เรื่องเล่าจากดงหลวง 130 ไทบรู การฟื้นฟูสมุนไพรพื้นบ้าน


การไปเอาสมุนไพรท่านที่ไม่คุ้นเคยจะนึกไม่ออกว่ามันจะมีพิธีกรรมอะไรมากมาย ก็เดินขึ้นป่าขึ้นเขา พบที่ไหนก็ตัด ดึง ถอน หัก มาก็เท่านั้น หากท่านคิดเช่นนั้นก็ไม่ถูกต้องครับ หมอยาท่านมีครู เหมือนการแสดงโขน ต้องมีพิธีไหว้ครู หรือยกครู การเข้าป่าเอาสมุนไพรก็ต้องใช้วิชาครู อันเป็นการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษครูผู้ส่งต่อวิชาความรู้มาให้ เป็นการเคารพต่อเจ้าป่าเจ้าเขา ผีป่า นางไม้ หรือเจ้าของที่เราไม่รู้จักตัวตน

ไทบรู คือ ชื่อของเครือข่ายชาวบ้านที่ดงหลวงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิหมู่บ้านผ่านทางเครือข่ายอินแปง และโครงการ คฟป. ที่ผู้บันทึกรับผิดชอบอยู่ คำว่าไทบรูมาจากคำสองคำคือ ไท กับ บรู ไทหมายถึงชาวผู้ไท และบรูก็คือชาวบรูหรือโซ่ หรือกะโส้ ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งที่อพยพมาจากเมืองเซโปนจากฝั่งลาวเมื่อรัชกาลที่ 3 โดยประมาณนั้น 

บุคลิคภาพของชาวบรูนั้นผู้บันทึกกล่าวบ้างแล้วว่าเป็นผู้ที่ชอบตั้งถิ่นฐานตามภูเขาและมีวิถีอยู่กับป่า ปัจจัยสี่นั้นจึงอาศัยป่าเป็นฐานแม้ปัจจุบันการพึ่งพึงป่าก็ยังมีมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ ชอบความเป็นอิสระกล้าหาญในการสู้รบ ปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ช้ากว่าพี่น้องชาวผู้ไท พื้นฐานการศึกษาต่ำกว่าชนเผ่าอื่นๆ จึงมักถูกกล่าวหาเสมอว่า พูดจาไม่รู้เรื่อง ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยรู้เรื่อง อะไรทำนองนี้ 

อย่างไรก็ตามเขาก็คือพลเมืองไทยที่เป็นชนเผ่าหนึ่ง และพื้นที่ดงหลวงส่วนหนึ่งก็อยู่ภายใต้โครงการพระราชดำริที่พระองค์ท่านทรงมีเมตตาแก่ผสกนิกรกลุ่มนี้ เราๆ ท่านๆ ควรมาช่วยกันคนละมือคนละไม้ ทดแทนพระองค์ท่าน และต้องมองว่า นี่คือความหลากหลายของสังคม นี่คือ แจกันสวยงามที่มีดอกไม้หลายสี บรูเป็นดอกไม้สีหนึ่งในสังคมเรา  

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเครือข่ายไทบรูได้ประชุมกันโดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิหมู่บ้านจากเครือข่ายอินแปงมาดำเนินการประชุม เพราะอินแปงเป็นพี่ใหญ่ของเครือข่าย ภายใต้โครงการ คฟป.นี้ การประชุมมีหลายเรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญหนึ่งคือการฟื้นฟูสมุนไพรท้องถิ่นขึ้นมาตามตำหรับที่มีอยู่ แน่นอนครับชุมชนแบบชนเผ่าย่อมมีปราชญ์ท้องถิ่นที่เป็นผู้รู้เรื่องสมุนไพรอยู่และกระจายไปตามหมู่บ้านต่างๆ แต่ละคนก็มีสมุนไพรเด็ดๆอยู่ และก็เป็นเรื่องรับรู้เฉพาะ ไม่โฆษณา ไม่ประชาสัมพันธ์ ไม่ได้ค้าขาย แต่รับใช้ชุมชนตามบทบาทที่บรรพบุรุษสั่งสมคุณธรรมและส่งต่อมาถึงปัจจุบัน  

เพื่อเสริมสร้างความสำคัญและให้มีการเริ่มต้นการปฏิบัติจริงๆด้านการพึ่งตนเองทางสุขภาพชุมชน ผู้ดำเนินการจึงสอบถามที่ประชุมว่า โรคภัย ไข้เจ็บอะไรที่พวกเราเป็นกันมาก สิ่งที่เราได้ยินก็คืออาการปวดเมื่อย โรคกระเพาะ โรคเบาหวาน โดยเฉพาะการปวดเมื่อยของร่างกายเป็นกันมากจากการทำงานหนักของร่างกายตามวิถีชีวิตเกษตรกรและคนพึ่งพิงป่า  

หมอยาพื้นบ้านก็ยิ้มๆแล้วก็บอกสูตรตำรายาแก้โรคภัยดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการปวดเมื่อย มีองค์ประกอบตำหรับยาดังนี้ หัวลิงหล่อน เครือนกกด ม้ากระทืบโรง เครือสะคร่าน ม่วยแดง กำลังหมูเก้า และรากแหน่งหอม ทั้งนี้เป็นชื่อท้องถิ่น แต่ละถิ่นอาจจะมีชื่อที่ผิดเพี้ยนไปบ้าง สมุนไพรเหล่านี้มีอยู่ในป่าดงหลวงทั้งสิ้น มีมากที่ไหนๆ หมอยาเป็นผู้รู้ดี และมักจะไม่บอกกล่าวกันมาก หรือกล่าวอีกทีก็คือ มีลักษณะปิดๆอยู่บ้าง ชาวบ้านทั่วไปเดินเข้าป่าอาจจะเหยียบสมุนไพรตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวก็ได้ 

ขณะคุยกัน หมอยาเดินออกไปหลังห้องประชุมแล้วก็หักยอดพืชชนิดหนึ่งมาชูให้ทุกคนดู นี่ไงเครือนกกด  ทุกคนก็ฮือฮากัน ทำนองว่าใครต่อใครไม่รู้เลยว่าพืชที่ไปยืนฉี่รดเมื่อสักครูคือสมุนไพรตัวหนึ่ง.. 

ที่ประชุมตกลงกันว่า บ้านโน้นเอาสมุนไพรตัวนี้มา บ้านนี้เอาสมุนไพรตัวนั้นมา แล้วมาพบกันในสัปดาห์หน้า แล้วมาประกอบตำหรับยาสมุนไพรแก้ปวดเมื่อยกันเป็นเบื้องแรก ตำรายาสมุนไพรโบราณนั้นเป็นการเรียนรู้จากบรรพบุรุษ ซึ่งอาจารย์จะไม่สอนให้กับทุนคนที่อยากรู้ อาจารย์จะสอนให้เฉพาะบางคนเท่านั้นที่อาจารย์เห็นว่าเหมาะสม  

การไปเอาสมุนไพรท่านที่ไม่คุ้นเคยจะนึกไม่ออกว่ามันจะมีพิธีกรรมอะไรมากมาย ก็เดินขึ้นป่าขึ้นเขา พบที่ไหนก็ตัด ดึง ถอน หัก มาก็เท่านั้น หากท่านคิดเช่นนั้นก็ไม่ถูกต้องครับ หมอยาท่านมีครู เหมือนการแสดงโขน ต้องมีพิธีไหว้ครู หรือยกครู การเข้าป่าเอาสมุนไพรก็ต้องใช้วิชาครู อันเป็นการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษครูผู้ส่งต่อวิชาความรู้มาให้ เป็นการเคารพต่อเจ้าป่าเจ้าเขา ผีป่า นางไม้ หรือเจ้าของที่เราไม่รู้จักตัวตน เช่น จะต้องเดินทางไปเอาเฉพาะบางวันเท่านั้น ไม่ใช่ขึ้นป่าไปเอาทุกวัน เมื่อพบสมุนไพรที่ต้องการก็ต้องมีคำกล่าวเฉพาะ ของใครของมัน ต่างครูบาอาจารย์กันก็แตกต่างวิธีการบอกกล่าวกัน เป็นลักษณะเฉพาะ  และการเอาสมุนไพรก็มิใช่โค่นต้นเอาแค่เปลือกอะไรทำนองนั้น ไม่ใช่ จะมีวิธีการอนุรักษ์ไปด้วยเพราะจะต้องพึ่งพาเขาไปอีกนานจึงต้องรู้จักวิธีเอาโดยต้นพ่อต้นแม่เขาไม่ตายลงไป   

ผิดกับกลุ่มพวกเอาของป่าเชิงธุรกิจ ที่ไม่สนใจคุณค่า วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น สนใจแต่มูลค่าเพียงอย่างเดียว  พวกนี้แหละทำลายทรัพยากรธรรมชาติแท้จริง  เท่ากับฆ่าตัวเอง  ทำลายตัวยาสมุนไพรอันที่ครอบครัวของเขาพึ่งพาอาศัยมาแต่อดีตจนปัจจุบัน เขาไม่เคารพความอุดม แต่ตักตวง 

การที่เครือข่ายไทบรูริเริ่มแม้จะช้าแต่ไม่สายเกินไป และการริเริ่มที่ดีจะนำไปสู่ผลตอบแทนที่ดีเพื่อคงคุณค่าของป่าและส่งต่อให้ลูกหลายของเราต่อไปในภายภาคหน้า  กระบวนการทำงานพัฒนา เพียงกระตุ้นเตือน เชื่อมต่อ สร้างคุณค่า เสริมภูมิปัญญา ยกระดับองค์ความรู้ให้แสดงบทบาทศักยภาพของเนื้อแท้ออกมา เพื่อพี่น้อง ท้องถิ่นของเขา  มันเป็นงานเล็กๆ แต่สาระสำคัญและใหญ่มากพอที่เราจะจัดเข้าสู่แนวทางการพัฒนาพร้อมกับขบวนอื่นๆ และตั้งใจจะทำดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดต่างๆ.. ดงหลวงเป็นเพียงชนบทเล็กๆ ห่างไกลศูนย์กลางความเจริญ บทความนี้เป็นเพียงช่องทางเล็กๆที่บอกให้ประชาสังคมคมบางส่วนได้รับรู้กิจกรรมที่คนกลุ่มหนึ่งเขาทำกันเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 112114เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2007 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับพี่บางทราย

บันทึกนี้ยาวดีนะครับ และก็เป็นบันทึกที่มีมีการใส่ภาพประกอบ แต่ก็ได้อ่านจนจบเพราะว่ามีเทคนิคการใช้สีของตัวอักษรมาช่วยทำให้อ่านได้ง่ายขึ้น ไม่เบื่อครับ

ขอบคุณสำหรับเกร็ดความรู้ครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ภูคา

วันนั้นพี่ไม่ได้เอากล้องถ่ายรูปไปด้วยครับ เลยไม่ได้รูปมา แต่เอาสาระมาฝากกันครับ เอามือถือถ่ายรูปเหมือนกันแต่คุณภาพรูปไม่ดีพอเลยไม่เอามาใส่ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ภูคา

สวัสดีค่ะคุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

แวะมาลงทะเบียนว่าอ่านแล้วค่ะ ^ ^ ดิฉันหายไปหลายวันค่ะ เพิ่งได้มีโอกาสมาอ่านบันทึกคุณบางทรายวันนี้เอง

โครงการฟื้นฟูความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรท้องถิ่นนี้ดีมากเลยนะคะ เป็นการถ่ายโอนเผยแพร่ความรู้ไกล้ตัวจากปราชญ์พื้นบ้าน มีประโยชน์มากๆ เลยค่ะ

ขอแสดงความชื่นชมในการทำงานของผู้เกี่ยวข้องทุกท่านค่ะ

  • ผมเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ มหาวิทยาลัยแห่งนั้นสอนเรื่องการแพทย์พื้นบ้านระดับปริญญาตรีและโทด้วย
  • ผมเห็นหมอเมือง หมอพื้นบ้านมาเป็นอาจารย์พิเศษแก่นักศึกษาหลายครั้ง แต่ผมไม่คิดว่าเด็กรุ่นใหม่จะเข้าใจ "ความเคารพ ศรัทธา" ต่อธรรมชาติ อย่างที่หมอพื้นบ้านเข้าใจ
  • ผมไม่เชื่อว่า มหาวิทยาลัยที่ไหนจะให้ความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรหมอพื้นบ้าน โดยรับเอาการเป่า เสก ร่ายคาถาบูชาเจ้าป่าเจ้าเขามาไว้ในหลักสูตรอย่างแท้จริง
  • ไปๆมาๆ มันกลายเป็นเอาวิทยาศาสตร์ไปครอบการแพทย์พื้นบ้าน ทำให้มิติทางจิตวิญญาณหายไป และเกิดผลกระทบอื่นๆตามมามากมาย
  • มิพัก ต้องพูดถึง ความรู้สึกคารวะพ่อหมอ แม่หมอ ทั้งหลาย ในฐานะครูที่ไร้ใบปริญญา แต่แข็งกล้าทางอุดมการณ์ พวกเขากลายเป็นตัวประกอบของมหาวิทยาลัยไปแล้ว
  • บางที ไม่ใส่รูปก็ดีไปอย่างครับ เป็นการพิสูจน์ว่าเนื้อหาน่าสนใจจริง เพราะถ้ารูปสวย แต่เนื้อในห่วย คนอ่านก็เหมือนถูกหลอก ผมชอบรูปแบบที่ดิบๆไม่ต้องปรุงแต่งมากนักครับ

สวัสดีครับอาจารย์ P

  • ผมก็หายหน้าไปหลายวันเหมือนกันครับ ขณะนี้ก็ยังยุ่งๆกับรายงานอยู่เลย เวลาที่จะเข้ามา G2K ไม่เต็มที่นัก
  • ทราบว่าอาจารย์จะไปเชียงใหม่ระหว่าง 13-15 สิงหาคม ครูบาท่านชวนผม และผมคิดว่าสนใจอยากไปก็ลงสมุดนัดไว้ และมีโอกาสสูงที่จะร่วมเดินทางไปฟัง แลกเปลี่ยนกันครับ
  • คงได้พบกันนะครับ

สวัสดีครับน้อง P

  • แหมคมกริบมาเชียวนะ บาดใจบาดคอเลยหละ
  • พี่สนใจมายายแต่ไม่ได้ทุ่มเทสักเท่าไหร่ ทำไม่ไหวครับ คนเดียวทำทุกอย่างเดี๋ยวจะไม่ดีสักอย่าง บริหารโครงการด้วย เขียนรายงานเองด้วย ประชุมชาวบ้านด้วย ประสานงานด้วยในพื้นที่ 4 ตำบล 33 หมู่บ้านนั้น ยากที่จะเข้มข้นได้ในสาระ จึงเลือกเอากิจกรรมหลักๆที่เป็นภาคบังคับก่อน แล้วค่อยๆขยายๆไป
  • ดีที่มูลนิธิหมู่บ้านและ เครือข่ายอินแปงเข้ามาร่วม เขาทำได้มากทีเดียว และชื่นชมเขามาตลอด เราร่วมงานกันได้ดีครับ และเป็นบทถนัดของเขาด้วย มันตรงใจเราด้วยเลยไปกันได้ดีครับ
  • เรื่องหมอยานั้น มีกรรมวิธีมากมายที่ต้องบันทึกไว้เป็นตำหรับตำราซึ่งนับวันจะสูญไป เมื่อคนรุ่นนี้ล้มหายตายจากไป
  • มันเป็นภาพที่สวยงามที่นับวันข้างหน้าลูกหลานจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว การที่คุณธรรมยังมีมากกว่าเงินตรา
  • เขาเหล่านั้นเป็น "หมอกานต์" รุ่นเก่าที่เป็นวิถีคู่ชนบทไทยมานาน สังคมชนบทอยู่รอดมาได้เพราะองค์ประกอบเหล่านี้เท่านั้น และเป็นองค์ประกอบแบบพึ่งตนเองในระดับหมู่บ้าน ชุมชน โดยไม่ต้องมีสูตรสำเร็จที่ฟังแล้วต้องแปรกันอีก แต่ละคนก็แปรไม่เหมือนกัน ทำไปทำมาก็แค่เอาไปบรรยายให้ฟังกันเท่านั้นจะมีสักกี่คนที่เอาหลักนั้นไปทำจริงๆ  แต่ชาวบ้านเขาทำมานานแสนนแล้ว  นี่คือ "การมองย้อนหลังอย่างเคารพ"
  • ขอบคุณน้องยอดดอยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท