ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (11): วิธีการทำงานในห้อง lab ที่ได้รับคำชมว่าดี


และอยากเล่าไว้เป็นที่ระลึก

เรื่องเล่าเกียวกับช่วงเวลา 6 ปีกว่าๆ ที่ใช้ในออสเตรเลียที่เขียนต่อเนื่องกันมาในวารสารสายใยพยา-ธิของภาควิชาฯของเรานั้น เขียนไปเรื่อยๆตามหัวข้อที่นึกได้ บางอย่างก็เก็บมาจากไดอารี่ที่บันทึกไว้ นักเรียนนักศึกษาที่โน่นดูเหมือนจะมีไดอารี่เป็นของประจำตัว ทำให้หาได้ง่ายมาก ส่วนมากก็จะใช้ของมหาวิทยาลัยจากที่สโมสรนักศึกษาของเขาแจก ซึ่งจะจัดแบ่งไว้ให้เราเห็นชัดถึงเวลาปิดเปิดเรียน วันหยุด เบอร์โทรศัพท์สถานที่สำคัญๆที่ต้องใช้ติดต่อ คิดถึงเด็กๆนักเรียนนักศึกษาบ้านเรา ไม่รู้ว่ามีไดอารี่ของสถาบันบ้างไหมหนอ ยังไม่เคยเห็นเลย


วิธีการทำงานในห้อง lab ที่ได้รับคำชมว่าดีและอยากเล่าไว้เป็นที่ระลึก

ระหว่างที่เรียน ต้องทำงานอยู่ในห้อง lab ทั้งร่วมกับห้อง lab ที่เป็นงาน routine และ lab วิจัย จะพยายามรักษาความสะอาดและเก็บข้าวของเข้าที่ทุกครั้ง อะไรที่เป็นของส่วนตัว เช่น น้ำยา, rack ที่ต้องเก็บไว้ในห้อง lab จะติดป้ายชื่อและวันที่ไว้ชัดเจน ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนที่ทำงาน routine พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา ใช้เครื่องอะไรที่จะต้องกินเวลานาน จะบอกหรือเขียนป้ายแปะไว้เลยว่า เราเป็นคนทำ จะเสร็จประมาณเมื่อไหร่ ของที่ต้องเก็บในตู้แช่แข็งจะใส่ภาชนะที่สามารถเขียนชื่อและเวลารวมทั้งป้ายบอกว่าเป็นอะไรติดให้ชัดเจนทุกครั้ง ซึ่งการทำงานวิจัยระยะยาว สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก เพราะไม่ว่าเราจะกลับมาดูเมื่อไหร่เราก็จะไม่ต้องสงสัยว่าเป็นอะไร เก็บเมื่อไหร่ น้ำยาต่างๆที่ต้องเตรียมเองจะจดสูตรและแหล่งที่มาไว้ทันที แม้แต่สิ่งที่ไม่คิดว่าจะต้องใช้อีก สมุดจดบันทึกผล lab ซึ่งที่เพิร์ธ เขามีลักษณะเฉพาะเป็นสมุดปกสีแดง ขนาด 100 แผ่นที่มีเลขหน้าทุกหน้า สังเกตว่าทุก lab ทุกสถาบันจะใช้ และปฏิบัติเหมือนกัน เขาจะลงวันที่และเขียนทุกๆอย่างที่ทำในแต่ละวันลงไป ตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆก็จะชอบเขียนใส่สมุดเล็กๆ แล้วค่อยเอามาพิมพ์ลงในคอมฯแล้วก็ print ออกมาตัดแปะกาวลงในสมุด เพราะปกติเขาก็จะแปะผล lab ต่างๆลงไปในสมุดอยู่แล้ว เราดูๆแล้วคิดว่าถ้าเราพิมพ์ใส่คอมฯเราจะได้เอากลับมาบ้านเราได้ไม่ต้องแบกสมุด อาจารย์ไม่ชอบเลยบอกว่าให้เขียนด้วยลายมือ (ตอนแรกไม่ได้บอกเหตุผลเค้า) แต่ตอนหลังพอเขารู้ก็ไม่ว่าอะไร สมุดงานก็จะเรียงตามลำดับไปเรื่อยๆ เล่มสุดท้ายรู้สึกจะเป็นเล่ม 11

ช่วงปีที่ 2 มักจะมีคนมาถามวิธีทำโน่น สูตรคิดนี่ (เช่น สูตรคำนวณ copy number ของ RNA) หลายๆอย่างที่เราเคยทำไปแล้ว ต้องมาเปิดหาในสมุดงาน ก็เลยจัดการทำสารบรรณแปะไว้หน้าแรกทุกเล่ม เวลาใครถามหาอะไรก็เปิดหาได้ง่าย เป็นตัวอย่างของคนอื่นๆ สมุดงานพวกนี้อาจารย์ก็เก็บไว้หมด เพราะคนที่มาใหม่ก็ได้ใช้ประโยชน์ และถ้าต้องค้นอะไรยืนยันหลักฐานก็ถือเป็นเอกสารที่ใช้ทางกฏหมายได้

การพูดคุยและช่วยเหลือคนอื่นๆที่ทำ lab ก็มีประโยชน์เพราะมีหลายๆครั้งที่เราได้ใช้ประโยชน์จากการรู้จักเป็นส่วนตัวหยิบยืมสารเคมี หรือเครื่องมือเครื่องใช้แบ่งปันกัน ทำให้งานไม่ขาดตอน เราช่วยเขา เขาช่วยเรา ทำอะไรก็ไม่ลำบากขัดสน  

พบกันอีกทีฉบับหน้านะคะ ยังมีเรื่องเล่าอีกมากมาย เล่าได้มากกว่า 6 ปีอีกค่ะ


อ่านซ้ำตอนเอามาลงนี่แล้ว นึกย้อนไปได้ถึงประโยชน์ของการประพฤติปฏิบัติอย่างที่เล่ามานี้ด้วยก็คือ ไม่ว่าเราจะขอไปทำแล็บอะไรที่หน่วยไหน (ที่โน่นเขามักจะใช้เครื่องมือราคาแพงๆร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างซื้อ) ก็มีแต่คนอนุญาต เพราะได้รับการอ้างถึงว่าเป็นคนมีระเบียบเรียบร้อย รับผิดชอบดี เชื่อมั่นได้แน่ว่า ได้ทิ้งภาพลักษณ์ที่ดีงามของคนไทยเอาไว้ที่ห้องแล็บและหน่วยวิจัยของโรงพยาบาล Royal Perth Hospital แน่นอนค่ะเป็นความภูมิใจที่ตั้งใจทำดีและอยากบอกต่อ ให้พวกเราที่ไปอยู่ต่างประเทศ นึกถึงเรื่องนี้กันไว้ให้ดีด้วยนะคะ เพราะเราคือตัวแทนของคนชาติเราเลยทีเดียวสำหรับทุกที่ ที่เราไปอยู่

หมายเลขบันทึก: 109647เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2007 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

  •  เป็นวิธีการที่ดีค่ะ
  • แต่ในทางปฏิบัติไทยเราไม่เคยเห็นค่ะ
  • เคยทำตอนเป็นนักศึกษาฝึกงาน
  • ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เรื่องดีๆ อย่างนี้ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

ขออนุญาตเรียกอาจารย์นะครับ ตามมาอ่านบลอกของอาจารย์เพราะประทับใจใน comment ที่อาจารย์แวะไปทักทายครับ ผมไม่ได้เข้าบลอกเสียนานเพราะแย่งคอมไม่ทันลูกครับ ขอบคุณอาจารย์ครับ อ่านแล้วเย็นใจและมีความสุขดีจัง...แต่ขอบอก ...บลอกของอาจารย์แพรวพราวและมีชีวิตชีวามากนะครับ แบบนี้ต้องเข้ามาบ่อยๆแล้ว  ขอบคุณอีกครั้งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท