การสื่อสารที่บั่นทอนชีวิต


การสื่อสารที่บั่นทอนชีวิต

 

วิพากษ์วิจารณ์

 

     รูปแบบแรกของการสื่อสารที่บั่นทอนชีวิต  คือ  การวิพากษ์วิจารณ์ ที่มีนัยถึงความผิดพลาด  ความเลวร้าย  เช่น "ปัญหาของเธอน่ะก็คือ  เธอเห็นแก่ตัว (ขี้เกียจ  ไม่รู้สึกรู้สา  ทำตัวไม่เหมาะสม ฯลฯ)"  นี่อาจเรียกได้ว่า  เป็นการดูถูก  ตำหนิ  เหยียดหยาม  การวิเคราะห์ตัดสินผู้อื่น

 

ปฏิเสธความรับผิดชอบ

 

          รูปแบบที่สองคือ  ปฏิเสธการรับผิดชอบต่อความคิด  ความรู้สึก  และการกระทำของตัวเอง อาจมีคำว่าต้องอยู่ในประโยคที่สื่อสาร  เช่น  "คุณต้องทำ  ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม"  เราไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของเราเมื่อเราอ้างว่าสาเหตุการกระทำเกิดจาก

  • - การกระทำของผู้อื่น "ฉันตีลูกเพราะเขาวิ่งลงไปบนถนน"
  • - พลังที่จับต้องไม่ได้ "ผมทำความสะอาดห้อง เพราะมันจำเป็น"
  • - ประวัติทางจิตวิทยา การแพทย์ "ฉันดื่มเหล้า เพราะฉันเป็นโรคแอลกอฮอลิก"
  • - ถูกบังคับจากผู้มีอำนาจ "ผมโกหกผู้รับบริการเพราะนายฉันสั่ง"
  • - แรงกดดันจากกลุ่ม "ฉันเริ่มสูบบุหรี่เพราะทุกคนในกลุ่มสูบ"
  • - นโยบาย กฎ ข้อบังคับของสถาบัน "ฉันให้เกรดเด็กเพราะเป็นนโยบายของโรงเรียน"
  • - บทบาททางเพศ สังคม อายุ "ผมเกลียดการทำงาน แต่ผมต้องทำเพราะผมเป็นพ่อและสามี"
  • - แรงขับที่ความคุมไม่ได้ "ขนมนั้นน่าเย้ายวนจนต้องซื้อมากิน"
คำสั่ง

          คำสั่งตาม NVC คือคำขอร้องที่เหมือนขู่ว่าถ้าผู้รับคำสั่งไม่ทำตาม  จะถูกตำหนิ  หรือได้รับโทษ  ไม่ว่าจะขู่อย่างชัดเจนหรือเป็นนัยก็ตาม

อ้างสิทธิชอบธรรมในการให้รางวัลหรือทำโทษ

          รูปแบบนี้เกี่ยวพันกับความคิดว่าบางการกระทำควรได้รับรางวัล  บางการกระทำ  ควรได้รับโทษ  เช่น  "เขาน่าจะถูกทำโทษเพราะทำสิ่งนั้นลงไป" 

วิธีการตอบสารที่ท้าทาย

 

             เมื่อใครคนหนึ่งพูดสิ่งที่ยากแก่การรับฟังออกมา  จะเป็นประโยชน์มากถ้าตระหนักว่า  เรามีหลายทางเลือกในการตอบสารนั้น  เราจะเลือกวิธีใดขึ้นกับ

          

         1. การไตร่ตรองดูว่าผู้พูดนั้นเปิดรับฟังเราเพียงใด

          2. การไตร่ตรองว่า ในขณะนั้นเราสามารถให้ความเข้าใจได้มากน้อยเพียงใด

 

                 ขณะแรกที่เราได้ยินสารที่ท้าทาย  ถ้าเราสามารถเห็นใจเขาได้ในขณะนั้น  จะส่งผลให้การสื่อสารดำเนินต่อได้ราบรื่นยิ่งขึ้น  เราสามารถเลือกวิธีการให้ความเข้าใจได้ไม่ว่าในโอกาสใดก็ตาม    แต่มีข้อยกเว้นอยู่กรณีหนึ่งก็คือ  คนผู้นั้นไม่เปิดรับแม้แต่ความเข้าใจจากอีกฝ่าย  ในเวลาเช่นนั้น  เราจะทำความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของเขาอยู่ในใจ   อย่างน้อยเราสามารถทำให้ตัวเองยังเชื่อมสัมพันธ์อยู่กับผู้อื่นได้  แล้วต่อจากนั้นบางทีเราสามารถหาวิธีเชื่อมสัมพันธ์และแสดงความเข้าใจกับอีกฝ่ายได้

 

              ถ้าสารนั้นท้าทายมาก  การแสดงความเห็นใจ (ในใจหรือพูดออกมา)  อาจไม่ง่าย  วิธีการอื่น ๆ  อาจจะดีกว่า  ต่อไปนี้จะเป็นทางเลือก 8 ทาง ที่ใช้ได้ในเวลาเช่นนั้น  ซึ่งรวมถึงการแสดงความเข้าใจด้วย  โปรดสังเกตว่า  5 วิธีแรกเรายังคงการสนทนาต่อไป  แต่อีก 3 วิธีเป็นหยุดการสนทนาชั่วคราว

 1.   การให้ความเห็นใจ

                การให้ความเห็นใจไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ด้วยตรรกะเหตุผล  สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการจำคำพูดทุกคำของอีกฝ่ายก็คือ  การพยายามเข้าใจความรู้สึกความต้องการของอีกฝ่าย  เราให้ความเข้าใจอีกฝ่ายไม่ใช่เพราะต้องการให้สถานการณ์ราบรื่น  แต่นี่เป็นของขวัญล้ำค่าที่ในที่สุดเราจะให้ตัวเองได้  เมื่อเราเปิดใจกับคู่ขัดแย้ง เขาจะกลับคืนมาเป็นมนุษย์ในสายตาเราอีกครั้ง  แทนที่จะเป็นเพียงตัวอุปสรรคในการตอบสนองความต้องการของเรา  แล้วเราจะทำให้ความต้องการด้านการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นของเราได้รับการตอบสนองไปด้วย   ไม่ว่าอีกฝ่ายจะพูดอะไรก็ตาม  เป้าหมายของเราคือคาดคะเนความรู้สึกความต้องการของเขา  นี่จะทำให้การบ่มเพาะความสัมพันธ์งดงาม  ถ้าเราจ้องแต่จะจับเนื้อหาที่เขาพูด  อาจทำให้การสื่อสารท้าทายยิ่งขึ้นไปอีก

2.   เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่ายในใจ

                บางทีการพยายามให้ความเข้าใจของเราอาจจะไม่ได้รับการตอบรับจากอีกฝ่าย  นี่เป็นเรื่องท้าทายว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าความเข้าใจจึงจะได้รับการตอบรับ  ปกติความพยายามของเรามักส่งผลเสมอ  แม้จะไม่มีท่าทีใด ๆ จากอีกฝ่าย  ถ้าเรามีความมั่นใจในความพยายามของเรา  บางทีอาจก่อให้เกิดผลในการสร้างความสัมพันธ์ได้ในเวลาต่อไป  อีกฝ่ายอาจตอบกลับมาด้วยคำพูดเช่น  "หยุดมาใช้จิตวิทยากับผมซะที"  ในเวลาเช่นนั้นเราอาจหยุดการแสดงความเข้าใจโดยใช้คำพูด  และทำการแปลความรู้สึกความต้องการของเขาอยู่ในใจ  ในสถานการณ์อื่นการทำเช่นนี้อาจสำคัญเช่นกัน  เช่นในกรณีที่เราต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการแสดงความเข้าใจ  เพราะเรามีความต้องการอื่น ๆ อยู่ภายใน  แม้เราอาจจะสามารถจริงใจที่จะเลือกความสัมพันธ์เป็นอันดับต้น ๆ  และยึดการให้ความเข้าใจไว้  ทั้ง ๆ ที่เรามีความต้องการอื่น ๆ ก็ตาม  แต่อีกฝ่ายอาจไม่สามารถไว้ใจเราได้ เพราะเขารับรู้ได้ว่าเราต้องใช้ความพยายามและมีความต้องการอื่น ๆ

3.   อธิบายตัวเราอย่างเปิดใจ

                เรื่องท้าทายของการอธิบายอย่างเปิดใจก็คืออีกฝ่ายอาจไม่อยู่ในภาวะที่จะรับฟังเรา  ในกรณีนั้นเขาอาจจะตอบโต้กลับมาอย่างท้าทายมากขึ้นไปอีก  หัวใจของการอธิบายก็คือ  ทำโดยคิดว่ามันเป็นการทดลองว่าวิธีนี้จะใช้ได้หรือไม่  ซึ่งถ้ามันไม่เป็นผลในการสร้างความสัมพันธ์เราก็เปลี่ยนวิธีการใหม่   บางครั้งถ้าเราอธิบายตัวเราอย่างที่เราเป็น  เปิดใจ  โดยไม่ตำหนิหรือปกป้องตัวเอง  เราจะสามารถเปลี่ยนท่าทีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างมากและเป็นดั่งของขวัญให้อีกฝ่าย

4.   "ดึงหูหมาป่า"

                ถ้าเราเห็นว่ายังมีบางจุดที่อีกฝ่ายยังไม่เข้าใจ  เราอาจแสดงความเข้าใจเล็กน้อยก่อน  แล้วสื่อจุดนั้นให้เขาฟังเล็กน้อยอีกครั้ง เช่น  "ผมเห็นว่าคุณเจ็บปวดมากตอนนี้  และผมยังต้องการ....."    หรือ   " ฉันต้องการให้คุณได้ยินความแตกต่างระหว่าง .....กับ....."      เราสามารถใช้วิธีนี้ได้มากกว่า 1 ครั้ง  หากเรารู้อย่างแน่แท้ว่าเรากำลังเลือกที่จะใช้วิธีการทบทวนนี้

5.  "ตะโกนแบบยีราฟ"

                ในกรณีนี้เราจะพยายามทำให้อีกฝ่ายได้ยินเราไม่ว่าเขาจะลังเลแค่ไหน  ด้วยการเปิดเผยความรู้สึกเจ็บปวดของเราให้เขารู้  โดยยังพยายามใช้ NVC   เป้าหมายของเราคือทำให้อีกฝ่ายเห็นความเป็นมนุษย์ของเรา  ซึ่งในขณะนั้นเขามักเห็นเราเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำให้ความต้องการของเขาบรรลุผลเช่นกัน  เราเปิดเผยตัวเราอย่างเต็มที่ทั้งความรู้สึกและความต้องการ  และอย่าลืมบอกคำขอร้องของเราด้วย  เราไม่จำเป็นต้องสุภาพหรือทำตัวเป็นคนดี  ถ้าเราจริงใจเราสามารถใช้เสียงดังได้  บางทีการเปิดให้เห็นความเปราะบางภายในอาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจเราได้

6.  ปฐมพยาบาลด้วยการให้ความเข้าใจตัวเอง

                ถ้าเราต้องการให้ความเข้าใจอย่างแท้จริง  แต่ขณะนั้นเราติดอยู่กับเรื่องที่เกิดขึ้นกับเรา  เราอาจหยุดพักการสนทนาสักครู่  (10 วินาทีหรือนานกว่านั้น  อาจบอกว่า  "ขอเวลาสัก 1 นาทีก่อนฉันจะตอบนะ)   เพื่อให้เราใช้เวลานั้นให้ความเข้าใจตัวเอง  เป้าหมายคือเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ของเรา  และช่วยให้เรากลับมาอยู่ที่การให้ความเข้าใจอีกฝ่าย  ในเวลาเช่นนั้น  สำคัญมากที่เราต้องแยกแยะระหว่าง  ความต้องการภายในและการทำให้ความต้องบรรลุผล  เราเจ็บไม่ใช่เพราะว่ามีความต้องการ  แต่เป็นเพราะเราเห็นว่าความต้องการไม่ได้รับการตอบสนองในขณะนั้น  ถ้าเราสามารถเปลี่ยนการมองเรื่องความต้องการไม่ได้รับการตอบสนอง  มาเป็นมองที่ความงดงามของตัวความต้องการเอง  อาจเกิด 2 สิ่งต่อไปนี้ตามมา

                หนึ่งคือการรับรู้จะเปิดกว้างและนุ่มนวลขึ้น  ซึ่งทำให้สามารถเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น  อีกข้อคือ  เราอาจเห็นได้ว่าการให้ความเข้าใจ  อาจทำให้ความต้องการของเราได้รับการตอบสนองมากขึ้น  เช่น  ถ้าเราต้องการความเคารพ  เราอาจให้ความเคารพตัวเองได้ด้วยการทำตามคุณค่าของเรา   หรือถ้าเราให้ความเข้าใจผู้อื่น  เราอาจตอบสนองความต้องการด้านความสัมพันธ์ของเราได้  ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองได้รวดเร็วเช่นนี้  การหยุดพักการสนทนาสักครู่อาจส่งผลให้การสนทนาดำเนินต่อไปได้ราบรื่นขึ้น

7.   ขอเวลานอก

                บางครั้งแม้เราต้องการสนทนาต่อไปแต่ความเจ็บปวดก็มากล้น  จนการพักสักครู่ไม่สามารถช่วยให้เรากลับมาสู่คุณค่าที่เราเชื่อถือได้  ในกรณีเช่นนี้  เราอาจขอเวลาหยุดการสนทนาเพื่อให้เราสามารถกลับมาสู่มุมมองเดิมได้   ตอนนี้เราร้องขออีกฝ่ายให้หยุดพัก  และสำคัญมากที่เราจะรับรู้ว่าเรากำลังออกคำสั่ง  และบอกให้อีกฝ่ายรับรู้  เราต้องหยุดเพื่อให้เราสามารถกลับมาพูดคุยอย่างเป็นมรรคเป็นผลได้มากขึ้นในอนาคต  จะดีถ้าเรากำหนดว่า  เมื่อไรเราจะกลับมาสนทนากันอีกครั้ง  หรืออย่างน้อย สัญญาว่าจะเป็นผู้นำเรื่องนี้กับมาคุยกันอีกแน่นอน

8.  หาความเห็นใจจากที่อื่น

                ในกรณีความขัดแย้งที่ยาวนาน  ในช่วงขอเวลานอกเราอาจต้องขอความเห็นใจจากผู้อื่น  ซึ่งอาจช่วยให้เรากลับมาสนทนากับอีกฝ่ายได้  อย่างกระจ่างชัดและง่ายต่อการรับฟังมากขึ้น  (โดยเชื่อมโยงในระดับที่เปิดเผยมากขึ้น)   หรือเปิดใจให้ความเข้าใจได้มากขึ้น
คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 105144เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2007 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเยี่ยมชมค่ะ

เขียนบทความน่าสนใจมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท