เรียนรู้จาก Tsunami I: การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรทางการแพทย์


การจัดสรรทรัพยาการทางการแพทย์ ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และไม่ได้อยู่ในสภาพที่มีการเตรียมการล่วงหน้าได้ และทรัพยากรอีกชนิดที่จำเป็นและต้องจัดสรรในช่วงเวลานั้นคือ “กำลังใจ”
โดย นพ. ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ รพ. กรุงเทพภูเก้ต

การเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลที่รับปัญหาเบื้องต้น (Front line medical service)

            ในช่วงเหตุการณ์คลื่นยักษ์ Tsunami โรงพยาบาล กรุงเทพภูเก็ต เป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ที่ให้บริการผู้ป่วย ซึ่งมีโรงพยาบาลอื่นๆร่วมช่วยเหลือด้วยดังตาราง

 


ตารางที่ 1 ข้อมูลสรุปจำนวนผู้ประสบภัยของ รพ.ต่างๆ ได้จากการประชุมสัมมนา " จากภัยสึนามิ

ร่วมเรียนรู้ สู่การฟื้นฟูสุขภาพ  ในวันที่ 21 มกราคม 2548  . โรงพยาบาลป่าตอง มีข้อมูลของโรงพยาบาลต่างๆดังนี้

 

รพ.กรุงเทพภูเก็ต

รพ.วชิระภูเก็ต

รพ.สิริโรจน์

รพ.ป่าตอง

รพ.ภูเก็ตรวมแพทย์

จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด(ราย )

1037

1071

667

894

93

  -   ผู้ป่วย OPD

622

737

533

852

83

  -   ผู้ป่วย IPD

415

334

134

42

10

จำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตในรพ.

1

6

4

154

0

จำนวนผู้ป่วยที่เข้าOR (ราย)

159

138

NA

NA

NA

จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ (ราย)

72

26

NA

NA

NA

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีลักษณะพิเศษดังนี้

1.       เป็นเหตุการณ์ที่ความเสียหายครั้งเดียว

2.       เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบในพื้นที่ที่กว้างขวาง คิดเป็นระยะทางเกือบ 200 กม.

3.       เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า และการแจ้งข้อมูลเพื่อการประสานงานอย่างเป็นระบบในหน่วยปฏิบัติงานต่างๆ

4.       เป็นเหตุการณ์ที่มีการสูญเสียชีวิต และการบาดเจ็บมากกว่าอุบัติภัยหมู่ใดๆที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และมีปริมาณเกินกว่าความสามารถของโรงพยาบาลในพื้นที่จะรับได้

5.       เป็นเหตุการณ์ที่เกิดกับทั้งคนไทย ชาวต่างประเทศ ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ซึ่งมีปัญหาในการสื่อสาร และประสานงาน

6.       เป็นการบาดเจ็บที่บาดแผลของผู้ป่วยมีการสัมผัส และปนเปื้อนน้ำทะเล ทำให้มีผลต่อการรักษาและการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ

7.       บุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดภูเก็ตมีจำกัด และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในวันอาทิตย์ใกล้กับช่วงวันหยุด

8.       การขนส่งต้องกระทำผ่านสนามบิน และทางรถยนต์ซึ่งห่างจากจังหวัดที่ไม่โดนผลกระทบอย่างน้อยกว่า 200 กม. หรือใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง

9.       เป็นเหตุการณ์ที่ต้องการทรัพยากรเพื่อการแก้ปัญหาต่างๆเช่น คน แพทย์ พยาบาล เครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์ การขนส่ง อย่างมาก

10.   นอกจากผู้ป่วยได้รับบริการแบบผู้ป่วยนอกแล้ว ผู้ป่วยบางส่วนไม่สามารถออกจากโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยนอกได้ ผู้ป่วยและผู้ประสบภัยต้องการที่จะพบญาติ มีที่พัก มีเสื้อผ้าใส่ และมีอาหารเพราะไม่มีที่ไป ไม่มีที่อยู่ และพลัดพราก ไม่มีเงิน และไม่มีที่จะไป เป็นภาระที่โรงพยาบาลจะต้องจัดหาให้



จากลักษณะพิเศษข้างต้นทำให้การให้บริการทางการรักษาพยาบาลไม่ได้จำกัดวงเพียงการให้บริการทางการแพทยืเท่านั้น ยังครอบคลุมการติดต่อประสานงานและให้บริการอื่นๆในทุกทุกด้าน โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ได้ดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าวโดยมีการจัดทรัพยากรในแต่ละส่วนดังนี้

1.       การจัดการด้านบุคลากรทางการแพทย์ และการพยาบาล เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยได้ดำเนินการเป็นขั้นตอนคือ

1.1   การแจ้งบุคลาการประจำให้ขึ้นปฏิบัติงาน ได้มีการแจ้งบุคลาการในทุกระดับให้เข้ามายังโรงพยาบาล ซึ่งสามารถทำได้อย่างดีเพราะบุคลากรส่วนใหญ่อยู่ที่หอพัก

1.2   ทำการมอบหมายการจัดอัตรากำลังโดยมีผู้รับผิดชอบ และบริหารจัดการเบ็ดเสร็จทั้งการตัดสินใจ และการสั่งการ

1.3   ขยายเวลาการทำงาน และการขึ้นเวร

1.4   จัดเจ้าหน้าที่จากส่วนอื่นเข้าสมทบในส่วนงานรักษาพยาบาลโดยเรียงลำดับคือ

1.4.1          พยาบาลบริหาร/พยาบาล OPD เข้ามาช่วยเป็นพยาบาลแประจำหอผู้ป่วยใน

1.4.2          พนักงานกายภาพ เข้ามาช่วยงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล

1.4.3          เจ้าหน้าที่ Back office เข้ามาช่วยเป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้

1.4.4          ขอพยาบาลจากโรงพยาบาลในเครือข่ายมาช่วย

1.4.5          ขอแพทย์จากโรงพยาบาลในเครือข่าย และแพทย์อาสาสมัครมาช่วย ซึ่งสามขาที่ต้องการอย่างมากในช่วงเวลานั้นคือ ศัลยแพทย์ ศัลย์แพทย์กระดูกและข้อ วิสัญญีแพทย์ แพทย์โรคปอด เป็นต้น

1.5   จัดเจ้าหน้าที่ให้การบริการในส่วนอื่นๆให้เพียงพอ และมีอยู่ตลอด ได้แก่ เจ้าหน้าที่ต่างประเทศ เจ้าหน้าที่สื่อสารและโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลติดตามคนหาย เจ้าหน้าที่สารสนเทศ เภสัชกร นักเทคนิกการแพทย์ เวรเปล แม่บ้าน เจ้าหน้าที่ยานพาหนะ เจ้าหน้าที่ซักรีด วิศวกรรมซ่อมบำรุง เจ้าหน้าที่หน่วยจ่ายกลาง รวมถึงเจ้าหน้าที่ห้องครัว

1.6   ล่ามและผู้ประสานงานในภาษาต่างๆ ได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัคร ทำให้สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยชาวต่างประเทสได้โดยง่าย

2.       การจัดหายาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ เพราะปริมาณผู้ป่วยมากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 3-4 เท่าอีกทั้งการให้บริการและอัตราการใช้เวชภัณฑ์เช่น เซ็ตทำแผล เซ็ตผ่าตัด เพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้มีการดำเนินการดังนี้

2.1   ประเมินสถานการณ์และชนิดของยาที่จะใช้ โดยเฉพาะ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยาสลบ น้าเกลือ และน้ำยาล้างแผล/ฆ่าเชื้อ โดยมอบหมายให้เภสัชกรตรวจสอบสินค้าคงคลัง และประเมินการใช้ที่ 4 เท่าของอัตราปกติ และทำการสั่ง/ยืมจากโรงพยาบาลในเครือข่ายนอกจังหวัดภูเก็ต

2.2   ประเมินอัตราการใช้เวชภัณฑ์จากหน่วยจ่ายกลาง และทำการสั่งของเพิ่มเติม โดยเฉพาะเซ็ตผ่าตัดต่างๆ และที่สำคัญให้ทำการจัดหาเวชภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable) เพื่อลดภาระงานของการอบนึ่งฆ่าเชื้อ

2.3   การจัดการเรื่องผ้า และเครื่องใช้ต่างๆ ห้องซักรีดเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง ในการบริการผ้าสะอาด การมีจำนวนผ้าเสริม หรือใช้ของ disposable จะช่วยลดภาระงานลงได้

3.       การจัดการด้านอาหารและน้ำ เนื่องจากมีผู้มารับบริการเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการจัดหาอาหารและน้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบ และสิ่งที่สำคัญคือการจัดหาเงินสดเพื่อใช้จ่าย เพราะสถานะการณ์ไม่มีข้อมูลถึงขอบเขตความเสียหาย ซึ่งอาจจะทำให้การเบิกเงินสดจากธนาคารมีปัญหาได้ ในช่วงเหตุการณ์ได้ทำการเบิกเงินสำรองจ่ายจากตู้ ATM เพื่อใช้จ่ายในการจัดซื้อต่างๆ ในช่วง 3 วันแรกใช้เงินสำรองประมาณ  100,000 บาท

4.       การจัดการด้านการสนับสนุน ได้แก่ระบบไฟฟ้า สื่อสาร และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ได้มีการมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบตรวจสอบระบบและเปิดระบบสำรอง ได้แก่ ระบบน้ำ ระบบสื่อสารผ่าน Lease line และ Teleconference ในช่วงที่โทรศัพท์ใช้งานได้ยาก และขอความสนับสนุนจากองค์กรภายนอกในการให้บริการโทรศัพท์ทั้งในและต่างประเทศ การใช้วิทยุสื่อสารเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากและต้องการใช้ในปริมาณที่มากกว่าเหตุการณ์ปกติถึง 5 เท่า แต่ไม่สามารถหาได้ในช่วงเวลานั้น

5.       การจัดการด้านการส่งต่อผู้ป่วยหรือการขนส่ง แม้ว่าโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตจะมีรถพยาบาลถึง 6 คันที่มีอุปกรณ์พร้อม แต่ด้วยปริมาณคนไข้ที่เข้าออกตลอดเวลา และความรุนแรงของผู้ป่วยที่ต้องแข่งกับเวลา การขนส่งผู้ป่วยจึงเป็นปัญหาที่ไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้เพราะ

5.1   เจ้าหน้าที่ยานพาหนะมีจำกัด และต้องการการพักผ่อนเพื่อลดความเสี่ยงในการขับรถ

5.2   ความพร้อมของรถเมื่อใช้งานต่อเนื่องกันตลอด 24 ชั่วโมง รถของโรงพยาบาลเสีย 2 คันในขณะปฏิบัติงานและแก้ไขเสร็จภายใน 4 ชั่วโมง

5.3   รถขาดแคลนเพราะมีการใช้รถอย่างมากไม่ว่าผู้สื่อข่าว คณะบุคคลสำคัญ การหาเช่ารถทำได้ยาก จึงต้องขอรถจากอาสาสมัครพร้อมทั้งคนขับในการขนส่งผู้ป่วย

5.4   โรงพยาบาลอื่นๆขาดแคลนรถพยาบาลเช่นกัน ซึ่งหากมีรถจากจังหวัดอื่นๆมาสนับสนุนจะช่วยลดปัญหาได้มาก

5.5   รถเข็นคนไข้ ไม่เพียงพอเช่นกันและต้องจัดหาเพิ่มเติมในช่วงนั้นถึง 6 ตัว

6.       การจัดสรรพื้นที่ เป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างง่าย แม้ว่าโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตจะสามารถขยายพื้นที่ให้บริการรองรับผู้ป่วยในได้มากถึง 415 ราย จากอัตรารับปกติที่ 120 เตียง แต่ในบางส่งไม่สามารถเพิ่มได้เช่น ห้องผ่าตัด จึงทำให้ห้องผ่าตัดต้องทำงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงถึง 4 วัน

 

จะเห็นว่าการจัดสรรทรัพยาการทางการแพทย์ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และไม่ได้อยู่ในสภาพที่มีการเตรียมการล่วงหน้าได้ และทรัพยากรอีกชนิดที่จำเป็นและต้องจัดสรรในช่วงเวลานั้นคือ กำลังใจที่ต่างคนต่างต้องช่วยเติมเต็มให้แก่กันเพื่อให้ยืนหยัดและฝ่าฟันปัญหาต่างๆให้ภาระกิจของเราคือ “ To Save Life and Limb” ลุล่วงไปได้

หมายเลขบันทึก: 113332เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2007 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอต้อนรับสู่ GotoKnow ค่ะ คุณหมอก้อง

สงสัยว่าบันทึกนี้ทำไมมีสัญลักษณ์อะไรแปลกๆเหมือนจะเป็นภาษาคอมพ์ยังไงชอบกลนะคะ แต่บันทึกต่อไปไม่เห็นเป็น ฝากคุณหมอแก้ไขด้วยนะคะ อยากอ่านให้รู้เรื่องไม่ต้องกระโดดตาข้ามเจ้าตัวประหลาดน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท