ชีวิตที่พอเพียง : 305. ชมหอสมุด Bibliotheca Alexandrina


         ผู้จัดการประชุม (Conference on KM as an Enabler of Change and Innovation in Africa : A Conference for Policymakers and Practitioners) บอกว่าคนที่จะไปอเล็กซานเดรีย ขอนัดพบกันที่ล็อบบี้เวลา ๗.๓๐ น.  ของวันที่ ๑๓ มิ.ย. เพราะว่านัดไปถึงห้องสมุดอเล็กซานเดรีย เวลา ๑๑ น.

         เอาเข้าจริงล้อหมุนเวลา  ๘.๑๕ น.  (เป็นที่รู้กันว่าคนอัฟริกันไม่ตรงต่อเวลา) ใช้รถบัส ๒ คัน   เกือบทุกคนจากต่างประเทศ ที่มาร่วมประชุม ไปอเล็กซานเดรีย    และพวกภรรยาก็โผล่ตัวออกมาแบบหมออมรา     เราอยากรู้ว่าเขาจัดให้เราไปทำอะไรอีกบ้าง นอกเหนือจากการเยี่ยมชมหอสมุด อเล็กซานเดรีย     ซึ่งในที่สุดเราก็รู้ว่าเป็นการไปชมหอสมุดและกินอาหารทะเลเท่านั้น  

        ไม่ถึง ๑๐ นาทีเราก็ออกถนนไฮเวย์นอกเมือง    ๒ ข้างถนนเป็นสวนผักและไร่ข้าวโพด    ผ่านสวนมะม่วง    สวนปาล์ม (อินทผาลัม) ที่ออกทะลายสะพรั่ง บางต้นมีถึง ๗ - ๘ ทะลาย    อีก ๒ เดือนผลอินทผาลัมก็จะสุก     ระหว่างทางน่าจะมีสวนฝรั่งด้วย เพราะที่โรงแรมตอนอาหารเช้า มีน้ำผลไม้หลากชนิดบริการ    ผมติดใจ "น้ำฝรั่งชนิดน้ำข้น" คือเขาใช้ผลฝรั่งสุก บดเนื้อเป็นน้ำไปเลย
 
         เพราะรถบัสสูง เราจึงได้เห็นวิวจากมุมสูง    ได้เห็นบ้านที่มีกำแพงรอบ (ทำด้วยอิฐดินตากแดด)   มีกระท่อมอยู่รอบ และลานเลี้ยงสัตว์อยู่ตรงกลาง    เสียดายถ่ายรูปไม่ทัน   
 
         ๒๕ นาทีให้หลัง รถก็เข้าสู่ถนน ๘ เลน ต่อระหว่างไคโรกับอเล็กซานเดรีย ที่เป็นทุ่งป้ายโฆษณา และเรานั่งรถผ่านเมื่อวันที่ ๘ มิ.ย. นั่นเอง    ถัดออกไปเป็นทะเลทรายสุดสายตา  

         ผมมีข้อสังเกตว่า อียิปต์มีวัฒนธรรม "ไร้หลังคา" หรือ "หลังคารก" โปรดดูรูป แล้วจะเห็นจริง     ผมอธิบายว่าหลังคาของอียิปต์กับของไทยไม่เหมือนกัน    หลังคาของสังคมทะเลทราย ฝนตกเพียงปีละไม่กี่วัน   รวมปีละเพียง ๗ ซ.ม. ไม่ได้สร้างหลังคาไว้กันฝน    แด่เป็น "ดาดฟ้า" เอาไว้นอนดูดาว    หรือเอาไว้ตากของ วางของ     เราจึงรู้สึกว่าหลังคาบ้านอียิปต์รกรุงรัง  

         อีกอย่างหนึ่งคือ "วัฒนธรรมสู้แดด"  ในขณะที่ของเราเป็น "วัฒนธรรมหลบแดด"    ผมสังเกตตั้งแต่คุณอัสมาล ไกด์ของเราชวนเราไปนั่งฟังแกอธิบายกลางแดดเปรี้ยงแล้ว ว่าคนอียิปต์ไม่กลัวแดด   คงเป็นเพราะเขาอยู่กลางทะเลทราย ไม่มีที่ร่ม จึงชินกับแดด ซึ่งจ้าพอๆ กับบ้านเรา 

         ผมมาเข้าใจอากาศทะเลทรายก็คราวนี้    เมื่อผมออกไปวิ่งบนฟุตบาธริมถนนเลียบแม่น้ำไนล์ เมื่อเช้าวันที่ ๑๑ มิ.ย.    อุณหภูมิขนาดหน้าหนาวบ้านเรา    คงจะต่ำกว่า ๒๐ องศาเซลเซียส    แต่พอเราออกไปเดินเล่นเย็นวันที่ ๑๒ อุณหภูมิคงจะราวๆ ๓๖ องศา     คืออุณหภูมิกลางคืนกับกลางวันต่างกันมาก
  
        หมออมราเตรียมครีมกันแดดอย่างดี เอามาทั้งชนิดทาหน้าและทาตัว     ผมซึ่งอยู่เมืองไทยไม่เคยสนใจทาครีมกันแดดเวลาไปเที่ยวและโดนแดดจ้า    พอกลับมาบ้านก็รู้สึกร้อนวูบวาบตามหน้าและตัว     มาคราวนี้ผมใช้ครีมกันแดดเต็มที่จึงได้เห็นคุณค่าว่ามันช่วยป้องกันแดดเผาได้จริง    ผมไม่รู้สึกไม่สบายจากการโดนแดดเลยในการเดินทางคราวนี้
 
        ผมเขียน (พิมพ์) บันทึกนี้บนรถบัส ระหว่างเดินทาง โดยใช้ PDA     วิวจากบนรถบัสสวยกว่ามองจากรถตู้    เราได้เห็นไร่องุ่น สวนโอลีฟ  สวนกล้วย  มะม่วง  ส้ม  และผลไม้อื่นๆ กลางทะเลทรายอย่างชัดเจน    ได้เห็นฝูงอูฐประมาณ ๔๐ - ๕๐ ตัวกำลังกินหญ้า แต่ถ่ายรูปไม่ทัน     เรารู้สึกว่านั่งรถบัสสบายกว่ารถตู้ด้วย

        ถึง Bibliotheca Alexandrina หรือห้องสมุด อเล็กซานเดรีย กว่า ๑๑ โมง และต้องไปรออีกนานเป็นครึ่งชั่วโมงจึงเริ่มทัวร์     เห็นได้ชัดเจนว่าการจัดการของฝ่ายจัดการเดินทางไม่ดี     เราเองก็ไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เลยว่ามาทำอะไรบ้าง      ลักษณะของการดูงานนี้จะเป็นอย่างไร     ระหว่างนั่งรถเกือบ ๓ ชม. ก็ไม่มีการแจ้งข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น    

        หอสมุดนี้เป็นทั้งหอสมุดให้คนเข้ามาใช้ทั้งมาใช้โดยตรงและใช้ทางอินเทอร์เน็ต    เป็นพิพิธภัณฑ์ และเป็นสถานท่องเที่ยว    งบประมาณ ๒๒๐ ล้านเหรียญสหรัฐ    เป็นของรัฐบาลอียิปต์ ๑๒๐ ล้าน และได้รับบริจาคจากประเทศต่างๆ อีก ๑๐๐ ล้าน    ผมรู้สึกคล้ายๆ มาดูสิ่งมหัศจรรย์ยุคใหม่    ได้แก่ภาพเลเซอร์ ๓ มิติที่ควบคุมการซูม พลิก หมุน และตัดขวางได้อย่างมหัศจรรย์    ห้องหนังสือโบราณ จำนวนมากมาย    บางเล่มอายุกว่าพันปี    ที่มหัศจรรย์ คือการที่เขา digitize หนังสือเหล่านี้ทั้งเล่ม    สามารถเปิดอ่านจากจอคอมพิวเตอร์โดยใช้นิ้วสัมผัส   และสามารถซูมได้    เขากำลังร่วมมือกับจีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ ในการ digitize หนังสือให้ได้ ๑ ล้านเล่ม    เวลานี้เขาทำไปได้ไม่น้อยแล้ว    และเทคโนโลยีสะดวกต่อผู้ใช้มาก    มี เครื่องพิมพ์และเย็บเล่มหนังสือ ได้ภายใน ๒ - ๒๐ นาที ซึ่งเวลานี้มีเพียง ๒ เครื่องในโลก     ห้องมัมมี่  ห้องภาพ อเล็กซานเดรีย สมัยเก่า มาจนปัจจุบัน
 
        จากห้องภาพ ทำให้ผมได้เรียนรู้ ว่าเมืองเก่าขนาดกว่า ๒ พันปีอย่างนี้ ชีวิตย่อมมีขึ้นลง    มียามรุ่งเรือง และยามตกต่ำ     ได้เห็นรูปอ่าวและกำแพงเมืองสมัยโบราณ    ทำให้เข้าใจสภาพของเมือง การเดินเรือค้าขาย    และการป้องกันการรุกราน    ต่อมามีภาพแสดงยามตกต่ำ    ตอนนโปเลียนมาก็พบความทรุดโทรมของเมือง
 
       เกือบบ่ายสองโมงเราจึงไปกินอาหารเที่ยงที่ภัตตาคารอาหารทะเลริมอ่าว    เห็นวิวของอ่าว อเล็กซานเดรีย สวยงาม    แดดจ้า    อาหารปลากระบอกและข้าวแบบอียิปต์    มีผักสลัดและน้ำจิ้มแบบอียิปต์     รวมทั้งขนมปังปิ้งพีต้าตามเคย     มาเห็นชัดวันนี้ว่าปลาที่กินวันนี้และเมื่อวันที่ ๗ มิ.ย. เป็นปลากระบอก     หมออมราสงสัยว่าปลากระบอกทำไมว่ายน้ำมาถึงนี่     ผมบอกว่าปลากระบอกเหล่านี้พูดไทยไม่เป็น     คือเขาเกิดและโดนจับอยู่ในทะเลแถวนี้เอง
   
         กินอาหารเสร็จก็เดินทางกลับ     นับว่าโชคดีที่เราได้ไปอเล็กซานเดรีย ๒ รอบ     ได้ดูสิ่งที่ไม่เหมือนกัน     ถ้าเราไม่ไปก็เสียดายแย่     ไม่ได้เห็น Mega Project ด้านความรู้ ที่เขาว่าไม่ใช่เฉพาะของอียิปต์ แต่เป็นของโลก     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกอาหรับ     และที่ดีใจมากคือได้ซื้อหนังสือ Voyage Through Time : Walks of Life to the Nobel Prize แต่งในลักษณะอัตชีวประวัติโดย Ahmed Zewail ที่เป็นคนอียิปต์     เรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอเล็กซานเดรีย     เรียนเก่งและบ้าทำวิจัยอย่างเลื่องลือ    ได้ทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย     ไปเป็น postdoc ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเล่ย์      แล้วไปทำงานเป็นอาจารย์ที่ Caltech     จนได้เป็น Linus Pauling Chair of Chemistry     ทำงานวิจัยพัฒนา femtochemistry ศึกษาพฤติกรรมของอะตอมในปฏิกริยาเคมี     โดยใช้ laser technique ที่เร็วระดับ femtosecond (หนึ่งในพันล้านล้านวินาที) ทำให้ถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของอะตอมได้     จึงได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1999     นับเป็นคนแรกของคนอียิปต์ที่ได้รางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์     หนังสือนี้อ่านสนุกมาก     เป็นหนังสือที่ช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังได้ดียิ่ง

                      

                  ลู่วิ่งของผมบนฟุตบาธริมถนนริมแม่น้ำ

                     

      คณะผู้ไปเยือน ระหว่างรอที่หน้าหอสมุดอเล็กซานเดรีย

                     

สถาปัตยกรรมอันงดงามและประหยัดพลังงาน   ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเลย ในเวลากลางวัน

                     

                                    ห้องอ่านหนังสือ

                     

                             ชมภาพเสมือนสามมิติ

                     

นิทรรศการแท่นพิมพ์ภาษาอาหรับโบราณ ที่แสดงความก้าวหน้าของการพิมพ์ของโลกอาหรับ

                     

เครื่องพิมพ์และเย็บเล่มหนังสือเล่มปลีก เสร็จภายใน ๒ - ๒๐ นาที หนึ่งในสองเครื่องในโลก

                     

         อ่าวอเล็กซานเดรีย ถ่ายจากภัตตาคารอาหารทะเล

                     

                                  ปลากระบอกย่าง

วิจารณ์ พานิช
๑๓ มิ.ย. ๕๐
โรงแรมคอนราด  ไคโร  อียิปต์

หมายเลขบันทึก: 106086เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากคะที่บันทึกมาแบ่งปันอ่านแล้วเพลินเลยคะโดยเฉพาะการอ่านหนังสือโบราณจากคอมพิวเตอร์และสภาพบ้านเรือนหลังคารกที่อาจารย์เล่าเพราะโดยปกติเราไปที่ไหนจะไม่ค่อยเห็นหลังคาอยู่แล้ว
  • เป็นประเทศหนึ่งที่ใฝ่ฝันจะไปเที่ยวมากเลยคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท