เรียนรัฐศาสตร์แล้ว ได้อะไร ?


ถูกถามบ่อย ๆ

ผู้เขียนเคยถูกถามบ่อย ๆ จึงรวบรวมข้อมูลที่เคยอธิบายไว้ 4 ประการ คือ ความรู้ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ และการถ่ายทอด

1. ความรู้

1.1 นิยามของความรู้คือ ข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ยังไม่ถูกกลั่นกรอง ที่ไหลบ่าถั่งโถมผ่านเข้ามา ทั้งทางสื่อร้อน และสื่อเย็น (สื่อโทรทัศน์ ถือเป็นสื่อ “เย็น” ตามนัยของมาร์แชล แมคคลูฮาน ซึ่งกล่าวว่า เป็นสื่อที่สมองไม่ทำงานด้านความคิด คือ “ทีวีคิดให้” ส่วนคนดูแค่ “เสพ”) รวมถึงการศึกษา อันเปรียบเสมือน การหว่านเมล็ดงาดำ ลงไปบนสมองสีขาวบริสุทธิ์ ถ้าสมองยอมรับไว้ เมล็ดงาเหล่านั้น ก็พร้อมที่จะแตกตัวหยั่งราก และเติบโตเป็นต้นอ่อนในภายหน้า แต่ถ้าเนื้อสมองพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่ยอมรับ บรรดาเม็ดงาที่ไร้ค่าเหล่านั้น ก็จะฝ่อจะเฉาสลายตัวไป

1.2 ความรู้ใหม่ ๆ มีลักษณะเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น (Data) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุคโลกาภิวัตน์มีอยู่มากมายมหาศาลเป็นขยะกองใหญ่มหึมา หากผู้เสพข้อมูลเบื้องต้นไม่แยกแยะว่า อะไรควรเก็บ หรือควรนำไปใช้ใหม่ หรือควรเททิ้ง แนวโน้มของผู้คนในโลกยุคใหม่นี้จะเป็นว่า บริโภคข้อมูลขยะเน่าเสีย (Junk) เพราะนับวันจะแยกแยะได้ยากยิ่งว่า สิ่งใดจริง หรือเท็จ จึงพบเห็นคำที่เกี่ยวกับ Junk บ่อย ๆ เช่น Junk Mail, Junk SMS, Junk MMS

1.3 คนบางกลุ่ม สามารถแยกแยะข้อมูลดังกล่าวได้ ก็จะพัฒนาข้อมูลเบื้องต้น (Data) ให้กลายไปเป็นข้อมูลข่าวสาร (Information) ที่ถูกจัดทำ หรือเก็บรักษาอย่างมีระบบเป็นหมวดหมู่ สืบค้นได้สะดวกรวดเร็ว ดังคำกล่าวว่า คนที่รู้กฎหมาย ใช่ว่าจะท่องจำกฎหมายได้ทุกมาตรา หากแต่หมายถึง ผู้ที่สามารถสืบค้นข้อกฎหมายที่ถูกต้อง ตรงประเด็นคำถามได้อย่างรวดเร็ว อัลเบิร์ต ไอนสไตน์กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องท่องจำเบอร์โทรศัพท์ของใคร เพียงแต่ขอให้รู้ว่า จะค้นหาเร็วที่สุด ได้จากที่ไหนอย่างไรก็เพียงพอแล้ว แล้วใช้สมองส่วนที่จะใช้จดจำเบอร์โทรศัพท์นั้น ไปพัฒนาสิ่งที่เกิดประโยชน์ยิ่งกว่า

1.4 ความรู้ที่แท้จริง (Knowledge) ควรเกิดขึ้นจากข้อมูลชั้นสูงระดับ ข้อมูลข่าวสาร (Information) ที่หลากหลายทำให้มีการเปรียบเทียบ แล้วจะพบความเหมือน และความแตกต่างในเนื้อหาของข้อมูลนั้น ต่อมา มีการจัดการความรู้ (Knowledge Management) สามารถหยิบจับนำมาประยุกต์ใช้ ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นความชำนิชำนาญ หรือมืออาชีพ ซึ่งจะส่งผลเกิดเป็นความชาญฉลาด (Intelligence) ในที่สุด

2. ความเข้าใจ

2.1 นิยามของความเข้าใจคือ กระบวนการคิดที่มีต่อความรู้ (Knowledge) โดยอ้างอิงหลักเหตุผล ตรรกะ แนวคิด ทฤษฎี กฎหมาย รวมถึงการอ้างอิงความเชื่อ ความศรัทธา อารมณ์ ศิลปะ จินตนาการ ให้ความรู้เหล่านั้นได้ถูกขยับเขื้อนโดยกระบวนการดังกล่าว เพื่อจะหล่อหลอมให้ความรู้นั้น นำไปจัดเก็บรักษาในความทรงจำได้อย่างไม่รู้ลืมเลือน ยิ่งไปกว่านั้น ยังต่อยอดแตกกิ่งก้านเกิดเป็นความรู้ใหม่ ๆ อันเปรียบเสมือน งาดำหลายเมล็ดได้แตกรากหยั่งลึกลงไปในเนื้อสมอง ลำต้นเริ่มตั้ง ผลิดอกออกใบอ่อน ดังนั้น ความเข้าใจนี้ จึงถือได้ว่าเป็นปัญญา (Wisdom)

2.2 นักวิชาการได้แบ่งสมองมนุษย์เป็นซีกซ้าย (ควบคุมกระบวนการทางด้านเหตุผล ตรรกะ แนวคิด ทฤษฎี กฎหมาย ฯลฯ) และซีกขวา (ควบคุมกระบวนการทางด้านความเชื่อ ความศรัทธา อารมณ์ ศิลปะ จินตนาการ ฯลฯ) กระบวนการคิดต่อความรู้ใด ๆ นั้น ไม่ควรให้น้ำหนักไปทางซีกใดซีกหนึ่งมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ไม่เข้าใจเนื้อหาของความรู้นั้นได้ครบถ้วนกระบวนความ จึงไม่สามารนำไปอธิบายปรากฏการณ์ใด ๆ ครบทุกมุม ทุกด้าน และทุกมิติ ก่อเกิดอคติ (Bias) ต่อบรรดาข้อมูลข่าวสาร กลัดกร่อนให้ความรู้นั้นกลายเป็นความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ใด ๆ

2.3 ความเป็นกลาง (Neutral) ต่อความรู้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญ ในการทำความเข้าใจความรู้ต่าง ๆ เพื่อมิให้ทัศนคติ และพฤติกรรมของมนุษย์ ถูกทำเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่เหมาะควร เพราะมนุษย์คนใดที่สามารถเข้าถึงระดับข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และความเข้าใจ ย่อมมีความสามารถจะโน้มน้าวจิตใจคนรอบข้าง ให้ยอมคล้อยตามความเชื่อของตนได้ไม่ยากนัก หากความรู้ของเขาไม่สมบูรณ์คนรอบข้างก็จะรับเอาความรู้อันไม่สมบูรณ์นั้นตามไปด้วยนั่นเอง ควรหลีกเลี่ยงการยอมเอาตัวเข้าไปคลุกวงใน กับข้อมูลข่าวสาร และความรู้ เพราะจะทำให้เกิดความบอบช้ำจากความพ่ายแพ้ หรือไหลหลงไปกับชัยชนะ ดังนั้น จงถอยออกมาให้ห่างพอประมาณ จากเวทีแห่งข้อมูลข่าวสาร และความรู้ เพราะการยืนข้างเวทีย่อมทำให้มองเห็นจุดอ่อน จุดแข็งของคู่ชก กรรมการ และคนดู สามารถทำนายได้ไม่ยากว่า ฝ่ายใดน่าจะมีชัยชนะในการปะทะกันระหว่างสรรพสิ่งในโลกแห่งข้อมูลข่าวสารเช่นนี้

2.4 การผสาน (Integration) ความรู้ ด้วยเหตุว่า ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสารมีความสลับซับซ้อน อันยากจะหาคำอธิบายให้สมบูรณ์ได้ ด้วยชุดความรู้จากศาสตร์ใด ๆ แต่เพียงศาสตร์เดียว จึงต้องอ้างอิงหลักวิชาการของศาสตร์ต่าง ๆ ไปใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อให้คำอธิบายนั้น ครอบคลุมครบทุกประเด็น การจัดการข้อมูลความรู้ที่หลากหลายศาสตร์นั้นมีความยาก ดังนั้น วิธีการสังเคราะห์ (Synthesis - การรวบรวมองค์ประกอบทั้งหลาย) เปรียบเสมือน ต้นไม้ต้องการอาหารมาหล่อเลี้ยงในระบบ เพื่อให้มีความเจริญเติบโต จึงมีกระบวนการรวมน้ำ อากาศ แร่ธาตุ แสงสว่าง เพื่อใช้สังเคราะห์ให้กลายเป็นอาหาร เป็นต้น ซึ่งได้ถูกนำไปใช้ควบคู่ กับการวิเคราะห์ (Analysis - การแยกองค์ประกอบ) เช่นเดียวกันกับปรากฏการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ต้องใช้หลักวิชาการจากหลายศาสตร์ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไปอธิบาย ให้ผู้คนรู้สึกเหมือนได้รับประทานจนอิ่ม เพราะมีทั้งอาหารคาว หวาน และเครื่องดื่ม เมื่ออิ่มก็จะไม่เคลือบแคลงสงสัย นำเอาความรู้ และข้อมูลข่าวสารที่อิ่ม หรือสมบูรณ์นั้น ไปเผยแพร่ให้แก้คนรอบข้างได้รับรู้ และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ต่อไป

3. การประยุกต์ใช้

3.1 นิยามของการประยุกต์ใช้คือ การอ้างอิงความรู้ และข้อมูลข่าวสารใด ๆ ไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อสรรสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างมีคุณค่าต่อตนเอง และคนรอบข้าง เปรียบเสมือนต้นงาดำได้ผลิดอก ออกเม็ดผล ให้เก็บเกี่ยวไปบริโภค หรือจำหน่ายจนมีรายได้ เพื่อเลี้ยงตนเอง และครอบครัว

3.2 การลองผิดลองถูกเป็นสิ่งที่ควรต้องฝึกลงมือกระทำบ่อย ๆ ตามที่ ศ.ดร.ลิขิต ธีระเวคิน เคยกล่าวว่า รัฐศาสตร์คือ ศิลปะแห่งความเป็นไปได้ ใช่ว่า มีแต่เพ้อฝันลม ๆ แล้ง ๆ แม้ว่า คำอธิบายต่อปรากฏการณ์นั้น มีกรอบแนวคิดทฤษฎีมากมาย มีความหนักแน่นน่าเชื่อถือสักเพียงใด ถ้าไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ก็ไม่ถือเป็นวิธีการทางรัฐศาสตร์

3.3 "โต้เถียงทำให้เกิดปัญหา โต้แย้งทำให้เกิดปัญญา" บรรยากาศของการโต้แย้งจากความคิดเห็นที่หลากหลาย (Diversity) ถือเป็นความงดงาม และเป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่า ดังนั้น เมื่อมีโอกาสนักรัฐศาสตร์จะต้องแสดงความคิดเห็น ทั้งเห็นด้วยทั้งหมด หรือบางส่วน  หรือไม่เห็นด้วยเลย โดยอ้างอิงแนวคิดทฤษฎี เพื่อให้ความคิดเห็นนั้นมีเหตุมีผล น่าเชื่อถือ ทำให้ผู้รอบข้างได้รับความรู้ และก่อเกิดเป็นความเข้าใจ บางครั้งผู้คนในเวทีนั้น ๆ จะมีปฏิกริยา เป็นการส่งสัญญาณให้ทราบว่า ความคิดเห็นนั้น ๆ มีคุณค่ามากน้อยเพียงใด

3.4 แนวคิดทฤษฎีมีความสำคัญ เพราะทำให้การแสดงความคิดเห็นใด ๆ มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เพราะเนื้อหานั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากจินตนาการ หรือความรู้สึก ย่อมส่งผลดีให้ผู้คนรอบข้างพินิจพิเคราะห์ และนำไปใช้อ้างอิงต่อ ๆ ไป แนวคิดทฤษฎีในทางรัฐศาสตร์มีความจำเป็น และสำคัญมาก จนนักวิชาการท่านหนึ่งได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า คำพูดของนักรัฐศาสตร์คนใด ที่ปราศจากการอ้างอิงหลักแนวคิดทฤษฎี คำพูดนั้น มีค่าเป็นเพียงขยะกองหนึ่งเท่านั้น

3.5 ตกผลึก มีความหมายที่ตรงข้ามกับตกตะกอน เมื่อความรู้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้บ่อย ๆ ผิดบ้างถูกบ้าง ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ผิดพลาด เมื่อมีโอกาสก็รีบป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง เชื่อว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกสั่งสมเป็นประสบการณ์ หรือตกผลึกให้ความรู้นั้นเข้มข้นยิ่งขึ้น พัฒนาจากมือสมัครเล่น กลายเป็นนักรัฐศาสตร์มืออาชีพในที่สุด

4. การถ่ายทอด

4.1 นิยามของการถ่ายทอดคือ การเผยแพร่ความรู้ และข้อมูลข่าวสาร ด้วยวิธีการที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้รับข่าวสารได้ซึมซับรับรู้ ถ้าเป็นการสื่อสาร 2 ทาง (2 ways Communication) ในแบบตอบโต้ปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ก็ยิ่งทำให้ความรู้ และข้อมูลข่าวสารนั้น เกิดมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ตามแนวคิดการกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) ที่มี 4 ระดับคือ แยกมนุษย์ออกจากสัตว์เป็นเบื้องต้น ระดับถัดมามนุษย์นั้นได้รับรู้ว่า ตนเป็นสมาชิกมีความผูกพันรับผิดชอบต่อสังคม ระดับที่สามคือ ได้รับการหล่อหลอมเข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วยทัศนคติ และพฤติกรรมทางการเมือง ในที่สุด มีการคัดสรรให้บุคคลมีวิชาชีพทางการเมือง อันเป็นระดับสุดท้าย

4.2 การโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Public Relations) และการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) นอกจาก การถ่ายทอดเกี่ยวข้องกับการสื่อสารแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับแนวคิดการโฆษณา ซึ่งมี 2 ทางคือ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Public Relations) และการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ในมิติทางการเมือง (นอกเหนือจากมิติทางเศรษฐกิจ และสังคม) ให้ความสำคัญต่อการถ่ายทอดแบบโฆษณาชวนเชื่อ เพราะการโน้มน้าวจิตใจของผู้คนในสังคม ให้เห็นดีเห็นงามกับชุดความคิดของผู้หนึ่งผู้ใด อาจส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเรียกว่ากระแส อันอาจส่งผลให้มีผู้ได้รับประโยชน์ และเสียผลประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น หากส่งผลดี หรือผลร้ายต่อประชาชนจำนวนมาก ๆ ก็อาจเป็นลักษณะการครอบงำ (Domination) และหากกระแสสังคม ได้ให้ความเชื่อถือ เคารพ และศรัทธา หรือถูกครอบงำ หรือถูกสะกด ด้วยชุดความคิดกระแสหลักใดอย่างนมนาน ก็อาจเรียกปรากฏการณ์นี้ได้ว่าเป็นกระบวนทัศน์ (Paradigm)

4.3 มายาคติ หรือรหัสยนัย (Myst) เป็นการสร้างแบบจำลองชุดความคิด ที่สามารถสะกดให้ผู้คนในสังคมมองเห็น สามารถสัมผัสจับต้องได้เป็นรูปธรรม มีฝ่ายหนึ่งเป็นพระเอก อีกฝ่ายหนึ่งต้องเป็นผู้ร้าย และในที่สุด พระเอกย่อมเป็นผู้ชนะ ตัวอย่างเช่น มายาคติที่อเมริกาได้พยายามปั่นภาพ (Spin Image) ให้ชาวโลกยอมรับว่า ตนคือพระเอก มุสลิมต้องเป็นผู้ร้าย ส่งผลให้มีสงครามอัฟกานิสถาน และสงครามอิรัค ซึ่งสงครามทั้งสองครั้งนี้ อเมริกาได้สร้างปีศาจสองตน ได้แก่ บินลาเดน และซัดดัม ฮุสเซน เพื่อให้ประชาคมโลกยอมรับว่า การทำสงครามของฝ่ายอเมริกา ที่ร่วมมือกับพันธมิตร ที่ได้กระทำต่ออัฟกานิสถาน และอิรัคนั้น มีความชอบธรรม (Legitimacy) ดังนั้น อเมริกาจำต้องขยายแนวรบต่อไปยังประเทศอิหร่าน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการก่อการร้ายข้ามชาติ อันจะส่งผลร้ายเกิดความเสียหายต่อประชาคมโลกในภายหน้า ตามแนวคิดการระวังภัยล่วงหน้า (Precautionary Principle) กล่าวคือ แม้จะไม่มีหลักฐานใด ๆ ให้ประจักษ์ว่า อิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายดังกล่าว หรือไม่ก็ตาม แต่อิหร่านก็เคยส่งสัญญาณบางประการ ที่ "น่า" จะเชื่อถือได้ว่า มีความสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายนานาชาติอย่างแน่นอน ดังนั้น อเมริกาควรใช้แนวทาง "ชิงลงมือก่อน" (Preemption) เพื่อให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันว่าด้วย เพื่อให้เกิดสันติภาพ (Peace) แก่ชาวโลก นั่นเอง

ก่อนจบบทความ ลองจับคู่แนวทางข้างต้น กับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ตามลำดับ ได้แก่ ความรู้คู่กับสมอง ความเข้าใจคู่กับหัวใจ ประสบการณ์คู่กับกระเพาะอาหาร และการถ่ายทอดคู่กับปาก ก็จะมองเห็นวงจรทำงานอย่างมีระบบว่า การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร เป็นขั้นตอนแรกในการหว่านเมล็ดงาดำ ลงไปบนเนื้อสมองที่ขาวบริสุทธิ์ จากนั้น เม็ดงาบางส่วนจะเจริญเติบโตกลายเป็นต้นอ่อน เรียกว่า ปัญญา หรือความเข้าใจ เปรียบดังสิ่งที่ดี ๆ เหมือนกะทิน้ำหนึ่งเข้มข้นได้ผ่านการคัดกรองไหลรวมลงไปเก็บรักษาไว้ที่หัวใจ และต่อมา เมื่อได้มีการลงมือปฏิบัติ ตามแนวทางที่เป็นความรู้ และความเข้าใจ จนบ่มเพาะกลายเป็นประสบการณ์ ทำให้มีรายได้มาเลี้ยงชีพ มีอาหารเลี้ยงกระเพาะ ร่างกายก็สมบูรณ์แข็งแรง ในที่สุด เมื่อท้องอิ่ม ก็จะหาทางถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ต่อไปยังผู้คนรอบข้าง โดยใช้ปากเป็นกลไก ให้ระบบทำงานได้มีการขับเคลื่อนได้อย่างสัมพันธ์ต่อเนื่อง ครบวงจรนั่นเอง

จากบทความนี้ ทำให้มองเห็นความพยายามของผู้ถาม ที่ได้ทำให้นามธรรม (Abstract) ให้เกิดเป็นรูปธรรม (Concrete) เพื่อให้ผู้อ่านสัมผัส จับต้องได้ ซึ่งในทางรัฐศาสตร์ได้ให้ความสำคัญวิธีการเช่นนี้ เพื่อให้ผู้คนรอบข้างสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เชื่อว่า ผู้อ่านจะมองเห็นภาพรวม และสามารถตอบคำถามได้ว่า เรียนรัฐศาสตร์แล้วได้อะไรบ้าง เชิญผู้อ่านโปรดบอกกล่าวได้ ตามสะดวก

หมายเลขบันทึก: 118569เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท