมีสติ กำหนดรู้การกระทำทุกอย่าง ตลอดเวลา ให้เหมือน เส้นด้ายที่ยาวต่อเนื่อง หรือสายน้ำที่ไหลไม่ขาดสาย

แม้ว่าเมื่อกลับบ้านคงไม่มีใครทำอะไรช้ามากๆอย่างนี้  แต่ที่มาปฏิบัติธรรมปัจจุบันขณะไม่ใช่ที่บ้าน นักปฏิบัติจึงควรเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยให้ช้ามากที่สุด ท่านสอนให้ผู้ปฏิบัติใหม่เช่นผู้เขียน ว่าให้พยายามกำหนดรู้อิริยาบถย่อยแต่ละอย่าง เช่นการเหยียดแขน เหยียดมือ โดยบริกรรมว่า เหยียดหนอๆ ให้ได้อย่างน้อย ๕ ครั้ง แล้วค่อยๆเพิ่ม เป็น ๑๐ ครั้ง ก็จะทำให้เคยชิน ผู้เขียนนั้นยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะเคยชินกับการทำอะไรอย่างรวดเร็ว  แต่ก็พยายามทำ

  

ในระหว่างการปฏิบัติ จะต้องปรับความเพียรกับสมาธิ ให้สมดุลกัน การเพียรปฏิบัติที่มุ่งมั่นคาดคั้นเกินไป จะทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน แต่หากมีความเพียรน้อยเกินไปก็จะทำให้เกียจคร้านง่วงโงกได้

การที่ผู้คนมีศรัทธาในพุทธศาสนายังต้องมีการปรับให้ศรัทธากับปัญญานั้นให้มีความสมดุลกันด้วยเช่นกัน  เพราะจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมคือการให้เกิดปัญญาในการกำจัดกิเลส สู่หนทางแห่งการพ้นทุกข์  จากการที่ต้องเวียนว่ายอยู่ในห้วงกระแสของกิเลสที่เป็นความโลภ ความโกรธ และความหลง สามารถบรรลุคุณธรรมพิเศษในพุทธศาสนาได้

ท่านคงจะเห็นว่าการปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องยากอะไรนักหนา เริ่มต้นขอแค่มี ศรัทธา เวลา และสุขภาพที่ดี แล้วไปขอเรียนกับครูบาอาจารย์ดีๆ ที่มีวิธีการสอนตรงกับจริตของตน ปฏิบัติธรรมเป็นการเรียนรู้ที่สนุกได้ เป็นการท้าทายความสามารถของตนเองที่จะก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ที่แตกต่างจากทางโลก ว่าเราจะสามารถเข้าถึงได้แค่ไหน

ขออนุโมทนากับท่านที่อ่านมาจนจบถึงตรงนี้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 123102เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2007 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
P
สวัสดีค่ะ
ขออนุโมทนาบุญ กับอาจารย์เช่นเดียวกันค่ะ
จะได้ๆบุญไปด้วย
ชอบค่ะ ไปทำบุญแบบนี้ เล่าอีกนะคะ ชอบอ่านค่ะ

สวัสดีค่ะ ขอบคุณที่ติดตามอ่านเรื่องการปฏิบัติธรรมทุกตอนนะคะ ทำให้รู้สึกสนุกที่จะเขียน

ตอนไปปฏิบัติได้เห็นผู้ร่วมปฏิบัติหลายท่านเป็นผู้สูงอายุ มีปัญหาด้านสุขภาพ แต่มีความเพียรอย่างยิ่ง ปฏิบัติจนถึงขั้นชั้นสูง คือเข้าปฏิบัติในหลักสูตรหนึ่งเดือนได้ ทำให้คิดว่าตัวเองควรจะตั้งใจปฏิบัติเรียนรู้ให้มากว่านี้ ก่อนที่สังขารจะไม่อำนวย

ที่คุณพี่พูดเรื่องการปฏิบัติธรรมแล้วช่วยรักษาโรคบางโรคได้นั้น เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง โดยเฉพาะโรคที่มาจากความเครียดค่ะ

 

สวัสดีครับ

  ตามมาอ่านครับอาจารย์  บางทีก็พลาดบันทึกดีๆไป  หรืออาจจะไม่มีเวลา  หรือเห็นแต่ว่าอาจจะอ่านยังไม่ค่อยเข้าใจ

  วันนี้อ่านและก้ได้กำลังใจ  และเสริมการปฏิบัติให้หนักแน่นมากขึ้นเรื่อยๆครับ

 ขอบคุณมากครับ

  • สวัสดีเจ้า พี่นุช..
 บันทึกของพี่นุชทุกบท  ทุกตอน  อ่านแล้วต้อมพลอยรู้สึกชื่นใจ  ชื่นบาน ไปด้วย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใกล้ตัว  ใกล้วัด  หรือเรื่องใด ต้อมค่อนข้างจะเป็นคนที่ไกลวัด และขลาดเขลาในเรื่องธรรมะเป็นอย่างยิ่ง    กับบางคำสอนก็ไม่ได้เข้าใจ    แต่พอได้อ่านก็ทำให้คิดตามหรือนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้บ้าง    ขอขอบพระคุณจริง ๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอP ดีใจที่คุณหมอสนใจย้อนกลับมาอ่านบันทึกเก่า เรื่องธรรมะนี่ก็ต้องใช้เวลานะคะ รู้สึกเช่นเดียวกันค่ะว่าธรรมะบางเรื่องเห็นทีแรกหรืออ่านครั้งแรกอาจจะยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแค่นี้ แต่พออ่านอีกจะมีความแตกต่างจากครั้งแรก คือ เข้าใจมากขึ้น มองเห็นมุมที่จะนำมาใช้กับชีวิตได้ ยิ่งได้ปฏิบัติควบคู่ไปด้วยก็จะยิ่งทำให้ก้าวหน้าได้เร็วนะคะ

ขออนุโมทนาในการสร้างกุศลของคุณหมอทั้งในการมุ่งมั่นรักษาคนไข้ด้วยหัวใจ และการปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริง ตั้งใจค่ะ

สวัสดีเจ้า คุณต้อมP รู้สึกชื่นใจเช่นกันเวลาได้เห็นคนหนุ่มสาวสนใจน้อมนำหลักธรรมไปปฏิบัติค่ะ

ทุกคนก็เริ่มต้นด้วยการไม่รู้นะคะ ค่อยๆศึกษาไป ปฏิบัติไปทีละเล็กทีละน้อย ใจที่ใฝ่ธรรมจะพาไปพบกัลยาณมิตรที่เปิดเส้นทางธรรมะให้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นประสบการณ์ของตัวพี่เองเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท