พ่อไสว วงษ์งาม ครูเพลงของขวัญจิต ศรีประจันต์


 

                              
พ่อไสว  วงษ์งาม


ครูเพลงของ ขวัญจิต ศรีประจันต์


ผู้นำตะโพนมาตี ประกอบจังหวะ

เพลงอีแซวเป็นคนแรก


       วันนี้จะขอนำเสนอพ่อเพลงผู้เป็นครูเพลงของแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์เป็นพ่อเพลงคนสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี จากอำเภอศรีประจันต์ ท่านผู้นี้คือ พ่อไสว  วงษ์งาม


      พ่อไสว  วงษ์งาม มีนามสกุลจริงว่า สุวรรณประทีป เกิดเมื่อ พ.ศ.2465 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 202 หมู่ที่ 3 ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี พ่อไสวเป็นพ่อเพลงที่เล่นเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งๆที่พ่อแม่ไม่ได้มีเชื้อสายทางเพลงเลย ท่านมีความอุตสาหะ รักเพลงถึงขนาดติดตามจดจำท่องเพลง ขอเพลงจากครูเพลงต่างๆโดยไม่ย่อท้อ แม้เวลาครูเพลงกำลังเดินไปตามหัวคันนา ก็เอากระเป๋าครูคล้องคอส่วนมือตัวเองก็เอาสมุดออกมาจดเพลงตามที่ท่านบอก ครูเมื่อยก็นวด รับใช้สารพัด เพราะฉะนั้นพ่อไสวจึงได้เพลงไว้มากมาย


      เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2525 พ่อไสวได้รับการเชิดชูเกียรติ ในงานวันเชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้านครั้งที่ 1 สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง งานนี้จัดโดยกลุ่มศึกษาเพลงพื้นบ้าน โดยความสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(ได้พร้อมกับแม่เหม อินทร์สวาท)
       

        พ่อไสวได้อยู่กินกับแม่บัวผันและร่วมคณะเล่นเพลงกันมากว่า 30 ปี ลูกศิษย์ของพ่อไสวที่โด่งดังก็คือ ขวัญจิต  ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติชาวสุพรรณของเรานี่เอง พ่อไสวร้องเพลงพื้นบ้านได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงขอทาน ฯลฯ แต่ที่ชำนาญก็คงจะเป็นเพลง
อีแซว
 

       เพลงอีแซวเป็นเพลงพื้นบ้านที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นที่ยอมรับกันว่าเพลงนี้เกิดในถิ่นสุพรรณโดยตรง เพลงอีแซวแต่ก่อนเรียกว่า “ เพลงยั่ว “  เพราะร้องยั่วกันคล้ายเพลงกลองยาว ต่อมามีผู้เอาแคนไปขาย ก็เอาแคนมาเป่าประกอบด้วย เรียกกันว่า “ เพลงแคน “ เวลาร้องใช้มือตบเป็นจังหวะบางคนจึงเรียก “ เพลงตบเผลาะ “ จากนั้นทำนองและเนื้อร้องก็ค่อยๆมีรูปแบบเป็นของตัวเองขึ้น จึงมาเรียก “ เพลงอีแซว “ มีการยืมเนื้อจากเพลงฉ่อยทางอ่างทอง มาร้องเป็นเรื่องยาวขึ้น

         เหตุที่เรียกเพลงอีแซวนั้นก็มีการสันนิษฐานกันไป แต่ที่น่าเชื่อก็คือพ่อบัวเผื่อน สันนิษฐานว่า” เพราะยืนร้องแซวกันทั้งคืน “
 ทำนอง เนื้อร้องเดิมจะร้องกัน ลักษณะนี้
 ชาย  “ ตั้งวงไว้เผื่อ ปูเสื่อไว้ท่า เอย…..จะให้วงฉันรา ซะแล้วทำไม(รับ ..จะให้วงฉันราซะแล้วทำไม)         รักจะเล่น  ก็ให้เต้นเข้ามา เอย…คนสวยจะช้า ซะแล้วทำไม (รับ..คนสวยจะช้าซะแล้วทำไม)
 มาในปัจจุบันทำนองจะผิดไปและภายหลังคำ “ ซะแล้ว “ เหลือเพียง “ แล้ว “ ต่อมา
สันนิษฐานกันว่า นายกร่ายพ่อเพลงรุ่นเดียวกับพ่อบัวเผื่อน หรืออาจจะเป็นหวังเต๊ะ นักลำตัดศิลปินแห่งชาติ ได้ดัดแปลงทำนองเพลงอีแซวเป็นอีกทำนองหนึ่ง อย่างที่ขึ้นต้นว่า
 “ เอ้ามาเถิดมากระไรแม่มา ๆ “


       พ่อไสว เป็นผู้เอาตะโพนสองหน้า เข้าไปตีประกอบเป็นเครื่องให้จังหวะ เพิ่มจากฉิ่ง กรับ และการปรบมือ เพลงอีแซว มีจังหวะกระชั้น เร็วกว่าเพลงฉ่อยหนึ่งเท่า คนร้องจึงต้องจำเพลงหลักให้แม่นและมีปฏิภาณว่องไว ไม่อย่างนั้นจะร้องไม่ทัน
 ลักษณะดังกล่าวของเพลงอีแซวจึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า พ่อไสว  วงษ์งาม คือยอดครูเพลงพื้นบ้านโดยแท้
 

อ.พิสูจน์  ใจเที่ยงกุล

คำสำคัญ (Tags): #พ่อเพลง
หมายเลขบันทึก: 111872เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 06:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะพี่ชาย... พิสูจน์  

  • ครูอ้อยอ่านแล้วชัดเจนดีมากเลยค่ะ  รู้ประวัติของพ่อไสว และความตั้งใจ  สมควรนำมาเป็นแบบอย่าง และเล่าสู่ชนรุ่นหลังค่ะ

หล่อไหมคะ..พี่ชาย

ขอบคุณค่ะ

  • แวะมาเยี่ยมกัน ขอขอบคุณมากครับครูอ้อย
  • ถ้ามีโอกาสจะหารูปพ่อไสวมาแสดงด้วย

 

หนูสนใจเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน หนูรบกวนขอชื่อเฟซบุ๊คหรือไลนหน่อยได้มั้ยคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท