ประสบการณ์ อินแปง-น่านฯ ๓ : การมีส่วนร่วม


การทำงานชุมชนในยุคนี้ก้าวสู่ยุค "หลังการมีส่วนร่วม" (Post-participation)

ประสบการณ์อินแปง-น่าน ในครั้งนี้สอนให้เห็น"การมีส่วนร่วม"ในมุมมองใหม่เอี่ยม

ขอเล่าประวัติศาสตร์ความคิดของการมีส่วนร่วมก่อนครับ

รูปแบบอันแสนคลาสสิกที่ผมในฐานะคนทำงานทันตสาธารณสุขมักจะทำคือ

1.เรียกประชุมชาวบ้าน (ถ้าจะให้ดีต้องมีคำว่า) "จากทุกภาคส่วน"

2.ถามว่ามี "ปัญหา (โรคในช่องปาก) อะไร" ที่อยู่ในวงเล็บก็เพราะคนในชุมชนก็รู้อยู่ในใจว่า คุณหมอๆ พวกนี้เขาทำอะไรไม่เป็นหรอกนอกจากสอนแปรงฟัน กับให้บริการหน่วยเคลื่อนที่ถอนฟัน

3.list ปัญหาก็จะเป็นประเภท "เด็กกินขนมมาก" "เด็กฟันผุ" "ผู้ใหญ่เป็นโรคเหงือก" "ผู้สูงอายุไม่มีฟันปลอมใส่" วนเวียนอยู่อย่างนี้

4.คุณหมอๆ ทั้งหลายก็จะให้ชาวบ้านโหวต ลงคะแนนว่า จะให้ความสำคัญกับปัญหาอะไรก่อน อาจจะมีเกณฑ์มาช่วยพิจารณาในการลงคะแนนตัดสิน เช่น ความยากง่ายของปัญหา, ความร่วมมือของชุมชน, ความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา ฯลฯ

5.ได้ข้อสรุปว่าจะเลือกปัญหาอะไรมาแก้ ซึ่งหนีไม่พ้น เด็กฟันผุ, โรคเหงือก ที่เก๋ขึ้นมาอีกหน่อยก็เป็นประเภท ขนมถุง, บุหรี่ หรือการใส่หมวกนิรภัยในการขี่รถจักรยานยนต์

6.คุณหมอๆ ก็จัดบอร์ดให้ความรู้ กระจายเสียงผ่านวิทยุชุมชนหรือเสียงตามสาย จัดรณรงค์เดินถือป้าย นัดผู้ต้องการทำฟันมารับบริการที่หน่วยบริการทำฟันเคลื่อนที่ ขั้นตอนนี้ถ้าจะให้เก๋ ก็มีการดึงเอาเด็กนักเรียน, ครู มาช่วยผลิตสื่อหรือนำเสนอ หรือประชาสัมพันธ์

7.เสร็จกิจกรรมในเวลาหนึ่งหรือสองวัน มีการประเมินความรู้ที่เพิ่มขึ้นของผู้เข้าร่วมกิจกรรม นับจำนวนคนที่มาร่วมกิจกรรม, ที่มารับบริการทำฟัน มีการทำรายงานสรุปผล แล้วก็ทึกทักเอาว่าชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นจากสิ่งที่เราได้ไปทำ

นี่คือ classic model ที่ฝังอยู่ในหัวของผมก่อนที่จะได้มาเปิดหูเปิดตาที่อินแปงกับน่านครับ

แต่สิ่งที่ได้ไปค้นพบก็คือ

  • ถ้าคิดจะมีส่วนร่วมให้ดี ต้องร่วมกันยาวๆ ครับ ร่วมกันแบบหุ้นส่วน ไม่ใช่แบบวูบวาบมาแล้วไป หรือมาปีละครั้ง ครั้งละสองสามวัน

 

  • ต้องคิดว่าคนในชุมชนเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" ในด้านชีวิตของเขา เราเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" เฉพาะเรื่องโรคในช่องปาก เวทีที่จะคุยกันเป็นเวทีของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองฝ่ายมาแลกเปลี่ยนอย่างเสมอภาค

 

  • จะให้ดีกว่านั้น ต้องไม่มีคำว่าทั้งสองฝ่าย เราจะควรถูกกลืนเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่จะขับเคลื่อนชุมชน เป็น "เพื่อนคู่คิด" ที่จะมองชุมชนในเรื่องสัพเพเหระต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม มากกว่าที่จะเป็น "ผู้เชี่ยวชาญที่คอยหาเรื่องแต่จะสร้างกิจกรรมเฉพาะส่วน"

 

  • อันนี้ชอบมาก เขาบอกกันว่า การทำงานชุมชนในยุคนี้ก้าวสู่ยุค "หลังการมีส่วนร่วม" (Post-participation) แล้ว แต่เข้ามาสู่ในยุค "การคุ้มครองสิทธิ" แทน กล่าวคือ ชาวบ้านเปลี่ยนจากฝ่ายตั้งรับมาเป็นฝ่ายเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ ที่จะทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นเสียเอง พวกเขาเป็นผู้เล่นหลัก ไม่ใช่ผู้เข้าร่วมอีกต่อไป ในขณะที่สิ่งที่ภาครัฐควรทำ ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้เล่นหลัก แต่ต้องทำตัวเป็นผู้คุ้มครองสิทธิ อันชอบธรรมที่ชาวบ้านพึงมีพึงได้ เช่น สิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเอง, สิทธิในการเข้าถึงบริการของรัฐอย่างเป็นธรรม

         องค์กรชุมชนเข้มแข็งมีเยอะแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

         เขากำลังส่งสัญญาณมายังภาครัฐว่า "ก่อนที่ท่านจะ (สะเออะ) มาช่วยอะไรเรา ขอให้ท่านทำหน้าที่ที่ท่านพึงทำ ให้ดีเสียก่อนเถอะ"

ตอบคำถามเราให้ได้ก่อนเหอะว่า ทำไมต้องปิดทำฟันวันศุกร์บ่าย, ทำไมต้องมารับยาเบาหวานได้เฉพาะวันพฤหัส, ทำไมต้องจำกัดคิวคนทำฟันทั้งๆ ที่ตอนบ่ายห้องก็โล่งไม่มีคนไข้ ฯลฯ

นี่คือสิทธิที่เราพึงได้รับการคุ้มครอง

ทำไอ้พวกนี้ให้ได้ก่อน แล้วท่านจะมาเป็นหุ้นส่วนช่วยคิดกับเราก็ยิ่งดี

 

คำสำคัญ (Tags): #มีส่วนร่วม
หมายเลขบันทึก: 103879เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2007 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท