ตำนานสนุกๆที่เมืองสุพรรณ


น้ำในสระจึงกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้ประกอบพิธีต่างๆ เช่นพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

ตำนานย่านอำเภอเมืองสุพรรณบุรีเรื่องบ้านท่าเสด็จ
            เล่ากันว่า ในครั้งเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น ณ บริเวณสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 4 ของเมืองสุพรรณบุรี คือ สระแก้ว สระคา สระยม และสระเกษ เมื่อปี พ..2451 นั้น ก่อนที่จะออกเรือพระที่นั่งจากท่าที่ประทับในเมืองสุพรรณบุรี มีหญิงชราคนหนึ่ง นำต้นโพขนาดเล็ก 7 ต้นมาทูลเกล้าฯถวายและกราบบังคมทูลว่า ตนได้พายเรือติดตามพระองค์มาแต่เมื่อวาน แต่ไม่มีโอกาสเหมาะ เพิ่งจะมีโอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิดในวันนั้น และว่าต้นโพที่นำมาทูลเกล้าฯถวาย เป็นต้นโพที่เกิดขึ้นโดยประหลาด เพราะตนได้ซื้อพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 พร้อมกรอบกระจกมาจากตลาด เมื่อนำไปแขวนไว้บูชา เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น มีต้นโพเล็กๆ โผล่ขึ้นมาบนหลังหีบ จำนวน 7 ต้น ตรงที่พระบรมฉายาลักษณ์นั้น จึงได้เอากาบมะพร้าวและดินมาหุ้มไว้ เมื่อต้นโพงอกสูงถึงศอก เป็นเวลาประจวบเหมาะที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาส จึงนำมาทูลเกล้าฯถวาย รัชกาลที่ 5ตรัสสั่งให้นำต้นโพเหล่านั้น มายังสระทั้งสี่ ทรงปลูกข้าง 3 สระแรก สระละ 1 ต้น อีก 4 ต้น ทรงปลูก ไว้ข้างสระที่ 4 ทั้งหมด แต่ต่อมา ต้นโพดังกล่าวเหลืออยู่เพียงต้นเดียว ท่าน้ำตรงที่รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินขึ้นและลงเรือในครั้งนั้น ได้เรียกว่าท่าเสด็จมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
เรื่อง สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4
            เมื่อเล่าเรื่องท่าเสด็จแล้วก็ขอเล่าต่อเรื่องสระศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 4 ของจังหวัดสุพรรณบุรี เสียเลย นะครับมีเจ้าผู้ครองนครพระองค์หนึ่ง มีพระราชธิดา อยู่ 4 พระองค์ ทรงพระนามว่า แก้ว คา ยมนา และเกษ ทุกพระองค์มีพระสวามีแล้วทั้งนั้น องค์สุดท้องคือ เกษ มีพระสวามีเป็นลิงเผือก อยู่มาวันหนึ่งพระมเหสีของเจ้าผู้ครองนครสวรรคต เจ้าผู้ครองนครทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทรงรำพึงว่าพระองค์ทรงชราภาพมากแล้ว ยังหาผู้ที่จะสืบราชสมบัติไม่ได้ จึงรับสั่งกับพระราชธิดาและบรรดาพระราชบุตรเขยว่า ใครสามารถขุดสระได้ลึกที่สุดและกว้างที่สุด จะมอบพระขรรค์กายสิทธิ์ให้พร้อมทั้งมอบพระราชอำนาจให้ครองนครสืบไป โดยกำหนดให้ขุดเสร็จภายใน 7 วัน
                 เมื่อถึงวันกำหนดทุกคนจึงเริ่มลงมือขุดกัน เกษ ต้องขุดคนเดียว พระสวามีไม่ได้มาช่วยขุด มิหนำซ้ำเวลากลางคืนพระราชธิดาและพระราชบุตรเขยองค์พี่ๆ ยังเอาดินมาถมสระของเกษเสียอีก ครั้นถึงวันสุดท้าย เกษรำพึงกับพระสวามีลิงเผือก ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ในเวลาดึกสงัดของคืนนั้น ลิงเผือกกับบริวารพากันมาช่วยขุดสระ พักเดียวก็เสร็จ กว้างและใหญ่กว่าทุกสระ แล้วปลูกต้นเกดไว้กลางสระเป็นเครื่องหมาย รุ่งเช้าเป็นวันครบกำหนด เจ้าผู้ครองนครก็สวรรคตพอดี บรรดาเสนาอำมาตย์ผู้มีความจงรักภักดีก็ตั้งกรรมการตรวจดูสระทั้งสี่ ปรากฏว่าสระของเกษ กว้าง ใหญ่ และลึกกว่าสระอื่น จึงมอบพระขรรค์ให้เกษและพระสวามี ขึ้นครองนคร พระราชธิดาองค์พี่ๆและพระสวามี ไม่พอพระทัย จึงลักเอาพระขรรค์กายสิทธิ์ขึ้นม้าหนีไป ลิงเผือกก็ขี่ม้าออกติดตามไปทันกันที่สระของเกษ เมื่อเห็นจวนตัวผู้ที่ลักพระขรรค์ จึงขว้างพระขรรค์ลงไปในสระของเกษ บังเอิญถูกต้นเกดขาดสะบั้นลง แล้วพระขรรค์ก็อันตรธานหายไป น้ำในสระจึงกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้ประกอบพิธีต่างๆ เช่นพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา มาแต่ครั้งโบราณ 
คำสำคัญ (Tags): #ตำนาน
หมายเลขบันทึก: 106236เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะพี่ชาย...พิสูจน์

  • ครูอ้อยมีเคล็ดที่ไม่เคยลับจะเรียนให้พี่ชายทราบค่ะ
  • หากจะให้ตัวหนังสือของพี่ชายสวยๆ  และไม่ประหลาด 
  • พี่ชายลองทำดำคลุมทั้งหมดแล้ว คลิกที่ตรงคำว่า format ก่อนค่ะ  แล้วเลื่อนลงมาตรงประมาณ Heading 5  หรือ paragraph 5 นี่ล่ะค่ะ  ลองดูนะคะ  ...แจ๋วค่ะ

ครูอ้อยจะลองเข้ามาใหม่นะคะ...

ขอบพระคุณอย่างสูงที่นำเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับตำนานพื้นบ้านของไทยมาให้อ่านกัน

เรื่องแบบนี้เด็กสมัยใหม่ไม่ค่อยมีคนรู้กัน(อย่าว่าแต่เด็กเลยผมเองก็ยังแทบจะไม่รู้) ส่วนใหญ่จะรู้เรื่องเกี่ยวกับต่างประเทศมากกว่า(ญี่ปุ่นเกาหลี บ้าบอคอแตกอะไรเนี้ย)

และยังมีน้ำจากแหล่งน้ำอีก  6 ที่ รวมกับที่นี้เป็น น้ำทั้ง 7  ที่ใช้ประกอบพิธีถือน้ำมาแต่โบราณ

ในที่สุดผมก็รู้ที่มาจาก 1 ใน 7 ที่ครับ

  • ขอบคุณครูอ้อยที่แนะนำ
  • เรื่องเทคโนโลยี นี่ผมโลโซ มาก
  • ขอบคุณ คุณวาทิน ที่แวะมาเยี่ยม
  • และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ
เอกพันธ์ จัรทร์ทอง

ผมก็ดเกสุพรรณอยู่ไกล้ๆกับท่าเสด็จน่ะครับแต่ผมไม่รู้ตำนานเลย

ขอบคุณมากที่เล่าให้ฟังครับ

ขอบคุณ เอกพันธ์ จันทร์ทอง ที่แวะมาอ่าน ผมก็ฟังผู้ใหญ่เล่าและอ่านจากหนังสือหลายๆเล่มแล้วนำมาเรียบเรียงครับ

บ้านผมอยู่ท่าเด็จเหมือนกัน อยู่ใกล้กับสระเลยครับ

การบวชนาคครั้งแรกในโลก

การบวชนาคแห่งแรก เกิดที่เมืองอู่ทอง ถิ่นแคว้นดินแดนสุวรรณภูมิ

การบวชนาคมีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น สมัยพุทธกาลก็หาได้มีการบวชนาคไม่ ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยกันว่า การบวชนาคนี้เป็นมาอย่างไร

ก่อนอื่นต้องขออ้างอิงงานเขียนของท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า สุวรรณภูมิบริเวณเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี ราว 2500 ปีมาแล้ว พ่อค้าชาวชมพูทวีป (อินเดีย) เดินทางมาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันกับชุมชนชาวอุษาคเนย์ ต่างมีความมั่งคั่งจากการค้าขายทางทะเล จึงมีคำบอกเล่ากันว่าเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธ์ธัญญหารและมีแร่ธาตุสำคัญ เลยพากันเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าสุวรรณภูมิ ตั้งแต่นั้นสืบมา นอกจากจะค้าขายแล้ว คนพื้นเมืองในสุวรรณภูมิ ยังรับเอาอารยะธรรมจากชมพูทวีป(อินเดีย)มาใช้ในชุมชนท้องถิ่นด้วย

ชาวอินเดียโบราณ(ชมพูทวีป)ที่เดินเรือทะเลเลียบชายฝั่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับชาวสุวรรณภูมิ (อู่ทอง) นอกจากพ่อค้าแล้วยังมีวรรณะอื่นๆอีกเช่น กษัตริย์ พราหมณ์ พระ นักบวช บางพวกเข้ามาชั่วคราว บางพวกเข้ามาอยู่ถาวร จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนพื้นเมือง บางพวกแต่งงานอยู่กินกับคนพื้นเมืองจนมีลูก หลาน เหลนกลายเป็นคนพื้นเมืองไปก็ไม่น้อย

หลังจากพระพุทธองค์ทรงดับขันธ์นิพพาน ราวๆปี พ.ศ. 235 หลังสังคายนาครั้งที่3แล้ว 9 เดือนพระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระศาสนทูต 9 สายประกาศศาสนา แต่ละคณะมีพระภิกษุร่วมคณะครบองค์สงฆ์ (ภิกษุ มีลักษณะนามเป็นรูป แต่ถ้ารวมตัวเป็นคณะเรียกว่าองค์เช่นองค์สงฆ์ที่ประกอบด้วยภิกษุ4 รูปขึ้นไปทำสังฆกรรมได้ ภิกษุ 10รูปเรียกว่า สงฆ์ทสวรรค ใช้ในการอุปสมบทเป็นต้น) สายที่ 8 พระโสณะ และพระอุตตระไป สุวรรณภูมิ(กาลานุกรม พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต,2552,30) ภิกษุทั้ง2รูปและคณะอาศัยเรือพ่อค้าเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งแรกในสุวรรณภูมิ(ปัจจุบันคือเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี) นอกจากนี้ยังมีพวกพราหมณ์เข้ามาเผยแพร่ศาสนาฮินดูด้วย ชุมชนในสุวรรณภูมิจึงมีการรับทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ตามศรัทธาของแต่ละชุมชน (ดูจากสิ่งของที่ขุดค้นพบในเขตอำเภออู่ทอง จึงมีทั้งรูปเคารพที่เป็นพระของชาวพุทธ และเทวดาของศาสนาพราหมณ์ เช่นเศียรพระพุทธรูปทองคำ พบที่เจดีย์หมายเลข2อู่ทอง พระพุทธรูปสัมฤทธิ์บางประทาธรรม พบที่อู่ทอง พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางเสด็จจากดาวดึงส์ พบที่อู่ทองพระพิฆเณศวร สัมฤทธิ์ พบที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี พระวิศนุกรมสัมฤทธิ์พบที่ดอนเจดีย์สุพรรณบุรีเป็นต้น(พระเมืองสุพรรณ มนัส โอภากุล, 2512)

เมื่อมีการรับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามา ความแตกต่างของผู้คนเริ่มเด่นชัดขึ้นโดยมีการแบ่งชนชั้นปกครองคือคนชั้นสูง ผู้ถูกปกครองคือชนชั้นต่ำ ชนชั้นสูงคือพวกเจ้าเมืองที่เลือกสรรรับเอาวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งศาสนา ศิลปวิทยาการ ตัวอักษร สมัยนั้นใช้อักษร ปัลลวะ จารึกลงบนแผ่นหิน บรรดาเจ้าเมืองกษัตริย์ ทั้งหลายต่างเปลี่ยนชื่อเรียกตามอินเดีย แม้กระทั้งชื่อบ้านนามเมือง

ชาวอินเดียที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในสุวรรณภูมิ เรียกคนพื้นเมืองด้วยภาษาอารยันว่า นาค ซึ่งแปลว่า เปลือย เพราะเห็นคนพื้นเมืองนุ่งผ้าน้อยชิ้น เปลือยท่อนบนเสียเป็นส่วนมาก (คำว่าเปลือยเปล่านั้นตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า naked และกลายเป็น snake ที่แปลว่างู ในแถบภูมิภาค อุษาคเนย์ (ไมเคิล ไรท์ หรือไมค์ เล่าถึงที่มาของการคิดผูกศัพท์คำ “อุษาคเนย์" ไว้ในหนังสือชื่อ ฝรั่งอุษาคเนย์ ของสำนักพิมพ์มติชน พอสรุปได้ดังนี้ไมค์เป็นนักเขียนประจำของนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในงานเขียนของเขานั้นจำเป็นต้องใช้คำว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่บ่อยครั้ง ไมค์นึกรำคาญคำ เอเชียอาคเนย์ หรือ อาเชียอาคเนย์เพราะมีมากพยางค์ ต้องเขียน "อา” ถึงสองครั้ง จึงคิดหาคำใหม่มาแทนไมค์บอกว่าหลักการทางภาษานั้นจะไม่สมาสคำข้ามภาษาคำว่า "อาเชียอาคเนย์” (ฝรั่งเศส + สันสกฤต) หรือ “เอเชียอาคเนย์” (อังกฤษ + สันสกฤต) ต่างเป็นการสมาสข้ามภาษา ไมค์นึกถึงคำ “อุษา” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต

อุษา เป็นชื่อนางฟ้าที่มีนิ้วสีชมพู และมีหน้าที่คลี่พระวิสูตรแห่งราตรีกาล, เปิดทางให้สุริยเทพเสด็จ ขึ้นฟ้า, ประทานชีวิตและความสำราญแก่สรรพสัตว์ที่ค่อยขยี้ตาตื่นจากความหลับใหลด้วยเหตุผลดังกล่าว คำ “อุษา” จึงหมายถึง “ตะวันออก” ไปด้วยคำในภาษายุโรปต่าง ๆ ที่หมายถึงตะวันออก เช่น East, Oste, Aus, Asia, Ostro, Easter ฯลฯ ล้วนแต่มาจากรากศัพท์อินโด-ยุโรป “Awes-” หรือ "Aus-” ซึ่งตรงกับคำ "อุษา” ในภาษาสันสกฤตไมค์จึงนำคำ “อุษา” มาแทน “เอเชีย” ซึ่งได้ทั้งความหมายและความถูกต้องในการสมาสคำ อีกทั้งคำ “อุษาคเนย์” ก็สั้นกะทัดรัดกว่า เหลือเพียงสี่พยางค์เมื่อไมค์ใช้คำ “อุษาคเนย์” แทน “เอเชียอาคเนย์” เขาจึงเห็นว่าควรจะใช้คำ “อุษาทวีป” แทน “ทวีปเอเชีย” ด้วย

ในแวดวงนักเขียน คำ “อุษาคเนย์” นับว่าเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง นักเขียนของ สารคดี ก็ใช้ตามไมค์ เพราะเห็นดีเห็นงามด้วย)

ระบบความเชื่อของคนยุคนี้คือ ผี หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ แต่ละชาติพันธุ์ก็เชื่อต่างกัน เช่นเชื่อเรื่องกบ งู ด้วยภูมิภาคแถบนี้เป็นเขตร้อนชื้นจึงมีงูอาศัยอยู่มากมาย และงูเป็นสัตว์มีพิษ กัดแล้วถึงตาย คนจึงกลัวงูมาก ส่วนกบนั้นหมายถึงมีฝนตกต้องตามฤดูกาล ความอุดมสมบูรณ์เป็นต้น ส่วนงูนั้นหมายถึงพญานาคที่อยู่ใต้บาดาลที่เป็นเจ้าของน้ำที่ทำให้น้ำใต้ดินผุดไหลออกมาอำนวยสุขอุดมสมบูรณ์แก่ประชาชน

การที่พระโสณะและอุตตระเข้าเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมินั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ไหนจะเรื่องความเชื่อเรืองผีดั้งเดิมที่ยังแข็งแรงมาก ไหนจะภาษาที่พูดกันไม่ค่อยเข้าใจอีก จึงเป็นเหตุให้มีเรื่องเล่าว่าพุทธองค์ทรงปราบนาคได้และได้ทรมานจนนาคยอมนับถือพุทธศาสนา และทำหน้าที่ปกปักรักษาพุทธศาสนาด้วย

เมื่อมีคนพื้นเมืองที่เสื่อมใสในพุทธศาสนาออกบวช จึงเกิดประเพณีบวชนาคและทำขวัญนาคขึ้น (ความหมายคือการบวชคนพื้นเมือง ตามพระไตรปิฎก “ติตถิยปริวาส” คือการเตรียมตัวก่อนบวชของคนนอกศาสนา คือการนุ่งขาวห่มขาวฝึกเตรียมก่อนบวช สำหรับคนไทยก็ต้องอยู่วัด หัดท่องขานนาคให้ได้ฝึกปฏิบัติอย่างพระหัดบิณฑบาตเป็นต้น) คนที่จะบวชเป็นพระจึงเรียกว่านาค ตั้งแต่นั้นมา การบวชนาคนั้นมีเฉพาะในประเทศไทย อินเดียไม่มี และเกิดขึ้นครั้งแรกในแดนสุวรรณภูมิ(เมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี)จึงอาจพูดได้ว่าพุทธศาสนาประดิษฐานในประเทศไทยครั้งแรกที่เมืองอู่ทองและการบวชนาคก็เกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองอู่ทองเช่นเดียวกัน นับเป็นความภาคภูมิใจของคนอู่ทอง เป็นอย่างยิ่งที่บ้านเมืองเรามีสิ่งดีๆ อย่างนี้

ดร.สุริยะ รูปหมอก

ผอ.โรงเรียนวัดสระยายโสม

อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ๗๒๒๒๐

17 ต.ค. 2553

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท