สรุปบทเรียนครึ่งปีในการดำเนินงานจัดการความรู้


บันทึกการจัดการความรู้ : (Knowledge Management, KM)

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนครึ่งปีในการดำเนินงานจัดการความรู้

กรมส่งเสริมการเกษตร

               กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนครึ่งปีในการดำเนินงานจัดการความรู้ ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการจัดการความรู้ระดับกอง สำนัก เขต จังหวัด และคณะทำงานบริหารองค์ความรู้ จำนวน 220 รายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การจัดการความรู้ภาคปฏิบัติของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สรุปบทเรียนการดำเนินงานการจัดการความรู้ในภาพรวมช่วงครึ่งปี และวางแผนการดำเนินงานการจัดการความรู้ในช่วงต่อไป ในระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2550 ณ โรงแรมอู่ทองอินน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา        

                ซึ่งเมื่อข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากจังหวัด ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากและได้เดินทางในวันเดียวกันเพื่อที่จะได้เดินทางไปถึงยังสถานที่ที่จัดการสัมมนาในวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 อย่างทันเวลา เมื่อถึงโรงแรมอู่ทองอินน์ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรู้จักกับนางอโณทัย   นุตะศะริน ตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 7ว จากสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่4 กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งทางโรงแรมได้จัดให้พักอยู่ห้องอยู่เดียวกัน เริ่มลงทะเบียนเข้ารับการสัมมนา เวลา 15.00 น.

               ในเช้าวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 เวลา 08.30 น. เริ่มต้นการสัมมนาโดยนางสาวอารายา บุญจริง ตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กล่าวเปิดการอบรม ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการสัมมนาในครั้งนี้ และกล่าวสรุปผลการดำเนินงาน KM ในรอบครึ่งปี โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการได้มีนโยบายให้ส่วนราชการขยายผลการดำเนินการจัดการความรู้ โดยส่งเสริมและพัฒนาระบบการจัดการความรู้ในส่วนราชการที่มุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์ความรู้ที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อการปฏิบัติราชการตามประเด็นยุทธศาสตร์ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยในปี 2550 กรมส่งเสริมการเกษตรได้คัดเลือกประเด็นยุทธศาสตร์ขจัดความยากจน โครงการศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง และประเด็นยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างสมดุล โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน มาดำเนินงานจัดการความรู้ พร้อมทั้งได้เน้นหนักในงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนที่ให้นำ KM ไปใช้ในการพัฒนางานและบูรณาการในการดำเนินงานร่วมกับงานอื่นๆ นอกจากนี้ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานย่อยนำแนวคิด หลักการ การจัดการความรู้ไปดำเนินการเพื่อพัฒนางาน คน และหน่วยงาน สามารถสรุปผลการดำเนินงานได้ดังนี้                        

1. การเตรียมการและสร้างความเข้าใจ โดยประชุมคณะทำงานเรื่องการบริหารองค์ความรู้ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทบทวนและแต่งตั้งคณะทำงานในระดับส่วนกลางใหม่ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงาน ผลักดันนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนให้ทุกหน่วยงานย่อยสามารถนำ KM ไปใช้ในการพัฒนางาน คน องค์กร และจัดเวทีเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแนวคิดแนวทางปฏิบัติในการนำการจัดการความรู้ไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรได้                        

2. การสื่อสาร กระตุ้นให้บุคลากรในองค์กรได้เรียนรู้การจัดการความรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การเขียนบทความในวารสารส่งเสริมการเกษตร                        

3. การพัฒนาบุคลากรในกระบวนการ KM จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าต้องพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในการเป็นผู้จดบันทึกและสกัดองค์ความรู้ที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเก็บไว้ในคลังความรู้สามารถสืบค้นและนำมาใช้ได้สะดวก                                         

4. การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องนำความรู้ไปใช้ (คุณกิจ) ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และสามารถนำความรู้ไปใช้พัฒนางานให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้    

- เกษตรกรที่ทำการเกษตรร้อยละ 85 จากเกษตรกรเป้าหมาย 310,000 ราย ใช้เทคโนโลยีการเกษตรผลิตสินค้าเกษตรอย่างปลอดภัยและ/หรือมีประสิทธิภาพ        

- ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง จำนวน 2,062 ศูนย์ จัดตั้งขึ้นโดยกรมส่งเสริมการเกษตรสำหรับระดับจังหวัดและอำเภอ ได้เน้นให้มีการจัดเวทีถอดบทเรียน ทั้งในระดับอำเภอ (DM) เครือข่ายระหว่างอำเภอ (DW) และระดับจังหวัด (MM)ในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จระหว่างเจ้าหน้าที่                                        

5. การพัฒนาช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้โดยช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การแลกเปลี่ยนผ่าน Blog                        

6. การพัฒนาคลังความรู้ กรมฯ ได้พัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูล เพื่อให้เป็นคลังความรู้ที่มีประสิทธิภาพสามารถนำองค์ความรู้ที่มีในคลังความรู้ไปใช้ต่อยอดในการพัฒนางานได้               

                 จากนั้นเวลาประมาณ 9.45 น. เป็นการแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินการจัดการความรู้ในระดับเขต จังหวัด และพื้นที่ โดยมีผู้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ 3 ท่านโดย 1) ผู้แทนเขตได้แก่นายชำนาญ ฉุ้นประดับ ตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 8ว จากสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่5 กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ มาแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องการทำงานเสริมหนุนจังหวัด 2) ผู้แทนจังหวัด ได้แก่นายประสงค์ บุญเจริญ ตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6ว จากสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร มาแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องกระบวนการจัดการความรู้ KV KS KA 3) ผู้แทนอำเภอ ได้แก่นายวิเวก อมตเวทย์ เกษตรอำเภอละแมจากจังหวัดชุมพร โดยมีนายยอดธงไชย รอดแก้ว จากกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ดำเนินรายการ เริ่มจากนายประสงค์ บุญเจริญ ได้เล่าประสบการณ์ในการทำกระบวนการจัดการความรู้โดยใช้โมเดลปลาตะเพียนเป็นเครื่องมือในการนำการจัดการความรู้ไปปฏิบัติงาน โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพรเป็นปลาผู้นำฝูงและใช้เวทีการจัด DW แต่ละครั้งภายในจังหวัดเป็นปลาสมาชิกในฝูง ซึ่งนำการจัดการความรู้มาประยุกต์ในโครงการทั้ง 3 โครงการที่เป็นประเด็นยุทธศาสตร์ของกรมฯ โดยจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแต่ละเวที มีการยกตัวอย่างการผลิตมังคุดในประเด็นที่มีวิธีการทำอย่างไรให้ผิวเปลือกมังคุดมัน และให้เกษตรกรมีการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนายประสงค์กล่าวเสริมต่อว่าสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพรมีอาจารย์วิจารณ์ พานิช เป็นที่ปรึกษาซึ่งอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน KM และท้ายสุดนายประสงค์ ได้นำเสนอเทคนิคในการทำ KM ให้ประสบความสำเร็จดังนี้ คือ 1. ต้องมีทีมงานที่ดี 2. ใช้ทีมงานให้เป็นประโยชน์ ใช้ KM เป็นเครื่องมืออย่าให้เป็นภารกิจ 3. ค้นหาจุดแข็งขององค์กร 4. การหาภาคี เช่น กรมพัฒนาชุมชน ใช้ KM บูรณาการ 3 โครงการไม่ใช่ทำ KM” จากนั้นนายวิเวก อมตเวทย์ เกษตรอำเภอละแม จังหวัดชุมพร ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการนำเครื่องมือ KM ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งได้กล่าวถึงบทบาทของเกษตรตำบลในอดีตจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้โดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เมื่อปฏิบัติงานนานๆ เข้ามีการถ่ายทอดความรู้จนหมดแล้วจึงค่อนข้างที่จะปฏิบัติงานได้ยากเพราะไม่ทราบว่าจะถ่ายทอดอะไรอีก แต่เมื่อมีการนำ KM ไปใช้ในการปฏิบัติงานในพื้นที่พบว่าเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น จากผู้ถ่ายทอดมาเป็นผู้บริหารคลังความรู้ โดยที่เจ้าหน้าที่ต้องสร้างความตระหนักแก่ตนเองว่าเกษตรกรเป็นผู้ที่มีความรู้ในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี และสร้างความรับผิดชอบโดยต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นคุณอำนวยที่ดีเพื่อให้ชักนำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ได้ จากนั้นจึงกล่าวเสริมต่อว่าในแต่ละอำเภอมีพืชและมีกิจกรรมแตกต่างกัน การปฏิบัติงานโดยใช้ KM เป็นเครื่องมือนั้นต้องปรับให้เหมาะกับแต่ละสถานการณ์ แต่ละสภาพพื้นที่ ในเบื้องต้นต้องได้ KV ก่อน จากนั้นเกษตรตำบลจึงทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ KS และมีคุณลิขิตทำหน้าที่สกัดความรู้ที่ได้นำไปจัดเก็บในคลังความรู้ต่อไป จากนั้นนายชำนาญ ฉุ้นประดับ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการทำงานเสริมหนุนจังหวัด โดยได้กล่าวถึงเทคนิคในการนำ KM ไปใช้ในการปฏิบัติงานเริ่มต้นโดยการบูรณาการ 3 โครงการที่ได้กล่าวมาข้างต้นเข้าด้วยกัน แล้วจึงสร้างทีม KM จากเวที RW เพื่อสนับสนุนการทำงานในระดับจังหวัด โดยให้แต่ละจังหวัดทำสรุปผลการนำ KM ไปใช้ และเสนอแผนการจัดการ KM ในขึ้นต่อไปเพื่อให้ผลงานที่ได้สอดคล้องกับแผนงานที่มี มานำเสนอในเวที RW และได้แบ่งกลุ่มการทำงานเป็น 4 กลุ่ม โดยแบ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ 3 กลุ่ม กลุ่ม KM 1 กลุ่ม เพื่อที่จะได้ทราบสถานการณ์จากการที่แต่ละจังหวัดนำเสนอประเด็น

                    บ่ายโมงตรงจึงเป็นการศึกษาดูงานในพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อำเภอบางบาล 2. กลุ่มศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงในพื้นที่อำเภอลาดบัวหลวง 3. กลุ่มการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐานในพื้นที่อำเภอลาดบัวหลวง ซึ่งได้มีการแบ่งกันออไปศึกษาดูงานโดยคุณชัยพรได้เลือกที่จะไปศึกษาดูงานในกลุ่มที่ 2 ส่วนข้าพเจ้าเลือกที่จะไปศึกษาดูงานในกลุ่มที่ 3 เพราะคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี สำหรับกลุ่มการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐานในพื้นที่อำเภอลาดบัวหลวงนั้นเป็นการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันเพื่อผลิตผักปลอดสารพิษ โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ ตำบลสิงหนารถ อำเภอลาดบัวหลวง จากนั้นจึงกลับมาสรุปบทเรียนจากการศึกษาดูงานและนำเสนอ สามารถสรุปประเด็นจากการวิเคราะห์ได้ดังนี้

1. ให้วิเคราะห์เป้าหมายของกลุ่มคืออะไร

ประเด็น  เป็นอาชีพเสริม, เพิ่มรายได้, อยู่ดี มีสุข และมีความรัก ความสามัคคี

2. กลุ่มทำอะไรและอย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมาย

ประเด็น  ใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็น, ทำตามแรงงานที่มี, มีการจดบันทึก, มีการรวมกลุ่มเพื่อผลิตและจำหน่าย, มีการระดมหุ้น และกำหนดมาตรฐานในการผลิต

3. จุดเด่นของกลุ่มคืออะไร

ประเด็น มีระบบน้ำดี, คัดแยกผักอย่างชำนาญ, มีความเป็นเครือญาติ, มีความซื่อสัตย์, มีความสามัคคี และทำตามความสามารถ พอประมาณตามที่กำลังของตนมี

4. ปัจจัยแห่งความสำเร็จคืออะไร

ประเด็น องค์กรเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุน, มีตลาดรองรับ, มีการตรวจสารพิษตกค้าง และได้ใบรับรอง GAP

             ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่จากกรมฯ กล่าวชี้แจงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารคลังความรู้ขององค์กรให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบจากนั้นจึงมีการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการนำ KM ไปใช้ในกระบวนงานส่งเสริมการเกษตร ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกในกลุ่ม 7 และมีโอกาสเป็นตัวแทนของกลุ่มนำเสนอ สามารถสรุปประเด็นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดังนี้

1. ทำอย่างไรในการสร้างความเข้าใจ แนวคิด/หลักการ KM

ประเด็น  - สร้างความเข้าใจให้กับทีมงานระดับจังหวัดและระดับอำเภอ

- แต่งตั้งคณะทำงานในระดับจังหวัด อำเภอให้เข้มแข็ง

 - สร้างความรู้ความเข้าใจในเวที DM, DW

- เกิดการผสมผสานระหว่าง KM และการปฏิบัติงาน

- มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

- หาวิทยากรเสริมให้ความรู้เพิ่มเติม

- ฝึกปฏิบัติจริง สาธิตจริง

- มีการสรุปบทเรียน ทบทวน ทุกครั้งหลังจบประชุม (ประเมินผลหลังการอบรม)

2. นำ KM ไปใช้ในเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ประเด็น  - เกิดการทำงานเป็นระบบ มีการวางแผนงานมากขึ้น

- มีการจดบันทึก   

- เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่จากผู้ถ่ายทอดเป็นผู้บริหารคลังความรู้

- เกิดการผสมผสานระหว่าง KM และการปฏิบัติงาน

- ได้ความรู้ฝังลึกจากผู้ที่เข้ามาร่วม (มีผู้รู้เพิ่มมากขึ้น)

- ใช้ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนมาต่อยอดในการทำงาน

- สร้างความมั่นใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับเกษตรกร

- เปลี่ยนแปลงแนวคิดการทำงานของเจ้าหน้าที่

- มีเครือข่ายเพิ่มขึ้น

3. ปัญหาอุปสรรคและการแก้ไข

ประเด็น  - เจ้าหน้าที่บางส่วนไม่ยอมรับ ; สร้างการยอมรับ

- ทีมงานไม้เข้มแข็ง ; เจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการอบรมต้องมีความต่อเนื่อง

- จัดกระบวนการไม่ได้ ; สร้างให้เกิดความเข้าใจและยอมรับ เช่น เผยแพร่ประชาสัมพันธ์

- ผู้บริหารไม่เข้าใจ ไม่ให้ความสำคัญ ; ฝึกอบรมสร้างความเข้าใจ ฝึกปฏิบัติจริง

- วัสดุ อุปกรณ์ ยังไม่พร้อม ; ต้องสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ให้พร้อมและทันสมัย

- ขาดแรงจูงใจ ; อาจจะต้องมีการจัดการประกวดเพื่อสร้างแรงจูงใจ เป็นต้น

- ขาดทักษะการจดบันทึกของเจ้าหน้าที่ ยังไม่เคยชินกับการเป็นคุณลิขิต ไม่เคยสรุปบทเรียน ; มีการจดฝึกอบรม

- คณะทำงานยังขาดการบูรณาการซึ่งกันและกัน ; มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนผลการทำงาน

- CKO ไม่เข้าใจ ; ต้องสร้างความเข้าใจ

4. สิ่งที่ต้องการให้มีการเสริมหนุนอะไร จากไหน

ประเด็น  - หาวิทยากรเพิ่มเติม ; เจ้าหน้าที่จากกรม เขต

- ฝึกทักษะด้านคุณลิขิต คุณเอื้อ คุณอำนวย ; จากกรม เขต

- กรมเพิ่มงบประมาณ ; จากกรม เขต

- สนับสนุนสื่อพัฒนาการเรียนรู้ระดับเจ้าหน้าที่ เกษตรกร ; จากกรม เขต               

                    หลังจากที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสในการเข้าสัมมนาในครั้งนี้ ข้าพเจ้าถือว่าเป็นกำไรชีวิตของข้าพเจ้าเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นการเปิดโลกทัศน์ในเรื่องของการดำเนินงานจัดการความรู้ของกรมฯ ซึ่งหากรู้จักนำKM มาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานให้เหมาะเพื่อพัฒนางาน คน หน่วยงาน และองค์กรแล้วก็จะทำให้เกิดการผสมผสานระหว่าง KM กับการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนมาต่อยอดในการทำงาน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่จากผู้ถ่ายทอดความรู้มาเป็นผู้บริหารคลังความรู้ ก็จะทำให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทางกรมฯ จำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรทุกระดับภายในกรมฯ ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ประโยชน์ของการใช้ KM ในการปฏิบัติงานเมื่อบุคลากรมีความเข้าใจในตัวของ KM แล้วก็จะเกิดการยอมรับ และสุดท้ายก็จะสามารถนำ KM ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อคน หน่วยงาน องค์กร รวมถึงประเทศชาติต่อไป                                                                                      

       สุดใจ ใจเกลี้ยง

นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 3 

สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะสมุย 

คำสำคัญ (Tags): #สมุย
หมายเลขบันทึก: 114048เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2007 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เยี่ยมเลยครับ
  • ลองจัดตัวอักษรดูนะครับ
  • ยินดีต้อนรับสู่ gotoknow ครับผม
  • มือใหม่หัดเขียน KM ยังไงก็ขอขอบคุณที่เข้ามาเสนอแนะ
  • จะพยายามพัฒนาให้ดีขึ้นนะค่ะ
  • มาบอกว่าลองใช้ตัวอักษร
  • Tahoma 14 หรือ 16 point
  • พิมพ์ใน words แล้ว copy มาวางใน gotoknow นะครับ
  • รับรองว่าน่าอ่านแน่ๆๆครับ
  • ขอบคุณครับ
  • โห นึกว่าเขียนใหม่แล้ว
  • ฮือๆๆๆ
  • เข้ามาเก้อเลย
  • วัยรุ่นเซ็ง
  • ฮ่าๆๆๆ
  • หวัดดีครับ คุณแม้ว
  • ยินดีต้อนรับสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ของคนรุ่นใหม่ครับ
  • เริ่มทำตาม MOU ที่ตกลงกันไว้แล้วซิ
  • ขยายผลสู่คนข้างๆด้วยก็แล้วกัน

 

ขอนำองค์ความรู้ท่านอาจารย์ไปต่อยอดหน่อยนะครับ กำลังเขียนโครงการศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน เพื่อให้คนในและนอกชุมชนมาดูเป็นต้นแบบ ขอข้อแนะนำด้วยครับท่าน

จากนักพัฒนาชุมชนคนหน้าตาดี..แต่ความรู้น้อยกว่าหน้าตาไปหน่อย..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท