กระบวนการทางปัญญา


การฝึกทักษะในการเรียนรู้โดยกระบวนการทางปัญญา

ผมได้อ่านบทความของ ท่านราษฎรอาวุโส ศ.นพ.ประเวศ วสี เกี่ยวกับกระบวนการทางปัญญา เพื่อฝึกฝนให้มีทักษะในการเรียนรู้ เห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาต นำมาเผยแพร่ดังนี้ครับ

  1.ฝึกสังเกต  สังเกตในสิ่งที่เราพบ  เห็นหรือสิ่งแวดล้อม เช่น ดูนก ดูผีเสื้อ หรือขณะทำงาน การฝึกสังเกตจะทำให้เกิด ปัญญา โลกทรรศน์ และวิธีส่วนสติ-สมาธิ จะเข้าไปมีผลต่อการสังเกตและสิ่งที่สังเกต

2)            ฝึกบันทึก  เมื่อสังเกตอะไรแล้ว  ควรบันทึกไว้ จะวาดรูป จดบันทึกข้อความ ถ่ายภาพ ถ่ายวีดิโอ ละเอียดมากน้อยตามวัย และตามสถานการณ์การบันทึกเป็นการพัฒนาปัญญา

3)            ฝึกการนำเสนอ  เมื่อทำงานกลุ่ม เรียนรู้อะไร  บันทึกอะไร ควรนำเสนอให้เพื่อนหรือครูรู้เรื่อง  ต้องฝึกการนำเสนอ  การนำเสนอได้ดีจึงเป็นการพัฒนาปัญญาทั้งของผู้นำเสนอและ    ของกลุ่ม

4)            ฝึกการฟัง  ถ้ารู้จักฟังคนอื่นก็จะทำให้ฉลาดขึ้น โบราณเรียกว่า เป็นพหูสูต บางคนไม่ได้ยินคนอื่นพูด เพราะหมกมุ่นอยู่ในความคิดของตนเองหรือมีความฝังใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนเรื่องอื่นเข้าไม่ได้ ฉันทะ สติ สมาธิจะช่วยให้ฟังได้เร็วขึ้น

5)            ฝึกปุจฉา-วิสัชนา  เมื่อมีการนำเสนอและการฟังแล้ว  ฝึกปุจฉา-วิสัชนา หรือ ถาม-ตอบ ซึ่งเป็นการฝึกใช้เหตุผล  วิเคราะห์  สังเคราะห์  ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งในเรื่องนั้น ๆ ถ้าเราฟังโดยไม่ถาม-ตอบก็จะเข้าใจไม่แจ่มแจ้ง

6)            ฝึกตั้งสมมติฐานและตั้งคำถาม  เวลาเรียนรู้อะไรไปแล้ว เราต้องสามารถตั้งคำถามได้ว่า  สิ่งนี้คืออะไร  สิ่งนั้นเกิดจากอะไร  อะไรมีประโยชน์  ทำอย่างไรจะสำเร็จประโยชน์นั้น  และมีการฝึกการตั้งคำถาม ถ้ากลุ่มช่วยกันคิดคำถามที่มีคุณค่าและมีความสำคัญก็จะอยากได้คำตอบ

7)            ฝึกการค้นหาคำตอบ  เมื่อมีคำถามแล้วก็ควรไปค้นหาคำตอบจากหนังสือ  จากตำรา จากอินเตอร์เน็ต  หรือไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่  แล้วแต่ธรรมชาติของคำถาม  การค้นหาคำตอบต่อคำถามที่สำคัญจะสนุกและทำให้ได้ความรู้มาก  ต่างจากการท่องหนังสือโดยไม่มีคำถาม  บางคำถามเมื่อค้นหาคำตอบทุกวิถีทางจนหมดแล้วก็ไม่พบ  แต่คำถามยังอยู่  และมีความสำคัญต้องหาคำตอบต่อไปด้วยการวิจัย

8)            การวิจัย  เพื่อหาคำตอบเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ทุกระดับ  การวิจัยจะทำให้ค้นพบความรู้ใหม่  ซึ่งจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจสนุกและมีประโยชน์มาก

9)            เชื่อมโยงบูรณาการ  ให้เห็นความเป็นทั้งหมดและเห็นตัวเองธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง  เมื่อเรียนรู้อะไรมาอย่าให้ความรู้นั้นแยกเป็นส่วน ๆ แต่ควรจะเชื่อมโยงเป็นบูรณาการให้เห็นความเป็นทั้งหมด ในความเป็นทั้งหมดจะมีความงาม  และมีมิติอื่นผุดบังเกิดออกมาเหนือความเป็นส่วน ๆ และในความเป็นทั้งหมดนั้นมองให้เห็นตัวเอง  เกิดการรู้ตัวเองตามความเป็นจริง  ว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร  จริยธรรมอยู่ที่ตรงนี้คือการเรียนรู้ตัวเองตามความเป็นจริง  ว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร  ดังนั้นไม่ว่าการเรียนรู้อะไร ๆ ก็มีมิติทางจริยธรรมอยู่ในนั้นเสมอมิติทางจริยธรรมอยู่ในความเป็นทั้งหมดนั่นเอง  ต่างจากการเอาจริยธรรมไปเป็นวิชา ๆ  หนึ่งแบบแยกส่วนแล้วก็ไม่ค่อยได้ผล

10)     ฝึกการเขียนเรียบเรียงทางวิชาการ  ถึงกระบวนการเรียนรู้และความรู้ใหม่ที่ได้มา  การเรียบเรียงทางวิชาการเป็นการเรียบเรียงความคิดให้ปราณีตขึ้น  ทำให้ค้นคว้าหาหลักฐานที่มาอ้างอิงของความรู้ให้ถี่ถ้วน  แม่นยำขึ้น  การเรียบเรียงทางวิชาการจึงเป็นการพัฒนาปัญญาของตนเองอย่างสำคัญ และเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้อื่นในวงกว้างออกไป

 

หมายเลขบันทึก: 106601เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2007 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท