วันที่เลขาฯไปขอนอนบ้านกาสะลองเป็นวันอาทิตย์ นิกร อดีตตัวป่วนประจำบ้าน ที่ตอนนี้กลับกลายเป็นคนว่าง่ายใช้คล่องอย่างไม่น่าเชื่อ ยังนั่งทำการบ้านอย่างขะมักเขม้น ส่วนคนอื่นทำเสร็จกันหมดแล้วตั้งแต่วันเสาร์
เลขาฯลงนั่งช่วยสอนเลขให้นิกร แล้วก็พบความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง
จำได้ว่าสมัยเลขาฯยังเด็ก กระดาษสมุดมีเส้นตีเป็นตารางอย่างถี่ มีไว้ให้หัดเขียนหัดคัดลายมือให้ได้ขนาด โดยไม่ต้องเล็งกะเอาด้วยตา แบบฝึกหัดและการบ้านทุกอย่างทำในสมุดมีเส้นนี้ทั้งหมด
นิกรไม่ได้ทำการบ้านใส่สมุด แต่ทำใส่กระดาษ A4 ที่เห็นทั่วไปตามร้านถ่ายเอกสาร ไม่มีเส้นบรรทัดแม้แต่เส้นเดียว มือซ้ายของนิกรถือไม้บรรทัดกดลงบนกระดาษแทนเส้นบรรทัดเพื่อให้เขียนได้ตรง มือขวาจับดินสอไว้มั่น ยามเขียนเลขแต่ละตัวดูต้องใช้พลังงานมากเหลือเกิน เพราะต้องใช้แรงกดทั้งมือซ้ายและขวา
น้องจีดที่ดูแลเด็กๆบ้านกาสะลองเล่าว่า การบ้านของเด็กๆต้องทำใส่กระดาษ A4 อยู่บ่อยๆ และต้องเป็นกระดาษ A4 ที่ซื้อมาจากโรงเรียนด้วย
เลขาฯเองก็เคยเห็นแฟ้มงานของเด็กๆที่ตั้งโชว์ไว้ในห้องในหลายๆโรงเรียน ทุกใบงานเป็นกระดาษ A4 บางแผ่นเป็นกระดาษที่ครูบรรจงทำเองแล้วถ่ายเอกสารมาให้นักเรียน (ทำให้กิจการถ่ายเอกสารเฟื่องฟูจนมีร้านเปิดข้างๆโรงเรียน) บางแผ่นเป็นภาพวาดฝีมือนักเรียน และอีกไม่น้อยที่เป็นการเขียนเรียงความ เรื่องเล่า หรือคิดคำนวณ
เคยสังเกตเห็นว่า งานที่เด็กชั้นเล็กๆเขียนในกระดาษ A4 ลายมือมักจะกุดชนเส้นบรรทัดที่มองไม่เห็น คงจะใช้ไม้บรรทัดวางทาบแล้วเขียน ทำให้หลายครั้งตกสระอุ สระอู ไป ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากระดาษสมุดมีความผิดตรงไหน ถึงไม่สามารถเข้ามาร่วมในแฟ้มงานได้
น้องจีดยังเล่าอีกว่า สำหรับเด็กมัธยม ที่โรงเรียนไม่มีอาหารกลางวันให้ จีดจะทำกับข้าวเผื่อทุกเช้าให้ห่อไปกินกลางวันที่โรงเรียน แต่คุณครูกลับดุว่าผิดระเบียบ ห้ามห่อข้าวมากิน ต้องซื้อจากร้านอาหารที่โรงเรียนจัดให้เท่านั้น
ถึงตอนนี้เด็ก ม.1 สองคนของกาสะลองก็ยังห่อข้าวไปกิน แต่ต้องแอบหลบสายตาครูให้ดี
เลขาฯยังคงเห็นภาพนักเรียนทางอีสาน ที่ห่อข้าวมากินที่โรงเรียนเป็นปกติทุกวัน นี่ไม่ใช่หรือ คือการประหยัดและอดออมที่แม้แต่รัฐบาลก็กลับมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง
แล้วทำไมเด็กๆถึงต้องแอบทำ
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย มุทิตา พานิช ใน พูนพลังรายวัน
กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. สพท. ผู้รับผิดชอบ และผู้บริหารสถานศึกษาน่าจะต้องสะดุ้งกับบัทึกนี้นะครับ
วิจารณ์