การพัฒนาศักยภาพคุณอำนวย (ทักษะการตั้งคำถาม)


การตั้งคำถามที่ดี คือ การตั้งคำถามให้มีความสมดุล และใช้คำถามต่อเนื่อง

           วันนี้คงเป็นวันหยุดยาววันสุดท้ายของใครหลายๆ คน  พรุ่งนี้เป็นวันทำงานวันแรกของศักราชใหม่   แต่สำหรับตลาดหุ้นในวันนี้เปิดเป็นวันแรก  พอดีมีโอกาสได้ดูข่าวเห็นว่าหุ้นขึ้นหลายจุด  นักวิเคราะห์ (บางคน) ให้ทัศนะว่าคงเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลมากขึ้น  หลังจากเมื่อปีที่แล้วตลาดหุ้นไม่คึกคักอย่างที่มีการคาดการณ์เอาไว้ เพราะ  ต้องประสบกับความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล  ตลอดจนปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ยังไงก็ขอให้ตลาดหุ้นคึกคักอย่างนี้ตลอดไปนะคะ
            เอาล่ะ  พูดถึงเรื่องการเงิน  การลงทุนในระดับมหภาคกันมาพอหอมปากหอมคอแล้ว  เรามาเริ่มคุยกันเรื่องงานที่กำลังทำอยู่ดีกว่าค่ะ   เมื่อวานนี้ผู้วิจัยได้พูดถึงเกี่ยวกับการพัฒนา         คุณอำนวยของเครือข่ายฯและของกลุ่มไปแล้ว  ทีนี้ถ้ามาลงดูในรายละเอียดกันว่าจะดำเนินการอะไรต่อไป  ผู้วิจัยขอยอมรับตามความจริงว่ายังคิดไม่ออกเหมือนกันค่ะ  (เพราะนั่งคิดอยู่คนเดียว อีก 1-2 วันถ้ากลับไปถึงลำปางคงจะชัดเจนขึ้นค่ะ)  
            จากการที่ได้มีการพูดคุยกับประธานกลุ่มแม่ทะป่าตัน  เห็นว่าทางกลุ่มเตรียมตัวรับการประชุมสัญจรอย่างเต็มที่  ทางประธานกลุ่มฯได้เข้ามาพูดคุยกับผู้วิจัยว่าต้องการให้ทางกลุ่มจัดเตรียมอะไรบ้าง  ผู้วิจัยจึงได้แนะนำไปว่าให้พูดถึงการบริหารจัดการแต่ละกองทุน  การขยายสมาชิก  และการเชื่อมประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งกลุ่มแม่ทะป่าตันนั้นทำได้ดีในทุกด้าน  เพียงแต่อาจยังไม่ครอบคลุมทั้งกระบวนการค่ะ
            ทีนี้ถ้าหากจะออกแบบการพัฒนาคุณอำนวย  โดยเริ่มต้นที่การประชุมสัญจรที่กลุ่มแม่ทะนั้น  ในช่วงบ่ายผู้วิจัยจะเป็นคุณอำนวย (จำเป็น)  ก่อน  โดยจะเริ่มจากการพัฒนาทักษะในเรื่องการสร้างสัมพันธภาพ  โดยให้คณะกรรมการแต่ละคนแนะนำตัวอง  (ความจริงไม่ต้องแนะนำก็ได้ค่ะ  เพราะ  ทุกคนก็รู้จักกันอยู่แล้ว  แต่ผู้วิจัยเห็นว่าน่าจะมีหัวข้อนี้อยู่ด้วย  เพราะ  คงจะมีผู้เข้าร่วมเวทีอยู่บางส่วนที่คณะกรรมการเครือข่ายฯไม่รู้จัก  แต่ในการแนะนำตัว  ถ้าจะให้ดีคงต้องคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาเสริม  มากกว่าที่จะให้แนะนำตัวธรรมดาค่ะ  แต่ตอนนี้ยังคิดไม่ออกค่ะ ความจริงแล้วจะว่าคิดไม่ออกก็ไม่ใช่  เท่าที่คิดออกในตอนนี้คิดว่าน่าจะให้แนะนำตัวเป็นเพลง  หรือเป็นกลอน  แบบให้คล้องจองกันไปเรื่อยๆ  แต่ถ้าทำอย่างนี้อาจทำให้คณะกรรมการเครียดแทนสนุกก็ได้ค่ะ แต่ถ้ากรรมการไม่เครียด  คนที่จะเครียดแทนก็คือ  ผู้วิจัยนี่แหละค่ะ)  หลังจากนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพคุณอำนวยในเรื่องของความรู้  ผู้วิจัยคิดว่าข้อมูลที่ทางกลุ่มเตรียมไว้  (การบริหารจัดการ  การขยายสมาชิก  การเชื่อมประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)     จะสะท้อนให้เห็นความรู้ที่กลุ่มมีเป็นอย่างดีค่ะ  จะให้เวลาทางกลุ่มในการนำเสนอประมาณ 30-45 นาที  (ในส่วนนี้ถ้ามองว่าเป็นการพัฒนาในด้านความรู้ให้กับคุณอำนวยที่มาร่วมในวงการเรียนรู้ก็ได้  แต่แน่นอนว่าในอีกทางหนึ่งการนำเสนอของกลุ่มนั้นก็เป็นการพัฒนาทักษะในเรื่องการสื่อสารไปด้วยในตัว)  ในระหว่างการนำเสนอผู้วิจัยจะถ่ายภาพ  ถ่ายวีดีโอ  เก็บเอาไว้ด้วย 
            เมื่อนำเสนอเสร็จในส่วนต่อไปคงจะเป็นเรื่องของการตั้งคำถาม  คิดว่าในส่วนนี้คณะกรรมการคงมีการแลกเปลี่ยนหรือซักถามอยู่แล้ว  พระเอก  นางเอกของเวทีในช่วงนี้แน่นอนว่าคงเป็นคณะกรรมการเครือข่ายฯแน่นอน  โดยผู้วิจัยจะสวมบทผู้ช่วยพระเอก  นางเอก  ในการแทรกคำถาม  (ในกรณีที่เห็นว่ามีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน  หรือไม่มีการถาม)  
            หากพูดถึงการตั้งคำถาม  ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารในส่วนนี้มาบ้างแล้ว (นิดหน่อย) ค่ะ  ขอนำมาถ่ายทอดให้ฟังนะคะ  แต่ในการประชุมสัญจรครั้งนี้คิดว่าจะยังไม่สรุปให้คณะกรรมการฟังค่ะ  (เพราะ  รู้สึกว่าถ้าเริ่มต้นด้วยการสรุปแบบวิชาการอย่างนี้จะทำให้บรรยากาศดูตึงเครียดค่ะ  อยากลองใช้เทคนิคเหมือนที่พิจิตรดูค่ะ  คือ  เสริมทักษะต่างๆเข้าไปก่อนสักระยะหนึ่ง  เมื่อคุณอำนวยเริ่มมีความเข้าใจและเรียนรู้ไปด้วยกันแล้วค่อยสรุป  น่าจะทำให้คุณอำนวยไม่งง  และไม่รู้สึกเครียดจนเกินไป)


ทักษะการตั้งคำถาม
            1.เริ่มต้นด้วยการถามทีม  ไม่เจาะจงคนใดคนหนึ่ง
            2.หยุดรอเพื่อเปิดโอกาสให้ทีมมีเวลาพิจารณาคำถาม
            3.แสดงการรับรู้เมื่อสมาชิกตอบคำถาม
            4.มองหาสัญญาณว่ามีผู้ใดต้องการตอบ  เช่น  สบตา  โน้มตัวมาข้างหน้า  เป็นต้น
            5.ถ้าไม่มีใครตอบ
                        - ถามสมาชิกว่าต้องการการอธิบายคำถามหรือไม่
                        - อาจเปลี่ยนคำถาม
            6.หลีกเลี่ยงคำถาม  ใช่-ไม่ใช่
           
ประเภทคำถาม


          1.คำถามปลายเปิด
                        - อย่างไร
                   - อะไร  
                   - ทำไม  (ถ้าไม่จำเป็น  ไม่ควรตั้งคำถามว่าทำไม  เพราะ  อาจทำให้ผู้ตอบรู้สึก  อึดอัดได้)
            คำถามปลายเปิดเป็นคำถามที่มีประโยชน์ในการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์


            2.คำถามเจาะลึก
            ขึ้นต้นด้วย         - ช่วยเล่า , บรรยาย
                                  - ช่วยอธิบาย
                                  - ช่วยบอกหน่อย
เช่น 
            ช่วยเล่าหน่อยสิคะว่าตอนนี้ทางกลุ่มมีแผนในการเชื่อมประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างไรบ้าง?


            3.คำถามโยนลูก
            ใช้เมื่อสมาชิกถามคำถามเกี่ยวกับเนื้อหา  คุณอำนวยควรโยนลูกไปให้สมาชิกคนอื่นในทีมเป็นผู้ตอบ
เช่น
            คำถามนี้ควรตอบโดยผู้มีประสบการณ์โดยตรง  มีใครเคยมีประสบการณ์เรื่องนี้บ้าง/ท่านคิดว่าอย่างไร


            4.คำถามสะท้อนเพื่อความเข้าใจหรือคำถามสรุป
            ใช้ถามเพื่อสะท้อนว่าเข้าใจประเด็นของผู้พูดว่าอย่างไร
เช่น
            - ช่วยตรวจสอบด้วยนะคะ   ดิฉันเข้าใจว่าคุณสำลีพูดว่า......................
            - ตอนนี้เราคุยกันถึงไหนแล้ว  ขอความกรุณาให้ใครสักคนช่วยสรุปหน่อย  (ตรงนี้คงเป็นการฝึกทักษะการฟังและการเล่าเรื่องไปในตัวค่ะ)


           5.คำถามสะท้อนเพื่อความรู้สึก
            - สะท้อนความรู้สึกของสมาชิกภายในกลุ่ม
            - ตรวจสอบเพื่อการปรับบรรยากาศในการประชุม
            - ใช้เมื่อบรรยากาศตึงเครียดเท่านั้น
เช่น
            คุณรู้สึกไม่ค่อยสบายใจกับข้อเสนอในที่ประชุมเมื่อสักครู่ใช่ไหม
หมายเหตุ : พึงระวังว่าสิ่งสะท้อนเป็นความรู้สึกของสมาชิก  ไม่ใช่การชี้นำของคุณอำนวย


            6.คำถามปลายปิด
            เป็นคำถามจำกัด...........  ใช่/ไม่ใช่
            คำถามปลายปิดจะมีประโยชน์สำหรับการอภิปรายที่เลื่อนลอย  วกวน

ข้อเสนอแนะ
            - ควรให้มีความสมดุลระหว่างคำถามปลายเปิด  กับคำถามปลายปิด
            - ควรใช้คำถามต่อเนื่อง


            ความจริงแล้วในเรื่องของการตั้งคำถามนั้น  ตอนที่ไปพิจิตร  ผู้วิจัยได้มีโอกาสเข้าร่วมพัฒนาทักษะนี้ด้วย  จำได้ว่าตอนนั้นพิธีกรให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่มๆละ 3 คน  โดยให้ชื่อกิจกรรมนี้ว่า  สัมภาษณ์ “คนดัง”
            ใน 3 คนนี้จะมีบทบาทที่แตกต่างกัน  คือ  คนที่หนึ่งเป็นนักข่าว  ทำหน้าที่เป็นผู้ตั้งคำถาม  (ผู้สัมภาษณ์)   คนที่สองเป็นนางงาม/นายแบบ  ซึ่งเป็นผู้ตอบคำถาม  (ผู้ให้สมภาษณ์)  คนที่สามคือผู้สังเกตการณ์  จะทำหน้าที่ค้นหาว่านักข่าวใช้คำถามประเภทไหน  ปฏิกิริยาของผู้ตอบคำถามเป็นอย่างไร
            พิธีกรจะให้เวลาประมาณ 5 นาที  หลังจากนั้นก็จะให้แต่ละทีมนำเสนอ  ผู้วิจัยจำได้ว่าตอนนั้นแต่ละคนที่เข้าร่วมดูสนใจกันมาก  คนถามก็พยายามตั้งคำถามให้ครบทุกชนิด  ส่วนคนตอบก็ลุ้นว่าคนถามจะถามว่าอย่างไร  ตัวเองก็ต้องคิดคำตอบอยู่ตลอดเวลา  ส่วนคนสังเกตการณ์นั้นดูเหมือนจะเอาเป็นเอาตายในการสังเกตและฟัง  ผู้สังเกตแทบทุกคนจะมีกระดาษโน้ตเอาไว้ติดตัวคอยจดว่าคนถามถามอะไร  คนตอบตอบอย่างไร 
            ถ้าจะปรับกิจกรรมนี้ให้เข้ากับกิจกรรมที่เราทำอยู่  ตอนนี้เท่าที่ผู้วิจัยคิดได้ก็คงจะให้ทีม  แม่ทะเป็นผู้ตอบ  ส่วนคณะกรรมการเป็นผู้ตั้งคำถาม  ส่วนผู้วิจัยคงเป็นผู้สังเกตการณ์  (แต่คงไม่ใช่ผู้วิจัยคนเดียว  เดี๋ยวอยู่ในเวทีคงมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่นี้โดยไม่รู้ตัวค่ะ)
            วันนี้ขอเล่าแค่นี้ก่อนนะคะ  เพราะ  ต้องไปทำงานที่ค้างไว้  (ประกอบกับยังคิดไอเดียต่อไปไม่ออกค่ะ)  พรุ่งนี้ค่อยคุยต่อนะคะ  ถ้ามีข้อเสนอแนะจะดีมากค่ะ  (ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแนะบางส่วน  หรือข้อเสนอแนะให้ล้มวิธีการก็ได้ค่ะ)  แล้วจะรอนะคะ  (หลายหัวดีกว่าหัวเดียวค่ะ ฮิ ฮิ!)
ช่วยกันหน่อเยนะคะ       

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11250เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2006 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อ.อ้อมขยันคิด เสนอไม่ออก ขอลอกอย่างเดียวก่อนครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท