เบาหวาน เรื่อง น่ารักๆ ของสุรินทร์ (ภาค 1)


เราจะถามสุรินทร์ทุกครั้งหลังพบแพทย์ ว่าวันนี้เรามีสัญญา อะไรกันไว้บ้าง สุรินทร์จะตอบทันทีเสียงดังฟังชัด ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ....... และตบท้ายว่า “สุรินทร์ทำได้ และสุรินทร์ก็จำได้ด้วย”

 

 

เบาหวาน เรื่อง น่ารักๆ ของสุรินทร์ (ภาค 1) 

.... จากการคัดกรองของ PCU อรัญญิก ที่เฝ้าติดตามเจาะเลือดสุรินทร์ทุกปี ผลการเจาะเลือด 4 5 ปี ที่ผ่านมาปกติ แต่สุรินทร์เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เราต้องติดตามทุกปี จนในที่สุดปี 2549 พบ FBS 300 กว่าๆ และสุรินทร์ก็ถูกส่งต่อมาอยู่ในคลินิกเบาหวาน ของเราสุรินทร์ อายุ 46 ปี  ประวัติการเจ็บป่วยเป็น Schizophenia  ทานยาประจำ เห็นผี+หูแว่ว ทุกวัน สามีก็เป็นเช่นเดียวกัน เช่าบ้านหลังเล็กๆอยู่แบบแออัด อาศัยอยู่กับลูกชาย สะใภ้+หลานอายุ 6 เดือน.........เราจัดให้ สุรินทร์เป็น..กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง+กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน  ซึ่งโอกาสของกลุ่มดังกล่าวต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพค่อนข้างน้อย ต้องการการบริการสุขภาพในทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสภาพ  รวมถึงการการดูแลอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง การรักษาของสุรินทร์ แพทย์พิจารณาให้ยาฉีดมา 3  ครั้งแต่ก็ฉีดไม่ได้มีปัญหาหลายอย่างแต่หลักๆก็เป็นเพราะสุรินทร์ตามัวมองไม่เห็น อ่านหนังสือไม่ออก  ในการมาตรวจแต่ละครั้ง ญาติไม่มาด้วย อ้อกำลังหา key person ใครจะมาช่วยดูแล สุรินทร์ และช่วยฉีดยา ในขณะที่ระดับน้ำตาลอยู่ระหว่าง  300-400 mg% ตลอดระยะเวลาที่รอคอยหาตัวช่วย... 

  • ครั้งแรก+ครั้งที่ 2 อ้อแนะนำให้สุรินทร์พาลูกชายมาโดยการเขียนหนังสือบอกเหตุผล 2 ครั้ง แต่ก็ไม่มา มีแต่สุรินทร์มา ร.พ. คนเดียว ถ้าเรามองในมุมเดียว ไม่ได้มองปัญหารอบด้าน มองเรื่องราวเพียงผิวเผินอาจดูเหมือนญาติทอดทิ้ง ใจร้ายใจดำจัง อะไรทำนองนั้น แต่เมื่อได้ฟังการบอกเล่าของสุรินทร์ทำให้เราเข้าใจสภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่ทำให้ลูกชายต้องทำงานเพื่อปากท้อง ที่รายได้ทั้งบ้านมาจากลูกชาย ทำอาชีพรับจ้างทำหมู รายได้วันละ 240 บาท ทำงานตั้งแต่ 3 ทุ่ม ถึง12 .00 น มาถึงบ้านก็หมดแรง ขาดงานก็มีปัญหา ป่วยไม่ได้ ลาไม่ได้ อะไรประมาณนั้น 
  • ครั้งที่ 3  เราพยายามให้สุรินทร์มีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาและวางแผนการดูแลตนเอง เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก และในที่สุดสุรินทร์ก็พาสามีมา สุรินทร์บอกเราอย่างภูมิใจว่า วันนี้นะ สุรินทร์พาสามีมา สามีจะฉีดยาให้  และชี้ไปที่สามี อ้อก็มองหา ไม่เห็น ก็ใครจะไปนึกว่าลุงแก่ๆ ที่นั่ง wheel chair ขาใส่เผือก หน้าตาท่าทางอิดโรย    เป็นญาติของสุรินทร์ มองผ่านๆก็นึกว่าเป็นคนไข้ที่มารอตรวจ  พอหมอขอพบญาติ เราก็ส่งลุงเข้าไป ก็เป็นไปตามความคาดหมาย ประเมินแล้วฉีดยาไม่ได้เช่นเดิม  สภาพร่างกายไม่เป็นอุปสรรค แต่สายตาไม่เอื้ออำนวย แถม ลุงยังมีอาการทางจิตเวชที่มากกว่า สุรินทร์อีก  เป็นอันว่าครั้งนี้ ก็ยังไม่ได้เริ่มยาฉีด  ถึงครั้งนี้จะยังไม่สำเร็จแต่เราก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายทาง แล้วหล่ะ 
  • ครั้งที่ 4  จากการพูดคุยปัญหากับสุรินทร์ และให้สุรินทร์หาแนวทางแก้ไขปัญหาของตนเองร่วมกันกับเราอีกครั้ง ใครจะรู้สุรินทร์ทำได้  และครั้งนี้สุรินทร์มาก่อนนัด พร้อมลูกสะใภ้อายุ 18 ปีที่สุรินทร์ไปกล่อมให้มาช่วยดูแลตนเองในการฉีดยา ตอนนี้ปัญหาที่ 1 ผ่านไป สุรินทร์เป็นคนไข้ที่น่ารัก ที่รักและเชื่อหมอ-พยาบาลมาก สุรินทร์ไม่ใช่ทำตามคำบอกของเราว่าต้องทำอย่างโน่นอย่างนี้ แต่สุรินทร์จะขอเหตุผลและถามว่าทำไม ถ้าเราบอกแบบไม่กระจ่างและทำให้สุรินทร์สงสัย สุรินทร์ก็จะมีเรื่องการปฏิบัติตัวที่แปลกๆ ตามที่สุรินทร์คิดเอาเองว่าดี .....ตอนนี้สุรินทร์มีคนฉีดยาให้แล้ว แต่ก็ยังคุมน้ำตาลไม่ได้ พูดคุยไปๆมาๆก็เลยได้ความลับ อย่างเช่น
  • 1.ไม่ทานข้าวเช้า ทานแต่ กาแฟ
  • 2.สั่งญาติฉีดยาวันเว้น 2 วัน เพราะเข้าใจว่าน้ำตาลดีแล้วร่วมกับอยากทดลองดูว่าดีหรือเปล่า
  • 3.ตั้งแต่ป่วยหูแว่วจะย้ำคิดย้ำทำโดยการทานขนมถ้วย วันละ 10 บาททุกวัน
  • เราพูดคุย และตกลงการดูแลตนเองของสุรินทร์ ในการลด-ละ-เลิก การปฏิบัติดังกล่าว  เราคาดหวังการปฏิบัติไว้ 50 %  เราตั้งเกณฑ์ด้วยข้อจำกัด ในด้านการรับรู้ ความจำ ของสุรินทร์  แต่เชื่อไหมคะ สุรินทร์ทำได้ 100%  
  • 1. เลิกดื่มกาแฟ  (ครั้งหน้าจะเล่าให้ฟังว่าเราไปเยี่ยมบ้านเจออะไร)
  • 2. ตั้งปฏิทินในตัวเองในเรื่องการฉีดยา ทุกวัน
  • 3. ไม่ต้องไปถ้ำกระบอกก็เลิกขนมถ้วยได้แบบหักดิบ       เป็นแค่ตัวอย่าง 3 ข้อ ที่เราประทับใจ ยังมีอีกหลายๆข้อ ที่สุรินทร์ทำได้  ไม่ว่าจะเป็นปริมาณอาหารที่ต้องทานต่อมื้อ  การนอนหลับ ( การออกกำลังกาย เรายังไม่ได้สอน เพราะ เราเกรงว่าสุรินทร์ที่มีน้ำหนักตัวมาก จะไปออกกำลังกาย จนหลาน อายุ 6 เดือน นอนหลับไม่ได้ หรือไม่ก็กระโดดจนบ้านสั่นสะเทือน สุดท้ายอาจได้โรคปวดเข่าตามมา )ถ้าสุรินทร์รับปาก  เราจะถามสุรินทร์ทุกครั้งหลังพบแพทย์ ว่าวันนี้เรามีสัญญา อะไรกันไว้บ้าง  สุรินทร์จะตอบทันทีเสียงดังฟังชัด ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ....... และตบท้ายว่า สุรินทร์ทำได้ และสุรินทร์ก็จำได้ด้วย  
  • วันนี้ที่คลินิกเบาหวาน เหมือนมีเด็กเล็กๆ 1 คน แต่เป็นคนไข้ที่น่าจะเอาเป็นตัวอย่าง good model ให้คนไข้คนอื่นได้ดูเป็นตัวอย่างจริงๆ  
  • เดือนหน้า อ้อมีนัดไปหา สุรินทร์ที่บ้านพร้อม เภสัชกร และพยาบาลประจำ PCU สนใจไปให้กำลังใจสุรินทร์ ไหมคะแต่เอ๊ะ สงสัยไหมคะทำไม ต้องไปดูแลสุขภาพสุรินทร์ที่บ้าน คราวหน้าจะมาเฉลยคะ 

  • ผู้เล่า รัชดา พิพัฒน์ศาสตร์

 

คำสำคัญ (Tags): #สุรินทร์
หมายเลขบันทึก: 102848เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2007 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • อ้อจ๊ะ  วันนี้คุณสุรินทร์ มาตรวจตามนัดพร้อมกับสามี  พร้อมกับระดับน้ำตาลที่น่าพอใจทีเดียว พวกเราทีมงานเบาหวานในวันนี้ยังให้กำลังใจและคำชื่นชมไปด้วย คุณสุรินทร์ยิ้มแก้มปริเลยค่ะ นี่แหละค่ะ ชีวิตเลือกได้ ดีไซน์ ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเองก็ต้องตนเองเท่านั้นที่รู้ และเลือกปฏิบัติ

เรื่องแบบนี้เป็นเรื่อง จริง  ๆ  เป็นชีวิตจริง ๆ แต่เรามักไม่ค่อย ได้มีโอกาส หรือหาโอกาส ที่จะรู้จักความจริง

เรื่องนี้ดีมาก  ๆ  เลยครับ  อยากให้มีทีม แบบนี้ ทั่วประเทศไทย อยากให้เล่าให้ฟังแบบนี้บ่อย  ๆ 

อ่านเรื่อง สุรินทร์ สนุกมากครับ และเศร้ามากด้วย(เพลงใน blog ประกอบมาเป็นระยะ )

วันนี้ที่ ธาตุพนมมีคนไข้ที่เป็นจิตเวช มา Admit ที่ รพ.ครับ ด้วยสาเหตุ ไม่ยอมฉีด insulin มันช่างเหมือน สุรินทร์ ของพิษณุโลกซะเนี่ยกะไร  ยิ่งอ่านยิ่งเหมือน มันเหมือน ดูรายการ"วงเวียนชีวิตเลยครับ"

ผมจะเอาเรื่องนี้ให้ทีม เยี่ยมบ้านที่ธาตุพนมอ่าน นะครับ เพราะต้องต่อสู้ปัญหาอย่างท้าทายเช่นกัน

ขอบคุณทีมพุธชินราชครับ

  • ขอเป็นกำลังใจให้สุรินทร์ ด้วยคน น่ารักมากเลยทั้งสุรินทร์และทีมเบาหวาน ร.พ พุทธชินราช นะคะ
  • น้องอ้อ...เล่าเรื่องได้น่าอ่าน และสนุกด้วย
  • เพลงเศร้าไปหน่อย อย่างที่ คุณเอนก บอกเลย
อ้อจ้ะ! ภาคภูมิใจกับน้องๆทีมงานเบาหวานจริงๆนะที่ทุ่มเททั้งกำลังกายกำลังใจหวังเพื่อคนไข้ที่ดูแลได้มีชีวิตอยู่กับโรคที่ตัวเองเป็นอย่างมีความสุข ได้อ่านชีวิตของสุรินทร์วันนี้เศร้ามากๆแถมได้ยินเพลงประกอบจากบล็อกทำให้น้ำตาไหลออกมาไม่รู้ตัวจริงๆ จะรอติดตามอ่านชีวิตของสุรินทร์ตอนต่อไปนะ
     เรารู้ว่าอ้อไม่ได้เศร้าเมื่อเล่าถึงเรื่องนี้ เรากลับรู้สึกว่าเรื่องนี้เต็มไปด้วย ความรัก ความปรารถนาดี และความชื่นชม เป็นสิ่งที่ดีที่ได้อ่านได้รับรู้ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น  ดีใจนะที่อ้อและทีมมีความสุขกับการทำงาน นั่นหมายถึงความสุขของคนป่วยที่เราดูแลด้วยนะ

สวัสดีค่ะคุณอ้อและทีมงานทุกคน ตั้งใจจะเข้ามาบอกว่าได้เขียนต้นฉบับหนังสือ "มหัศจรรย์KMเบาหวาน"เสร็จวันนี้เอง ช่วงที่เขียนหนังสือห้องทำงานอย่างกับพายุลง รกมาก เก็บกวาดเสร็จก็เลยอยากมาบอกข่าวดีนี้และขอบคุณในข้อมูล การเล่าเรื่อง เรื่องเล่าที่มีชีวิต ทั้งสะเทือนอารมณ์แต่สร้างรอยยิ้มได้ เป็นวิธีการที่ดีมากๆเลยค่ะ ได้ใช้สิ่งที่ทุกคนเขียนไว้ในบล็อกมากเลยค่ะ

คุณหมออเนกบอกว่าเหมือนวงเวียนชีวิต ปกติพี่จะไม่ชอบดูรายการเศร้าหดหู่แบบนั้นเลย ดูแล้วรู้สึกสังคมช่างคับแค้น ปล่อยผู้คนเหล่านั้นให้จมกองทุกข์ พอเรารู้แล้วช่วยไม่ได้ ก็รู้สึกหดหู่เพราะยังวางอุเบกขาได้ไม่หมด

แต่พี่เองรู้สึกว่าสิ่งที่คุณอ้อและทีมงานถ่ายทอดมันน่าติดตามเพราะ เห็นความเข้าใจ ความเมตตา กรุณาที่ใส่ลงไป อ่านแล้วหัวใจมันชุ่มชื่น เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่เพียงเห็นด้วยที่สุดว่าสุรินทร์ น่าเป็น good model วิธีการที่ทีมงานทำก็เป็น good model ในตัวเองอยู่ด้วย

ขอชื่นชมในความทุ่มเทและเป็นกำลังใจให้เสมอนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท