BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ครูสอนอภิธรรม


ครูสอนอภิธรรม

ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้สอนวิชาอภิธรรมปิฏก แม้จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ ถนัดหรือไม่ถนัดก็ตาม แต่ผู้เขียนก็สอนวิชานี้มาเป็นปีที่สองแล้ว...

มจร. ในฐานะมหาวิทยาลัยสงฆ์ จะมีวิชาแก่นพระพุทธศาสนาแทรกเป็นยาดำอยู่ ๕๐ หน่วยกิต ไม่ว่าจะคณะหรือสาขาใดก็ตาม ซึ่งหนึ่งในวิชายาดำเหล่านี้ ก็คือ การศึกษาพระอภิธรรมปิฏก โดยหลักสูตรปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๒ วิชาย่อย คือ วิชาพระอภิธรรมปิฏก ๑ และ ๒ รวมแล้ว ๔ หน่วยกิต...

รายละเอียดการเรียนการสอนนั้น จะเป็นการศึกษาเชิงสำรวจพระอภิธรรมปิฏกเพื่อให้นิสิตรู้จักโครงสร้างพื้นฐาน และศึกษาแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ ปรมัตถธรรม ๔ กล่าวคือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน...

พระไตรปิฏกฉบับสมบูรณ์ในยุคปัจจุบันแบ่งออกเป็นหนังสือ ๔๕ เล่ม (โดยถือเคล็ดว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมวินัยอยู่ ๔๕ พรรษา ... ส่วนยุคเก่าเคยแบ่งออกเป็น ๘๐ เล่ม โดยถือเคล็ดว่า พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา)... เฉพาะพระอภิธรรมปิฏกแบ่งออกเป็น ๑๒ เล่ม และถ้านับเป็นคัมภีร์ก็จะได้ ๗ คัมภีร์...

พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์เหล่านี้ ในวิชาพระอภิธรรมปิฏก ๑ กำหนดให้เรียน ๔ คัมภีร์ กล่าวคือ สังคณี วิภังค์ ธาตุกถา และปุคคลบัญญัติ... ส่วนในวิชาพระอภิธรรมปิฏก ๒ กำหนดให้เรียน ๓ คัมภีร์ กล่าวคือ กถาวัตถุ ยมก และปัฎฐาน .... และปรมัตถธรรม ๔ นั้น ผู้เขียนกำหนดเองว่า ภาคแรกเรียน จิตและเจตสิก ... ส่วนภาคหลังเรียน รูปและนิพพาน...

...........

ในเมืองไทยมีการศึกษาพระอภิธรรมมานานแล้ว เฉพาะปัจจุบันการเรียนการสอนตามรูปแบบในปัจจุบัน มี ๙ ชั้น ถ้าเรียนโดยไม่ตกเลยก็ใช้เวลา ๗ ปี จึงจะจบ... การเรียนอภิธรรมตามรูปแบบนี้ ผู้เขียนไม่เคยเรียน เพียงแต่เคยอ่านหนังสือมาบ้างเท่านั้น.... แต่การเรียนบาลีนั้น ผู้เขียนก็เคยแปลเนื้อหาด้านอภิธรรมมาบ้าง ซึ่งรู้กันในบรรดานักเรียนบาลีว่า อภิธรรมยากที่สุด...

บรรดาสิ่งที่ยากที่สุดของการเรียนอภิธรรมนั้น เบื้องต้นก็คือ จะต้องอาศัยความจำมาก เช่น จิตโดยย่อมี ๘๙ (โดยพิสดารมี ๑๒๑) เจตสิกมี ๕๒ รูปมี ๒๘...

เฉพาะจิตแบ่งได้ ๙ นัย เช่น ตามโลกเภทนัยก็มี ๒ อย่าง กล่าวคือ โลกิยจิต โลกุตตรจิต ... ตามชาติเภทนัยก็มี ๔ อย่าง กล่าวคือ กุศลจิต อกุศลจิต วิปากจิต และกิริยาจิต... เป็นต้น ซึ่งผู้ที่คิดจะเรียนอภิธรรมตามรูปแบบนี้ ถ้าไม่แม่นจำในสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่อาจที่จะเข้าใจประเด็นที่ลุ่มลึก ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปได้...

.............

ยากประการต่อมาก็คือ ยากที่จะเข้าใจ เพราะโดยมากเป็นเรื่องนามธรรม โดยเฉพาะเรื่องวิถีจิตซึ่งว่าด้วยกระบวนการคิด การรับรู้ การสั่งสมอุปนิสัยต่างๆ ของคน เป็นต้น... 

ผู้เขียนเคยอ่านการตั้งข้อสงสัยของ เบอร์แทรนด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) ว่า... คนเราอาจได้ยินตั้งแต่ยังไม่ตื่น เช่น เสียงระฆัง หรือเสียงนาฬิกาปลุก... ครั้งแรกที่เราได้ยินนั้น เรายังหลับอยู่ แต่ต่อมาเราก็จะตื่นเพราะเสียงปลุกของระฆังหรือนาฬิกา ซึ่งการที่เรารู้สึกตัวตื่นแล้วได้ยินครั้งแรกนั้น มิใช่เสียงที่เราได้ยินครั้งแรกจริงๆ เพราะเสียงได้รบกวนประสาทมาครู่หนึ่งแล้วก่อนเราจะตื่น... ทำนองนี้ แต่รัสเซลล์ก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไม คนเราจึงได้ยินตั้งแต่เราหลับอยู่...

อภิธรรมอธิบายเรื่องทำนองนี้ไว้... โดยบอกว่า ยามที่เราหลับสนิทนั้น จิตจะตกสู่ภวังค์ (ภวังคจิต) เมื่อเสียงมากระทบโสตประสาทครั้งแรก ภวังคจิตตอนนั้นเรียกว่า อตีตภวังค์ ... เมื่อมีเสียงมากระทบอีก อตีตภวังค์นี้อาจดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั้งถึงจุตหนึ่งก็อาจไหวตัวขึ้นมาเรียกว่า ภวังคจลนะ... แล้วดำเนินการไปถึง ภวังคุปัจเฉทะ คือการตัดภวังค์ ก่อนที่โสตประสาทจะเปิดรับเรียกว่า โสตทวาราวัชชนะ.... ซึ่งตอนนี้เรายังคงไม่รู้สึกตัว ถ้ากระบวนการนี้ดำเนินการต่อไปเราก็จะได้ยินเสียง... แต่ถ้ากระบวนการนี้ไหลกลับสู่ภวังค์ ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม...

สรุปว่ายากส์....

.....

ยากประการสุดท้ายที่จะเล่า ก็คือ ความเห็นเกี่ยวกับพระอภิธรรมของผู้รู้ ผู้สนใจ หรือผู้อวดรู้อวดสนใจทั้งหลาย ... บางคนก็บอกว่าอภิธรรมเป็นพุทธพจน์ บางคนก็บอกว่าอภิธรรม มิใช่พุทธพจน์ ... ซึ่งต่างก็มีเหตุผลมาหักร้างซึ่งกันและกัน...

ท่านพุทธทาส ก็เคยวิจารณ์เรื่องอภิธรรมไว้ โดยท่านเรียกการเรียนอภิธรรมทำนองนี้ว่า อภิธรรมเม็ดมะขาม ... และแปล อภิธรรม ไว้ว่า ธรรมะเกิน เป็นต้น....

.......

อย่างไรก็ตาม อภิธรรม จัดได้ว่าเป็นภูมิปัญญาอันสูงยิ่งยวดของคำสอนทางพระพุทธศาสนา ยังคงท้าทายผู้สนใจใฝ่รู้เสมอ และในยุคอินเทอร์เน็ตสมัยนี้ก็มี web เผยแพร่อภิธรรมไว้คอยท่านผู้สนใจไปแวะชมมากมาย....  

หมายเลขบันทึก: 114108เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2007 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
สาธุ  ภนฺเต    กลฺยาณํ  เต  กตํ   อหํ   อนุโมทามิ  ปญฺจ  ปญฺจ 
ไม่มีรูป
อปฺปเมว กตกมฺมํ 
อามนฺตา
ทุกเขน อภิธมฺมํ อุคฺคณฺหิตพฺพํ.  ปน สุเขน มญฺญติ?
P

ท้ายอาสน์สงฆ์

ไม่ทราบวัตถุประสงค์แห่งความเห็น...

แต่ บาลีที่แต่งมา ประโยคหลังว่า

  ปน สุเขน มญฺญติ

ศัพท์ว่า ปน เป็นนิบาตต้นข้อความ ห้ามเรียงไว้เป็นตัวแรกเด็ดขาด... ในการสอบบาลีวิชาแปลไทยเป็นมคธ ถ้าวาง ปน นิบาตไว้ต้นข้อความอย่างนี้ ปรับตก  อย่างเดียว... เพราะถือว่าไม่มีใช้ในวรรณคดีบาลี เรียกกัน กินภูมิ ว่าจ้า

เจริญพร   

ิ 

นมัสการขอบพระคุณมากขอรับสำหรับคำแนะนำ

ลองแต่งเล่น ๆ ดูคับ 

รู้ว่าต้องได้กินปลาทูน่าราดศัพท์ปรับสัมพันธ์แน่ ฮา ๆ

ทิ้งบาลีไปเสียนาน 

ไปสอบใหม่ท่าทางจะเป็นเช่นที่หลวงพ่อบอกนั่นแหละคร้าบ อิ่มปลาทูน่าแน่เลย ฮา ๆ

กราบเรียนพระคุณเจ้า

เรื่องพระอภิธรรมไม่ใช่พระพุทธพจน์

ไม่แน่ใจว่าท่านได้อ่านหรือยัง แต่คาดว่าน่าจะได้อ่านแล้ว

เพราะค้น google คำว่า อภิธรรม ก็จะเจอกระทู้เหล่านี้ครับ

สืบเนื่องจากกระทู้นี้

http://202.44.204.76/cgi-bin/kratoo.pl/001678.htm

ทำให้เกิดกระทู้นี้

http://202.44.204.76/cgi-bin/kratoo.pl/001767.htm

ต่อด้วยกระทู้นี้

http://202.44.204.76/cgi-bin/kratoo.pl/001746.htm

ที่มาโพส เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ผ่านมาเจอครับ เพราะค้นgoogleแล้วเจอบล็อคท่านแรกๆเลย เข้าใจว่าจะต้องมีผู้เสนใจแวะผ่านมาเจอมาก เผื่อจะเป็นประโยชน์

ส่วนคำพูดของท่านพุทธทาส กระผมเห็นว่าท่านไม่สมควรจะตั้งฉายาให้พระธรรมวินัยซึ่งพระพุทธองค์ทรงตั้งเป็นพระศาสดาของพวกเราแบบนั้นเลยครับ แม้ในสมัยพุทธกาล หากใครคิดตำหนิในใจ หัวยังแตกเป็น7เสี่ยงเลยครับ แล้วถ้าวิจารณ์พระศาสดาแล้วยังเป็นเป็นมิจฉาทิฏฐิอีกด้วย ท่านจะไปอยู่ไหน

ไม่มีรูปพินิจ

 

  • อนุโมทนา...

เจริญพร

ที่ท่านอ้างว่า.... ส่วนยุคเก่าเคยแบ่งออกเป็น ๘๐ เล่ม โดยถือเคล็ดว่า พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา.

อยากทราบว่า ท่านมีหลักฐาน ว่ามี ...การถือเคล็ด ในยุคเก่า จากที่ไหนครับ

 

และเช่นกันที่ท่านอ้างว่า......ยุคปัจจุบันแบ่งออกเป็นหนังสือ ๔๕ เล่ม (โดยถือเคล็ดว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมวินัยอยู่ ๔๕ พรรษา  

อยากทราบว่าใครเป็นผู้ที่ถือเคล็ดนั้น ถึงให้มีการเปลี่ยแปลง และการถือเคล็ดนี้เป็นหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่

 

ดูเหมือนว่าท่านคงไม่เข้าใจเรื่องอภิธรรมเท่าไรนักจึงเอาคำพูดของพุทธทาส..ผู้ดูหมิ่นพระธรรม มาใส่เอาไว้ที่นี้  

 

ขืนไปตอบว่าใครถือเคล็ด...ก็จะแตกแขนงไปใหญ่

จะแบ่งเป็นกี่เล่มก็คือคนภายหลังทำขึ้น..สมัยนั้นบันทึกด้วยสัญญา

คงไม่มีเคล็ดลับอะไรหรอก

เอามาทำให้จำกันง่ายๆ   ก็ทำให้สอดคล้องกับเรื่องประวัติของพระพุทธองค์

ทำแบบนี้...ทำให้ได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า...เป็นเรื่องให้เกี่ยวคล้องกันไป

จะแบ่งเป็น 32  เล่ม  ก็คืออาการ 32...ตอบแบบไม่มีเคล็ด

จะแบ่งเป็น 24 เล่มก็ได้...ตอบว่าปัจจัย 24

จะแบ่งเป็น 8  เล่ม....ก็บอกว่า  มรรคมีองค์ 8

 

เคล็ดหรือไม่เคล็ด....เพียงเป็นบัญญัติ

คือทำให้รู้เรื่อง.....ก็น่าจะหมดสงสัย

เก่งมากที่เที่ยวขุดหารายละเอียด..ไม่กลัวเสียเวลา

 

 

พุทธทาสไม่ได้ดูหมิ่นพระอภิธรรมหรอก

บุคคลระดับนักปราชญ์....พูดให้คนฉลาดคิด...

คนโง่...อย่าไปยุ่งกับท่านเลย

เหมือนช้าง...คลำโดนตรงไหนก็ว่าอย่างนั้น

ตาไม่บอด....ก็เข้าใจต่างๆไปได้

 

ง่ายๆไม่ใช้พระอภิธรรม.....เปรียบเป็นเม็ดมะขาม...

คงแปลว่าแข็งกระมัง...เคี้ยวยาก

ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่รู้ด้วยการนั่งคิดเอาเหมือนพระเถระท่านเพราะท่านใช้แค่ความคิดเทียบกับวิทยาศาสตร์เหมือนที่ท่านเคารพ ชาล์ว  ดาร์วิน มากกว่าพระพุทธเจ้า (เรื่องการวิวัฒนาการของมนุษย์) ท่านเชื่อว่าการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีเมื่อคิดอย่างนี้ก็เชื่อว่าเป็นอุจเฉททิฐิ (ขาดสูญ)ซึ่งพระผู้มีพระผู้ภาคเจ้าท่านก็ปฏิเสธ (***อันนี้ไม่ใช่พุทธพจน์ ฉีกทิ้ง )ถ้าเป็นเช่นนี้ พระอรหันต์กับโจร 500 ก็มีค่าเท่ากันเพราะตายแล้วก็ดับสูญ ถ้างั้นโจรเสื้อนอกที่โกงกินอย่างแนบเนียนก็สบายสิครับ และที่ท่านบอกว่าถ้าทำใจให้ว่างได้จะเป็นพระอรหันต์ถ้างั้นทุกคนในวันหนึ่งๆ ก็เป็นพระอรหันต์ได้หลายครั้งนะสิ อย่างไรก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่ศึกษาอภิธรรมว่าดีแล้วแต่ขอให้ศึกษาอย่างภายในนะ (ศึกษาตัวเอง)อย่าเอาแค่ใบประกาศอย่างเดียวมันไม่ประโยชน์อะไรสิ่งสำคัญคือการเข้าถึงธรรมนั่นเอง บุคคลที่อาตมายอมรับเรื่องนี้ก็เช่นคุณโยม อ.สุจินต์  บริหารวนเขตต์ แห่งบ้านธรรมะคุณโยมคนนี้แตกฉานจริงรู้จริง และท่าน อ.มหาอิสระ  กิตติปาโล (ท่านผู้แตกฉานในสภาวะและอธิบายให้เข้าใจง่าย)

เป็นกำลังใจให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท