เกณฑ์มาตรฐานภาระงาน


คนเรามีทั้งที่ถนัดบางอย่าง ไม่ถนัดบางอย่าง ใครถนัดเรื่องไหนก็ทำเรื่องนั้นมากหน่อย เหมือนจิ๊กซอว์ที่ช่วยกันต่อให้ภาพภารกิจมีความสมบูรณ์

เช้าวันนี้มีการประชุมคณบดีทุกสำนักวิชาร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง วาระที่สำคัญและใช้เวลากันค่อนข้างนานเป็นเรื่องของเกณฑ์มาตรฐานภาระงานของคณาจารย์ประจำ ได้ยินว่ามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง รับฟังความเห็น กว่าจะออกมาเป็น “ร่าง” ได้ก็ใช้เวลายาวนานจนบางท่านบอกว่า “ใช้เวลายืดยาวกว่าการทำร่างรัฐธรรมนูญเสียอีก”

ร่างที่ปรากฏได้แจกแจงภาระงานคณาจารย์ประจำออกเป็น ๗ เรื่องคือ
๑. งานสอน
๒. งานวิจัยและการพัฒนางานทางวิชาการ
๓. งานบริการวิชาการ
๔. การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
๕. การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทางวิชาการ
๖. การเป็นประธานหรือผู้ประสานงานหลักสูตร
๗. งานอื่นๆ เช่น การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมหรือเป็นกรรมการ/คณะทำงานหรือการเป็นอาจารย์พี่เลี้ยง

มีการกำหนดภาระงานแต่ละด้านและจำนวนชั่วโมงการทำงานไว้ชัดเจน ที่ประชุมมีการอภิปรายกันค่อนข้างมาก ทำให้ได้มุมมองหลายแง่มุม ทั้งการมองภาระงานของอาจารย์แต่ละคนในแง่ของปัจเจกและภาระงานในภาพรวมของสำนักวิชาไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย

เข้าใจว่าการทำร่างนี้มุ่งไปที่ภาระงานของอาจารย์แต่ละคน จึงต้องใช้เวลาคิดรายละเอียดค่อนข้างมาก เพราะ มวล.เป็นมหาวิทยาลัย Comprehensive มีสาขาวิชาหลากหลาย การคิดเกณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับได้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

มีผู้ตั้งประเด็นว่าวิธีคิดเรื่องภาระงาน ๔ ด้านที่เป็นภารกิจของมหาวิทยาลัย (สอน วิจัย บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม) แล้วโยนต่อไปที่สำนักวิชา (ในมหาวิทยาลัยอื่นเรียกคณะ) จนถึงอาจารย์นั้นถูกต้องหรือไม่ อาจารย์ทุกคนจำเป็นต้องทำงานทั้ง ๔ ด้านนี้เหมือนๆ กันหรือจริงๆ แล้วอาจารย์แต่ละคนไม่จำเป็นต้องทำทั้ง ๔ ด้าน แต่รวมๆ แล้วสำนักวิชาและมหาวิทยาลัยต้องมีภารกิจทั้ง ๔ ด้านนี้ครบ

ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นมุมมองเชิงบริหาร หากเราเน้นเกณฑ์ที่เป็นเรื่องของปัจเจก ก็อาจจะเกิดสภาพตัวใครตัวมัน หากมองเกณฑ์ในลักษณะภาพรวมของสำนักวิชา/มหาวิทยาลัย ก็น่าจะเกิดความร่วมมือร่วมใจกันดีกว่า เพราะคนเรามีทั้งที่ถนัดบางอย่าง ไม่ถนัดบางอย่าง ใครถนัดเรื่องไหนก็ทำเรื่องนั้นมากหน่อย เหมือนจิ๊กซอว์ที่ช่วยกันต่อให้ภาพภารกิจมีความสมบูรณ์ แต่การจะทำอย่างนี้ได้ต้องมีเทคนิคในการบริหารจัดการ

เกณฑ์มาตรฐานภาระงานออกแบบมาให้เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งในการบริหารคน และต้องไปเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ เช่น การประเมินผลการปฏิบัติงาน การขึ้นเงินเดือนประจำปี เวลาพิจารณาจึงต้องมองอย่างรอบด้าน

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 121840เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2007 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์วัลลา

  ยินดีด้วยอีกครั้งค่ะสำหรับตำแหน่งใหม่  ขอให้อาจารย์มีความสุขกับการทำงานนะคะ จะติดตามความเคลื่อนไหวของอาจารย์ผ่านทางเวบblog นี้ค่ะ

 ภาวนา ม.บูรพา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท