มหัศจรรย์ที่วัดทรายขาว


นวัตกรรม
ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนวัดทรายขาว (ประภัสร์ธรรมคุณอุปถัมภ์)  อำเภอเมือง สงขลา  ซึ่งมีผู้อำนวยการประทีป เพ็ชรจำรัส เป็นผู้บริหาร โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปี่ที่  6  จำนวน 135 คน มีครูรวม 14  คน ในจำนวนนี้เป็นครูที่มาช่วยราชการจำนวน  5  คน จากมติ ครม. ซึ่งเป็นผลกระทบของการก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   พื้นที่ที่ตั้งของโรงเรียนตั้งอยู่ภายในวัดทรายขาว พื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา และในฤดูน้ำหลากน้ำท่วมทุกปี  ประชากรในชุมชนเขตบริการ เป็นชุมชนสองวัฒนธรรม  นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม อย่างละประมาณ ร้อยละ 50  ทำให้มีประเพณี วัฒนธรรม  ความเชื่อ และมีความหลากหลายในวิถีชีวิตทางสังคมที่แตกต่างกันมาก  แต่นักเรียนมีการเรียนรู้ร่วมกันในโรงเรียน       สภาพของโรงเรียนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวจังหวัดห่างเพียง 18  กิโลเมตร เท่านั้น แต่ สภาพของอาคารเรียน อาคารประกอบ ชำรุดขาดความมั่นคงปลอดภัย  สภาพแวดล้อมบริเวณโรงเรียนชำรุดทรุดโทรมมาก   พื้นที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะพื้นที่ที่จะให้นักเรียนได้ออกกำลังกายไม่มีที่ทำกิจกรรม เนื่องจากไม่ได้รับการแก้ไขรับปรุง สภาพพื้นที่รกรุงรังดูผิวเผินเหมือนไม่ใช่โรงเรียนที่เป็นสถานที่ให้การอบรม ให้ความรู้กับนักเรียน และเป็นสถาบันการศึกษาของทางราชการ   ที่ให้บริการชุมชนในยุค พ.ศ.นี้ นี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำนวนนักเรียนลดลงทุกปี เพราะได้ยินคำพูดของประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา วันที่ท่านมาเยี่ยมโรงเรียนนี้ ท่านพูดอุทานขึ้นว่าถ้าเป็นผม ผมก็ไม่ส่งลูกมาเรียน ถ้าสภาพโรงเรียนอยู่อย่างนี้ แล้วเราในฐานะผู้บริหารโรงเรียนจะอยู่อย่างไร  แล้วอดีตล่ะครูเขาอยู่กันได้อย่างไร   จึงคิดว่าหากปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้แล้ว จึงได้พูดคุย บอกเล่าความตั้งใจที่จะพัฒนา กับครู ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อหาทางแก้ปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้เป็นสถานที่ทีมีบรรยากาศเหมาะสมในการจัดการศึกษาให้กับบุตรหลานในชุมชน

                      เมื่อหันกลับมาดูที่คุณครูผู้สอน รู้สึกว่าครูปฏิบัติงานไปวันๆ หรือว่าครูที่อยู่นานๆ เกิดความเบื่อหน่ายหรือถึงจุดอิ่มตัวในการทำงาน แต่พอพูดคุยแล้ว มีหลายประการที่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวครู  ครูไม่รู้  ไม่ทราบข้อมูลความเป็นไปของโรงเรียน เมื่อดูข้อมูลการพัฒนา ก็ทราบว่าครูไม่ได้ไปอบรม สัมมนา ไม่สมกับอยู่ในจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการศึกษา แต่ไปโทษคุณครูไม่ได้ ต้องเป็นข้อบกพร่องด้านบริหารจัดการแน่นอน     และเมื่อมาวิเคราะห์ข้อมูลด้านบริหารจัดการที่มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงระบบแล้ว พบว่าโรงเรียนควรพัฒนาด้านกายภาพ  และด้านวิชาการ เป็นเบื้องต้น และในการพัฒนาให้ได้ผลนั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาครูผู้สอนเป็นสำคัญในอันดับแรก  เนื่องจาก จากข้อมูลเชิงประจักษ์  ครูขาดการเอาใจใส่ในสภาพความเป็นอยู่ของโรงเรียน  ไม่แปลกใจที่มีครูบางคนพูดว่า อยู่ไปเรื่อยๆ  ไม่กี่ปีก็จะเกษียณแล้ว   อยู่เพื่อให้โรงเรียนยุบ  หรือให้โรงเรียนยุบพร้อมครูเกษียณ   จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่การจัดรูปแบบการเรียนการสอนของครู เน้นแต่รูปแบบการสอนโดยยึดหนังสือเรียนเป็นหลัก  ครูเป็นผู้ป้อนข้อมูลใส่สมองให้นักเรียนท่องจำ  ขาดการฝึกจิตวิญญาณให้นักเรียน   หรือการสอนที่แยบยลในการหลอมรวมความคิด ความเชื่อ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้นักเรียนเรียนรู้ร่วมกัน และใช้วิถีชีวิตตามธรรมชาติในโรงเรียน และชุมชน  ครูไม่ให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ     ขาดความสำคัญในการเน้นให้ผู้เรียนรักถิ่น     ความภาคภูมิใจในภาษาไทย   และรักความเป็นไทย  ครูขาดทักษะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน  จึงไม่แปลกใจเลย ที่นักเรียนขาดระเบียบวินัย  ย่อหย่อนคุณธรรม  จริยธรรม  ปฏิบัติตนไม่กลมกลืนกัน  ซ้ำผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  ค่อนข้างต่ำ  และเมื่อดูข้อมูลผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน)  ผลการประเมินรอบแรก   โดยภาพรวมในทุกด้าน ทุกมาตรฐาน  อยู่ ระดับ  พอใช้   และใน 1  มาตรฐานด้านครู  อยู่ในระดับ  ปรับปรุง   ซึ่งจากสภาพปัญหา ดังกล่าวข้างต้น  โรงเรียนต้องดำเนินการบริหารจัดการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.  2542 หมวด  4  มาตรา 22  ที่กล่าวว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้  และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ  และคิดว่าปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้แล้ว โรงเรียนจึงคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการโดยนวัตกรรม  การพัฒนาครูสู่คุณภาพผู้เรียนโดยการใช้กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายภาคีนอกระบบ โรงเรียนวัดทรายขาว  

            จงแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส      เป็นคำพูดของนักปราชญ์ท่านหนึ่งการดำเนินการในครั้งนี้  จึงเป็นไปในรูปแบบของการแสวงหาความร่วมมือของผู้ที่มีความคิดไปในทิศทางเดียวกัน  ในอันดับแรกก็เป็นการขายความคิด ในการสร้างทีมเครือข่ายการพัฒนาการศึกษา แก่เพื่อนครู  เพื่อนผู้บริหารโรงเรียน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และผู้นำผู้ปกครองนักเรียน  ในลักษณะของการพูดคุยจากกลุ่มเล็กๆ ก่อน  เมื่อทุกคนหรือส่วนใหญ่เห็นด้วย  ก็ขยายความคิดจากกลุ่มเล็กๆ ไปเป็นในรูปขององค์กร ที่มีความสัมพันธ์ทางใจ อิงรูปแบบการบริหารจัดการในลักษณะของกลุ่มสัจจะของชุมชน     ในการระดมทรัพยากรที่มีอยู่มาพัฒนาการจัดการศึกษาร่วมกัน และด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการดำเนินการพัฒนา เพื่อลบล้างภาพเก่าๆ  ที่ใครๆ มอง  ให้เป็นภาพใหม่ที่พิสูจน์ได้     โดยการยึดเอาหลักการของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่พระองค์สั่งทหารหาญ ให้ทุบหม้อข้าวให้หมดแล้วไปตีเมืองจันทบุรี  เพื่อเข้าไปกินข้าวในเมือง ในวันรุ่งเช้า    นั่นคือ แรงบันดาลใจในการสร้างทีมงาน  และการตัดสินใจ  ดำเนินการตามขั้นตอนของการบริหารจัดการโรงเรียนนิติบุคคล     โดยที่ได้ร่วมกับครูผู้สอนทำการศึกษา  วิเคราะห์  สังเคราะห์  ข้อมูลสารสนเทศ  ประเมินสภาพปัจจุบัน/ ปัญหาของโรงเรียน   โดยการวิเคราะห์    SWOT  ของโรงเรียน  แล้วร่วมกันทบทวนวิสัยทัศน์ กำหนดพันธกิจ กำหนดเป้าหมาย  กำหนดกลยุทธ์มาตรการและปฏิทินในการปฏิบัติงานจัดระบบการประสานงานเครือข่าย โดยดำเนินการประสานความร่วมมือจากโรงเรียนใกล้เคียง  ผู้นำศาสนา  ชุมชน องค์กรภาครัฐและเอกชน  ในการประสานความร่วมมือกันพัฒนาการจัดการศึกษาพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ความสามารถในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้  ด้วยการ ส่งครูเข้า ประชุม  อบรม สัมมนา  ศึกษาดูงาน   ศึกษาเอกสาร  และให้ครูนำผลการศึกษาเรียนรู้ กลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในที่ประชุมประจำเดือน  โดยการจัดทำสรุปผล  สำเนาให้เพื่อนครู  และจัดทำเป็นคลังความรู้  เพื่อการศึกษาค้นคว้าในระดับโรงเรียนต่อไป  และทำการนิเทศภายในติดตามการจัดการเรียนการสอน  ในส่วนของความร่วมมือกับเครือข่าย ได้ดำเนินการพัฒนาครูร่วมกัน  โดยการจัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมกัน  เช่น โครงการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสู่แผนการจัดการเรียนรู้  แล้วครูนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ และจัดทำแผนนิเทศ ออกปฏิบัติการตรวจเยี่ยมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการที่ครูนำหลักสูตรไปใช้ ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารโรงเรียนได้เข้าร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดทำแผนการใช้งบประมาณประจำปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายโครงการด้วยกัน  เช่น การนำนักเรียนไปศึกษาแหล่งรู้  ค่ายการเรียนรู้ต่างๆ  เป็นต้น  ในส่วนของชุมชนได้ประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ในการใช้แหล่งเรียนรู้ และวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น มาร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และเพิ่มพูนความรู้ด้านทักษะชีวิต ใช้วิถีชีวิตประจำวันตามหลักศาสนา  ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข       เช่น   การจัดทำหลักสูตรทรายขาวศึกษา  เป็นสาระเพิ่มเติม       การระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาปรับปรุงอาคารสถานที่และบริเวณสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้มีบรรยากาศ ด้านกายภาพมีความเหมาะสมให้ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  จากการที่โรงเรียนได้ใช้นวัตกรรมสร้างเครือข่ายนอกระบบ พัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ความสามารถมีความตระหนักในการพัฒนาตนเอง  พัฒนานักเรียน  โรงเรียนได้ประสบความสำเร็จเชิงประจักษ์ ดังนี้  ด้านผู้เรียน   ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นระดับดี  ร้อยละ  80 ได้รับการพัฒนาตนเองเต็มศักยภาพร้อยละ  90  มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์   ระดับดี  ร้อยละ 90  ผู้เรียนเป็นคน  ดี เก่ง มีสุขอย่างสมดุลทั้ง  3   ด้าน     ด้านครูผู้สอน มีความรู้ความเข้าใจหลักสูตรสถานศึกษามากยิ่งขึ้น  มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน     จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ   มีการจัดทำแผนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  และใช้แผนการเรียนรู้ ร้อยละ  90   มีความรับผิดชอบมากขึ้น เข้าสอนตรงเวลา มีความกระตือรือร้นในการทำงาน  ด้านชุมชน มีความศรัทธาต่อโรงเรียน ส่งบุตรหลานเข้าเรียนชั้นอนุบาล เพิ่มขึ้นร้อยละ  30.43 และจ้างครูพี่เลี้ยงนักเรียนอนุบาล ให้โรงเรียน 1 คน  มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน  สนับสนุนงบประมาณ  วัสดุอุปกรณ์  พลังความคิดในการพัฒนาโรงเรียน  มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน (แหล่งเรียนรู้  ภูมิปัญญา)  ด้านสถานศึกษา ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพทั่วทั้งระบบ อาคารสถานที่ มีบรรยากาศแห่งการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ               และจากการที่ได้ปฏิบัติตามนวัตกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ผลการปฏิบัติเป็นที่น่าพอใจ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโรงเรียน และความคาดหวังของชุมชนโรงเรียนได้ดำเนินการต่อไปด้วยการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรทรายขาวศึกษา    เป็นสาระเพิ่มเติมจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในสาระการเรียนรู้การงานเทคโนโลยี   สาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนา    และวัฒนธรรม   และจัดการเรียนรู้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน                เป็นอย่างไรบ้างครับ นวัตกรรมด้านการบริหารของโรงเรียนวัดทรายขาว  โรงเรียนประถมศึกษาเล็กๆ โรงเรียนหนึ่งที่อยู่หลังเขา ใช้นวัตกรรมที่มองดูแล้วไม่ยากอะไรใช่มั้ยครับ   ใช้ทักษะกลยุทธ์พื้นฐานที่เต็มไปด้วยพลังในการหลอมรวมคนที่ได้ชื่อว่าปัญญาชน มาร่วมกันพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพดีกว่าปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป แล้วมานึกเสียดายทีหลัง      ดังข้อคิดในการใช้ชีวิต  ตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่ว่า  เป็นคนใจกล้าและเด็ดเดี่ยว เมื่อเหลียวกลับไปดูอดีต เราจะเสียใจในสิ่งที่อยากทำแล้วไม่ได้ทำมากกว่าเสียใจในสิ่งที่ทำไปแล้ว ****                           นี่คือเสี้ยวหนึ่งของโรงเรียนเล็กๆ ที่ผมได้พบและสัมผัสความเอื้อเฟื้อ โอบอ้อม เข้าใจ เข้าถึง จนคุณจะไม่รู้สึกว่านี่..เป็นชุมชน 2 วัฒนธรรมแต่อย่างใด นี่คือ...สังคมที่น่าอยู่ ที่พวกเราต้องการเห็นใช่ใหมครับ

คำสำคัญ (Tags): #ศน.km
หมายเลขบันทึก: 107499เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2007 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท