ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

ตามหาหัวใจ


“ คำว่าเกษตรกรรมแบบประณีตเราไม่ได้ตีความหมายว่าเป็นกิจกรรม แต่เป็นกระบวนการ วิธีเรียนชัดเจนกว่าคือต่อไปคนที่อยู่ภาคการเกษตรจะต้องทำอะไรให้ประณีตขึ้น ดูแลเอาใจใส่ หมั่นศึกษาหมั่นทดลอง ต่อไปคำว่าเกษตรกรรมแบบประณีตก็จะกลายเป็นวิธีเรียนวิธีทำของชาวบ้านซึ่งจะไปสอดคล้องกับคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง แต่เดิมเราไปอธิบายว่าเกษตรกรรมแบบประณีตคือการทำแปลงผัก 1 ไร่ มันไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันยังไม่พอ เพราะคนที่ทำอาชีพเกษตรต้องทำแบบผสมผสานหลายๆ อย่าง”

เมื่อพูดถึงเกษตรกรรมแบบประณีต มักจะมีคนถามอยู่เสมอๆ ครับว่ามันคืออะไร? มันเหมือนเกษตรทั่วๆ ไปหรือไม่ อย่างไร? แล้วทำอย่างไร? ปลูกอะไรบ้าง? หรือบางครั้งถามจนกระทั่งผมสับสนในตัวเองเช่นกัน ครั้นเมื่อตั้งสติได้ก็จะพยายามอธิบายให้คนที่ถามได้เข้าใจ หรือแม้บางคนฟังแล้วก็ดูเหมือนจะเข้าใจ ครั้นพอเจอหน้ากันอีกรอบก็ถามใหม่ ผมก็พยายามที่จะอธิบายใหม่อีกรอบ บางครั้งก็เหมือนเดิมบ้างไม่เหมือนกันบ้างตามแต่บริบทของคนถาม และคนตอบ...  

Dsc00872+%28wince%29

แปลงเกษตรประณีตมหาชีวาลัยอีสาน

จริงๆ แล้วเกษตรกรรมแบบประณีตนั้นเริ่มต้นมาจากเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานในการที่จะหาคำตอบว่าควรที่จะผลิตในพื้นที่เท่าไหร่จึงจะสามารถเลี้ยงชีวิตให้พออยู่พอกิน และเมื่อจัดการกับพื้นที่ได้แล้วก็มีคำถามต่อว่าจะจัดการกับพื้นที่อย่างไร (ปลูกอะไร และเลี้ยงอะไร) ให้สามารถเลี้ยงตัวเอง ครอบครัว และสามารถปลดเปลื้องหนี้สินที่มีอยู่ได้ ดังนั้นจึงมีคนให้ความหมายที่สอดคล้องกันไปดังนี้ 

Dsc00269+%28wince%29
น้องกิ่งก็ทำประณีตเช่นกัน

พ่อผาย   สร้อยสระกลาง ปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน ได้ให้ความหมายว่าเกษตรกรรมแบบประณีตคือแนวคิดในการทำการเกษตร แนวคิดในการใช้ชีวิต ซึ่งหากผู้ปฏิบัติยึดเพียงรูปแบบการทำเกษตรประณีตในแปลง การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนก็อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ  เกษตรประณีตจะสมบูรณ์ต้องประกอบไปด้วยหลักคิดในการทำเกษตรผสมผสาน กับหลักคิดที่ต้องมีในตัวผู้ปฏิบัติ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาคนก่อนเป็นอันดับแรก

พ่อคำเดื่อง   ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานอีกท่านหนึ่ง ได้ให้ความหมายเกษตรกรรมแบบประณีตว่า เกษตรกรรมแบบประณีต เป็นการวางแผนการปลูกพืชหมุนเวียน สะสมธรรมชาติให้มากที่สุดในพื้นที่ที่จำกัด โดยเริ่มต้นจากที่น้อยๆ ค่อยเป็นค่อยไปประณีตในการทำด้วยปัญญา เมื่อพัฒนาความสามารถจนเข้าใจในสิ่งที่ทำดีแล้วก็สามารถขยายประมาณการผลิตขึ้นได้ตามต้องการ 

Dsc06128
เปลี่ยนต้นกระสังให้เป็นต้นมะนาวอย่างประณีต

ครูบาสุทธินันท์   ปรัชญพฤทธิ์  ครูภูมิปัญญา และปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานอีกท่านหนึ่ง ได้ให้ความหมายว่าเกษตรกรรมแบบประณีตเราไม่ได้ตีความหมายว่าเป็นกิจกรรม  แต่เป็นกระบวนการ วิธีเรียนชัดเจนกว่าคือต่อไปคนที่อยู่ภาคการเกษตรจะต้องทำอะไรให้ประณีตขึ้น ดูแลเอาใจใส่ หมั่นศึกษาหมั่นทดลอง ต่อไปคำว่าเกษตรกรรมแบบประณีตก็จะกลายเป็นวิธีเรียนวิธีทำของชาวบ้านซึ่งจะไปสอดคล้องกับคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง แต่เดิมเราไปอธิบายว่าเกษตรกรรมแบบประณีตคือการทำแปลงผัก 1 ไร่ มันไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันยังไม่พอ เพราะคนที่ทำอาชีพเกษตรต้องทำแบบผสมผสานหลายๆ อย่าง 

นพ. อภิสิทธิ์  ธำรงรางกูร มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จังหวัดขอนแก่น ผู้ร่วมบุกเบิกเกษตรกรรมแบบประณีต ได้ให้ความหมายว่า เกษตรประณีต 1 ไร่  เป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชจากระบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำนวนมากๆ และลงทุนมากๆ ด้วยความหวังที่อยากร่ำอยากรวยมาเป็นการทำการเกษตรแบบประณีตที่ให้ความสำคัญ กับการบำรุงน้ำบำรุงดิน ค่อยทำอยู่ทำกิน ปลูกทุกอย่างที่อยากกิน เหลือกินแจก เหลือแจกขาย จนกระทั่งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มพูนขึ้นสามารถปลดหนี้สินได้ สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มีความพอเพียง และได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาของคนในครอบครัว ตลอดทั้งญาติพี่น้อง มีการดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้ และในขณะเดียวกัน ยังมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับเพื่อนคนอื่นๆด้วย

Dsc00067
ประณีตแบบอโศก

ดังนั้นผมจึงคิดว่าเกษตรกรรมแบบประณีต (Intensive  Agriculture) น่าจะหมายถึง กระบวนการวางแผนการการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการทำงานด้วยความละเอียดรอบครอบ ใส่ใจในกิจกรรมที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เน้นกระบวนการผลิตที่หลากหลาย มีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และที่สำคัญการทำเกษตรกรรมแบบประณีตยังเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้งเพื่อที่จะให้ได้ทักษะ (Skills) และชุดความรู้ในการที่จะขยายผลในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นให้พอเพียงต่อการดำรงชีวิต  

แล้วก็มีคำถามต่อครับว่าแก่น หรือหลัก หรือ หัวใจสำคัญของเกษตรกรรมแบบประณีตอยู่ที่ใด และจากที่ผมได้พยายามสืบค้นมาก็คิดว่าน่าจะประกอบด้วย  

  1. การจัดการเรื่องดิน หรือเรียกว่าการออมดิน
  2. การจัดการเรื่องน้ำ หรือเรียกว่าการออมน้ำ
  3. การจัดการเรื่องพืช หรือเรียกว่าการออมพืช
  4. การจัดการเรื่องสัตว์ หรือเรียกว่าการออมสัตว์
  5. การจัดการเรื่องแสง
  6. การจัดการระบบการทำฟาร์ม 
    Dsc03646

ประณีตแบบพ่อสำเริง

ครับสำหรับประเด็นเรื่องของความหมายของคำว่าเกษตรกรรมแบบประณีตนั้น ผมคิดว่าอาจจะมีอีกหลายๆ ท่านที่เห็นสอดคล้องแต่อาจจะไม่ได้กล่าวถึงต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ แต่หากท่านจะกรุณาชี้แนะเพิ่มเติม ผมยินดีน้อมรับด้วยความเต็มใจ

 ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

19 มิถุนายน 2550

หมายเลขบันทึก: 104662เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2007 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • คงต้องศึกษาข้อดีและข้อเสียของแต่ละอย่างแล้วนำมาบูรณาการกัน
  • ขอให้หายเร็วๆๆนะครับ
  • ขอบคุณครับผม
  • ขอบคุณมากครับอาจารย์ขจิต ที่มีเมตตาจิต
  • ข้อดีของเกษตรประณีตคือมีอยู่มีกิน
  • ไม่เสี่ยง
  • ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เนื่องจากกระบวนการผลิตจะเน้นวัสดุที่เป็นอินทรีย์ครับ
  • อย่างไรก็ดีจะขอนำเสนอต่อในวันต่อไปครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท