มหกรรม KM ภาคการศึกษา โครงการ EdKM ครั้งที่ 1 : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


          วันที่  7-8  กรกฎาคม  ที่ผ่านมา  โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรการศึกษาด้วยการจัดการความรู้  (โครงการ  EdKM)   ร่วมกับ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี  เขต  3  จัดงานมหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้  4  ภูมิภาค  เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรการศึกษา  ครั้งที่  1  ณ  โรงแรมนภาลัย  จังหวัดอุดรธานี   มีผู้เข้าร่วมประมาณเกือบ  1,000  คน  ซึ่งเป็นผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา  ของเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 6  เขตในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เข้าร่วมโครงการ  EdKM  ได้แก่  สพท. อุดรธานี  เขต 3  สพท. หนองบัวลำภู  เขต  1  สพท. มหาสารคาม เขต 2  สพท. สุรินทร์  เขต  1  สพท.นครราชสีมา  เขต 1  และ สทพ. สกลนคร  เขต  2   

          ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย  และขอบันทึกเรื่องราวที่พานพบ  ความชื่นชมมาแบ่งปันกันคะ

          สำหรับรูปแบบการจัดงานมหกรรมฯ  ดังกล่าว  คล้ายคลึงกับรูปแบบการจัดงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ  ของ  สคส.  คือ  มีส่วนของนิทรรศการ  ห้องย่อย  การเสวนา  การปาฐกถาพิเศษ  ในหัวข้อ  “การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้”

          โดยในครั้งนี้  คุณเดชา  ศิริภัทร  ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ  จังหวัดสุพรรณบุรี ให้เกียรติเป็นองค์ปาฐก  ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างยิ่ง  เนื่องจาก  คุณเดชา  ได้นำเสนอตัวอย่างโรงเรียนชาวนา  ที่เน้นการเรียนรู้แบบกลุ่มได้อย่างน่าสนใจ  ชัดเจน  และเข้าใจง่าย  ซึ่งพอจะสรุปสาระสำคัญของการปาฐกถาพิเศษได้ดังนี้

คุณเดชา ศิริภัทร 


          KM  เป็นคำเฉพาะ  เป็นการจัดการให้มีการค้นพบความรู้ความชำนาญที่แฝงเร้นในตัวคน  และหาทางนำออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และตกแต่งให้ง่ายต่อการใช้สอย ให้มีประโยชน์มากขึ้น  และมีการต่อยอดให้งดงาม  เกิดความรู้ใหม่  เป็นการนำความรู้ที่ไม่เหมือนกันมาใช้ประโยชน์ 
          KM  เป็นความรู้ใหม่ ที่มาจากการผสมกับความรู้เก่า  ที่สำคัญต้องมีการเรียนรู้ร่วมกัน จนเกิดเป็นปัญญาร่วม  จึงจะทำงานได้สำเร็จ  ใช้ประโยชน์แก้ปัญหาได้ผลสำเร็จ
          Key Word  ของ  KM  คือ  
          - การค้นพบความรู้ความชำนาญที่แฝงเร้นในตัวคน  ปัญหาการศึกษาของไทย คือ   คิดว่า  คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือเป็นคนไม่มีความรู้  แต่จริงๆ  แล้วความรู้มีอยู่ทุกแห่งทุกที่  เกิดจากการทำงาน เกิดจากประสบการณ์ตรง  แต่ไม่มีการจดบันทึก จึงไม่มีคนให้ค่าของมัน  ความรู้ในคนจึงมีค่ามากกว่าความรู้ทางวิชาการหรือทฤษฎีด้วยซ้ำไป  เพราะฉะนั้นเรา ต้องเคารพคนทุกคน  เพราะทุกคนมีความรู้ในตัวอยู่แล้ว
          - การแลกเปลี่ยนเรียน   เป็นการเพิ่มความรู้ในคนให้มากขึ้น  ให้เป็นความรู้ของสังคม  ฉะนั้น  KM  ทำคนเดียวไม่ได้  ต้องทำเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบกลุ่ม  และต้องมีการนำมาตกแต่งปรับประยุกต์ให้เหมาะสมใช้งานได้  
          - เกิดนวัตกรรม  การจัดการความรู้เป็นการใช้ความรู้ภายนอกเข้ามาเสริมกับความรู้ในตัวคน  ความรู้ภายนอกกับภายใน  นำมาปรับเพื่อใช้ได้จริง  นวัตกรรมก็จะเกิดขึ้น  ถ้าไม่เกิดนวัตกรรมไม่ถือว่าเป็น  KM  
          - การเรียนรู้ร่วมกัน  จะเกิดความรู้ร่วม  ทำให้เกิดปัญญาร่วม  ซึ่งจะเป็นเครื่องมือใหญ่ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา  KM  ต้องทำให้เกิดปัญญาร่วมให้ได้

         ยังไม่จบคะ  โปรดติดตามตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 111187เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2007 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอชมเชยค่ะ  ที่เก็บประเด็นได้ครบถ้วน และน่าสนใจค่ะ

                        Tadsanee
 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท