ไปดูเขาประชุมกองทุนหมู่บ้าน


การทำงานไม่ได้ต้องการให้หน่วยงานมีอำนาจหน้าที่มากขึ้น แต่ต้องการทำให้ชาวบ้านเข้มแข็งขึ้น

วันที่ 21-22  มิถุนายน ได้มีโอกาสไปร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หน่วยงาน และองค์กรภาคี  จึงถือโอกาสเรียนรู้ในหลายๆเรื่อง  ตั้งแต่เนื้อหาสาระ  จนถึงวิธีจัดการประชุม   น่าปลื้มใจที่คนมาร่วมประชุมมากและแทบทุกคนกระตือรือร้นที่จะแสดงความคิดเห็น

  

ช่วงเช้าได้มีโอกาสรับฟังการเสนอความคิดเห็นและผลงานวิจัยของหน่วยงานภายนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กทบ.  ดูเหมือนแต่ละคนมีมุมมองอยู่ภายใต้หมวกของตนเองจริงๆ  อย่างเช่น  สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  มองคล้ายๆกับธนาคาร คือ มองกองทุนเป็นตัวตั้ง  นักเศรษฐศาสตร์มองการเข้าถึงกองทุน การขยับขยายอาชีพ   พัฒนาชุมชนมองในฐานะคนที่ต้องรับผิดชอบงานพัฒนาในภาพรวม   ไม่ได้ยินใครวิเคราะห์ว่า  ผลที่เกิดขึ้นต่อชาวบ้านจริงๆคืออะไร  (ทั้งผลลัพธ์และผลกระทบ)

  

น่าเสียดายที่ช่วงหนึ่งของการประชุมต้องออกไปธุระที่อื่น  จึงไม่ได้ฟังความเห็นของตัวแทนชุมชน  กลับมาอีกทีก็เป็นการประชุมกลุ่มย่อย ซึ่งตัวเองรับผิดชอบดูแลกลุ่มย่อยว่าด้วยอนุกรรมการกองทุนฯ และ สทบ.  เพราะวิทยากรตัวจริงมาร่วมงานไม่ได้   การเป็นวิทยากรไม่ยากนักเพราะผู้ร่วมกลุ่มทุกคนมีประสบการณ์มาก และกระตือรือร้นในการแสดงความคิดเห็น  เสียดายเพียงว่า ถ้ามีโอกาสได้ทำการบ้านมาก่อน น่าจะตั้งประเด็นพูดคุยได้ดีกว่านี้     ครั้งนี้เราจึงเพียงแต่ตั้งประเด็นให้คุยกันในเรื่อง  บทบาทหน้าที่   โครงสร้าง    และการปฏิบัติงาน  ผลการพูดคุยก็ได้ประเด็นปัญหา และแนวทางแก้ไข   

  

น่าสนใจว่า  พอเริ่มพูดถึงบทบาทหน้าที่   ทุกคนไม่ค่อยแม่นว่า บทบาทหน้าที่ของตนคืออะไร  (สะท้อนให้เห็นปัญหาอะไรบางอย่างรึเปล่า?)  จึงถามหาเอกสารประกอบ แต่ไม่มี     เราเองก็ไม่มีข้อมูล  จึงข้ามไปคุยกันในเรื่องโครงสร้าง และการทำงาน  แต่คุยไปคุยมาก็พอทบทวนกันได้ว่า อนุกรรรมการฯ มีบทบาทหน้าที่ในงานส่งเสริมและติดตามผล

    

ในการพูดคุย  ไม่ค่อยมีความเห็นต่างมากนัก  ที่น่าประทับใจ คือ มีตัวแทนคนหนึ่งกล่าวติงว่า   การทำงานไม่ได้ต้องการให้หน่วยงานมีอำนาจหน้าที่มากขึ้น  แต่ต้องการทำให้ชาวบ้านเข้มแข็งขึ้น   แต่การพูดคุยก็ไม่ได้ไปสู่ประเด็นว่า จะทำให้สมาชิกและเครือข่ายเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร   คุยกันแต่ว่า  จะให้อนุกรรมการทำงานได้ดีขึ้นอย่างไร  (ตามโจทย์ที่ถูกตั้งมา)   นอกจากนี้ยังคุยกันเรื่อง การจดทะเบียนนิติบุคคล  ควรขยายเวลา แต่ถ้าไม่ขยายเวลา ควรมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานอย่างไร  ...

  

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง  วิธีจัดลำดับความสำคัญของข้อเสนอ   วิธีการก็คือ  มีการรวบรวมความคิดเห็นที่เป็นข้อเสนอขึ้นบนบอร์ดใหญ่ (ทำได้เท่ห์มาก)   แล้วให้ผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคนติดสติ๊กเกอร์ข้อเสนอที่ตนเห็นว่าสำคัญที่สุด    วิธีนี้ทำให้ที่ประชุมได้ลำดับความสำคัญของข้อเสนอ

  

แม้วิธีการจะน่าสนใจ  แต่เราก็คิดว่า  ลำดับความสำคัญที่ได้ คงจะยังไม่ใช่ข้อสรุป   แต่เป็นข้อมูลที่สำคัญชุดหนึ่งที่จะต้องไปทำงานต่อ  ไม่ว่าจะโดยการไปถกเถียงหาเหตุผลกันต่อ หรือแม้แต่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อมูลเชิงลึก  อย่างประเด็นเรื่องระยะเวลาการจดทะเบียนนิติบุคคลที่กำลังจะสิ้นสุดลง จะทำอย่างไร   เราคิดว่ายังมีความเห็นต่างกันอยู่ระหว่างกลุ่มต่างๆ     โจทย์สำคัญเช่นนี้  ต้องใช้วิธีถกเถียง/ปรึกษาด้วยเหตุด้วยผลมากกว่า 

  

ตอนคุยนอกรอบกับครูมุกดา  ท่านก็พูดถึงประเด็นเรื่องการโหวต  ท่านไม่สบายใจที่บางเรื่องได้ผลโหวตสูง ทั้งที่เป็นเรื่องที่ท่านคิดว่าจะเกิดปัญหาหากทำเช่นนั้นจริง

ที่จริงมีข้อเสนอบางข้อที่อาจขัดแย้งกันเอง  เช่น ข้อเสนอเรื่องการบูรณาการกองทุนต่างๆ  กับข้อเสนอที่ให้หาหน่วยงานที่จะเป็นเจ้าภาพการทำงานกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ให้ชัดเจน  เพราะการมีเจ้าภาพย่อมเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ  การบูรณาการกองทุนต่างๆน่าจะเกิดได้ต่อเมื่อเจ้าภาพการทำงานทุกกองทุน คือ ชุมชนเอง

  

น่าเสียดายที่ที่ประชุมไม่ได้เลือกประเด็นเด่นๆมาคุยกันในที่ประชุมใหญ่ (อาจต้องจัดกันอีกรอบ)  แต่ก็น่าดีใจที่ท่านรัฐมนตรี คือ อาจารย์ไพบูลย์  เลือกที่จะใช้เวทีกล่าวปิดประชุมเป็นเวทีรับฟังความเห็นของผู้เข้าร่วม   เป็นวิธีทำงานที่น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

  

โดยภาพรวม  งานก็ดูจะประสบความสำเร็จด้วยดีในแง่จำนวนผู้เข้าร่วมและการมีส่วนร่วมของแต่ละคน ซึ่งดูเหมือนเป็นความตั้งใจของผู้จัด

  

ในฐานะผู้สังเกตการณ์  เราคิดว่า งานนี้ผู้จัดคงได้โจทย์ที่ต้องไปคิดต่อ หาข้อมูลต่อ ทำงานต่อ เยอะเลย ...เพื่อการขับเคลื่อนขบวน กทบ. ในฐานะที่เป็นหัวรถจักรที่จะฉุดขบวนชุมชนเข้มแข็งอีกทีหนึ่ง

  

งานนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับงาน  platform องค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชน   ทีมวิจัยคงจะเอาประเด็นปัญหาและข้อเสนอที่ได้จากที่ประชุมไปกลั่นกรองอย่างรอบคอบอีกครั้ง  มีโจทย์วิจัยหลายโจทย์เพื่อการวิเคราะห์และขับเคลื่อนงานอยู่ในนั้น

   
หมายเลขบันทึก: 106336เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อาจารย์ ปัทมาวดี ที่เคารพ

  • อันนี้เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจมากครับ
  • ผมคิดนะครับ ว่าสิ่งละอันพันละน้อย แบบนี้แหละ
  • ที่จะสั่งสมให้เกิดปัญญาได้

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท