ติดตาม……สถานการณ์กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.)


                  ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของ กทบ. ล่าสุด เมื่อวันที่ 21-22 มิย. 50 ที่ผ่านมา  มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หน่วยงาน และองค์กรภาคี  ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ กรุงเทพฯ เพื่อทุกกองทุนได้นำความรู้ไปปรับปรุง กทบ. ของตนเอง  ทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการให้กองทุนหมู่บ้านเป็นของชุมชนไม่ใช่ของสมาชิก หรือคนใดคนหนึ่งเท่านั้น  สำหรับประเด็นที่จะหารือ ประกอบด้วย 1) กทบ.และเครือข่าย ในการกลับไปดำเนินการควรทำอย่างไรให้เกิดความเข้มแข็ง  2) อนุกรรมการกับบทบาทของสทบ.  3) นโยบายของโครงการ ๆ ที่เข้าไปในหมู่บ้านการประชุมครั้งนี้เป็นการระดมมุมมองของหน่วยงานภายนอก  ทั้งจัดให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีคิด ผลสำเร็จ ปัจจัยสำเร็จในมิติต่างๆ เช่น  อาชีพ  ทรัพยากร การบูรณาการของกองทุนที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จ  และนำทั้งหมดมาปรับปรุงและกำหนดทิศทางในอนาคต  ให้กองทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายคือ ผลดีต่อชุมชน  

มุมมองกองทุนหมู่บ้านกับการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนที่ผ่านมา

               จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย   สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี   สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์  และผู้แทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ความเป็นมาของ กทบ.  วิวัฒนาการมาจาก กขคจ. (กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน) นำบทเรียนจุดอ่อนจาก กขคจ.มาสร้างเป็นจุดแข็ง พันธกิจของ กทบ. เป็นการสร้างพลังชุมชน เน้นการพัฒนาผู้นำกลุ่มองค์กร และเครือข่าย เพื่อนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง  โดยใช้วิถีชีวิตชาวบ้านเป็นแบบฝึกหัดให้ผู้นำชุมชนคิดวิเคราะห์และเรียนรู้การบริหารจัดการ  เมื่อมีการตรวจสอบประสิทธิผลของการดำเนินโครงการ  พบว่ากองทุนมีความทั่วถึงและบรรเทาความยากจน แต่ใช้ขยับขยายอาชีพเดิมมากขึ้นไม่ได้ กองทุนมีความยั่งยืนจากการที่ส่วนใหญ่คืนเงินกู้ครบและตรงเวลา มีปัญหาและอุปสรรคด้านคณะกรรมการและสมาชิกขาดความรู้เกี่ยวกับกองทุนหมู่บ้าน  จำนวนเงินให้กู้ยืมน้อย  ระยะเวลาสั้น  การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ทำให้คืนเงินไม่ได้   ขาดความรู้เรื่องบัญชี  คณะกรรมการมักเป็นผู้สูงอายุ  ขาดการประชาสัมพันธ์  การบริหารจัดการ ยังไม่โปร่งใส  การจดทะเบียนนิติบุคคลล่าช้า  ข้าราชการพัฒนาชุมชนไม่จริงจังในการช่วยพัฒนา ทำเพียงเพื่อหวังผลงาน ปัญหาของ กทบ. ส่วนมากเกิดจากภูมิแพ้ทางการเมือง  การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาในระดับนโยบาย  ให้ผู้ว่าเป็นนายทะเบียน  จัดให้ความรู้และเพิ่มศักยภาพให้สมาชิกสามารถพึ่งตนเองได้  เครือข่ายรับเรื่องร้องเรียน ทั้งเป็นตัวประสานระหว่างชุมชนกับภาครัฐ   

นโยบาย เป้าหมาย หลักการ และแนวทางการดำเนินงาน กทบ.

              ท่านรองนายกรัฐมนตรีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กล่าวถึง กทบ. เป็นกองทุนกลางเป็นของรัฐบาล หมายความว่าเป็นของประชาชนด้วย กทบ. เป็นเรื่องสำคัญเพราะต้องใช้เงินมาก  จุดมุ่งหมาย คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในหมู่บ้านให้ดีขึ้น ฉะนั้นจะบรรลุผลแค่ไหน  ควรประเมินผลทุกปี หากแต่ละกองทุนประเมินตนเองและประเมินร่วมกันในเครือข่าย จะเป็นการปรับปรุง ป้องกันกองทุนได้ดี ควรนำหลักการความดีมาบริหารกองทุนดังเช่นที่ตำบลหนองสาหร่าย  คิดว่า กทบ.ควรมีหลักการสิบดี คือ 1) สมาชิกดี มีความประพฤติดี วิถีชีวิตดี ทำบัญชีครัวเรือน 2) กรรมการดี  มีเจตนาดี สุจริต มีความสามารถในการจัดการ 3) กองทุนดี 4) หมู่บ้านและชุมชนเมืองดี พึงตระหนักว่ากทบ.ไม่ได้เป็นเป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้หมู่บ้านดี  5) ตำบลดี  หมายรวมถึงสถาบันต่าง ๆ ในชุมชน ทั้งโรงเรียน วัด อนามัย 6) เครือข่ายดี ทั้งเครือข่ายภายใน กทบ. ต้องประชุมอย่างสม่ำเสมอ และเครือข่ายภายนอก คือเครือข่ายข้ามประเภท 7) เจ้าหน้าที่ สทบ. ดี  8) กรรมการ กทบ. ระดับชาติดี  มีความรับผิดชอบ มีความรู้ เข้าใจ ความสามารถ มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง 9) กทบ. แห่งชาติ ดี  10) นโยบายรัฐบาลดี  ในความเห็นหากเปรียบ กทบ. กับธนาคารอื่น นับว่ายังอ่อนแอ เพราะยังต้องมีเงินสนับสนุนจากรัฐ ปีละประมาณ 100 ล้านบาท  ในขณะที่ธนาคารอื่นมีแต่แบ่งกำไรคืนให้รัฐ  กทบ. ที่ดีจึงควรมีการแบ่งกำไรให้แก่ชาวบ้านได้ 

บทบาท กทบ. กับมิติการพัฒนาทุนชุมชน           

                จากการนำเสนอประสบการณ์การขับเคลื่อน กทบ. ของผู้แทน กทบ. ภาคต่าง ๆ ทำให้เห็นภาพรวมว่า กทบ. มีบทบาทต่อชุมชนในการบำบัดทุกข์ ทั้งด้านการให้กู้ยืมเงิน  และระบบสวัสดิการ   กองทุนที่ประสบความสำเร็จมีหลักการบริหารด้วยการเน้นให้เกิดการบูรณาการของกรรมการ และสมาชิกในกองทุน ทั้งด้านศาสนา และวัย  เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักการตรงกัน  และคนรุ่นหลังสามารถสืบสาน กทบ. ต่อไป การคัดเลือกผู้นำเน้นแกนนำธรรมชาติ ที่ชาวบ้านศรัทธา  ต้องอบรมผู้นำ และคณะกรรมการให้มีความรู้ กล้าคิด กล้าทำ  แนวคิดการบริหารต้องยึดหลักธรรมะ ให้ กทบ. เป็นศูนย์กลางการพัฒนา และแก้ปัญหาชุมชน โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างทุกหน่วยงานในชุมชน  เน้นการพัฒนาคนทำให้เกิดความรักสามัคคีในกรรมการ สมาชิก และชุมชน  พึ่งพาตนเองและพึ่งพากันเอง  ด้วยการมีเวทีสัญจรตามหมู่บ้านต่าง ๆ เปิดโอกาสให้คนในชุมชนแสดงความคิดเห็น มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม นำปัญหาของแต่ละหมู่บ้านมาวิจัย เพื่อแก้ปัญหาแต่ละหมู่บ้าน  และการบริหารต้องทำให้เงินจากรัฐบาลมีดอกออกผลให้ชุมชน  รวมทั้งชุมชนควรหาทุนให้ได้ด้วยตนเอง ไม่หวังพึ่งเฉพาะเงินจากรัฐบาล  

การเสริมสร้างความเข้มแข็ง กทบ. ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง           

                 ที่ประชุมมีการแบ่งกลุ่มย่อย ให้แต่ละกลุ่มย่อยมีผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ความรู้ใหม่ในการสนทนา นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน แสดงความคิดเห็นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1)แนวทางการพัฒนาและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ กทบ. และเครือข่าย  2)กลไกการขับเคลื่อนของคณะอนุกรรมการและ สทบ.  และ 3)การเสริมหนุนโดยหน่วยงานภาคีและหน่วยงานนโยบาย  ต่อ กทบ.  เมื่อนำข้อมูลทุกประเด็นมาประมวลแล้ว  จัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดได้ร่วมโหวดคะแนนให้กับเรื่องที่เห็นว่ามีความสำคัญเร่งด่วน ต้องรีบดำเนินการ  ซึ่งในแต่ละประเด็นได้สรุป 3 ลำดับแรกมานำเสนอ ดังนี้

1.      แนวทางการพัฒนาและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ กทบ. และเครือข่าย

       ·       กทบ.  1. สรุปให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจน (สทบ.,พช., พม., มหาดไทย, อบต./เทศบาล) 2. ขยายกิจกรรมสร้างสวัสดิการด้านอื่นๆแก่สมาชิก 3. บูรณาการกองทุนต่างๆเข้าด้วยกัน

       ·       เครือข่าย 1. พัฒนาคุณภาพกองทุนหมู่บ้านในบทบาทพี่เลี้ยง 2. มีศูนย์ประสานงานเครือข่ายทุกระดับ 3. เชื่อมโยง ประสานภาคีร่วม,บูรณาการกับงานอื่นๆ

2.      กลไกการขับเคลื่อนของคณะอนุกรรมการและ สทบ.

      ·       อนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ  1.   สนับสนุนงบประมาณ   2. จัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมระหว่างอนุกรรมการกับเครือข่าย 3. แก้ไขปัญหา ข้อร้องเรียน ข้อขัดแย้งแก่อนุกรรมอำเภอ

      ·       สทบ. 1. ต้องทบทวนและยกเลิก มาตรา31 วรรคสุดท้าย และปรับโครงสร้างอนุกรรมการระดับจังหวัด/อำเภอโดย ลดสัดส่วนภาคราชการ  ยกเลิกอนุฯสายการเมือง เพิ่มอนุฯสายภาคประชาชน   เพิ่มผู้ช่วยเลขาฯสายพัฒนาชุมชน  2. ขยายการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามความพร้อมและศักยภาพของกองทุน 3. มอบอำนาจในการฟ้องร้องดำเนินคดีและการตรวจสอบให้อนุกรรมการจังหวัด และให้การรับรองสถานภาพเครือข่ายทุกระดับ

3.      การเสริมหนุนโดยหน่วยงานภาคีและหน่วยงานนโยบาย  ต่อ กทบ.

       1. ให้การสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานเครือข่าย กทบ. 2. ควรมีการบูรณาการกองทุนหมู่บ้านร่วมกันเพื่อนำไปสู่การจัดทำสวัสดิการชุมชน  3. เสนอ/กำหนดแนวปฏิบัติให้ชัดเจน กรณีการจด-ไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล(เน้นตามความพร้อม)

คำสำคัญ (Tags): #กทบ.
หมายเลขบันทึก: 108295เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2007 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

1.คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านอยู่ในตำแหน่งได้กี่ปี

2.คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านทั้งชุดดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 3 วาระได้หรือไม่

3.หน่วยงานใดจะเป็นผู้ตรวจสอบในการทุจริตของคณะกรรมการกองทุน เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น

เหมือนคุณโชคชัย (ความเห็นที่ 1 ) เพราะกองทุนหมู่บ้านเป็นนิติบุคคลแล้ว ชาวบ้านไม่มีสิทธิอะไรเลย ท่านกรรมการใหญ่มากและไม่มมีวันครบคาระเลย จนชาวบ้านเอือมระอาหมดแล้ว แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเดิมก็เอาคนในครอบครัวตัวเองไส่ (บ้านโคกสะอาด ม.9 คูตัน กาบเชิง สุรินทร์) สุดๆไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท