ศิลปะ (9) สอนวิชาพื้นฐานและวิชาเพิ่มเติมศิลปะ


เด็กอ่อนเรียนวิชาพื้นฐานมาก เด็กเก่งเรียนวิชาเพิ่มเติมมาก

 

ศิลปะ 9

  สอนวิชาพื้นฐานและวิชาเพิ่มเติมศิลปะ  

                 ผมเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ  อบรมวิทยากรแกนนำหลัก  สูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับจังหวัด โดยรับผิดชอบกลุ่มสาระศิลปะ ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24-28  มิถุนายน  2545   เนื่องจากเวลาผ่านไป 5-6 ปี ความรู้จากห้องอบรมที่ผมได้รับมาตกหล่นสูญหายไปบ้าง  คงหลงเหลือที่เป็นแก่นสาร (ตกตะกอน) อยู่ในสมองบ้างบางส่วน ผมขอนำเอามาเฉพาะที่ยังพอจำได้ถ้ามีข้อผิดพลาดอย่างไร ต้องขออภัยเอาไว้ด้วย การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ให้จัดเป็นชั่วโมง  โดยประมาณ 60 นาที (ช่วงชั้นที่ 3-4) ไม่ใช่จัดเป็นคาบ 

          นการจัดการเรียนการสอน ครูจะ ต้องฝึกทักษะให้กับนักเรียน อบรมบ่มนิสัย โดยที่จะต้องให้เด็กได้เรียนตลอดช่วงชั้น มิใช่ให้เรียนจบภายในปีเดียว หมายถึงในหนึ่งรายวิชาพื้นฐาน นักเรียนจะต้องได้เรียนตลอดทั้ง 3 ปี   

              

               ในโครงสร้างของหลักสูตรจะต้องมีทั้ง 8 กลุ่มสาระ และมีรายวิชากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (วิชาแนะแนว  กิจกรรมลูกเสือ,เนตรนารี และกิจกรรมชุมนุม)  มาตรฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย

         1.     กลุ่มมาตรฐานสาระการเรียนรู้ (Standard)

        2.     มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น (Benchmark)

        เวลาในการจัดการเรียนการสอนช่วงชั้นที่ 1-2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จัดเรียน 800-1000 ชม. สัปดาห์ละ 4-5 ชม.ช่วงชั้นที่ 3-4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จัดเรียน 1000-1200 ชม. สัปดาห์ละ 5-6 ชม. 

การจัดการเรียนรู้มีหลายรูปแบบ  ได้แก่

         1.     เรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต

         2.     ฝึกทักษะกระบวนการคิด แก้ปัญหา

         3.     เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง

         4.     เรียนรู้คู่คุณธรรมไม่มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนใด ดีที่สุด 

         การเรียนการสอน คือ การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน โดยยึดหลัก  ดังนี้

         1.     เน้นผู้เรียนมีความสำคัญมากที่สุด

         2.     ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้

         3.     ครูผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำมาเป็น ผู้ถ่ายทอดความรู้ ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้

         4.     ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวหน้าได้ตามความเหมาะสม 

               การกำหนดการสอนศิลปะ  ให้เอาตัวมาตรฐานเป็นตัวกำหนดการเรียนรู้ของผู้เรียน การสอน เน้นทักษะกระบวนการ และบูรณาการ หลักสูตรมีการยืดหยุ่น 1-12 ปี แบ่งเวลาช่วงชั้นละ 3 ปี ยืดหยุ่นทั้งเวลาเรียน เนื้อหาสาระ การจัดประสบการณ์ การจัดสาระเพิ่มเติม มาตรฐานการเรียนรู้ จะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของผู้เรียน ให้เกิด ความรู้ คุณธรรม กระบวนการ การปฏิบัติ การพัฒนา ส่งเสริมเจตคติ และคุณค่าชีวิต การศึกษาต่อ ในระดับ อุดมศึกษาในระบบของมหาวิทยาลัย ข้อสอบจะเน้นกระบวนการคิดมากกว่า ความรู้ ความจำ   การสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะยังคงมีเหมือนเดิม 

กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ

          ให้เอามาตรฐานช่วงชั้น เป็นตัวตั้ง แล้ววิเคราะห์ออกมาเป็นจุดประสงค์ (ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง)  ผลการเรียนรู้ คือ จุดประสงค์การเรียนรู้  ในแต่ละช่วงชั้น จะประกอบด้วยการเรียน 2 สาระ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  ได้แก่

          1.     สาระการเรียนรู้พื้นฐาน  จัดให้กับนักเรียนทั่วไป เรียนได้ทุกคน

          2.     สาระการเรียนรู้เพิ่มเติม (ม.1-6) ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนโดยพิจารณา จากนักเรียนที่มีความสามารถโดดเด่นในรายวิชาพื้นฐานเลือกเรียนวิชาเพิ่มเติม

         3.     กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรม/ชุมนุมทางศิลปะ)

การวัด และประเมินผล กลุ่มสาระศิลปะ ใช้วิธีสังเกตพฤติกรรม และตรวจผลงาน แบ่งการวัดผลเป็น 3 ระดับ คือ

          1.     การวัดและประเมินผล ระดับชั้นเรียน

          2.     การวัดและประเมินผล ระดับสถานศึกษา

          3.     การวัดและประเมินผล ระดับชาติ

          ในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาศิลปะ  ให้พิจารณาจากองค์ประกอบต่อไปนี้

          1.     มาตรฐานการเรียนรู้ (Performance Standad)

          2.     มาตรฐานการเรียนรู้ ช่วงชั้น (Benchmark)

          3.     สาระการเรียนรู้ (Trand)  แปลความออกมาเป็นจุดประสงค์

          4.     ผลการเรียนรู้ (Learning Outcome) พยายามทำให้เกิดทั้ง 3 ด้าน (KPA) ได้แก่ ด้านความรู้  ด้านทักษะ และด้านเจตคติ

          สาระการเรียนรู้ ให้มองเข้าไปที่มาตรฐานช่วงชั้น  แล้วดูว่า เรื่องอะไรสอนได้ ในแต่ละสาระคิดเอาไว้เรียน 3 ปี โดยภาพรวม ๆ แล้วการจัดหลักสูตรสถานศึกษา  จะมีสัดส่วนโครงสร้าง รายวิชา ดังนี้         

          ระดับชั้น มัธยมศึกษา ตอนต้น เรียนวิชาพื้นฐาน 3  กิจกรรม 1  เพิ่มเติม 2 ชม.         

          ระดับชั้น มัธยมศึกษา ตอนปลาย เรียนวิชาพื้นฐาน 2  กิจกรรม 1  เพิ่มเติม 3-4 ชม. 

การสอนวิชาศิลปะพื้นฐาน

          ก่อนที่ผมจะเล่ารื่องราวต่อไปนี้  ขอทำความตกลงกับท่านผู้อาน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน มิเช่นนั้น ท่านผู้อ่านอาจมีความคิดเห็นสวนทางกับผู้เล่าไปเสียเลยก็เป็นได้  คำว่า วิชาพื้นฐานเป็นการจัดการเรียนรู้ ในสาระที่นักเรียนทุกคนเรียนรู้ได้ ถ้าจะพูดกันให้ชี้ชัด ๆ ลงไปเลยก็คือ เด็กอ่อน จะต้องจัดให้เรียนวิชาพื้นฐานมาก ๆ  แต่การมิได้เป็นเช่นนั้น ยังมีการจัดการเรียนรู้ในบางกลุ่มสาระ ที่ต้องการดึงเอาเวลาจากกลุ่มวิชาอื่น ๆ เช่น ศิลปะไปเป็นเวลาของตน แล้วกล่าวว่า ศิลปะ เรียน 1 ชั่วโมง/สัปดาห์ก็พอ ศิลปะเรียนง่าย เด็กเลยต้องเรียนวิชาพื้นฐานเหล่านั้นมากจนเกินความจำเป็น และบังคับด้วยนะว่า วิชาของเขาจะต้องเรียนเฉพาะเด็กเก่ง ๆ เท่านั้น (แล้วเด็กอ่อนอีก 80 % ใครจะพัฒนา น่าเป็นห่วง) และในการจัดกิจกรรม จะให้นักเรียนปฏิบัติเกือบทั้งหมดโดยไม่มีที่มาที่ไปว่า สนองตอบส่วนไหน อย่างไร

           ส่วนผมมองเห็นภาพการสอนว่า ในการจัดการเรียนรู้วิชาพื้นฐานทางศิลปะนั้น ความเป็นจริง ให้เด็กเขาได้ฟังและได้มองเห็นภาพจริง ภาพเคลื่อนไหว ข้อความ แล้วคิด วิเคราะห์ วิจารณ์แสดงความเห็นโดยมีครูคอยช่วยเสริมบ้าง เมื่อเด็กเขาหลงทางไป ส่วนการปฏิบัติงาน ทางศิลปะ ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกทำตามความถนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลาย ๆ อย่างตามความสนใจ เช่น ถนัดวาดภาพ ร้องเพลง แต่งบทกลอน ปั้นภาพ เล่นดนตรี ฟ้อนรำ ก็ทำไป เมื่อเขาได้ฝึกซ้อมจนมั่นใจ ก็ออกไปแสดงความสามารถหน้าชั้นเรียน ทำให้ผู้เรียนทั้งกลุ่มได้เห็น ได้เรียนรู้ศิลปะในองค์รวม ครูก็ไม่เหนื่อย ในระดับช่วงชั้นที่ 3 ก็ให้มีความง่ายมากหน่อย ส่วนพอไปถึงช่วงชั้นที่ 4 อาจจะต้องกำหนดความยากให้มากขึ้น จะได้เหมาะสมกับวัย

 การสอนวิชาศิลปะเพิ่มเติม

คำว่า วิชาเพิ่มเติมเป็นการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนที่มีความต้องการในการศึกษาต่อด้านใดด้านหนึ่งหรือจัดให้กับผู้เรียนที่มีความต้องการ มีความถนัด มีความสามารถในกลุ่ม สาระหรือวิชาศิลปะ โดยผ่านการเรียนในรายวิชาพื้นฐานศิลปะมาแล้ว นั่นแสดงว่าในการจัดการเรียนรู้ จะต้องจัดในรายวิชาที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ง่าย ๆ ไปก่อน เพื่อที่จะให้ผู้เรียนได้คิดและวิเคราะห์ตนเองได้ว่า เขามีความสามารถในด้านใด แล้วมาเลือกเรียนในรายวิชาเพิ่มเติม  ดังนั้นวิชานี้จึงเป็นเด็กกลุ่มใหม่ จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความต้องการ

 

ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดี ถ้าเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ และมีโอกาสที่จะแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง 

 

 ผมเป็นครูศิลปะที่มีโอกาสได้สอนเฉพาะวิชาเพิ่มเติมเท่านั้น ทั้งที่ผมมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ มีความรู้ความสามารถศิลปะหลายด้าน ผมต้องปล่อยให้เขาจัดการเรียนการสอนกันไปตามที่เขาต้องการ (คิดตามกันไป) น่าเสียดายเวลา เอาละถึงแม้ว่าจะได้สอนแต่รายวิชาเพิ่มเติม ก็ยังมีคนมาดึงนักเรียนที่เลือกเรียนกับผมไปอีก  ช่างไม่ได้นึกถึงหลักการเลือกวิชาเพิ่มเติมเลยว่า  นักเรียนเป็นผู้เลือกเองโดยแท้จริง

ผมจัด การเรียนรู้ในรายวิชาศิลปะ ที่เปิดสอนโดยโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีทั้งหมด เพื่อที่จะให้ผู้เรียนเห็นคุณค่า รากเหง้าของแผ่นดิน ว่ากว่าที่พัฒนามาสู่ความเจริญ ในยุคปัจจุบันนี้ มีที่มาอย่างไร ตัวอย่างเช่น

           ผมสอนวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิกชั้น ม.4 ก่อนที่จะเริ่มเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ผมถอดชิ้นส่วนทั้งหมดออกมาวางให้นักเรียนเห็นส่วนประกอบ ทั้งตัวเครื่อง จอภาพ เครื่องพิมพ์ (ให้เรียนรู้คุณค่าของอุปกรณ์) ก่อนที่จะใช้งานจริง (ผมเป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ด้วย) จากนั้นจึงแนะนำวิธีการเปิดเครื่อง การเข้าสู่โปรแกรมใช้งาน  ไมโครซอฟท์วินโดวส์  และโปรแกรมอะโดบี โฟโต้ชอป  วางแผน ลงมือปฏิบัติ ประเมินผล ปรับปรุงให้สมบูรณ์ต่อไป  

         อีกรายวิชาหนึ่ง ผมสอนนักเรียนชั้น ม.1 ชื่อวิชา ศิลปะกับภูมิปัญญาท้องถิ่น วิชานี้สนุกครับ เพราะว่าใคร ๆ เขามักจะเอาไปพูดว่า ใครไปเรียนกับครูชำเลือง ระวังจะต้องร้องเพลงอีแซว เบื่อตาย พูดได้ไง คิดได้ไง วิเคราะห์เป็นไหม (ขออภัย) แต่ผมแนะนำให้ผู้เรียนมองที่ตนเอง ทำความรู้จักตนเองกับศิลปะ จากประสบการณ์  ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น 9-10 ด้าน จากเอกสารและระบบเครือข่าย (อินเทอร์เน็ท) ผมให้นักเรียนออกมารายงานความก้าวหน้าในความรู้ที่เขาได้รับ (ได้มาน้อย สั้น และไม่นำไปสู่การพัฒนาตนเอง) บางคนเราต้องนำทางให้เพราะคิด 1 เดือนก็ยังอยู่กับที่ แต่พอมีเพื่อน ๆ เริ่มลงมือทำงาน เขาก็จะมองเห็นตัวอย่างและทำตามกันไปได้

         

            ในรายวิชาเพิ่มเติมผมจะสอน P= Process มากกว่า K= Knowledge และสอดแทรกคุณธรรม ความรับผิดชอบ ประหยัด ซื่อสัตย์ มิวันัย A = Attitude ลงไปด้วย และท้ายที่สุดก็ให้นักเรียนนำเสนอผลงานศิลปะตามความถนัด โดยนำเอาสื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยี่ง่าย ๆ ที่เด็กเขาคิดเอง มาประกอบการนำเสนอด้วยครับ  ก็อยู่กับพวกเขาอย่างมีความสุข ผมทำตัวเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มผู้เรียน  แต่เป็นผู้แนะนำ สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนไปด้วย ครับ  

 

(ชำเลือง  มณีวงษ์. สอนวิชาพื้นฐานและวิชาเพิ่มเติมศิลปะ. 2550)

 

หมายเลขบันทึก: 111821เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2007 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
ครูสอนศิลปะจากอยุธยา

เห็นด้วยกับแนวการสอนของครู เยี่ยมจริงๆ เป็นแนวการสอนที่ดี เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ชช่วยเสนอแนะแนวการสอนศิลปะในชั้นประถมให้บ้างจะเป็นพระคุณยิ่ง เพราะยังสอนไม่เก่ง

ตอบความเห็น ครูสอนศิลปะจากอยุธยา

ขอบคุณคุณครูที่แสดงความเห็นในวิธีการสอนของผมมาให้ ผมเป็นครูสอนศิลปะมานานกว่า 39 ปีแล้ว โดยเรียนมาทางจิตรกรรม (สอบวาดเขียนเอก)และเรียนต่อในระดับปริญญาตรีศิลปะ ปริญญาโทเทคโนฯ แต่ผมเรียนรู้โดยการฝึกปฏิบัติเพลงพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้านและการแสดงหลายอย่าง ผมนำเอาความรู้มาผสมผสานและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนได้แสดงออกตามความถนัด ความสนใจในศิลปะแล้วเราค่อยสรุปสาระความรู้ที่ถูกทางให้ในตอนสุดท้าย เด็กได้เรียนรู้แบบองค์รวม ตามความสนใจในศิลปะที่ถนัด ครับ

สวัสดีค่ะ

สำหรับดิฉันแล้ว การศึกษาศิลปะ และศาสนา เป็นไปในทางเดียวกันค่ะ

คือเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา ปฏิบัติ และพิจารณาตลอดชีวิต

ขอบคุณค่ะ

เห็นด้วยและขอสนับสนุนข้อบันทึกนี้เป็นอย่างยิ่ง

ตอบความเห็นที่ 3 คุณณัฐรดา

  • ขอบคุณในความเห็นที่ดี และเป็นประโยชน์แก่คนที่รักศิลปะมากครับ
  • การศึกษาในอดีต เน้นที่การปฏิบัติจริงและกระทำด้วยความตั้งใจอย่างยั่งยืน
  • มาในยุคปัจจุบัน ดูจะเป็นการเรียนเพื่อสอบเสียมากกว่าที่จะนำเอาไปใช้ในชีวิตจริง

ตอบความเห็นที่ 4 คุณพรเทพ

  • ด้วยเป้าหมายที่ผมสอนคนให้คิดได้ และควบคุมตนเองไปในทางที่ดี มีคุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติ
  • ผมจึงปลูกฝังค่านิยมไทยและทัศนคติที่ดีต่ออาชีพที่สุจริตให้กับนักเรียน ถึงแม้ว่าในวันนี้จะกระได้ยากก็ตาม
  • ขอบคุณ คุณพรเทพที่เห็นด้วยกับวิธีการ เราคงต้องนำเอาความรู้และคุณธรรมสอดแทรกไว้ในบทเรียนตลอดไป

อยุธยายังไม่พบครูศิลปะดีเยี่ยมอย่างครูชำเลืองเลย จริงๆ เราก็คลุกคลีอยู่กับวงการศิลปะของอยุธยาพอสมควร แต่ยังไม่พบครูที่ทำงานด้วยใจอย่างครูชำเลือง ขอเป็นแรงใจให้ช่วยกันพัฒนาเยาวชนของชาติ ปลุกจิตสำนึกให้มีความรักศิลปะไม่ว่าจะแขนงใดก็ตาม จิตใจพวกเขาจะได้อ่อนโยน เยือกเย็น

สวัสดี ครูอยุธยา

  • ขอบคุณมาก ครับ ที่เข้ามาเยี่ยมในบล็อกนี้ การเป็นครูในวันนี้ดูจะทำหน้าที่แปลก ๆ ไปจากแต่ก่อนมาก (ขอเป็นกำลังใจให้ครูอยุธยา ทำในสื่งที่เรารักให้ถึงที่สุด)
  • ไท่ควรสอนเด็กแล้วมีแต่ความรู้ ความจำในสมอง เมื่อจบการศึกษาสูง ๆ ก็ยังตกงาน ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาให้กับชีวิตของตนได้
  • สำหรับผมสอนนักเรียนให้ไปถึงมืออาชีพทุกรายวิชา แต่ว่าใครจะมีความสามารถสูงสุดได้หรือไม่อยู่ที่ตัวเขารักที่จะฝึกปฏิบัติ
  • ผมเป็นต้นแบบให้กับนักเรียนให้ความรู้เขาอย่างใกล้ชิดทั้งงานจิตรกรรมที่ผมรัก งานเพลงพื้นบ้านและงานทำขวัญนาคที่ผมแสดงมาตั้งแต่เด็ก ๆ และอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องทางศิลปะ จนเด็ก ๆ เขาได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ จำนวนมากครับ
นายสมิทธิวัฒน์ วงศ์สวัสดิ์

สวัสดีครับคุณครูผมก็เป็นครูสอนวิชาศิลปะเหมือนกันครับก็เห็นด้วยกับคุณครูนะครับจิง ๆ แล้วผมก็เห็นว่าวิชาศิลปะก็เป็นวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กับวิชาอื่นเลยแต่ทำไมต้องมองวิชาศิลปะเป็นวิชาที่มีความสำคัญอยู่ลำดับท้าย ๆ ก็ไม่ทราบนะครับ ขอบคุณครับ

ตอบความเห็นที่ 9 คุณครูสมิทธิวัฒน์

  • ถูกต้องครับ วิชาศิลปะเป็นวิชาที่มีความสำคัญต่อชีวิต สังคม ประเทศชาติมากยิ่ง แล้วเมื่อไรเล่า จะมีคนเข้าใจ
  • เวลาจัดให้เด็กได้เรียนวิชาเพิ่มเติม จะจัดห้องท้าย ๆ มาให้ ส่วนห้องที่เด็กเก่ง ๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนวิชาเพิ่มเติมเลยสักวิชาเดียว น่าสงสารและเสียดายความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวผู้เรียน
  • ขอบคุณ คุณครูศิลปะมากครับ "ศิลปะสร้างคน คนสร้างวัฒนธรรมของชาติ"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท