19 กันยาประชาชนปฏิวัติ


ได้แต่เพียงหวังว่า ทหารจะปฎิวัติก็ด้วยการเริ่มปฏิวัติของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลห่วย ปืนหรือรถถังเป็นของประชาชน อำนาจแห่งแสนยานุภาพแห่งกองทัพเป็นของประชาชน อำนาจควบคุมกองทัพเท่านั้นที่เหล่านายทหารมีอยู่ หากจะนำมาใช้ ขอให้นำมาใช้คุ้มครองประชาชนทั้งหมด ถ้าไม่ใช่ภัยจากต่างชาติ ก็เป็นการคุ้มภัยจากการขัดแย้งทะเลาะกันเองอย่างที่ผ่านมาก็ยอมรับได้

19 ก.ย. ประชาชนคือผู้ปฏิวัติ

                การอธิบายภาวะประเทศไทยหลังจาก 19 ก.ย.2549 ไม่ง่ายนัก ไม่แน่ใจว่าประเทศไทยมีการจัดการอำนาจแบบไหน มีระบบการปกครองแบบใด ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอธิบายเหตุการณ์ล่าสุดหรือไม่ แต่ผมว่า

                1. การที่ทหารออกมาเอากำลังและอาวุธออกมายึดอำนาจของรัฐบาลนั้น อาจเป็นการปฏิวัติในรูปแบบที่รับรู้กันมาก่อน แต่ว่าเนื้อหาความเป็นมาและจุดมุ่งหมายต่างกับการปฏิวัติในอดีต เพราะที่ผ่านมาไม่มีการยอมรับอำนาจปฏิวัติของทหารจากประชาชนที่มากมายขนาดนี้ และไม่เคยมีคณะปฏิวัติใดที่ให้ความชัดเจนของขั้นตอนการทำงานในฐานะผู้บริหารประเทศหรือผู้คุมอำนาจรัฐ และไม่เคยมีคณะปฏิวัติที่จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

                 2. คณะปฏิวัติที่ผ่าน ๆ มาไม่ได้รอการแตกหักของภาคประชาชนในด้านความขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์เพียงแค่นั้น เพราะก่อน 19 ก.ย. 49 ประชาชนมีความคิดทางการเมืองแบ่งฝ่ายชัดเจน รวมไปถึงความแตกแยกทางความคิดเรื่องการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความแตกแยกทางสถาบันกองทัพ ที่สำคัญที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงคือความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตในสังคมไทย คณะปฏิวัติล่าสุดจึงไม่ได้ปฏิบัติตามบริบทเดิม ๆ ของการจัดการอำนาจ แต่ด้านหนึ่งเป็นการจัดการความขัดแย้งทางความคิด ชื่อ คปค. จึงถูกวางให้เหมาะกับภาระกิจที่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติที่ผ่านมา

                      3. การจัดการที่ใช้เวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมาจึงไม่เพียงจัดการอำนาจทางการเมืองและอำนาจผลประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกัน คมช.(ที่เปลี่ยนจาก คปค. ) ต้องจัดการเรื่องความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองเศรษฐกิจและวิถีชีวิตในสังคมไทย โดยเห็นได้จาก นโยบายขับเคลื่อนสังคมสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข และให้คุณค่าทางความสุขมากกว่า ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ

                     4. การเคลื่อนกำลังยึดอำนาจเป็นเพียงกลไกหนึ่งของการปฏิวัติภาคประชาชนของประชาชนฝ่ายหนึ่ง ซึ่งต้องมีมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง หากไม่เช่นนั้น การดำเนินการของทหารจะไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน หรือประชาชนจะไม่อดทนให้ทหารใช้เวลาบริหารประเทศได้นานเช่นนี้

                      5. การลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า แนวความคิดขัดแย้งของประชาชนยังคงมีอยู่ เพราะเหตุที่รับร่างหรือไม่รับร่าง ไม่ใช่จากการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะการต่อสู้ทางกลุ่มที่มีสัญลักษณ์ทางการเมืองสองฝ่าย ( อำนาจเก่าและประชาชนฝ่ายสนับสนุน กับ คมช. ร่วมกับฝ่ายค้านเดิม และประชนฝ่ายต่อต้านอำนาจเก่า ) ต่อสู้กัน ที่ผ่านมาตลอดจึงคล้ายว่า คมช. และ นปก.คือสงครามตัวแทน และ การลงมติก็คือสมรภูมิของสงครามที่แท้จริง

                 นักวิชาการหลายท่านพูดว่าประเทศไทยไม่มีระบบการจัดการความขัดแย้งที่เป็นที่ยอมรับ แม้กระทั่งศาลเองก็ไม่ใช่สิ่งที่อธิบายได้ทั้งหมด เนื่องจากตัวประชาชนเองไม่เข้าใจในการจัดการความขัดแย้ง และระบบอำนาจที่บิดเบี้ยวของสังคมไทยไม่เคยมีรูปแบบสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งในระดับใหญ่

                   ปัจจุบันสังคมไทยก้าวไปอีกขั้นตอนของการจัดการอำนาจทางการเมือง การจัดการความขัดแย้งที่เกิดในระดับประเทศ แต่เป็นเพียงก้าวเริ่มต้น ที่การใช้กฎหมายใหญ่ ( รัฐธรรมนูญ ) ทำให้ประชาชนเข้าถึงจับต้องกับอำนาจอธิปไตยที่ผ่านตัวแทนมาตลอด ให้มีช่องทางมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้นำ คมช. ไม่ได้ให้คำมั่นหรือการคาดหวังอย่างแน่ใจใด ๆ ในเรื่องที่ถามว่า จากนี้ไปจะมีการปฏิวัติอีกหรือไม่ ซึ่งคำตอบจากเขาคือ การปฏิวัติไม่ใช่เกิดด้วยเงื่อนไขแห่งการขัดแย้งทางอำนาจเพียงอย่างเดียว แต่หากอาจมีเงื่อนไขแห่งการขัดแย้งแบบอื่นและนำมาซึ่งความไม่สงบในชาติ ดังนั้นวิธีการปฏิวัติจึงอาจนำมาเป็นวิธีจัดการกับเงื่อนไขใด ๆ ที่อาจทำให้ประเทศชาติเกิดความวุ่นวายได้

                 ประเทศไทยยังไม่อาจแน่ใจว่าจะไม่มีการปฏิวัติโดยทหารอีก ตราบใดที่เราไม่มีระบบที่เข้ามาจัดการความขัดแย้งและดูแลให้เกิดความสงบได้เพียงพอ ตราบใดที่ประชาชนไม่มีวิธีจัดการความคิดที่แตกต่างของคนในชาติ และตราบใดที่เรายังคงเลือกคนที่ไร้ประสิทธิภาพและจริยธรรมเข้าไปจัดการบริหารประเทศ

                  ได้แต่เพียงหวังว่า ทหารจะปฎิวัติก็ด้วยการเริ่มปฏิวัติของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลห่วย ปืนหรือรถถังเป็นของประชาชน อำนาจแห่งแสนยานุภาพแห่งกองทัพเป็นของประชาชน อำนาจควบคุมกองทัพเท่านั้นที่เหล่านายทหารมีอยู่ หากจะนำมาใช้ ขอให้นำมาใช้คุ้มครองประชาชนทั้งหมด ถ้าไม่ใช่ภัยจากต่างชาติ ก็เป็นการคุ้มภัยจากการขัดแย้งทะเลาะกันเองอย่างที่ผ่านมาก็ยอมรับได้ แต่ต้องไม่ใช่เอาออกมาเพื่อแย่งอำนาจจากมือประชาชนไปให้พวกพ้องใด เหล่าใด อำนาจใดเป็นการเฉพาะ

หมายเลขบันทึก: 120802เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2007 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

ก่อนอื่นขอแสดงความชื่นชมในบทวิเคราะห์และวิพากษ์ที่ชัดเจน  และเป็นประโยชน์ต่อการขบคิดของผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง

ผมเห็นด้วยกับหลาย ๆ ประเด็น   ทุกวันนี้สังคมไทยเต็มไปด้วยความแตกแบก  แบ่งพรรคแบ่งพวก - แบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนจนน่าใจหาย  และอยู่ในภาวะที่ต้องเยียวยากันอย่างจริงจัง

ผมมองอย่างหยาบๆ  ว่า  ทางออกที่ต้องคำนึงถึงก็คือ  (๑)  ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด  (๒)  ก้าวออกมาช่วยเหลือสังคมอย่างมีสติ,  และก้าวออกมาช่วยเหลือสังคมอย่างสร้างสรรค์ ...

.....

ขอบคุณครับ

ขอบคุณพี่แผ่นดินP

ที่เข้ามาให้ความคิดเห็นครับ

            ผมมองอย่างหยาบๆ  ว่า  ทางออกที่ต้องคำนึงถึงก็คือ  (๑)  ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด  (๒)  ก้าวออกมาช่วยเหลือสังคมอย่างมีสติ,  และก้าวออกมาช่วยเหลือสังคมอย่างสร้างสรรค์ ...

         ผมเห็นด้วยมาก ๆ ครับ  โดยเฉพาะการก้าวออกมาช่วยเหลือสังคมอย่างมีสติ และสร้างสรรค์  ผมว่านี่คือจุดหมายและอุดมการณ์ที่คนที่คิดจะทำงานเสียสละกับบ้านเมืองสังคมต้องคิดให้มาก

          เพราะบางทีก้าวออกไปทำงานแล้ว แต่ยอมรับการคิดเห็นคนอื่นไม่ได้ หรือติดยึดตัวเอง  หรือไม่ก็ถูกดึงไปเรื่องผลประโยชน์อื่น ๆ  นี่ทำให้ก่อปัญหาตามมาอีก

            ผมจะพยายามครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท