วิกฤติเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์


เมื่อไม่กี่วันก่อนผมไปแอบเป็นนินจาไปแวบแอบอ่านแบบไร้ร่องรอยในบล็อกของอาจารย์วิบูล เรื่อง สิบปีวิกฤติเศรษฐกิจไทย - เราลืมอะไร ? (ผมลืมไปแล้วครับว่าสิบปี)

แล้วจะว่าไปก็บังเอิญอีกเหมือนกันที่ผมไปเจอหนังสือของ Dr. Thomas Friedman (คนที่เขียนเรื่อง The World is Flat นั่นแหละครับ) แต่จริงๆแล้วตัว Dr. Friedman นั้นเป็นนักหนังสือพิมพ์ชั้นเซียนอยู่แล้ว เพราะ Dr. Friedman นั้นเขียนใน The New York Times อยู่เป็นประจำ หนังสือเล่มนี้ชื่อเรื่องว่า The Lexus and The Olive Tree ครับ

ตัวหนังสือเล่มนี้นั้นว่าด้วยเรื่องของโลกาภิวัฒน์ล้วนๆครับ แต่ก็จะไม่มีเรื่อง 9/11 อยู่ในนี้เพราะว่าเล่มนี้นั้นปรับปรุงพิมพ์ใหม่ตอนปี 2000 ซึ่ง 9/11 ยังไม่เกิดครับ

แต่วันนี้มาว่ากันด้วยเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์กันดีกว่านะครับ เพื่อที่จะได้ระลึกถึงวิกฤติเศรษฐกิจในเมืองไทย (เจ้าพ่อทฤษฏีโดมิโน เรื่องเศรษฐกิจ กับ การแพร่กระจายของโรคต้มยำกุ้งอันเลื่องชื่อ)

วิกฤติเศรษฐกิจในเมืองไทย

เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจในเมืองไทยเริ่มมาจากไหน ผมว่ามันเริ่มมาตั้งนานก่อนปี 1997 แล้วครับ เพียงแต่ฝีมันมาแตกตอนปี 1997 เท่านั้นเอง (เพราะการลดค่าเงินบาทของรัฐบาล) เอาล่ะแล้วจริงๆมันเกิดอะไรขึ้น

เรารู้ว่านายจอร์จ โซรอส เจ้าของ Hedge Fund อันหนึ่งได้ลงทุนโจมตีค่าเงินบาท ซึ่งรัฐบาลนั้นก็ได้ต่อสู้อย่างเต็มความสามารถแต่ก็ไม่สามารถที่จะต้านทานอาวุธหนักของนายโซรอสได้ ก็เลยจำใจที่จะต้องลอยตัวค่าเงินบาท

แต่แล้วจริงๆอยู่ๆ นายโซรอสจะบ้าเอาเงินมาทุ่มโจมตีค่าเงินบาทหรือเปล่า ก็ในเมื่อการทุบค่าเงินประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นมันไม่ได้ใช้เงินแค่บาทสองบาทนะครับ เขาใช้เงินตั้งหลายตังค์ แต่จะว่ากันไปแล้วโซรอสเองก็มีประสบการณ์ด้านนี้อยู่แล้ว เพราะพี่แกก็เคยโจมตีค่าเงินปอนด์ของอังกฤษสมัยปี 1992 จนพังพาบมาแล้ว โดยที่คนอังกฤษนั้นเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Black Wednesday 

แล้วเพราะอะไรที่ทำให้โซรอสเข้ามา ก็เพราะว่าเศรษฐกิจไทยไม่แข็งอย่างที่โม้ว่าจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชียไงครับ สมัยนั้นแหล่งเงินทุนที่เข้ามานั้น เป็นแหล่งเงินที่กู้มาจากต่างประเทศ ส่วนหนึ่งนั้นเอามาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ (โดยที่ไม่ได้ดูถึงตลาดความต้องการ) อีกส่วนหนึ่งเอามากินส่วนต่างดอกเบี้ยในประเทศไทย แต่พื้นฐานการลงทุนนั้นนักลงทุนไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเราใช้ระบบ fixed exchange rate พูดกันง่ายๆสมัยนั้นก็ 25 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์ล่ะครับ

แล้วอยู่ๆรัฐบาลไทยไม่สามารถที่จะปกป้องค่าเงินบาทได้  ลอยตัวค่าเงินบาทซะงั้นอ่ะ หนี้ที่ไปกู้ต่างประเทศเขามา แทนที่จะหามาจ่ายแค่ 25 บาทต่อหนึ่งเหรียญ ก็เพิ่มไปเรื่อยๆ จนถึงไหนผมก็จำไม่ได้แล้วครับ ห้าสิบบาทประมาณนั้น ซึ่งทำให้คนนั้นเกิดความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ทำให้เกิดการปิดสถาบันการเงินไปถึง 56 แห่ง แล้วรัฐบาลต้องออกมาค้ำประกันเงินฝาก ถึงได้สามารถผ่อนคลายความวิตกกังวลของประชาชนลงไปได้

นี่ว่ากันในแง่ของคนไทยนะครับ แต่สำหรับคนต่างชาตินั้น เขาถอนหุ้นออกกันไปตั้งนานแล้วครับ อีกทั้งการปล่อยกู้ให้กับโครงการต่างๆในประเทศไทยก็ยากขึ้น ดอกเบี้ยก็สูงขึ้น แถมถอนหุ้นไม่ได้ถอนหุ้นแค่ประเทศไทยประเทศเดียวนะครับ ล่อถอนกันไปทั้งแถบเอเชียเรียกว่าโดนหางเลขกันหมด

วิกฤติการเงินในรัสเซีย

ถ้าเป็นสมัยก่อน เรื่องที่เกิดในเมืองไทยก็คงจะไม่กระทบกับชาติอื่นมากนัก เพราะว่าเทคโนโลยีด้านข่าวสารนั้นมันไม่รวดเร็วปานกามนิตหนุ่มเหมือนสมัยนี้ ดังนั้นมันก็ไม่น่าจะเกิดอะไรขึ้นมากใช่ไหมครับ

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับรัสเซีย รัสเซียช่วงปี 1997 นั้นก็เป็นช่วงที่ข้าวใหม่ปลามันหลังจากคอมมิวนิสต์ล่มสลาย เศรษฐกิจก็เรียกว่ายังลุ่มๆดอนๆ Dr. Friedman บอกว่าการผลิตของรัสเซียนี่ห่วยมาก ขนาดที่เรียกว่า Negative value added ครับ นั่นหมายความว่า ถ้าโรงงานรัสเซียผลิตรถยนตร์มาสักคัน เอารถคันนั้นไปขาย ยังขายได้ราคาน้อยกว่าเอารถคันนั้นมาขายเป็นเศษเหล็กซะอีก

ว่าแล้วรัสเซียจะเอาเงินมาจากไหน Dr. Friedman บอกว่าเอาเงินมาจากภาษีขายน้ำมันดิบและวัตถุดิบเช่นเหล็ก ทองแดงกับการขายบอนด์

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย ที่มันเกี่ยวก็เพราะว่าเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียซึ่งขณะนั้นก็เป็นเอเชียนี่แหละที่บริโภควัตถุดิบพวกเหล็ก พวกน้ำมัน พวกทองแดงอย่างมาก เพื่อที่จะเอามาสร้างๆๆๆๆๆๆ

แล้วก็ตามหลักเศรษฐศาสตร์ 101 เมื่อ demand ลดลง supply เองก็เท่าเดิม ราคาก็ตกสิครับ

แต่ตอนนั้นรัสเซียนั้นอยู่ในความควบคุมของ IMF นักลงทุนก็เชื่อว่าการขายบอนด์ชนิดที่เรียกว่าให้ yield ขนาด 20% ภายในหนึ่งปี เรียกว่า deal แบบนี้ไม่มีในโลก รัฐบาลรัสเซียไม่เบี้ยวหรอก เพราะว่ายังไง IMF ก็คงจะเอามาเงินมาให้กู้เพื่อไม่ให้รัสเซียเบี้ยวหนี้ และไม่ให้นักลงทุนนั้นตกใจ พาให้เศรษฐกิจรัสเซียลงเหวไปอีก เมื่อคิดแบบนี้นักลงทุนก็ไม่หนีอยู่แล้วครับ ไม่หนีไม่ว่า ไปกู้แบงค์ดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนอีก

แต่แล้วสิงหาคม ปี 1998 รัสเซียก็เบี้ยวหนี้ ชักดาบหมดเลย!

ผลกระทบทั่วโลก

เมื่อรัสเซียเบี้ยวหนี้ แบบไม่บอกไม่กล่าวกันล่วงหน้า นักลงทุนก็กลัวสิครับ แล้วจะทำยังไง ก็ไปลงทุนไว้กลับอะไรก็ได้ที่มันปลอดภัยมากที่สุด หรือความเสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งก็คือลงทุนกับบอนด์(หรือว่าพันธบัตรรัฐบาล)ของสหรัฐ

เรื่องมันน่าจะจบที่ตรงนี้ แต่มันไม่จบนี่สิครับ มันกระทบต่อไปยังประเทศอื่นๆที่เป็นเด็กดี ทำทุกอย่างถูกต้องตามหลักการการเงินทั้งหมด เช่นบราซิลเป็นต้น

ทำให้บราซิลหรือรัฐบาลอื่นๆนั้นจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อที่จะหยุดการไหลออกของเงินทุนที่จะกลับไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ

กรรมใดใครก่อ

เมื่อการลงทุนนั้นไหลกลับมาที่บอนด์ของสหรัฐ  อีกครั้งครับตามหลักดีมานด์และซัพพลาย เมื่อดีมานด์มาก ค่าของบอนด์ก็สูงขึ้น แต่เนื่องจากบอนด์นั้นสัมพันธ์แบบผกผันกับดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยสูง ราคาบอนด์ก็ต่ำ ถ้าราคาบอนด์สูง ดอกเบี้ยก็ต่ำ)

ย้อนกลับมาที่ตัวละครตัวเอก นายจอร์จ โซรอสของเรา จอร์จ โซรอสนั้นเป็นเจ้าพ่อ Hedge fund ครับ หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า Long-Term Capital Management (LTCM) ตัว LTCM นั้น  เริ่มเป็นที่ติดตาต้องใจของนักลงทุนตั้งแต่สมัยปี 1980s และเมื่อการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ LTCM ก็เริ่มออกวิธีการลงทุนใหม่ๆที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ แล้วก็ใช้เงินเยอะๆ (เช่นทุบค่าเงินบาทเมืองไทย ลงทุนไปซื้อบอนด์รัสเซีย)

หนึ่งในวิธีการลงทุนนั้น LTCM นั้นใช้งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสองท่าน ที่บอกว่า การขึ้นๆลงๆของราคาหุ้น (basic volatility of stocks) และบอนด์นั้นสามารถที่จะประมาณได้จากเหตุการณ์ในอดีต (ภาษาการเงินเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ex post) ดังนั้น LTCM เลยไปกู้เงินมาลงทุนถึง 120 พันล้านเหรียญ และโดยการคาดการณ์ของโมเดลทางคณิตศาสตร์ดังกล่าว LTCM ก็ลงทุนไปที่ junk bond เพราะคิดว่า ราคา junk bond นั้นจะสูงขึ้น แต่ไม่ลงทุนใน พันธบัตรรัฐบาล เพราะคิดว่าตกแหงๆ

แต่ก็อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าครับว่า เพราะว่าเศรษฐกิจที่ปั่นป่วนทั่วโลก ทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ของ junk bond ก็ขยะดีๆนี่เองครับไม่มีคนซื้อ ทำให้ LTCM หรือ hedge fund หรือ จอร์จ โซรอส เจ๊งกะบ๊งไม่เป็นท่า ขาดทุนไป 4.6 พันล้านเหรียญ [1]  (ถ้าเขาลิงค์ที่แปะไม่ได้ ลองเข้าไปโดยตรงที่นี่ครับ  http://en.wikipedia.org/wiki/Long-Term_Capital_Management ในนี้นั้นบอกหมดว่าเจ๊งเพราะอะไรบ้างครับ)

แต่เราเคยได้ยินคำว่าล้มบนฟูกใช่ไหมครับ คำนี้ในอเมริกาก็มีเหมือนกันครับ เมื่อรัฐบาลนั้นได้ช่วย LTCM เพื่อไม่ให้เจ๊งกะบ๊ง ขนาดทำให้ประชาชนคนทั่วไปตกใจ และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไปทั่วโลก เป็น great depression ภาคสอง

อ้อเรื่องนี้จบลงในปี 1998 หรือก็คือประมาณหนึ่งปีหลังจากการลอยตัวค่าเงินบาทครับ

กลับมายืนที่เดิม

ใครจะไปเชื่อหล่ะครับว่าด้วยโลกโลกาภิวัฒน์ยุคปัจจุบัน นั้นรวดเร็วรุนแรงได้ถึงขนาดนี้ ผมคิดว่าจอร์จ โซรอสเองก็คงคิดไม่ถึงเหมือนกันว่าตัวเองจะโดนหางเลขจากสิ่งที่ตัวเองก่อขึ้น

หลังจากที่ LTCM นั้นเจ๊งกะบ๊งนั้น งานวิจัยด้านการเงินเกี่ยวกับความเสี่ยงนั้นมีเยอะมากเหลือเกินครับ รวมไปถึงการออกกำหนด Basel II ขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาอีก

ในโลกแห่งข่าวสาร เราคงจะต้องยอมรับว่ากระดิกพลิกตัวนิดเดียวนั้นมีผลกันหมด ดังนั้นเราเลยเห็นว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ก็คงจะเป็นอย่างที่หลายคนเชื่อ โดยเฉพาะคนที่เชื่อเรื่องตลาดเสรี ว่ามีคนมีเงินเยอะๆดีกว่า เพราะอย่างน้อยเราก็สามารถกระจายสินค้าของเราได้ดีกว่า เรามีโอกาสได้เงินมากกว่า เพราะเมื่อคนมีเงินแล้ว โอกาสที่คนจะใช้เงินเพื่อซื้อความสะดวกสบายก็มากขึ้น

ผมคิดว่าโอกาสที่จะมีใครคนใดคนหนึ่ง หรือกองทุนใดกองทุนหนึ่งจะโจมตีเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นคงจะน้อยแล้ว เพราะว่าตัวอย่างของ LTCM คงจะเห็นได้เด่นชัดแล้ว ว่าแค่ 1 ปี ก็ทำให้คนที่เริ่มก่อเรื่องนั้น เจ๊งกะบ๊งไม่เป็นท่าได้เลย แล้วจะมีใครกล้าเสี่ยงอีกล่ะเนี่ย (นอกเสียจากว่าคุณจะสร้างสุดยอดโมเดลที่คาดการณ์ด้านการเงินได้อย่างถูกต้อง) 

ที่มา Friedman, Thomas, L. The Lexus and The Olive Tree: Understanding globalization, Anchor Books, 2000, 2nd. ISBN 0-385-49934-5

ปล ผมอ่าน The Cash Nexus อยู่นะครับ หลังจากที่บอกไว้ว่าจะเป็นเรื่องต่อไป แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหนซะทีครับ :( ต้องขอโทษด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 105306เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2007 04:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

แวะเข้ามาดูก่อนครับนะครับน้องต้น

สะสางงานเสร็จจะเข้ามาอ่านให้จบครับ

ขอบพระคุณมากนะครับพี่

ถ้าว่างเมื่อไรก็เชิญได้เสมอครับ

สวัสดีครับ

P
  • ผมเองเชื่อว่านิสัยเก่าคนยากกลับกลาย ดังนั้น เรื่องที่ว่า เห็ดฟัน ทั้งหลาย จะเข็ดหลาบ เลิกโจมตีค่าเงิน คงไม่เกิดขึ้น ถ้ามีผู้บริหารเห็ดฟันคนไหนพูดว่าเข็ด ฟัน ก็คงพูด เพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเอง เพื่อเตรียมเขียนหนังสือฆ่าเวลาแก้ง่วง หลังอาหารเที่ยงซะมากกว่า
  • ขอเรียก เห็ด ไม่ เฮ็ด นะครับ
  • เฮ็ดฟัน ฟังแล้วนึกถึงหมอฟัน แล้วก็เลยนึกไปถึงเครื่องกรอฟันทู้กที
  • เฮ็ดอะหยัง บ่แม่นเสียวเท่าเฮ็ดฟัน

สวัสดีครับอาจารย์วิบูล

ผมคิดว่า Hedge fund จะมาโจมตีค่าเงินคงจะยากจริงๆครับ เพราะตัว Hedge fund เองก็กรอบไปเยอะครับ หลังจากพลาดตอนปี 1998

อีกทั้งตอนนี้ notion of risks นั้นเปลี่ยนไปมากครับ ตอนนี้ VaR นั้นหมดแรงแล้วเพราะมันไม่ใช่ coherent risk measures (นั่นหมายความว่า ถึงแม้เราจะกระจายความเสี่ยงแล้ว แต่ความเสี่ยงมันกลับเยอะกว่าตอนที่ไม่ได้กระจายอีก)

ทำให้คนสนใจ Expected Shortfall มากกว่า แล้วถามว่า notion of risks เปลี่ยนแล้วมีผลยังไง ผมเดาว่าทำให้คนนั้นกลัวความเสี่ยงเยอะขึ้นครับ (แต่ขอย้ำนะครับว่า ผมเดา) เพราะว่าตัวเลขของการเสียเงินมันเยอะมากขึ้นครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์สำหรับความเห็นครับ  

 

สวัสดีครับ

  • ผมมองว่า ถ้าเห็ดฟันจะไม่เล่นเรื่องค่าเงิน ก็ด้วยเหตุผลเดียว คือเขามองว่ามันเสถียรเกินไปจนไม่น่าสนใจ
  • แต่หากไม่เป็นอย่างนั้น เห็ดฟันจะไปมุงทุกแห่งที่คาดว่า จะมีการเปลี่ยนแปลง
  • เรามักมองว่า การโจมตี คือการทำให้เงินอ่อนค่าด้วยการขาย short position
  • แต่การทำ long position ก็เป็นการโจมตีค่าเงินด้วยเช่นกัน
  • เราจะเรียกว่าเป็นการโจมตี ขึ้นกับว่า เขายืนอยู่ฝั่งไหน
  • ถ้าเขาขาย short dollar ซื้อบาท เรามักไม่เรียกว่าเขาโจมตีบาท แต่เรียกว่าเขาโจมตีดอลลาร์
  • แต่จริง ๆ เขาโจมตีทั้งสองทาง
  • หรือพูดให้ถูกคือ เขาเองไม่ได้มองว่าเขาโจมตีใคร แต่เขากำลังแสวงหากำไรจากการคาดการณ์ทิศทาง ซึ่งเขาเพียงแต่หนีสกุลเงินที่แย่ลงไปหาสกุลเงินที่แกร่งขึ้น
  • ดังนั้น ไม่ว่าจะมีทฤษฎีใหม่หรือไม่ ผมเชื่อว่า เห็ดฟัน ก็จะอยู่ต่อไป และทำตัวอย่างที่เคยทำต่อไป
  • ที่ไม่คึกคักมาก อาจไม่ใช่ตัวเห็ดฟันเอง แต่เป็นนักลงทุนที่เคยลงทุนในเห็ดฟัน โยกเงินหนีออกไป ทำให้เห็ดฟันตัวเล็กลงมาก จนดูเหมือนทำตัวสงบเสงี่ยม
  • ผมเชื่อว่า เป็นความสงบชั่วคราวครับ

สวัสดีครับอาจารย์วิบูล

ขอบพระคุณมากครับอาจารย์สำหรับความคิดเห็น

อาจารย์ทำให้ผมไปหยิบหนังสือเรื่อง When genius failed ซึ่งว่าด้วยเรื่องความล้มเหลวของ Hedge fund มาอ่านครับ แล้วผมจะรายงานให้ทราบทีหลังครับ

แต่ผมคิดว่าอาจารย์กับผมอาจจะต้องนิยามคำว่า "เล่น" กับ "โจมตี" ค่าเงินเหมือนกันครับ

ใน Hedge fund นั้น ตามหลักแล้วก็คือ risk diversification โดยการถือสินทรัพย์หลายๆตัว ไม่ว่าจะค่าเงิน หุ้น อสังหา บอนด์ แล้วก็มี derivatives มาช่วยด้วย (แต่ก่อนเอามาช่วยด้าน speculation) ครับ

ดังนั้นโดยคอนเซ็ปต์ของ portfolio theory hedge fund บางตัวก็จะถือ short หรือ long positions ของทั้งค่าเงิน ออปชั่น หุ้น และอื่นๆอยู่แล้วครับ

ที่ผมคิดว่า Hedge fund คงไม่โจมตี เพราะว่าการโจมตีนอกจากจะใช้เงินมหาศาลซึ่งตอนนี้ตัวฟันด์เองก็กรอบพอสมควรแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการกลัวผลแบบเดิมๆนะครับ และอีกส่วนซึ่งอาจารย์ก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า เพราะว่านักลงทุนนั้นหนีไปบางส่วน

ถ้าจะโจมตีอีกครั้ง ผมว่าเราคงเห็น finance innovative products ใหม่ๆซึ่งดีกว่าปัจจุบันที่มี เพื่อที่จะ offset ความเสี่ยงไม่ให้มันกลับมากัดเราได้ครับ

แต่จะเป็นรูปแบบไหน อันนี้ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์อีกครับครับ

 

สวัสดีครับคุณ
P

ไปอ่านหนังสือ

  • ประเด็นพวกนี้ ผมเชื่อว่าสำคัญ
  • การหยิบยกขึ้นมาพูด สร้างความเข้าใจ ทำให้สังคมมีวุฒิภาวะขึ้น ผมเชื่อว่าเป็นประโยชน์ในระยะยาวครับ 

สวัสดีครับอาจารย์วิบูล

ขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งที่ได้กรุณาเข้ามาเยี่ยมและทิ้งความคิดเห็นอันมีค่าไว้ครับ

ผมคิดเหมือนกับที่อาจารย์คิดครับว่าความรู้เรื่องพวกนี้นั้นจำเป็นอย่างยิ่ง และจะทำให้สังคมนั้นเติบโตไปในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

คนในสังคมนั้นไม่สามารถที่จะรู้เรื่องแค่ตัวเอง แค่ชุมชนตัวเอง ได้อีกต่อไปครับ การหาความรู้ของคนนั้นเปลี่ยนไป เราเข้าถึงข้อมูลกันได้มากขึ้น แต่อย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่าสำคัญมากที่สุด คือ

เราจำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องของเราก่อน พอรู้แล้ว รู้มากพอ รู้อย่างมีวิจารณญาณและวิเคราะห์ได้ เมื่อเราทำได้แบบนี้แล้ว เราก็สมควรที่จะเปิดประตูของเราสู่โลกกว้าง แล้วถึงค่อยรับเอาสิ่งที่ดีเข้ามาครับ

ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น เพราะเราไม่รู้ของเราครับ แล้วเราก็แค่รู้เรื่องของเขาเพียงเปลือกนอกเท่านั้น มันก็เลยเป็นเตี้ยอุ้มค่อมกันไปเลย

กราบขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งครับ

ต้น

สวัสดีค่ะ

ดิฉันเป็นคนที่ไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจเลย แต่ต้องมาทำรายงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจ

จึงอยากขอความช่วยเหลือจากท่านผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องปัญหาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์มีอะไรบ้าง

แล้วคำกล่าวที่ว่า โลกาภิวัฒน์นำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจของโลก จริงๆแล้วเปนยังไงคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท