การดูแลผู้ป่วยสุราที่มีภาวะความดันโลหิตสูง


( Hypertension)
                                     การดูแลผู้ป่วยสุราที่มีภาวะความดันโลหิตสูง  ( Hypertension)                                     โดย นางชุติกาญจน์   คำรศ               ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจโคโรนารี  โรคหลอดเลือดสมอง  โรคไต  และโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย  การควบคุมความดันโลหิต  จะช่วยลดภาวะอันตรายและอัตราการตายของผู้ป่วยได้มาก       ความดันโลหิต  หมายถึง  แรงดันในหลอดเลือดและเมื่อมีการบีบและคลายตัวของหัวใจ  ความดันโลหิตมี 2 ค่า  คือ ค่าความดันโลหิตตัวบนและค่าความดันโลหิตตัวล่าง โดยมีหน่วยวัดเป็น มิลลิเมตรปรอท  ซึ่งสามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน ( Syhygmomanometer) วัดที่แขน1.ค่าความดันโลหิตตัวบน หรือความดันซิสโตลิก ( Systolic  blood  pressure) คือ ค่าของแรงดันเลือดขณะที่หัวใจมีการบีบตัว เมื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายจะมีค่าสูง ซึ่งอาจจะสูงตามอายุ  ความดันช่วงบนในคนๆเดียวกันอาจมีค่าแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ตามท่าของร่างกาย  การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และปริมาณของการออกกำลังกาย2 ค่าความดันโลหิตตัวล่าง หรือความดันไดแอสโตลิก ( Diastolic  blood  pressure) คือ ค่าของแรงดันเลือดในขณะที่หัวใจมีการคลายตัว  เพื่อรับเลือดที่กลับจากไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมาแล้วจะมีค่าต่ำ   ความดันโลหิตสูง  หมายถึง การมีค่าความดันโลหิตตัวบนเท่ากันหรือมากกว่า 140  มิลลิเมตรปรอท  และ/ หรือค่าความดันโลหิตตัวล่างเท่ากับหรือมากกว่า 90  มิลลิเมตรปรอท      ความดันโลหิตสูงมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีสาเหตุ  เช่น  จากโรคของเนื้อไต และหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต จากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ  จากความผิดปกติของระบบประสาท  และภาวะตั้งครรภ์  และชนิดไม่ทราบสาเหตุ  ซึ่งผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่   ร้อยละ 92- 94 เป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ  (Primary  hypertension) ซึ่งมีทฤษฏีที่พยายามอธิบายสาเหตุการเกิดมากมาย  พบว่ามักจะมีญาติสายตรงในครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูงด้วย  กลไกการเกิดอาจเกี่ยวข้องกับการที่  Sympathetic nervous  system  มี  Activity  มากขึ้น   การสร้างฮอร์โมนบางชนิดที่มีผลต่อการเก็บโซเดียมมากผิดปกติ  การรับประทานเกลือโซเดียมมากผิดปกติ  การขาดสารขยายหลอดเลือด เช่น Prostagandins  ความผิดปกติแต่กำเนิดของเส้นเลือด  ความอ้วน ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้มีผลต่อความดันโลหิต  โดยการเพิ่มปริมาตรเลือดที่หัวใจ  สูบฉีดใน 1 นาที และ/ หรือ การเพิ่มแรงต้านของหลอดเลือดจึงทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นเนื่องจาก   BP ( Blood Pressure)= Cardiac  out  put= Blood  Volum  X Total peripheral  Resistance             นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม  ที่มีผลต่อการเกิดความดันโลหิตสูง เช่น ภาวะเครียด   อาชีพที่ต้องเผชิญกับความเครียดบ่อยๆ   การขาดสารอาหาร แคลเซียม  โปแตสเซียม   วิตามินเอ  วิตามินซี และการรับประทานโซเดียมมากเกินไป   แบบแผนการดำเนินชีวิต  เช่นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   การสูบบุหรี่  การดื่มกาแฟ  การออกกำลังกาย  บุคลิกภาพ  ฐานะทางเศรษฐกิจ                 ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่  มักไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง  เมื่อปล่อยให้โรคดำเนินการไปเรื่อยๆ จะพบอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย  โดยเฉพาะหลังตื่นนอนตอนเช้า    ตามัว   เลือดกำเดาไหล  เวียนศีรษะ  ใจสั่น  อ่อนเพลีย   เมื่อความดันโลหิตสูงในระยะนานและอวัยวะเป้าหมายถูกทำลาย อาจพบอาการปัสสาวะมาก ผิดปกติ  ใจสั่นและเจ็บหน้าร่วมด้วย  เช่น หัวใจห้องล่างซ้ายโต จนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจวาย  มีผลต่อสมองทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองตีบตัน  เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ   มีผลต่อไตอาจเกิดภาวะไตวายจากเลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ  มีผลต่อตาจะเกิดภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดงภายในลูกตาอย่างช้าๆ  หลอดเลือดตีบตัน  เลือดออก ทำให้ประสาทตาเสื่อม  ตามัวเรื่อยๆจนตาบอดได้                 เป้าหมายของการรักษาความดันโลหิตสูง คือ การลดความดันโลหิตลงมาสู่ปกติ และลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ  การรักษาความดันโลหิตสูงจึงมีทั้งการรักษาด้วยยาและการรักษาที่ไม่ใช้ยา ซึ่งเป็นการปรับแบบแผนการดำเนินชีวิต1.การรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ใช้ยา ( Non  pharmacologic  treatment)   โดยใช้ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ในระดับน้อย  และใช้วิธีนี้ในการรักษาผู้ที่มี   ความดันโลหิตอยู่ในระดับปลานกลาง  และความรุนแรงควบคู่ไปกับการใช้ยา   การรักษาโดยไม่ใช้ยาเป็นการปฏิบัติตนนอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตสูง  และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ  ซึ่งการปฏิบัติตนประกอบด้วย           1.1 การลดน้ำหนัก   การลดน้ำหนักในคนอ้วนที่น้ำหนักเกินร้อยละ 10-20  ของน้ำหนักมาตรฐาน  ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับน้อยลดน้ำหนักได้มากกว่า 4.5 กิโลกรัม  ทำให้ความดันโลหิตลดลงสู่ระดับปกติได้          1.2 การลดอาหารเค็ม   การลดอาหารเค็ม   จำกัดปริมาณโซเดียม ที่รับประทานมีผลดีต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะช่วยลดความดันโลหิตลงได้  โซเดียมที่รับประทานในวันหนึ่งๆ ให้ประมาณ 2,000 มิลลิกรัม หรือต่ำกว่า         1.3 การลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว  เพื่อลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด   เนื่องจากระดับโคเลสเตอรอลส่งเสริมให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้          1.4 ลดการดื่มแอลกอฮอล์   คนที่ดื่มสุรามากทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น   ถ้าดื่มเป็นประจำจะทำให้ยาลดความดันไม่มีประสิทธิภาพ          1.5 การเลิกสูบบุหรี่  เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้หลอดเลือดหดตัวทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง          1.6 การออกกำลังกาย  การออกกำลังกายแบบแอโรบิคมีผลทำให้ลดความดันโลหิตสูง  การออกกำลังกายทำให้ระดับ Catecholamine  ลดลง   จึงลดการกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก  การออกกำลังกายแบบแอโรบิคช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมัน จึงช่วยช่วยเสริมการลดน้ำหนักในคนความดันโลหิตสูงที่มีรูปร่างอ้วนด้วย          1.7 การจัดการกับความเครียด  เนื่องจากความเรียดทำให้เพิ่มความดันโลหิตสูงขึ้นได้  การเรียนรู้ทักษะในการจัดการกับความเครียดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง2  การักษาความดันโลหิตสูงโดยการใช้ยา  ( Pharmacologic  treatment)  ปัจจุบันใช้ยาในการักษาทั้งหมด 7 กลุ่ม          2.1 ยาขับปัสสาวะ           2.2 ยากั้นเบต้า  ( Beta Blocker) เช่น  propamolol , atenolol  ออกฤทธิ์โดยการลด Cardiac  output          2.3 ยาต้านแคลเซียม ( Calcium  antagonist ) เช่น  Verapramil , nefidipine         2.4 ยาขยายหลอดเลือด( Vasodilators ) เช่น  hydralazine , mioxidil         2.5 ยาต้านระบบเรนิน ( Renin angiotensin  inhibitors ) เช่น Captopil , Enalapil         2.6 ยากั้นแอลฟา ( Alpha  blocker ) เช่น  Prazosin         2.7  ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง   ( Centrally  acting  adrenergic inhibiting  compound ) เช่น  methydopa          การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยสูงอายุ  มีข้อจำกัดจากความเสื่อมทางสรีระ  ความสามารถในการปรับตัวลดลง  มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย  การวางแผนการจำหน่ายต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากทีมสุขภาพ  ผู้ป่วย ผู้ดูแลและครอบครัว  พยาบาลเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย  จะต้องประเมินปัญหาและความต้องการการดูแลต่อเนื่อง  ภายหลังจำหน่ายผู้ป่วยต้องวางแผนร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว  และบุคลากรในทีมสุขภาพ  เพื่อกำหนดเป้าหมายต่างๆในการปฏิบัติ   แผนการให้ความรู้  แผนการฝึกทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการดูแลสุขภาพ
คำสำคัญ (Tags): #hypertension
หมายเลขบันทึก: 103577เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2007 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท