ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (14): อาหารการกินแบบเอเชียหาได้ไม่ยากที่เพิร์ธ


สำหรับเรื่องราวที่เขียนลงในวารสารสายใยพยา-ธิของภาควิชาเรา ตอนนี้ก็ยังคงเป็นหัวข้อเกี่ยวกับชีวิตทั่วๆไปในเพิร์ธอยู่ค่ะ อ่านเองก็ยังคิดถึงบรรยากาศดีๆนั้นอยู่เลย จำได้ว่าเวลามีเพื่อนที่โน่นถามว่า ทำไมยูไม่อยู่เสียที่นี่เลยล่ะ กลับเมืองไทยทำไม (ช่วงนั้นมีข่าวอะไรร้ายๆเกี่ยวกับบ้านเราอยู่) มากันทั้งครอบครัวแบบนี้ จะกลับไปทำไม ลูกๆก็น่าจะได้อยู่ที่นี่ เรียนกันดีๆอยู่แล้วทุกคน (คนจบปริญญาเอกที่นี่ ก็เป็นที่ต้องการมากค่ะ เขายินดีให้ค่าตอบแทนสูงทีเดียว) แต่ตอบเขาไปว่า ถ้าไอเกิดที่นี่ ไอก็จะถือว่าไอโชคดีมากๆ แต่ถึงยังไงไอและครอบครัวก็เกิดที่เมืองไทย เป็นคนไทยและอยากกลับไปทำอะไรๆให้เมืองไทย เอาตัวอย่างดีๆที่เห็นที่ได้รับที่นี่กลับไปช่วยบ้านเมืองไอดีกว่า สำหรับลูกๆก็ต้องให้เขารู้จักเมืองไทยให้มากที่สุด แล้วต่อไปเขาอยากเลือกอะไรก็แล้วแต่เขา แต่เราก็แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า เราเป็นคนไทย เราควรจะทำประโยชน์ให้บ้านเมืองเราก่อนดีกว่า เพราะยังไงๆเราก็ยังต้องก้าวอีกหลายก้าวมาก กว่าคนของเราจะมีชีวิตที่ดีมีคุณภาพแบบคนที่โน่น พูดแล้ว เลือดรักชาติกระฉูดอยู่เสมอค่ะคนรอบๆตัวที่โน่นรู้กันดี


อาหารการกินแบบเอเชียหาได้ไม่ยาก

เราจะทำอาหารทานกันเองเป็นประจำ โดยไปตลาดกันสัปดาห์ละครั้ง  ที่ตลาดซึ่งเป็นตลาดใหญ่ไม่ไกลจากที่พักมากนักชื่อ Subiaco Market มีคนเวียตนามขายผักผลไม้ ราคาถูกกว่าที่ขายในห้างใหญ่ มีผักแบบบ้านเราสารพัดชนิดให้เลือก แต่อย่าได้ถามถึงราคานะคะ เท่าที่จำได้ตลอดเวลา 5-6 ปีที่อยู่ที่โน่น ไม่เคยเจออะไรที่ถูกกว่าเมืองไทยเลย ยกเว้นอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือ องุ่นไม่มีเมล็ด แต่โชคดีที่มีผักให้เลือกหลากหลาย เราก็จะเลือกชนิดที่ไม่แพงมากนักตามฤดูกาล ผักที่นำมาขายส่วนใหญ่ปลูกเองที่นี่โดยคนเวียตนาม ไม่ใช่ของนำเข้า จึงมีขนาดใหญ่โตกันทั้งนั้นเพราะอากาศดี ทั้งผักกาดขาว กะหล่ำหัว ดอกกะหล่ำ แครอท หัวไชเท้า มะเขือเทศ ส่วนผลไม้เราก็จะเลือกซื้อหาตามหน้าของมัน จะทำให้ได้กินของที่ราคาไม่แพงนัก

คนที่นี่มักจะทำอาหารใส่กล่องไปกินกลางวัน ที่ทำงานส่วนมากจะมีไมโครเวฟไว้ให้ใช้อุ่นอาหาร พวกเราก็จะมีคุณพ่อผู้แสนดี ทำกับข้าวตั้งแต่เย็นเผื่อให้เราแพ็คเป็นอาหารกลางวันสำหรับวันต่อไปทุกวัน  ลูกๆทั้งสามคนมักจะเล่าว่าเพื่อนๆมาขอดู บางคนก็ขอชิม เพราะเด็กฝรั่งก็จะแพ็คอาหารพวกแซนวิช ไส้กรอก กล้วยหอม แอปเปิ้ล อะไรแบบนั้นซึ่งไม่หลากหลายเหมือนของเรา เด็กเอเชียจึงมักจะเป็นที่อิจฉาของเพื่อนๆฝรั่ง เพราะนอกจากเด็กไทยแล้ว เด็กจีน ญี่ปุ่น เกาหลีก็มีอาหารของตัวเองที่เด็กฝรั่งสนใจเหมือนกัน

เล่าเรื่องอาหารแล้วก็ต้องเล่าต่อเรื่อง อาหารสำเร็จรูปที่เป็นอาหารไทย ราคาขายจะแพงกว่าทำกินเองมาก ร้านอาหารไทยจะถือเป็นมื้อพิเศษของชาวออสซี่ ที่ตลาด Subiaco ก็จะมีซาละเปาขาย ลูกขนาดฝ่ามือราคาลูกละประมาณ 40-50 บาท พี่วั้นผู้ซึ่งจำรสชาติได้จากเมืองไทยอยากกินมาก แต่เราทำใจซื้อให้ลูกไม่ไหว เพราะคิดแล้วว่าคงกินกันอย่างน้อยๆก็ 2 -3 ลูกจึงจะอิ่ม ก็เลยต้องหาวิธีทำ เพราะไส้นั้นไม่ยากอะไร คุณพ่อผู้สามารถของเราทำได้สบายมาก แต่แป้งนี่สิส่วนผสมเป็นอย่างไร (ช่วงนั้น internet ยังไม่มีข้อมูลมากเหมือนปัจจุบัน) แหล่งความรู้ของเราก็ที่เล่าข้างบนนั่นเลยค่ะ ห้องสมุดประชาชนนี่เอง มีสารพัดตำราอาหาร โดยเฉพาะของจีน ของไทยนี่หาได้ไม่ยากเลย มีมากมายหลายหลากตำราให้เลือก นอกจากซาละเปาแล้ว เรายังได้ลองทำสารพัดขนมไทยสำเร็จมาแล้ว บางอย่างที่เคยคิดว่ายากก็ยังทำได้ เช่นขนมหม้อแกงเผือก ขนมชั้น ตอนหลังๆบ้านเราก็เลยเป็นที่รวมของน้องๆคนไทย ทำอาหารมากินที่บ้านเรา โดยมีขนมโน่นนี่ให้ลองกินกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ หลังจากเล่นแบดมินตันกันแล้ว สำหรับซาละเปานี่ ต้องทำครั้งละประมาณ 30 ลูก (นึ่งลังถึง 2 ชั้นกัน 2-3 รอบ) ซื้อแป้งกิโลละไม่ถึง 60 บาท ทำได้ตั้งหลายรอบทีเดียวค่ะ  ถึงขนาดก่อนกลับมีการ scan ตำราต่างๆที่จดด้วยลายมือแจกจ่ายเป็นมรดกให้น้องๆไว้ทำกินกันด้วย


เรายังมีนัดกับน้องๆกลุ่มนี้ไว้ว่า เราจะมารวมพลกันสักครั้งที่หาดใหญ่ในปีหน้า สามหนุ่มตั้งตารอเป็นอันมากเลยค่ะ โดยเฉพาะน้องฟุง สงสัยน้าๆอาๆจะโดนน้องฟุงทับแน่นอน เพราะตอนนี้ก็ตัวโตกว่าคุณแม่แล้วค่ะ

หมายเลขบันทึก: 113628เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2007 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท