กองเรือมหาสมบัติแห่งจีนชาติ


มุมมองแห่งความภาคภูมิในประชาชาติจีน เมื่อบรรพบุรุษแห่งท้องทะเล นามเจิ้งเหอ อัครมหาเสนาบดีผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งนำกองเรือมหาสมบัติออกเดินทางรอบโลก กลับมาฟื้นคืนชีพในโลกปัจจุบันได้อย่างมีนัยยะ

กองเรือมหาสมบัติแห่งจีนชาติ

 

กองเรือมหาสมบัติแห่งจีนชาติ

 

ภาพสะท้อนอันยิ่งใหญ่ ภายหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ขึ้นอีกครั้ง ไม่ใช่เพียงตึกสูงใหญ่โต ไม่ใช่หอคอยไข่มุกแห่งเซียงไฮ้ ไม่ใช่เขื่อนยักษ์ ไม่ใช่ความเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับโลกเท่านั้น

 

แต่ทุกส่วนในความยิ่งใหญ่ ล้วนถูกหยิบจับมาใช้ประโยชน์แทบทั้งสิ้น ไม่นับการขุดประวัติศาสตร์ขึ้นมาบอกกล่าว และยืนยันความจริงว่า

 

จีนเคยเป็นประชาชาติที่ยิ่งใหญ่เพียงใดในโลกนี้

 

แรงกระเพื่อมและความเคลื่อนไหวครั้งใดของจีน จะยิ่งใหญ่เท่ากับการก้าวมาของศตวรรษนี้ แค่เพียงคำพูดชวนขนลุก และเรื่องตลกเล่นๆ ว่าหากคนจีนพร้อมใจกันกระโดดโลกก็อาจเคลื่อนหลุดจากวงโคจร หรืออย่างน้อยก็ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้ไม่ยากเย็นนัก หรือกรณีที่กล่าวว่าหากคนจีนถ่มน้ำลาย เราก็อาจจะได้เห็นทะเลน้อยๆปรากฎขึ้นบนโลก

 

ไม่ว่าจะนำตัวเลขของผู้คน แผ่นดินในความครอบครอง หรืออำนาจทางเศรษฐกิจในการขยายตัวปัจจุบันของจีนมาเทียบเคียง องค์ประกอบมากมายทางเศรษฐกิจ ยังไม่เท่ากับการนำประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ที่ยากจะหาข้อหักล้าง เมื่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายประการของราชอาณาจักรจีน ได้พิสูจน์ตัวตนออกมา

 

นามของอัครมหาเสนาบดี "เจิ้งเหอ" กลับกลายเป็นนามยิ่งใหญ่

 

ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของจีน แห่งพรรคคอมมิวนิสต์ประชาชน นามของขันทีผู้ยิ่งใหญ่ ผู้นำกองเรือขนาดมหาศาล ในนาม "กองเรือมหาสมบัติ" ออกไปยังโลกกว้าง กลายเป็นหนึ่งในหัวเรื่องของงานศึกษาวิจ้ย และเป็นหนึ่งหัวเรื่องที่ยืนยันว่าจีนยิ่งใหญ่มาก่อน และยิ่งใหญ่มานานแล้ว

 

คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมนามของ เจิ้งเหอ จึงกลับขึ้นมามีชีวิตได้อีกครั้ง

 

เมื่อมีเหตุในการกล่าวอ้างนาม ซึ่งเคยปรากฎขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ให้กลับมาโลดแล่นได้อีกครั้งล้วนต้องมีเหตุ ทุกอย่างต้องมีเหตุ และไม่มีความบังเอิญในท่ามกลางความพยายามทะยานสู่ความเป็นใหญ่ในโลก ของแผ่นดินจีนวันนี้

 

การขุดศพวีรบุรุษของประชาชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ จึงมิใช่เรื่องแปลก

 

ข้อสันนิษฐานในแรงผลัก ที่ดันให้เจิ้งเหอต้องออกมารับใช้แผ่นดินจีนอีกครั้ง น่าจะมาจากเหตุผลสำคัญว่า เพื่อตอกย้ำให้ประชาชาติยิ่งใหญ่คับโลกทั้งหลาย ซึ่งเคยเขียนกล่าวอ้างประวัติศาสตร์ จากเติบโตขึ้นจากกองเรือพาณิชย์ ซึ่งเดินทางค้าขายทั่วโลก จนสั่งสมภูมิปัญญาจากทั้งผู้คน แผ่นดิน และทรัพยากรทั่วโลก จนกระทั่งก้าวมาสู่มหาอำนาจทางทหาร และการครอบครองแผ่นดินอื่นในนามอาณานิคม จนก่อให้เกิดการสั่งสมทุนอันมหาศาล

 

เหมือนจีนกำลังจะบอกประชาชาติเหล่านั้น ด้วยการพูดถึงความมั่งคั่งแห่งอาณาจักรโบราณ ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ มิได้สูญหายและตายจางไปจากประวัติศาสตร์

 

กระแซะและตอกย้ำสีข้างฝรั่งดั้งขอ ผู้ชอบอ้างความมาก่อนในโลกแห่งการเดินทาง เช่นชนอารยันผิวขาวด้วยเหตุผลว่า แผ่นดินจีน เคยมีประสบการณ์นั้นมาแล้ว และไม่มีเหตุผลใดที่จะมาบอกว่า จีนเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก เพราะหากนับประวัติศาสตร์ตั้งแต่มนุษย์มีมันสมอง และก่อสร้างอาณาจักร ความจริงที่ต้องยอมรับว่าภูมิปัญญา ล้วนถ่ายทอดกันได้ มีจุดกำเนิดจากแหล่งอารยธรรมที่ไม่มากมาย

 

การต่อเชื่อมสาย และยึดโยงประวัติศาสตร์โบราณ เข้ามาไว้ในโลกปัจจุบัน ไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่น่าจะมาจากความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจแต่ต้องค้นหาความภาคภูมิแห่งบรรพชน เพื่อนำมาชนกับการกีดกันทางความรู้สึกในโลกทุนนิยม

 

พฤติกรรมดูถูกถือเป็นหนึ่งในความโดดเด่นของมนุษยชาติ เท่ากับความคิดสร้างสรรค์ การแบ่งแยกกีดกัน และพยายามให้เป็นอื่น เกิดขึ้นกับชาติอื่น คนอื่น หรืออะไรอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องเล่น แต่เป็นเรื่องจริงซึ่งตอกย้ำให้เราเห็นอยู่ได้ในทุกคืนวัน

 

เช่นเดียวกับเวทีความภาคภูมิใจในภูมิธรรมของบรรพชนระดับโลก ซึ่งที่จีนกำลังทำในวันนี้ คือการทวงคืนความภาคภูมิใจเหล่านั้นกลับมา ด้วยการค้นไปในแผ่นดินตนเองว่า ยังคงมีสิ่งใดหลงเหลือให้ใช้สอยได้บ้าง

 

ไม่แปลกหากเหล่าสี่สหายเกิดตื่นขึ้นมาหลุมศพ ก็คงต้องงงกับนโยบายและทิศทางของกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ขุดขันทีมุสลิม ในยุคแห่งอำนาจจักรพรรดิขึ้นมาขายตัวตน บนเวทีการค้าระดับโลก เพื่อยืนยันการมาถึง การไปถึงยังดินแดนห่างไกลรอบโลก

 

ความพยายามในการซ่อนรหัส เพื่อบอกกล่าวภูมิรู้และภูมิปัญญาอันยิ่งใหญ่ แห่งการเดินเรือ ซึ่งเป็นปมโอหังในหมู่ประเทศเดินเรือยุโรป ให้เข้าใจถึงปัญญา ว่าใครมาก่อนมาหลัง มักมาจากพื้นฐานสำคัญ ว่าการไขความลับแห่งท้องทะเล การเดินเรือกลางคลื่นลม ดวงดาว และการคาดเดาไม่ได้นั้น ต้องใช้ความรู้มากมายเพียงใด หรือกระทั่งบทข่มขั้นเทพ ที่บอกว่า เจิ้งเหอ อาจเคยเดินทางไปยังฝั่งอเมริกามาก่อน ก่อนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส หรือ อเมริโก เวสปุชิ ได้เคยทำไว้ก็ได้

 

ความจริงและความลวง คือรหัสที่ถูกอธิบายไว้ข่มเสมอ เมื่อยามถูกตอกย้ำ

 

แต่สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ตอนหลัง และมักจะเป็นบทสรุปในทุกครั้งก็คือ การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ในทุกครั้ง ได้บันทึกไว้ของ เจิ้งเหอ อัครมหาเสนาบดีท่านนี้ ว่าท่านมิได้ไปเพื่อการครอบครอง มิได้ไปเพื่อช่วงชิงความมั่งคั่งของแผ่นดินอื่น

 

ตลอดระยะเวลาการเดินทางของ เจิ้งเหอ เสมือนการค้นหาโลก เชื่อมสัมพันธ์แห่งราชอาณาจักรจีนกับผู้คนในแผ่นดินอื่น ซึ่งเชื่อฝังใจในประชาชาติมาเสมอว่าแผ่นดินตน คือศูนย์กลางของโลก

 

รหัสที่แทบจะไม่ซ่อนก็คือ จีน พยายามจะบอกว่า ตนไม่เคยเป็นพิษภัยต่อโลกนี้มาก่อน แม้ว่าจะมีแสนยานุภาพ และองค์ความรู้ ที่สามารถเดินทางได้รอบโลกก็ตาม แต่จีนก็ไม่เคยคิดครอบครอง

 

จะใช่หรือไม่ใช่ความจริงทางประวัติศาสตร์เช่นไร ก็เป็นหน้าที่ทางวิชาการ ในกาขุดคุ้ยความหมายที่ซ่อนอยู่ในเม็ดทรายของกาลเวลา แต่วันนี้ คำตอบซึ่งแผ่นดินจีนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งมาพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจคับโลกเวลานี้ คือสัญญาณที่บอกกล่าวไปยังประชาคมโลกว่า จีน ไม่น่ากลัว และจีนไม่ครอบครอง

 

จะจริงไม่จริงไม่รู้ เพราะคำตอบเดียว คือคำตอบจากกาลเวลาเช่นเดียวกัน

 

คำตอบจากกาลเวลาที่จะเป็นผู้ตอบเราได้ว่า เมื่อคราวที่จีนมีอำนาจคับโลก จีนจะเลือกหนทาง และทิศทางในการใช้อำนาจแบบใด ปัจจุบันในฐานะผู้ท้าชิงในทุกตัวตนความเป็นมหาอำนาจของโลก ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม เรามิสามารถสรุปได้ว่า จีน จะยังเป็นประชาชาติที่น่ารัก และสุภาพกับชนชาติอื่นเพียงใด ไม่มีใครรู้ และไม่มีใครตอบแทนอนาคตได้

 

อำนาจ เป็นมนตราที่น่ากลัว เมื่อไม่ได้มาก็มักนุ่มนวลสุภาพ แต่ยามอำนาจคับอกคับใจ แน่นไปในแต่ละขุมขนตัวตน เมื่อนั้นความจริงในใจและตัวตนอันเป็นแก่นแกนแห่งจิตวิญญาณ จึงจะมีโอกาสแสดงตัวขึ้นมาเอง

 

วันนี้จึงไม่มีใครตอบแทบลมตะวันออกลูกนี้ได้ว่า จะเป็นลมอ่อนเบาไหวเย็น หรือพายุโกรธเกรี้ยวเมื่อยามไม่ได้ดั่งใจ ไม่มีใครรู้ และไม่มีใครตอบแทนความเป็นตัวตนแห่งจีนชาติได้

 

อ้างอิง - ข้อมูลประกอบ

เจิ้งเหอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจิ้งเหอ
เจิ้งเหอ

เจิ้งเหอ (จีน: 郑和 ; พินอิน: Zhèng Hé ; แต้จิ๋ว: แต้ฮั้ว) เป็นผู้บัญชาการทหารเรือจีนในยุคราชวงศ์หมิง (明 ; Ming)

มีบันทึกว่าเจิ้งเหอเริ่มเดินทางรอบโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1421 และเคยติดต่อกับอาณาจักรอยุธยาด้วย มีผู้เสนอทฤษฎีว่า เจิ้งเหอน่าจะค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส

 

เนื้อหา

[ซ่อน]

[แก้] ประวัติ

เดิมทีนั้นเจิ้งเหอมีชื่อว่า "ซานเป่า" , "แซ่หม่า" เกิดที่มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นเขตแดนของมองโกลทางตอนใต้ของประเทศจีน เมื่อปี ค.ศ. 1371 มีชื่อมุสลิมเป็นภาษาอาหรับว่า มูฮัมมัด อับดุลญับบารฺ เกิดในตระกูลขุนนางมุสลิม เซมูร์ และเป็นลูกหลานชนชั้นที่หกของ ซัยยิด อัจญาล ชัมสุดดีน อุมัร ผู้ปกครองมณฑลยูนนานผู้ลือนาม จากบุคอรอ ในอุซเบกิสถาน แซ่หม่า มาจาก มาสูฮฺ (มาสีหฺ) บุครคนที่ 5 ของ ซัยยิด อัจญาล ชัมสุดดีน อุมัร บิดาของเจิ้งเหอมีนามว่า มีร ตะกีน และปู่มีนามว่า กะรอมุดดีน ได้ไปทำพิธีฮัจญ์ในมักกะหฺ จึงได้พบเห็นผู้คนจา่กทุกสารทิศ และต้องเล่าเรื่องนี้ให้แก่เจิ้งเหออย่างแน่นอน

 

แต่ก่อนแซ่หม่าเรียกว่าหม่าเหอ เจิ้งเหอมีพี่น้อง 5 คนเป็นชาย 1 คน หญิง 4 คน เมื่อหม่าเหออายุได้ 12 ปี ตรงกับช่วงที่กองทัพของจักรพรรดิหงหวู่หรือจูหยวนจาง ปฐมราชวงศ์หมิงนำกำลังทัพเข้ามาขับไล่พวกมองโกลที่มาตั้งราชวงศ์หยวนออกจากประเทศจีน ทำการยึดครองยูนานเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหมิงได้สำเร็จ ในเวลานั้นหม่าเหอได้ถูกจับตอนเป็นขันทีมีหน้าที่รับใช้เจ้าชายจูตี้ จนได้รับความไว้วางใจอย่างสูง ช่วงสงครามแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างเอี้ยนหวังจูตี้กับหมิงฮุ่ยตี้ กษัตริย์ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากหมิงไท่จู่ เจิ้งเหอมีส่วนสำคัญช่วยให้จูตี้ได้รับชัยชนะขึ้นสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ มีชื่อรัชกาลว่า "หย่งเล่อ" และได้รับการสนับสนุนเป็นหัวหน้าขันที ต่อมาได้รับพระราชทานแซ่เจิ้ง จึงเรียกขานว่า "เจิ้งเหอ" แต่ชื่อที่รู้จักกันดีก็คือ "ซันเป่ากง" หรือ "ซำปอกง" (三寶公/三宝公)

 

[แก้] การเดินทางสำรวจ

การเดินเรือสำรวจทางทะเลในระยะเวลา 28 ปี กองเรือของเจิ้งเหอออกสำรวจทางทะเลรวม 7 ครั้ง เดินทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร ท่องต่างแดนมากกว่า 37 ประเทศ เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1405 (พ.ศ. 1948) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งราชวงศ์อู่ทองปกครองกรุงศรีอยุธยา เจิ้งเหอทำหน้าที่ผู้บังคับกองเรือสำเภาขนาดใหญ่ เรียกว่า "เป่าฉวน" แปลว่า "เรือมหาสมบัติ" ต่อขึ้นที่เมืองนานกิง อดีตเมืองหลวงอันเก่าแก่ของจีนเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของ "อู่ต่อเรือ" ใช้ในการเดินเรือของเจิ้งเหอ เรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอยาว 400 ฟุต ขนาดใหญ่กว่าเรือ ซานตา มาเรีย ของโคลัมบัสที่ยาวเพียง 85 ฟุต ถึง 5 เท่า

 

การเดินทะเลในครั้งแรกมีเรือขนาดใหญ่ตามไปด้วย 60 ลำ ขนาดเล็ก 255 ลำ มีลูกเรือทั้งหมด 27,870 คน แล่นเลียบชายฝั่งฟุเกี้ยน ผ่านไปยังอาณาจักรจามปา ชวา มะละกา สมุทรา (เซมูเดรา) และแลมบรีทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา จากนั้นเดินทางต่อไปยังเกาะลังกา กาลกัติ ขากลับได้นำคณะทูตจากเมืองเหล่านี้มาเข้าเฝ้าฯ จักรพรรดิหย่งเล่อ

 

ในการเดินเรือแต่ละครั้ง ขากลับจะนำเครื่องบรรณาการจากเมืองต่าง ๆ มาถวายจักรพรรดิหย่งเล่อ โดยเฉพาะสัตว์จากหลาย ๆ เมืองที่ผ่าน อย่างเช่นขากลับจากการเดินเรือทางทะเลในครั้งที่ 5 เจิ้งเหอได้นำสิงโต เสือดาว นกกระจอกเทศ ม้าลาย และยีราฟ (โดยบอกว่าเป็น กิเลน) กลับไปถวายแด่จักรพรรดิหย่งเล่อ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมาก และกลายเป็นของแปลกและน่าตื่นเต้นสำหรับชาวจีนที่พบเห็นเป็นครั้งแรก

 

ต้นปีถัดมาเจิ้งเหอก็เริ่มออกเดินทางในครั้งที่ 2 เวลานั้นอายุ 36 ปี ครั้งที่ 3 อายุ 38 ปี ครั้งที่ 4 อายุ 42 ปี ครั้งที่ 5 อายุ 46 ปี ครั้งที่ 6 อายุ 50 ปี ครั้งที่ 7 อายุ 60 ปี โดยครั้งสุดท้ายมีจำนวนลูกเรือ 27,550 คน ไปไกลถึงทวีปแอฟริกา

 

เจิ้งเหอได้เข้าเยี่ยมสุสานศาสนทูตมุฮัมมัดในมะดีนะหฺและประกอบพิธีฮัจญ์ในมักกะหฺ นอกจากนั้นเจิ้งเหอได้ผ่านเข้าไปในเปอร์เซีย อ่าวเปอร์เซีย อารเบีย ทะเลแดง และอียิปต์

 

ภายหลังการเดินเรือทางทะเลในครั้งที่ 7 สิ้นสุดลง จากนั้นจีนก็หยุดดำเนินการสำรวจทางทะเล ส่วนเจิ้งเหอเสียชีวิตลงในปี ค.ศ 1432 ที่อินเดีย แต่มีการสร้างหลุมฝังศพจำลองของเขาอยู่บนภูเขาในเมืองนานกิง ไม่มีศพอยู่ในนั้น มีเพียงเส้นผมและเสื้อผ้าที่เคยใช้เท่านั้น ก่อสร้างตามแบบประเพณีมุสลิม เรียกว่า เจิ้งเหอมู่ หรือ สุสานเจิ้งเหอ ซึ่งได้รับการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ. 1985 บนสุสานมีคำว่า อัลลอหุ อักบัร แปลว่า อัลลอหฺใหญ่ยิ่ง

 

[แก้] เจิ้งเหอและประเทศไทย

ในประเทศไทย เจิ้งเหอเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "เจ้าพ่อซำปอกง" (ซานเป่ากง). วัดซำปอกง หรือชื่อทางการ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สาเหตุที่ชาวจีนมาเซ่นไหว้วิญญาณซำปอกงที่วัดกัลยาณมิตรเป็นเพราะความเข้าใจผิด กล่าวคือ ชาวจีนผู้นับถือพุทธศาสนากลุ่มหนึ่งได้นมัสการหลวงพ่อโตที่วัดกัลยาณมิตร แล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้เขียนหนังสือจีนไว้ที่หน้าวิหารว่า 'ซำปอฮุดกง' ซึ่งแปลว่าพระเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ชาวจีนกลุ่มที่นับถือซำปอกง อ่านเห็นเป็น 'ซำปอกง' จึงคิดว่าเป็นสถานที่เซ่นไหว้วิญญาณของซำปอกง และได้มาเซ่นไหว้ซำปอกงเรื่อยมา ด้วยเหตุนี้มีนักเขียนไทยบางคนคิดว่า เจิ้งเหอได้เปลี่ยนศาสนามาถือพุทธ

 

ทว่าการที่เจิ้งเหอทำฮัจญ์และมีสุสานแบบมุสลิมแสดงว่าเจิ้งเหอเป็นมุสลิมจนถึงแก่กรรม แม้ว่าเจิ้งเหอจะไม่มีลูก เพราะถูกตอนเป็นขันทีตั้งแต่เด็ก หากแต่หม่าเหวินหมิงพี่ชายได้ยกลูกชายหญิงให้กับเจิ้งเหอ ทายาทของเจิ้งเหอบางส่วนอาศัยอยู่ในประเทศไทย ใช้นามสกุล วงศ์ลือเกียรติ อันเป็นนามสกุลที่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าเชียงใหม่ ได้ประทานให้ เจิ้งชงหลิ่ง ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ" จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เจิ้งชงหลิ่งอพยพเข้าเมืองไทยในปี 2448 คนในตระกูลวงศ์ลือเกียรติเป็นมุสลิม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

หมายเลขบันทึก: 114956เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2007 07:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
อาจจะไม่ได้ไปเมกา เพราะว่าไม่ได้หลงทาง?
  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ ว่าเจิ้งเหอ ได้ไปจริงหรือไม่ อย่างไร
  • เท่าที่ติดตามอ่านงานเขียนซึ่งถกเถียงเรื่องนี้
  • ก็เห็นว่ายังไม่มีข้อสรุป สักเท่าไร
  • แต่เห็นว่า เป็นประเด็นปัญหาสำคัญเหมือนกันครับ
  • ยากลำบากเพราะไม่ได้มีจารึกของเจิ้งเหอ หรือปูมเดินเรือที่ชัดเจน
  • คงต้องรอเวลาสักระยะ เพื่อมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาช่วยยืนยันครับ
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับการเยี่ยมเยือน
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับ
  • เสื่อผืน หมอนใบ .. เป็นวาทกรรมที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังมหาศาลต่อการบอกกล่าวความอดทน อดกลั้นและสู้ชีวิตของชาวจีน... (ที่คนไทยต้องเรียนรู้)
  • การมาของคนจีนจากสมัย ร. 1 - ร. 4  ก่อเกิดปรากฏการณ์สำคัญหลายอย่างในหน้าประวัติศาสตร์ไทย  และในกฎหมายตราสามดวงก็กล่าวถึงไว้เช่นกัน
  • จีน... เป็นอีกความภูมิใจของชาวเอเซียในทางความมหัศจรรย์ในทางประวัติศาสตร์
  • ปัจจุบันจีน เป็นมหาอำนาจที่น่าจับตามอง มาก
  • ....
  • ผมไม่ใคร่แน่ใจว่าเคยได้อ่านและศึกษามาบ้างว่า "เจิ้งเหอ" ... เป็นแบบอย่างในด้านคุณธรรมที่คนจีนยกย่องเหมือนกัน
  • ผมไม่แน่ใจ.. ถ้าผิดเพี้ยนเคลื่อนไปบ้าง  ต้องขออภัยด้วยนะครับ
เสื้อผืนหมอนใบคงใช้ไม่ได้กับเรือมหาสมบัติ. :-)
  • สวัสดีครับ อาจารย์
    P
  • มุมมองวาทกรรม "เสื่อผืนหมอนใบ" ยิ่งใหญ่จริงๆครับ ในมุมมองความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความหมายของประชาชาติ
  • มีงานเขียน และงานแปลชิ้นสำคัญ อยู่เรื่องหนึ่ง ตรงกับประเด็นที่อาจารย์ว่า
  • คืองานชื่อ "อึ่งตี่เกี้ย" เป็นงานแปลของ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ 
  • ซึ่งแปลงานจากนักเขียนจีน-อเมริกัน ที่ใช้ชีวิตเป็นรุ่นสองของคนจีนในอเมริกา
  • ซึ่งรวบรวมข้อมูลของการเคลื่อนย้ายประชากรครั้งยิ่งใหญ่ ครั้งหนึ่งของโลก
  • เขียนละเอียดมากครับ
  • มีการอธิบายถึงการโยกย้าย จากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย แปซิฟิค อเมริกาใต้ ยุโรป หรือในแถบอเมริกาเหนือ
  • เป็นงานเขียนในวาทกรรมนี้ ที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่งครับ
  • ส่วนในประเด็นของ "เจิ้งเหอ"
  • ทิศทางระยะหลัง มีแนวโน้ม ในการขุดซากศพของวีรบุรุษขันที ในฐานะมหาเสนาบดีฮั่นมุสลิมผู้ล่องเรือ นำความยิ่งใหญ่มาสู่แผ่นดินจีน
  • มีประเด็นที่น่าสังเกตุ คือความแปลกแยก และเป็นอื่นของมหาเสนาบดีผู้นี้
  • ว่าทำไมรัฐบาลจีนปัจจุบัน และพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงมุ่งเน้นการนำเสนอ หรือไม่ปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของมหาเสนาบดีคนนี้
  • ประเด็นน่าสนใจตรงนี้แหละครับ
  • ที่น่าศึกษา ตีความ เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงของประเทศจีน
  • ในมุมมองนี้ น่าสนใจครับ
  • อาจจะเชื่อมโยงกับคนเล็กคนน้อยในสังคมจีน
  • ด้วยการอธิบายแบบ บรรพบุรุษ "เสื่อผืน หมอนใบ" ก็ได้นะครับในอนาคต
  • ตราบใดที่จีน ยังสามารถใช้ประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านี้ เพื่อยืนยันพื้นที่ความเป็นมหาอำนาจในโลกอนาคตของตัวเองได้
  • ขอบคุณสำหรับประเด็นแลกเปลี่ยนครับ
  • สวัสดีครับ คุณบ่าววีร์
    P
  • ประเด็นที่แตกต่างของ 2 วาทกรรมนี้ น่าสนใจนะครับ
  • ระหว่าง "เสื่อผืนหมอนใบ" กับ "เรือมหาสมบัติ"
  • ในอนาคต อาจมีการนำเสนอมุมมองประชาสัมพันธ์ประวัติศาสตร์ชาติจีน
  • โดยการหยิบยก 2 ประเด็นนี้ ขึ้นมานำเสนอก็ได้นะครับ
  • เชื่อมโยงจากอดีตที่ไร้ชีวิต วีรบุรุษที่ต้องขุดหลักฐานมาอธิบาย เข้ากับ ประวัติศาสตร์ที่ยังมีตัวตนและมีชีวิตอยู่ของจีน
  • ในท่ามกลางความยากเข็ญของประชาชน
  • อาจได้รับการเชื่อมโยงมาสู่มุมมองแบบนี้ก็ได้นะครับ
  • อันนี้ ไม่แน่เหมือนกัน
  • เพราะเป็นพล็อตที่น่าหยิบมาอธิบายเชื่อมโยงได้เหมือนกันนะครับ
  • น่าลองหยิบจับประเด็นนี้มาตีความดูครับ
  • น่าสนุกครับ
  • ขอบคุณสำหรับมุมมองเช่นเดียวกันครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท