ทักษะคลินิกแบบ intellectual leisure


บันทึกผ่านการเรียนรู้และการพูดคุยกับผู้มารับบริการกิจกรรมบำบัดและน้องๆนักกิจกรรมบำบัดผู้กำลังพัฒนาศักยภาพแห่งตน

ทุกๆเช้า ผมจะพัฒนาความรู้และความรอบรู้ทางคลินิก ด้วยการฝึกคิด วางแผน และถ่ายทอดการพัฒนาทักษะการให้เหตุผลทางคลินิก ทั้งในด้านหลักการทางกิจกรรมบำบัด ด้านหลักการการจัดการโครงงาน ด้านหลักการการจัดการเวลาการทำงาน และอื่นๆที่นำมาพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการการทำงานอย่างมีความสุข

และบางครั้งผมจะคอยเข้าไปสังเกต พูดคุย และดูพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของผู้มารับบริการทางกิจกรรมบำบัด หลังจากที่น้องๆนักกิจกรรมบำบัดคนใหม่ได้ทำการรักษาไปแล้ว

วันนี้มีสองกรณีที่น่าสนใจครับ

กรณีแรก มี Muscle Fatigue Related Stroke ผู้ป่วยบ่นว่าทำไมรู้สึกหมดแรงเวลาเคลื่อนไหวแขนข้างอ่อนแรงซ้ำๆ ไม่ได้นาน และทำไมเวลาเท้าแขนข้างอ่อนแรงแล้วเจ็บข้อมือ

สองคำถามนี้น่าสนใจ ถ้ามองภาพรวมของปัญหาและวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล ก็จะตอบผู้ป่วยได้ว่า การที่หมดแรงเพราะมีอาการล้าของกล้ามเนื้อ ที่มีกำลังไม่สมบูรณ์ เมื่อมีการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ก็จะไม่มีแรงทำได้ ดังนั้นวิธีจัดการความล้านี้ คือ ลองให้กล้ามเนื้อได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวแบบพักนาน ๓๐ วินาทีสลับกับแบบฝืนส่งแรงช้าๆ เคลื่อนไหว ๓ ครั้ง เมื่อลองทำดูผู้ป่วยรู้สึกว่าล้าน้อยลง

อีกคำถาม ตอบได้ไม่ยาก ในเมื่อกล้ามเนื้ออ่อนแรงและฟื้นกำลังบริเวณแขนท่อนบนมากกว่าข้อมือ เมื่อเท้าแขนก็ทำให้มีแรงกดบนปลายมือมากเกินไป จึงทำให้เจ็บ วิธีการแก้ไขง่ายมากครับ คือ ไม่ควรเท้าแขนนั่นเอง

อีกกรณีหนึ่งมี Mild Spasticity Related Incoordination of Stroke ผู้ป่วยขยับแขนข้างที่เกร็งเร็วๆ แล้วมีอาการสั่น ผมอธิบายให้ผู้ป่วยได้คิดและลองเปรียบเทียบ เมื่อขยับแขนซ้ำๆเร็วๆ เน้นแต่ปริมาณ ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็งสั่นและทำให้ร่างกายเรียนรู้การเคลื่อนไหวที่ผิด แต่เมื่อขยับช้าๆ สุดมุมการเคลื่อนไหว มีคุณภาพของการเคลื่อนไหวตามมา โดยผู้ป่วยสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างไม่เกร็งและสั่น หากมีอาการเกร็งหรือสั่นมากๆ ก็ให้เข้าใจระบบประสาทกล้ามเนื้อต้องการการเตรียมตัวสภาพก่อนการเคลื่อนไหว ลองยืดกล้ามเนื้อค้างไว้แยกส่วนแขนและขาของข้างที่มีปัญหา และค่อยๆเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ จนตั้งใจทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายต่อไป

ทั้งหมดนี้คือ วิธีที่ผมสรุปให้น้องๆ ฟัง เพื่อเรียนรู้และพัฒนาความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกิจกรรมบำบัดต่อไปในอนาคต

ผมรู้สึกดีมากๆ ที่ได้ใช้ความรู้เชิงการจัดระบบความคิดเพื่อการปฏิบัติตามการให้เหตุผลทางคลินิกกิจกรรมบำบัด ปริญญาเอกช่วยให้ผมคิดเป็นระบบ แต่การนำมาใช้ให้คนอื่นๆเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เป็นเรื่องของศิลปะการจัดการเรียนรู้จริงๆ ครับ

หมายเลขบันทึก: 114787เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2007 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท