ถอดความรู้จากการทำงานช่วง Tsunami: เป้าหมายตรงจริต และ วิืตกจริต


“อยู่ป่าตองคะ แต่ไม่เป็นไร หนูเชื่อว่าแม่ต้องปลอดภัย ที่นี่คนไข้และเพื่อนๆต้องการหนูช่วยงานคะ”

โดย นพ. ก้องเกียรติ  เกษเพ็ชร์ 


ต่อจากตอนที่แล้ว

    สิ่งที่ทำให้ทั้งสามท่านสนใจมาคุยเพื่อซักถามผมก็คือ ผลงานของ คณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของรพ. กรุงเทพ ภูเก็ต ที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยในช่วง Tsunami ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเข้ามารับการบริการที่โรงพยาบาลรวมกว่า 1 พันกว่าราย แต่มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 รายเท่านั้น (รายละเอียด : http://gotoknow.org/blog/imagine/113332) ผมขอสรุปว่าเราทำอะไรไปในช่วงนั้น ดังนี้

1. กำหนดเป้าหมายร่วมกัน ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลาดังกล่าว มีความสับสนในการจัดการเป็นอันมาก เพราะจำนวนคนไข้เข้ามาอยู่ตลอดเวลา และไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ได้ว่าจะหมดลงเมื่อไหร่ ผลพบว่า คำถามต่างๆเกิดขึ้นมากมายเพื่อให้ตัดสินใจ เช่น เราจะรับคนไข้กี่คน คนไข้มารักษาแล้วไม่ยอมกลับ จะใช้ยาอะไรได้บ้าง จะคิดเงินไหม โรงพยาบาลในจังหวัดข้างเคียงขอรถพยาบาลมาออกไปรับได้ไหม ค่าใช้จ่ายคิดอย่างไร (เพราะเราเป็นโรงพยาบาลเอกชน) คำถามเกิดขึ้นและการตัดสินใจต้องมีตลอดเวลา

ผมคิดว่าหากปล่อยเป็นแบบนี้คงไม่ดีแน่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและคงไม่ทันกับปัญหาที่เกิด จึงแจ้งกับทุกคนว่า

ให้ทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิต และไม่ให้คนไข้ต้องถูกตัดแขนขา (To Save life and limb)

ฟังง่าย แต่ทำยากมาก แต่ตอนนั้นคิดว่า ทำอย่างไรให้เขาใช้ จิตสำนึกความเป็นแพทย์ พยาบาล หรือ บุคลากรทางการแพทย์มากที่สุด ในการตัดสินใจ และมุ่งอยู่เรื่องเดียวไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น ก็เลยเลือกที่จะบอกอย่างนั้น เพราะน่าจะตรงกับ จริต ของเขาอยู่แล้วที่จะ รักษา คนไข้ไว้ก่อนก่อนที่จะคิดถึงเรื่องอื่น ซึ่งก็ได้ผล ทุกคนเลิกถาม กลับไปทำงานอย่างเอาเป็นเอาตาย ผมเรียนรู้อีกว่า หากเรากำหนดเป้าหมายให้ตรงกับ จริตแล้ว กิจ ที่เกิดขึ้นจะมีพลังเป็นทวีคูณจากพลังที่ปลดปล่อยออกมา ทุกคนทำงานอย่างไม่หยุดเพราะเรามีคนจำกัด (เป็นรพ. เอกชน เลยไม่ค่อยมีใครมาช่วย แย่จังการเป็น เอกชน นี่) ทุกคนเลยต้องทำงานต่อเนื่องกันไป มีผู้ช่วยพยาบาลคนหนึ่งเดินมาหาผมตอนดึกแล้วบอกว่า

อาจารย์ หนูยังติดต่อแม่ไม่ได้เลย

แม่คุณอยู่ที่ไหนหละ จะให้หมอจัดรถไปส่งที่บ้านไหม

อยู่ป่าตองคะ แต่ไม่เป็นไร หนูเชื่อว่าแม่ต้องปลอดภัย ที่นี่คนไข้และเพื่อนๆต้องการหนูช่วยงานคะ

    เป้าหมายที่ให้ไปกลายเป็นแรงกดดันอย่างมหาศาลกับทีมงาน หลายคนเดินจนเท้าพุพอง หลายคนร้องไห้ เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เดินมาร้องสักพัก พอหยุดร้องก็กลับไปทำงานต่อ อะไรต่างๆที่ติดขัดก็ถูกแก้ไปด้วยความตั้งใจให้บรรลุตามเป้าหมาย แต่อีกด้าน ในช่วงเวลานั้น หลายคนคงบอบช้ำกับร่างกายและจิตใจ แต่ผมเชื่อว่าเขาคงภูมิใจเมื่อนึกถึงเรื่องนี้อีกครังเมื่อเวลาผ่านไป

    เมื่อมาทบทวน หลายครั้งเราอาจจะพบว่า ทีมงานของเราไม่สามารถร่วมแรงร่วมใจกันให้บรรลุวัตถุประสงค์ของงานได้ แม้ว่าเราจะชี้แจง หรือทำความเข้าใจ บางคนก็ทำเฉย หรือไม่ยอมมีส่วนร่วม ก่อนที่จะเกิดความคิด ตำหนิ ทีมงาน ก็ควรที่จะทบทวนว่า สิ่งที่เรากำหนดเป็นเป้าหมายนั้น ขัดกับความรู้สึกของเขาหรือไม่ หรือ เราได้เตรียมความรู้สึกของเขาไว้ก่อนหรือไม่ เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันอาจจะต่างกับภาวะวิกฤติ เพราะขนาดของปัญหาอาจจะไม่รุนแรงเท่า เป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะทำความเข้าใจทีมงาน และเลือกสื่อเป้าหมายให้ "ได้ใจ" ทีมงาน

2. ค้นหาความเสี่ยงรอบด้าน ต้องบอกว่าตอนนั้นมีความคิดแบบ วิตกจริต หรือ Paranoid อาจจะเพราะอยากให้ทุกคนรอด (สงสัยเคยอ่าน Only the Paranoid Survive: http://www.intel.com/pressroom/kits/bios/grove/paranoid.htm ) คิดไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะคิดอย่างเดียวว่า

"ห้ามตาย ห้ามมีใครถูกตัดแขนและขา"

ที่คิดอย่างนั้นก็เพราะเห็นคนไข้ได้รับบาดเจ็บและมีแผลที่ปนเปื้อนน้ำทะเล ตอนนั้นคิดออกอย่างเดี่ยวว่า ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ เคยมีคนไข้เป็นตับแข็ง และขาบวม และหากเข้าไปรับเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำทะเล (บอกตรงๆว่าจำไม่ได้ ความจำไม่ดีตั้งแต่ไหนแต่ไร จำได้เลาๆแบบนี้หละ) จะทำให้ติดเชื้อที่ขาและลุกลามอย่างรวดเร็ว จนเสียชีวิตได้ มันคิดได้ แต่จำไม่ได้ว่าเชื้ออะไร และรักษาอย่างไร ทำไงดี (อาจารย์สอนแล้วครับ แต่ผมมันไม่ดีเอง) ก็ต้องไปค้น internet ค้นไปค้นมาพบว่า ไม่เคยมีรายงานเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อนถึงการติดเชื้อบาดแผลที่บนเปื้อนจากน้ำทะเล ส่วนใหญ่เป็นรายงานจากวารสารทหารเรือที่ซ้อมรบแล้วเกิดบาดแผล และมีรายงานที่รวบรวมการติดเชื้อ แต่แทบทุกฉบับสรุปตรงกันว่าเป็นเชื้อ กรัมบวก พอได้ข้อมูลก็ไม่รอช้า จัดพิมพ์แนวทางการรักษา ฉบับที่ 1 แจก แนวทางการรักษานี้ดี เพราะทำให้แพทย์สั่งยาไปในทางเดียวกัน เราควบคุมการสำรองยาได้ง่าย ดีกว่าปล่อยให้สั่งตามใจไป พอวันที่สองมีคนไข้จากข้างนอกเข้ามาสังเกตว่าแผลเขาไม่ค่อยดี แม้ว่าทุกคนได้ยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อกรัมบวก (Cloxacillin) พอเข้าไปดูแผล พบว่าแผลดูไม่ดี บางคนมีอาการบวมแดง เมื่อเปิดแผลดูพบคราบดำๆของทรายเม็ดละเอียด ทำให้กลับมาทบทวนใหม่ เพราะเข้าใจว่าแทพย์ พยาบาลเมื่ออยู่หน้างาน เห็นแผลเมื่อทำความสะอาดเสร็จ ก็เย็บปิดแผล เห็นอย่างนั้นก็ไปหารือกับหมอศัลย์กรรมก็เลยสรุปว่าต้องเปิดแผลแทน (Delayed Wound Closure) งานก็เลยเพิ่มขึ้นทันที เพราะแผลที่ปิดไปแล้วต้องเปิดมาล้างใหม่หมด ก็พบว่าเป็นอย่างที่คาด แรงของคลื่นนำเอาทรายมาเปื้อนแผลและมีแรงกระทำต่อแผลเซาะเข้าไปในเนื้อ แพทย์เลยต้องเปิดแผลกว้างขึ้นและบางคนต้องไปทำแผลในห้องผ่าตัด ตอนนั้นก็สงสัยว่า เอ มันจะเป็นเชื้ออะไรหว่า ก็เลยบอกไปที่ห้อง Lab ให้เตรียมการเพาะเชื้อ เพาะให้มันขึ้นทุกเชื้อ
ห้องแล็ปก็ถามแบบงงๆว่า
อาจารย์ กำลังหาเชื้ออะไรค๊ะ

ก็ตอบเขาไปว่า ไม่รู้ เจ้าหน้าที่ห้องแล็ปก็รับไปปฏิบัติแบบงงๆ แม้ว่างงานเขาจะยุ่งสุดขีด ก็ยังยอมทำเพื่อหาเชื้อ ไม่รู้

ปรากฏว่า ได้เชื้อ "ไม่รู้" เป็น เชื้อกรัมลบ

ตายหละ ตรงข้ามกับที่รู้เมื่อกี้นี้เลย ก็เลยต้องรีบแจ้งให้แพทย์เปลี่ยนยาทันที แต่ปัญหาอีกอันตามมา เริ่มมั่วแล้ว เพราะคนไข้เยอะมาก เข้าออกๆ แพทย์ก็งง จำไม่ได้ว่าใครเปลี่ยนยาบ้าง ใครทำแผลหรือยังไม่ได้ทำบ้าง ก็เลยจัดให้มีพยาบาล 1 คนเดินทั่งรพ. พยาบาลท่านนี้ชื่อ สุปราณี เปกะมล เป็นพยาบาลควบคุมโรคติดเชื้ออยู่แล้ว มอบหมายให้เขาเดินทั่วรพ. เพื่อดูคนไข้ทุกคนว่าได้ยาเหมาะสมและได้รับการทำแผลแล้วหรือยัง พบว่า "วิธีเหวี่ยงแห" แบบนี้ได้ผลในการประเมินคนไข้ในภาพรวม ทำให้ไม่มีใครตกหล่น หรือได้รับการรักษาไม่เหมาะสม สุปราณีจะเอารายชื่อคนไข้ที่ได้รับการรักษาไม่เหมาะสมมาส่งให้ผมวันละสองรอบ ผมก็แจกต่อให้ศัลยแพทย์ เกิดเป็นการทำงานแบบ Matrix ไขว้ไป เป็นการตรวจสอบที่ใช้ได้ดีในช่วงสถานการณ์นั้น

            ต้องบอกว่า ความคิดตอนนี้พยายามคิดว่าทำอย่างไรจะปิดจุดอ่อนที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด คิดถึงความเสี่ยงทุกรูปแบบ และก็หาแนวทางมาแก้ไข ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ผลที่ได้เลยกลายเป็นความรอบคอบ และสกัดจุดอ่อนได้พอสมควร

 


ผ่านไปสองตอนแล้วตอนต่อไป จะเป็นเรื่องอะไรต้องติดตาม คาดว่าจะมาใหม่วันศุกร์ครับ

คำสำคัญ (Tags): #tsunami#crisis mamangement
หมายเลขบันทึก: 113595เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2007 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นบันทึกที่ลำดับขั้นตอนวิธีคิดที่ดีมากๆเลยค่ะ คุณหมอก้อง (แต่สงสัยรีบพิมพ์ไปหน่อย มีตัวตกหล่นขาดเกินหลายตัวทีเดียวค่ะ แฮ่ะ แฮ่ะ...พี่เป็นคนตาหาเรื่องไปหน่อยค่ะ)

อยากบอกว่า วิชาภาวะผู้นำ คงมาเอาตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่คุณหมอเล่าไปเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดีเลยนะคะ

ขอบคุณครับ อาจารย์

จะตรวจทานและปรับแก้อีกทีครับ 

แบบนี้ต้องถือว่าโชคดีที่ Chief of Commander มี "จริต" ที่ช่วยคนอื่นก่อนนึกถึงตัวเอง และออกร่วมรบอยู่ในแนวหน้าแบบข้ามวันข้ามคืน ทั้งที่เป็นบริษัทเอกชน ที่ต้องหาเงินทำกำไร ถ้าวันนั้นผู้บัญชาการไม่สั่งให้ "ช่วยชีวิตและรักษาอวัยวะ" แล้วนั่งรอดูก่อนว่า ใครจะจ่าย ฉากนี้ของเรื่องคงเป็นอีกแบบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท