มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2550


กฎหมายคอมพิวเตอร์

กฎหมายบังคับใช้  : พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550ความเป็นมา หลักการและเหตุผลคณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 6/2549 เมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2549 โดยมีหลักการคือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

เหตุผล  เนื่องจากในปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์ได้เป็นส่วนสำคัญของการประกอบกิจการและการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากมีผู้กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้หรือทำให้การทำงานผิดพลาดไปจากคำสั่งที่กำหนดไว้หรือวิธีการใด ๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน สมควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตามพระราชบัญญัตินี้               

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้พิจารณา และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับวิชาการคอมพิวเตอร์และกฎหมายเพื่อพิจารณา คณะกรรมาธิการได้ประชุมพิจารณารวมทั้งสิ้น 27 ครั้ง และได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 และได้มีมติให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 128 ตอน 27 ก. ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 19 กรกฎาคม 2550

ฐานความผิดและบทลงโทษสำหรับการกระทำโดยมิชอบ

มาตรา ๕                การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์

มาตรา ๖                การล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึง

มาตรา ๗                การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์

มาตรา ๘                การดักข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ

มาตรา ๙                การรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์

มาตรา ๑๐              การรบกวนระบบคอมพิวเตอร์

มาตรา ๑๑              สแปมเมล์ (Spam Mail)

มาตรา ๑๒             การกระทำความผิดต่อความมั่นคง

มาตรา ๑๓             การจำหน่าย/เผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อใช้กระทำความผิด

มาตรา ๑๔             การปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์/เผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม

มาตรา ๑๕             ความรับผิดของผู้ให้บริการ

มาตรา ๑๖              การเผยแพร่ภาพจากการตัดต่อ/ดัดแปลง

รวม ๑๒ มาตรา โดยเพิ่มเติม ๑ มาตรา คือ มาตรา ๑๑ อันเกี่ยวเนื่องกับความผิดตามมาตรา ๑๐

การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ

มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การเปิดเผยมาตรการป้องกันการเข้าถึง

มาตรา ๖ ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ  ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ     

การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ

มาตรา ๗  ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การพิจารณาฐานความผิด                 - การกระทำซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 7 อาจต้องมีการกระทำความผิดตามมาตรา 5 เสียก่อน  

การดักข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ

มาตรา ๘  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 การรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์

มาตรา ๙  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การรบกวนระบบคอมพิวเตอร์

มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เหตุผล การกำหนดฐานความผิดคำนึงถึงการก่อให้เกิดการปฏิเสธการให้บริการ (Denial of Service) เป็นสำคัญ

สแปมเมล์ (Spam Mail)

มาตรา ๑๑  ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

การกระทำซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง

มาตรา ๑๒  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐                

(๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน  ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท                

(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท                

ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี

เหตุผล กำหนดโทษหนักขึ้นตามความเสียหายที่เกิดขึ้น

การใช้อุปกรณ์/ชุดคำสั่งในทางมิชอบ

มาตรา ๑๓  ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

เหตุผล  จำกัดเฉพาะกรณีโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น ซึ่งแต่เดิมรวมถึงฮาร์ดแวร์ (อุปกรณ์) ด้วย

การนำเข้า/เผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม

มาตรา ๑๔   ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ                               

(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน                               

(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน                               

(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา                                                

(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้                                

(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)  

ผู้ให้บริการหมายความว่า

(๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

(๒) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

การกำหนดบทลงโทษผู้ให้บริการ

มาตรา ๑๕  ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔

เหตุผล ผู้ให้บริการในที่นี้มุ่งประสงค์ถึงเจ้าของเว็บไซต์ซึ่งมีการพิจารณาว่าควรต้องมีหน้าที่ลบเนื้อหาอันไม่เหมาะสมด้วย

การเผยแพร่ภาพซึ่งตัดต่อในลักษณะหมิ่นประมาท

มาตรา ๑๖  ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ               

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต  ผู้กระทำไม่มีความผิดความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้               

ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย    

บทกำหนดโทษ

ฐานความผิด โทษจำคุก โทษปรับ
มาตรา ๕ เข้าถึงคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ ไม่เกิน ๖ เดือน ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท
มาตรา ๖ ล่วงรู้มาตรการป้องกัน ไม่เกิน ๑ ปี ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท
มาตรา ๗ เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ ไม่เกิน ๒ ปี ไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท
มาตรา ๘ การดักข้อมูลคอมพิวเตอร์ ไม่เกิน ๓ ปี ไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท
มาตรา ๙ การรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์ ไม่เกิน ๕ ปี ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
มาตรา ๑๐ การรบกวนระบบคอมพิวเตอร์มาตรา ๑๑ สแปมเมล์ ไม่เกิน ๕ ปีไม่มี ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
มาตรา ๑๒ การกระทำต่อความมั่นคง(๑) ก่อความเสียหายแก่ข้อมูลคอมพิวเตอร์(๒) กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ/เศรษฐกิจวรรคท้าย เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต ไม่เกิน ๑๐ ปี๓ ปี ถึง ๑๕ ปี๑๐ ปี ถึง ๒๐ ปี + ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท๖๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ บาทไม่มี
มาตรา ๑๓ การจำหน่าย/เผยแพร่ชุดคำสั่ง ไม่เกิน ๑ ปี ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท
มาตรา ๑๔ การเผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม ไม่เกิน ๕ ปี ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
มาตรา ๑๕ ความรับผิดของ ISP ไม่เกิน ๕ ปี   ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
มาตรา ๑๖ การตัดต่อภาพผู้อื่น ถ้าสุจริต ไม่มีความผิด ไม่เกิน ๓ ปี ไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท

ที่มา :คำอธิบาย  พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550    

 โดย นายพรเพชร  วิชิตชลชัย ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4

เผยแพร่ โดย ศิริวรรณ  โพธิติ

หมายเลขบันทึก: 115280เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2007 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากนะค่ะ เนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อการเรียนมากๆ  ๆค่ะ ^^ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท