การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียนสตรีนนทบุรี


          วันที่ 12 กรกฎาคม ผมกลับไปเยี่ยมโรงเรียนสตรีนนทบุรีอีกครั้ง  หลังจากที่ได้มีโอกาสร่วมทบทวนแผน/โครงการของโรงเรียนกันมาครั้งหนึ่ง ตามที่เคยเล่าในบล็อกก่อนหน้านี้มาแล้ว  คราวนี้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง  แต่ที่เห็นชัดเจนซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น best practice ก็ได้ เลยอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง 2 เรื่องคือ
          1.การตั้งคณะกรรมการกำกับติดตามการปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการของโรงเรียน  โดยถือเป็นเหมือนโครงการหนึ่งของฝ่ายบริหาร ที่จะเฝ้าระวังติดตาม
(monitoring) การดำเนินงานตามแผนตลอดเวลา  กรรมการประกอบด้วย ผู้บริหาร รองผู้บริหาร หัวหน้าฝ่ายแผน หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้างาน บางส่วนที่เป็นแกนนำในการเฝ้าระวังติดตาม 
           วิธีการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้เขาจะเขียนเป็นแผนตลอดปี  โดยจัดเวลาให้คณะกรรมการว่างในวันพฤหัสบดีภาคเช้าทุกสัปดาห์  แล้วมานั่งรับประทานกาแฟร่วมกัน(คล้ายประชุมกาแฟ) เพื่อให้เกิดความเป็นกันเอง  โดยกรรมการแต่ละคนก็จะไปสำรวจข้อมูลการดำเนินงานตามกลุ่ม/ฝ่าย/งานที่ตนเองดูแลรับผิดชอบมาก่อน  แล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง  ถึงความคืบหน้าของการดำเนินงาน  ตลอดจนปัญหาที่พบ  วิธีการแก้ปัญหา  เพื่อให้ที่ประชุมรับทราบ  และถือโอกาสให้ที่ประชุมช่วยเหลือ แนะนำ ให้การสนับสนุน หรือปรับวิธีทำงานให้ดีขึ้น  เพื่อไม่ให้สายเกินแก้  หรือรอจนสิ้นปีจึงประเมินสรุปรวมครั้งเดียวเหมือนที่โรงเรียนหลายๆแห่งทำกัน
          ผมได้ร่วมฟังการประชุมครั้งนี้ด้วย  นอกจากจะเห็นบรรยากาศของความร่วมมือร่วมใจกัน มีการรับฟังและแก้ปัญหาแต่ละงาน/โครงการร่วมกันแล้ว  ในตอนท้ายเขายังพูดถึงการติดตามและส่งเสริมให้ครูแต่ละคนคิดนวัตกรรมพัฒนาการเรียนการสอนมานำเสนอด้วย
           2. การสร้างห้องวิทยบริการ ให้เป็นศูนย์ศึกษาค้นคว้าพัฒนาด้านวิชาการของครู  เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากที่โรงเรียนนี้เป็น
CoPs เรื่องการวิจัย และมีโครงการ หนึ่งคนหนึ่งวิจัย ตั้งแต่ปีก่อนๆ ได้มีการจัดตลาดนัดวิจัยกันในสิ้นปี(เคยเล่ามาในบล็อกก่อนๆแล้ว)  ปีนี้ก็พัฒนาต่อเนื่องตาม โครงการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน  ห้องนี้จะมีเอกสารความรู้  งานวิจัย  มีInternet เพื่อการสืบค้น  แล้วจะมีครูที่เชี่ยวชาญด้านวิจัย/การพัฒนานวัตกรรม (ประมาณ 5 คน) ผลัดเปลี่ยนมานั่งที่ห้องนี้ตลอดทั้งวัน  พอผมเข้าไปห้องนี้ก็เห็นครูที่มีชั่วโมงว่าง หอบเอกสารเข้ามานั่งขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญกันเป็นกลุ่มๆ  ผมถามเขาว่า เป็นอย่างนี้บ่อยไหม  เขาบอกว่า ตลอดทั้งวัน   ผมเลยนึกสนุกด้วยเลยขอถือโอกาสอาสามานั่งที่ห้องนี้ในบางวันด้วย  และได้ทดลองนั่งวันนี้ครึ่งวัน  ปรากฏว่ามีครูมารุมขอคำปรึกษากันหลายคนทีเดียว
            ผมคิดว่าถ้าเราร่วมมือกัน  ยอมรับซึ่งกันและกัน  และทำเช่นนี้บ่อยๆ(ในแนวนอนมากกว่าแนวตั้ง)  น่าจะเป็นการสร้างเสริมให้เกิดวัฒนธรรมคุณภาพในโรงเรียนที่ยั่งยืนนะ

หมายเลขบันทึก: 111877เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยครับ เรื่องการทำวิจัย

บางคนชอบบอกว่าทำแล้วขึ้นหิ้ง ผมคิดว่ามันแล้วแต่คนจะนำไปใช้มากกว่า บางทีคนรุ่นหลังอาจได้ใช้ก็ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท