ย้อนรอยเส้นทาง PhD ของโอ๋-อโณ (8): น้ำใจที่ได้รับตอบแทน


เล่าเรื่องอาสาสมัครที่ประทับใจสำหรับโครงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของไขมันและยีนที่เกี่ยวข้องหลังกินอาหารไปแล้ว 2-3 ท่าน แต่ความจริงแล้วจำรายละเอียดของทั้ง 19 ท่านได้เป็นอย่างดี เก็บรายละเอียดเอาไว้เรียบร้อย เพราะซาบซึ้งใจมากกับความเสียสละ ที่แม้เราเองก็คงเลือกที่จะไม่ทำ แต่ละท่านสละเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงอยู่กับเราแบบอดอาหาร โดนเจาะเลือดทั้งหมด 7 ครั้ง เสียเลือดรวมแล้วเกือบ 150 ซีซี สิ่งเหล่านี้ทำให้เราพยายามทุกทางที่จะทำให้แต่ละท่านลำบากน้อยที่สุด และหาทางให้เวลาที่ท่านเสียสละให้เราได้เกิดประโยชน์ เราจึงได้คุยกับทุกท่านนานๆหลายๆเรื่องระหว่างช่วงที่เราสามารถพาเข้าไปดูในห้องแล็บ ว่าเราเอาเลือดของท่านไปทำอะไรบ้าง จึงได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวกับทุกท่าน ทุกคนสนใจไต่ถามเกี่ยวกับตัวเรา เกี่ยวกับเมืองไทยแล้วก็ให้กำลังใจ ขอให้เราทำงานสำเร็จได้กลับบ้านกลับเมืองเร็วๆอย่างที่อยากทำ จนเป็นเรื่องเล่าของตอนนี้แหละค่ะ 


มีหลายๆคนที่มาเป็น subject ส่งจดหมายมาถึงอาจารย์ ชื่นชมและขอบคุณเราที่ดูแลเขาเป็นอย่างดีตลอดเวลาที่เขามาเป็น subject  และบอกว่ายินดีจะมาร่วมโครงการวิจัยอันต่อมา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลของการกินยาลดไขมัน อันนี้เป็นโครงการระยะ 8 อาทิตย์มาหาเรา  2 ครั้ง ซึ่งก็ได้ subject บางส่วนจากกลุ่มนี้ด้วย ลดความยุ่งยากในการติดต่อ subjectใหม่ไปได้เยอะเลย มี 2 คนที่ฝากจดหมายมาถึงเราโดยตรง คนหนึ่งส่งเป็นการ์ดอวยพรให้เราทำงานเสร็จเร็วๆ ได้กลับเมืองไทยเร็วๆตามที่ปรารถนา อีกคนเป็นจดหมาย เขียนขอบคุณและอวยพรเรา อ่านแล้วก็เป็นกำลังใจในยามที่ทำงานไม่เสร็จสักที อยากกลับบ้านเราแล้วก็ไม่ได้กลับเสียที เพราะช่วงหลังๆของงานที่ต้องติดต่อ subject จะมีเรื่องเป็นปากเสียงกับอาจารย์บ่อยมาก เพราะเขาไม่เร่งร้อนแบบที่เราต้องการ เดี๋ยวก็ติดเทศกาลโน่นนี่ นัดคนไข้ให้ไม่ได้ ตัวเรานั้นก็พยายามเซ็ตงานใน lab ที่ต้องทำ จัดการทำไปให้เสร็จ แต่งานในส่วนของการวัด mRNA ต้องทำเป็นชุดเดียวกัน เพื่อลดความแปรปรวนของการทดสอบ ต้องรอจนได้ subject ครบหมดทั้งโครงการถึงจะเริ่มทำได้ ส่วนนี้ทำให้ช้า และงาน lab ก็มากต่อเนื่องกัน ไม่สามารถจะปลีกเวลามาเขียนได้ เราก็หงุดหงิดที่งานในส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ช้ามาก ร้องไห้กันไปหลายตลบเพราะความคับข้องใจ แต่คนอื่นๆที่ทำงานในศูนย์วิจัยฯและศูนย์มะเร็งที่เราไปใช้เครื่อง Rotor-Gene ต่างก็คอยให้กำลังใจ เรียกว่าทุกคนลุ้นให้เราได้ทำ lab เสร็จกลับบ้านกลับเมืองอย่างที่เราอยาก เป็นนักเรียน PhD คนเดียวที่ไม่เคย take time off เลย (ปกติเขาจะมีให้เราลาหยุดได้ 4 อาทิตย์ต่อปี เพื่อพักผ่อน) แต่ตัวเองจะหยุดเมื่อเป็นวันหยุดเทศกาลต่างๆของเขา จะพยายามพักหรือทำอะไรส่วนตัวในช่วงนั้น ซึ่งแค่นั้นก็มากเหลือแหล่แล้ว เพราะปีหนึ่งๆมีไม่รู้กี่เทศกาล คนอื่นๆที่ช่วยงานเช่น เจ้าหน้าที่ห้องเจาะเลือด เจ้าหน้าที่ห้อง lab กลางซึ่งเราส่งเลือดวัดค่าไขมัน คนห้อง HPLC คนหน่วยคอมฯต่างก็น่ารัก ช่วยเหลือดี เราอยู่นาน จนเหมือนเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งไปเลย มีแต่คนเก่าๆที่รู้ว่าเราเป็นนักเรียน เพราะทำ lab มาตั้งแต่เรียนโท จนปิด lab เอกก็ 5 ปี

ตอนหน้าค่อยมาเล่าว่ามีอะไรที่ได้เรียนรู้แล้วเห็นว่าเป็นบทเรียนที่ดี กับเล่าให้ฟังถึงการใช้ชีวิตทั่วๆไปในออสเตรเลีย


อีกไม่นาน paper เกี่ยวกับงานนี้ก็จะตีพิมพ์ (ได้รับการตอบรับแล้ว) จะมาทำลิงค์เอาไว้ที่นี่ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 105022เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2007 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะพี่โอ๋           

            ตามอ่านอยู่ค่ะ  และจะรออ่าน Paper ที่ได้ตอบรับตีพิมพ์  ยินดีด้วยนะคะ  : )
             เอ่อ..   ไม่ทราบว่าอาสาสมัคร(subject) อายุต่างกันมากไหมคะ  และในการศึกษา   ต้องเซ็นสัญญากับผู้ที่เราขอความอนุเคราะห์ศึกษาด้วยมั้ยคะ

ได้กลับมาตอบน้องแอมแปร์ Pซะที เพราะว่าจะรอให้ paper คลอดก่อน ก็ได้เวลาแล้วค่ะ ที่นี่ แต่ว่าจะได้อ่านแต่บทคัดย่อซึ่งตัวเลขเยอะมาก อาจจะอ่านแล้วเมาหน่อยนะคะ ฉบับเต็มๆติดลิขสิทธิ์ที่คงเอามาขึ้นไว้ใน GotoKnow ไม่ได้ ต้องเป็นสมาชิกโดยตรงกับ journal เค้า แต่ถ้าใครอยากได้ไปอ่านก็คงจะต้องให้ขอกับพี่โอ๋เป็นการส่วนตัวนะคะ

ตอบคำถามด้วยค่ะ (นานหน่อย คนถามขี้เกียจรอไปแล้วละมังคะ ขอโทษด้วย) กลุ่มอาสาสมัครของเราจะเป็นกลุ่มคนที่อายุ 40-50 ปี ซึ่งวัยนี้แหละค่ะที่จะแสดงอาการหัวใจล้มเหลวถ้ามีไขมันในเลือดสูงๆอยู่เป็นประจำ และต้องมีการเซ็นยินยอมเข้าร่วมการวิจัยและยินดี/ไม่ยินดีให้เก็บรักษา DNA/RNA ที่เราเก็บไว้ศึกษาด้วยนะคะ เรื่องพวกนี้ต้องผ่าน Ethic committee ของโรงพยาบาลก่อนค่ะ ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะได้ถึงขั้นตอนไปชักชวนคนไข้เนี่ยค่ะ คิดกลับไปตอนนี้ก็ยังคิดว่าเรานี่ช่างสรรหาเรื่องจริงๆ ดีใจที่ผ่านมาแล้วค่ะ ให้หมุนเวลากลับไปก็คงไม่ทำแบบนี้หรอกค่ะ

สวัสดีค่ะพี่โอ๋ 

ขอบพระคุณพี่โอ๋มากค่ะ  แอมแปร์จะตามไปอ่านนะคะ   เรื่องรอนี่พี่โอ๋ไม่ต้องกังวลค่ะ  แอมแปร์ถนัดรอ...  นานแค่ไหนก็รอได้    : )

เรื่องที่พี่โอ๋เล่าทำให้แอมแปร์มีกำลังใจขึ้นอีกมากๆๆๆ  เลยนะคะ  รู้สึกเข้าใจจริงๆว่าเวลาที่เราต้องคับข้องใจน้ำตาร่วงนั้นมันได้อารมณ์รันทดขนาดไหน  แต่พี่โอ๋ก็สู้จนก้าวข้ามกำแพงนั้นมาได้  แอมแปร์นับถือจริงๆ   

เอ่อ....สงสัยอีกแล้วอะค่ะ   Ethic committee ของโรงพยาบาล ของไทยเรามีไหมคะ  รู้สึกว่าออสเตรเลียจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จัง  ในวงวิจัย(มหาวิทยาลัย)ของเขาก็เหมือนกัน   

พี่โอ๋ไม่ต้องกังวลเรื่องตอบคอมเม้นท์นะคะ  แอมแปร์รอได้อะค่ะ  ขอบพระคุณมากค่ะ : )

ไม่รู้ว่าน้องแอมแปร์ อ.ดอกไม้ทะเล ของเราจะยังตามมาอ่านคำตอบไหมนะคะ นานมากจริงๆคราวนี้ เมืองไทยมีค่ะ Ethic committee ทุกโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมีเพื่อดูแลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน และที่น่าดีใจยิ่งกว่านั้นคือ ตอนนี้พี่โอ๋เป็นกรรมการคนหนึ่งของที่โรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ เป็นงานปิดทองหลังพระอีกงานค่ะ เพราะต้องอ่านเอกสารเยอะมาก และทำตัวเหมือนเราเป็นคนไข้ รักษาผลประโยชน์ให้คนไข้ สมมุติตัวเองเป็นคนไข้ว่าข้อมูลที่นักวิจัยให้นั้นถูกต้อง เข้าใจได้จริงๆว่าตัวเองต้องมาทำอะไรยังไง เป็นงานที่เหนื่อยแต่มีความสุขมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท