คนดีวันละคน : (85) นายแพทย์ปรีดา มาลาสิทธิ์


         ผมเคยเขียนถึงอาจารย์ นพ. ปรีดา  มาลาสิทธิ์  ไว้ครั้งหนึ่งแล้ว   ในวาระที่ท่านมีอายุครบ 60 ปี   อ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/44240

         บัดนี้ นพ. ปรีดา  มาลาสิทธิ์ ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล - บี บราวน์  ประจำปี 2550 จากผลงาน "เครือข่ายงานวิจัยโรคไข้เลือดออกและไวรัสไข้เลือดออก"

         โดยคณะกรรมการรางวัลฯ ได้เขียนถึงผลงานดังกล่าวไว้  ดังนี้


"เครือข่ายวิจัยโรคไข้เลือดออกและไวรัสไข้เลือดออก (Network of Biomedical Research in Dengue Hemorrhagic Fever and Dengue Viruses)

         เครือข่ายวิจัยโรคไข้เลือดออกเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิจัยที่มีความเชื่อว่า  การทำวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เชื่อมโยงกับการวิจัยทางคลินิกมีความจำเป็นและเป็นประโยชน์กับการป้องกันรักษาและควบคุมไข้เลือดออก   ศูนย์กลางของเครือข่ายคือ หน่วยอณูชีววิทยาการแพทย์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลและหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์   ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.)   โดยมีเครือข่ายเชื่อมกับภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ และภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก  คณะเทคนิคการแพทย์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงสร้างของเครือข่ายวิจัย
         เครือข่ายวิจัยโรคไข้เลือดออกประกอบด้วยหน่วยอณูชีววิทยาการแพทย์ สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์   ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการเครือข่ายของ ศช. สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  โดยมี อ. นพ. ปรีดา  มาลาสิทธิ์  เป็นผู้อำนวยการหน่วยฯ และมีเครือข่ายเชื่อมกับภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ และภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก  คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ซึ่ง รศ. นพ. นพพร สิทธิสมบัติ และ รศ. ดร. วัชระ กสิณฤกษ์ เป็นหัวหน้า ตามลำดับ

         วัตถุประสงค์หลักของเครือข่ายคือ  การทำวิจัยพื้นฐานทางชีวภาพการแพทย์ (Bio-Medical Research) พัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อนำความรู้ไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคไข้เลือดออก   โดยเชื่อมโยงกับการวิจัยทางด้านคลินิก ณ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นและสงขลา

         นอกจากนี้ยังได้ส่งนักวิจัยและนักศึกษาไปปฏิบัติงานกับเครือข่ายสถาบันวิจัยในต่างประเทศ ได้แก่ Department of Immunology, Imperial College Hammersmith Hospital, London ประเทศอังกฤษ,  Departments of Medicine, Molecular Microbiology, Washington University, St. Louis ประเทศสหรัฐอเมริกา,  Institute Pasteur, Paris ประเทศฝรั่งเศส และ Center for Genomic Medicine, Kyoto University

         จากการสร้างความร่วมมือทางด้านการวิจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ   ทำให้เกิดผลงานวิจัยที่ชัดเจนในรูปของสิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับประเทศและระดับสากล   รวมทั้งมีการยื่นขอรับสิทธิบัตรชุดตรวจวินิจฉัยโรค  องค์ความรู้พื้นฐานและการผลักดันให้มีการต่อยอดผลงานวิจัยให้ออกเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์   รวมถึงมีส่วนร่วมในการผลิตนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทางด้านการแพทย์ เช่น โครงการผลิตบัณฑิตศึกษา  โครงการผลิตอาจารย์แพทย์ (M.D. - Ph.D) เป็นต้น"

วิจารณ์  พานิช
 26 มิ.ย.50

หมายเลขบันทึก: 107945เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2007 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท