มหาวิทยาลัยวิจัยกับการสื่อสารผลงานวิจัย


ต้องทำแบบ "ลึกและเนียน"
มหาวิทยาลัยวิจัยกับการสื่อสารผลงานวิจัย
การสื่อสารผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวิจัยในต่างประเทศตามที่ผมได้รับคำบอกเล่าจาก ศ. นพ. Bert Sakman แห่งมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก   (ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์)    เขาทำในแนวของการสร้าง visibility ให้แก่มหาวิทยาลัย     และทำอย่างเอาจริงเอาจังมาก    เขาไม่ได้เน้นวิธีการแบบ “ประชาสัมพันธ์” อย่างที่เราทำกัน     เขาเน้น การสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์แบบ “สองทาง” (two – way communication)     เพื่อให้เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ระหว่าง ชุมชน  สังคม  และมหาวิทยาลัย     เขาทำในลักษณะที่มหาวิทยาลัยเข้าไปยกย่องชุมชน แสดงความยินดีที่ชุมชนหรือครอบครัวมีคนที่มาเติบโตเป็นนักวิจัยสร้างผลงานอยู่ในมหาวิทยาลัยและได้รับการยกย่อง     มหาวิทยาลัยก็จะส่งหนังสือถึงครอบครัว / ชุมชน (เช่นนายกเทศมนตรี) บ้านเกิดของนักวิจัยผู้นั้น แสดงความยินดีที่ครอบครัว / ชุมชนนั้นได้ให้กำเนิดและเลี้ยงดู “คนพิเศษ” ให้แก่สังคม    ซึ่งหมายความว่า ครอบครัว / ชุมชน / สังคม ก็จะได้รับรู้ความสำคัญของผลงานวิจัยนั้น    และจะเป็นการสร้างความรู้สึกเห็นคุณค่าของความรู้ / วิชาการ / การวิจัย และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยไปในตัว   
นอกจากนั้น มหาวิทยาลัย จะมีข้อมูล และหน่วยศึกษา / จัดการ เรื่องรางวัลต่างๆ ที่ให้แก่นักวิจัย    และคอยจัดการเสนอชื่ออาจารย์ / นักวิจัย ของตนที่มีผลงานเข้าข่าย เข้าไปให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณา     คือเขาจัดการเชิงรุกเพื่อให้คนของตนได้รับรางวัล     ซึ่งก็หมายความว่าหน่วยงานนั้นของมหาวิทยาลัยต้องมีข้อมูลผลงานวิจัยที่ทันสมัย และเข้าใจระดับความสำคัญของผลงานนั้น    โดยนัยนี้การจัดการเชิงรุกดังกล่าวก็จะมีผลให้ผลงานเด่นๆ ของมหาวิทยาลัย ได้เข้าไปสู่ความสนใจของวงการพิจารณาผลงานเด่นเพื่อให้รางวัล    และเมื่อได้รับรางวัลก็จะเกิดชื่อเสียงในวงกว้าง     เป็นการสื่อสารผลงานวิจัยทางอ้อม แต่ได้ผลมาก  
ในประเทศไทยแทบจะไม่มีคนมีทักษะ (ศาสตร์และศิลป์) ในการทำงานสื่อสารผลงานวิจัยโดยตรงต่อสาธารณชน     เรามักคิดว่าคนที่จบมาทางด้านประชาสัมพันธ์ หรือนิเทศศาสตร์ / สื่อสารมวลชน จะทำงานนี้เป็น     จริงๆ แล้วคนที่จะทำงานนี้ได้จริงต้องการความรู้ความสามารถหลายอย่าง     ที่สำคัญต้องมีความสามารถในการทำความเข้าใจผลงานวิจัยในระดับที่ลึก    ให้เข้าใจความหมาย และผลกระทบของผลงานวิจัย     โดยที่ตัวเขาเองจะไม่รู้ลึกขนาดนั้น     แต่จะต้องรู้ว่าจะไปหาข้อมูลหรือคุยกับใครให้ได้ข้อมูลหรือความหมายของการวิจัยหรือผลงานวิจัยที่ตนต้องการ     จนในที่สุดตนกระจ่างแจ้งในความหมายของผลงานนั้น     แล้วจึงเอามาคิดถ้อยคำและยุทธศาสตร์ / วิธีการสื่อสาร     ในประเทศไทยผมเห็นแต่คุณเปา (ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร) ประชาสัมพันธ์ สกว. ที่มีพื้นความรู้ปริญาตรีชีววิทยา   ปริญญาโทชีวเคมี และ MBA    ที่ได้สั่งสมประสบการณ์จากการทำงาน “ประชาสัมพันธ์” ให้แก่ สกว. มานานกว่า ๘ ปีแล้ว     มหาวิทยาลัยวิจัยทั้งหลายน่าจะสร้างคนแบบนี้ขึ้นมาทำงานสื่อสารผลงานวิจัยต่อสังคมให้มากขึ้น และมีผลดีทั้งต่อมหาวิทยาลัย และต่อสังคมภาพรวมมากขึ้น
วิจารณ์ พานิช
๒๒ ธค. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 11078เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2005 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท