แผนที่แห่งความดี


สืบค้นความดีโครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน

            ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 4 แล้วที่โครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่านได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามลงในผืนแผ่นดิน ผ่านกระบวนการเตรียมผืนดิน ปุ๋ยหมัก และเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการคัดสรรแล้ว ไปหว่านยังในห้วงฤดูกาลที่เหมาะสม แล้วคอยรดน้ำพรวนดิน ตัดแต่งกิ่ง ป้องกันแมลง และลมพายุที่จะพัดโหมกระหน่ำใส่

 เล่าเรื่องราวผ่านวิทยุชุมชน

แม้ว่ากว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะเติบโตเบ่งบาน ออกดอกออกผลก็ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่นั่นเป็นเพราะเราให้ความสำคัญของการเตรียมดินที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ดี เพื่อที่จะได้มีรากและลำต้นที่เติบใหญ่กล้าแข็ง วันนี้หลายต้นได้แตกกิ่งก้านสาขา ออกดอกออกผล และขยายจากต้นเดิมสู่ต้นใหม่ แม้ว่าบางต้นจะแคระแกรน และล้มตายไปบ้าง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย (ผ่านการสนับสนุนของสถาบันครอบครัวรักลูก และสสส.)

            วันนี้ (๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๐) โครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน จึงได้จัดเวทีการจัดการความรู้ ตอนที่ ๑ กระบวนการค้นหาความดี ณ วัดอรัญญาวาส โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่แกนนำชุมชนและเยาวชนในพื้นที่โครงการชุมชนละ ๕ คน (แกนนำ ๓ คน, เยาวชน ๒ คน) และคณะทำงานและภาคีเครือข่ายวิทยากร รวม ๘๐ คน เพื่อร่วมกันสืบค้นหาความดีและจัดทำแผนที่ความดีจากการดำเนินงานโครงการครอบครัวเข้มแข็ง โดยนำการจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโครงการครอบครัวเข้มแข็ง (ใช้เทคนิค Appreciate Inquiry และ Story Telling

                ประเด็นการค้นหาความดี เริ่มตั้งแต่คนเริ่มก่อการดี, จุดที่ใช้ก่อการดี, หลักสูตรการอบรมที่ดีที่นำไปปรับใช้ในการก่อการดี, เวทีชุมชนหรือกิจกรรมที่ชุมชนภาคภูมิใจ, คนดี ครอบครัวดีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการก่อการดี (เช่น สายสัมพันธ์ที่ดี, เลิกสุรา, อยู่อย่างพอเพียง, ใจอาสา, กตัญญูรู้คุณ ฯลฯ), มาตรการหรือกฎเกณฑ์ดีดีที่เกิดจากการร่วมก่อการดี (เช่น มาตรการงดเหล้า, กาจัดระเบียบชุมชน, การสร้างพื้นที่เชิงบวก, การจัดเวรยาม ฯลฯ), การฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณี คำสอน ภูมิปัญญา และการละเล่นพื้นบ้าน

             หลังจากการร่วมกันค้นความดีงามที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองเอง แล้วละชุมชนก็นำข้อมูลความดีมาจัดทำเป็นแผนที่แห่งความดี แล้วนำมาเล่าเรื่องสู่กันฟัง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

             จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมพบว่า แต่ละชุมชนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามงอกเงยอย่างมาก หลายคน หลายครอบครัว ที่เปลี่ยนตนเองมาเป็นแกนนำร่วมก่อการดีอย่างหลากหลาย ทั้งคนที่เลิกสุรา, อยู่อย่างพอเพียง ปลูกผักกินเอง ทำบัญชีชีวิต สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว มีเหตุมีผล กลับบ้านตรงเวลา ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ในระดับชุมชนก็มีการกำหนดมาตรการที่ส่งเสริมให้ครอบครัวเข้มแข็ง เช่น งดเหล้าและการพนันในงานศพ, ห้ามขายในชุมชน, กีฬาปลอดน้ำเมา, จัดระเบียบชุมชน เฝ้าระวังภัยในชุมชน, ห้ามการใช้สารเคมีในหมู่บ้าน เป็นต้น รวมทั้งการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านต่างๆ เช่น วงอุ้ยสอนหลาน, ดนตรีไทย, รำเทิ่งบ้อง, รำดาบ, การสู่ขวัญคน, สู่ขวัญควาย, การทำนา, ของเล่นเด็ก เป็นต้น ฟังเรื่องเล่าจากชุมชนแล้วรู้สึกปลื้มปิติที่พวกเราทุกคนได้ก่อการดีไว้มากมาย และเสียดายเวลาที่ใช้ในการเล่าสู่กันฟังน้อยไป

          แต่ไม่เป็นไรครับนี้เป็นเพียงตอนที่ ๑ ของกระบวนการค้นหาความดี หลังจากนี้เราก็จะเชิญตัวจริงเสียงจริงของคนดีต่างๆ ที่ชุมชนได้กล่าวถึง เข้ามาแลกเปลี่ยนรู้และเจาะใจกันในเชิงลึกต่อ โดยจะเริ่มจากเรื่อง ลดละเลิกสุรา และจะสัญจรไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อให้ได้เห็นของจริงกันเลย เรื่องนี้ต้องติดตามอย่ากระพริบตาเชียวครับ อ้อ..ระหว่างทางจะมีคุณลิขิตและทีมสื่อคอยบันทึกเรื่องราวไปด้วยครับ แล้วจะทยอยมาเล่าสู่กันฟังต่อครับ

หมายเลขบันทึก: 107946เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2007 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความดีต้องขยาย เพื่อจะได้เต็มพื้นที่แล้วเราจะพบและอยู่กับความดี

(ปฏิรูปเทสวาโส-การอยู่ในที่ที่ดี ย่อมมีความสุข)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท