พรบ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นในฐานะhardware เสริมการจัดการความรู้เมืองนคร


เมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าใจเจตนาและร่วมกันแก้ไขอย่างดีแล้ว ก็คงจะให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญฉบับนี้ ซึ่งจะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปอย่างมากทีเดียว

งานพัฒนาชุมชน/สังคมกรณีจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยการนำของผู้ว่าราชการจังหวัด   มีเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนอินทรีย์เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์เมืองแห่งการเรียนรู้ น่าอยู่ และยั่งยืน

ชุมชนอินทรีย์คือชุมชนที่มีชีวิต มีการเรียนรู้อย่างเป็นปกติอยู่ในวิถีชีวิต คือ รู้เท่า รู้ทัน รู้กัน รู้แก้ และมีวิถีชีวิตพอเพียงตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เพื่อที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ท่านสรุปจากประสบการณ์ได้ 5 ปัจจัย แต่ผมขอย่อเหลือ 4 คือ

1)มีคณะผู้นำที่มีคุณภาพและมีการสืบทอด

2)มีกระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน

3)มีสถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน

4)มีการจัดการความรู้(เพื่อนำแผนสู่การปฏิบัติและสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง)

ในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุผล ท่านใช้การจัดการความรู้โดยเน้นการสร้างความเข้าใจ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น รวมทั้งภาคชุมชน ประชาสังคมและภาคีวิชาการ โดยการประสานความร่วมมือ อาศัยระบบหรือกลไกที่มีอยู่ทั้งหมด ตลอดจนทักษะการเป็นผู้นำโดยทำให้ดูเป็นตัวอย่างและการสร้างความสัมพันธ์แนวระนาบอย่างยากที่จะหาผู้ว่าราชการจังหวัดคนใดทำได้ โดยท่านหวังว่ากระบวนการทางสังคมที่ขับเคลื่อนร่วมกันอย่างขนานใหญ่ด้วยการจัดทำบัญชีครัวเรือน และแผนแม่บทชุมชนระดับหมู่บ้าน ตำบลทั่วทั้งจังหวัดจำนวน 165 ตำบล 1,551 หมู่บ้าน จะมีพลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบจนเป็นกระแสที่ทำให้บุคคลที่เข้ามาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนต่อไปต้องร่วมดำเนินการด้วย สรุปคือ ท่านเห็นว่าแม้ขบวนการจะเริ่มจากผู้นำแต่ก็ไม่ควรขึ้นอยู่กับผู้นำหลังจากดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ผมพบว่าอุปสรรคของระบบราชการหรือ   ที่ผมเรียกว่าhardware มีความรุนแรงมากจนทำให้ความตั้งใจดีของผู้นำและข้าราชการจำนวนมากที่เข้าร่วมขบวนการเกิดความท้อแท้ สิ้นหวัง แม้ว่าอุปสรรคในการดำเนินงานมิใช่มาจากปัญหาของระบบทั้งหมด หลายประการมาจากเจตคติและทักษะความรู้ของคนทำงาน               (ซึ่งก็เนื่องมาจากระบบอยู่มากนั่นเอง) ผมเองเข้าร่วมขบวนการในฐานะผู้สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้คนหนึ่ง พยายามทำความเข้าใจระบบหรือกลไกที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้เพื่อหาทางคลี่คลายด้วยวิธีการต่างๆตามแนวทาง การจัดการความรู้ ดังนี้

เป็นที่ทราบดีว่า ระบบราชการที่เราเกี่ยวข้องอยู่มีการคลี่คลายตัวมาตามลำดับ             ถ้าวิเคราะห์ตามทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่คือ สภาพสังคมเปลี่ยน กลไกบางกลไกอาจหมดหน้าที่หรือไม่มีความจำเป็นในการดำรงอยู่ต่อไป ถ้าว่าด้วยเรื่องของการช่วงชิงพื้นที่เพื่อการดำรงอยู่      ก็เป็นการต่อสู้ของอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ ทั้งหลายทั้งปวงมาจากแนวคิดเรื่องการแข่งขันที่น่าจะมีรากฐานมาจากทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วินนั่นเอง

กลไกของระบบราชการคือ ราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น โดยที่ราชการส่วนภูมิภาคถือเป็นแขนขาของราชการส่วนกลางและเป็นกลไกที่ยังยึดลูกที่เป็นราชการส่วนท้องถิ่นไว้กับสายสะดือ มีอุปสรรคสำคัญ3ประการคือ

1)หน่วยจัดการอยู่ที่ส่วนกลางในระดับกรมที่แยกส่วนกันทำแม้ในกระทรวงเดียวกัน

2)กระบวนการเลือกตั้งของท้องถิ่นยึดโยงกับการเมืองระดับชาติซึ่งเป็นเรื่องของ

ผลประโยชน์ต่างตอบแทนส่วนบุคคลและเครือญาติซึ่งทำให้เกิดการแตกแยกในชุมชนค่อนข้างมาก

            3)กระบวนการทางงบประมาณรายปีที่ไม่กระจายอำนาจและไร้ประสิทธิภาพ

ที่จริงราชการส่วนท้องถิ่นก็มีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้ามาตามลำดับ ตั้งแต่หัวหน้าราชการส่วนภูมิภาคเป็นประธานโดยตำแหน่ง มาเป็นการเลือกตั้ง แล้วเลือกนายกภายในสภาท้องถิ่น จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นการเลือกนายกฯท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องหน่วยจัดการให้ย้ายมาอยู่ในท้องถิ่นอย่างชัดเจนขึ้นมาก แต่ก็ยังติดอยู่กับอุปสรรคในข้อที่2และ3 ที่ทำให้งบประมาณของรัฐเป็นเพียงเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ทางแก้ด้วยการผ่าตัดไม่สามารถทำได้แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่มีอำนาจล้นฟ้าอย่างรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่ผ่านมา (ซึ่งผมเห็นว่ามีความตั้งใจในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก) การรวบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอเป็นผู้แก้ปัญหาความซ้ำซ้อนและมีอำนาจบัญชาการอย่างเป็นเอกภาพและเบ็ดเสร็จก็ทำได้อย่างจำกัดด้วยระเบียบที่ผูกมัดไว้          

อีกช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลใช้คือ การจัดตั้งองค์การมหาชน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) เป็นต้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐ ซึ่งแม้ว่าจะทำให้การทำงานคล่องตัวขึ้นและเป็นผลในการกระตุ้นระบบราชการที่มีอยู่เดิมให้เกิดการเปรียบเทียบ แต่ระบบทั้งหมด       ที่กล่าวถึงก็ไม่สามารถคลี่คลายอุปสรรคในการดำเนินงานจัดการความรู้เพื่อสร้างชุมชนอินทรีย์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากอุปสรรค เป้าหมายและกระบวนการที่พวกเราใช้ในการขับเคลื่อนชุมชนอินทรีย์ในจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว ผมเห็นว่าพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นถือเป็นhardware ตัวใหม่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะเข้ามาเสริมhardwareตัวอื่นๆเพื่อช่วยคลี่คลายอุปสรรคสำคัญ3ข้อข้างต้นเพื่อขับเคลื่อนงานไปสู่เป้าหมายได้เป็นอย่างดีสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นคือองค์คณะของผู้นำกลุ่มองค์กรในชุมชนท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการเรียนรู้ พัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง มีบทบาทหลักในการจัดทำแผนแม่บทชุมชนเพื่อกำหนดทิศทาง เป้าหมายและการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนในชุมชนโดยเน้นการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเป็นหลัก ถ้าจะมีงบประมาณก็เพื่อการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนตามภารกิจหลักที่กำหนดไว้ เมื่อได้แผนมาแล้วองค์กรก็เอาไปใช้ประโยชน์โดยดำเนินการกันเองหรือร่วมกันทำแบบเครือข่าย โดยมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเรียนรู้ระดับจังหวัดและระดับชาติ      โดยเนื้อหาหลักก็มีเพียงเท่านี้ ส่วนอื่นๆที่จะเป็นผลพลอยได้คือส่วนเสริม เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจเห็นว่าแผนงานหรือกิจกรรมใดมีประโยชน์ก็อาจจะให้การสนับสนุนหรือเข้ามาร่วมดำเนินการตั้งแต่ต้นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นการร่วมงานแบบสมัครใจและได้ประโยชน์ร่วมกัน ในส่วนของกำนันผู้ใหญ่บ้านก็อาจจะเป็นหนึ่งในกรรมการสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นที่ไม่ได้ยึดโยงกับกระทรวงมหาดไทยและการเมืองเรื่องเลือกตั้งทั้งสภาท้องถิ่นระดับตำบล จังหวัดและระดับชาติ เพราะเป็นเรื่องของชุมชนท้องถิ่นที่มาจากผู้นำองค์กรชุมชนและสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิที่องค์กรชุมชนท้องถิ่นสรรหาโดยตรง ถ้าจะนับว่าเป็นการเมืองก็น่าจะเป็นการเมืองตามแนวทางสมานฉันท์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้นำที่ไม่ชอบการเมืองเรื่องเลือกตั้งได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนอย่างต่อเนื่อง ผลดีที่อาจจะเกิดขึ้นคือ สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นอาจเป็นเวทีฝึกฝนและควบคุมการเป็นผู้นำในสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการขึ้นเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านให้เข้าไปทำหน้าที่เพื่อท้องถิ่นของตนเองด้วยคุณธรรมและความสามารถโดยไม่เกิดความแตกแยก ดังกรณีตัวอย่างที่ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นต้น

ตามแนวทางการจัดการความรู้ การย้ายงานพัฒนาให้องค์กรชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพดำเนินการคือการระบุบุคคลสำคัญที่จะมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ตรงเป้าหมายที่สุด ซึ่งศัพท์เทคนิคด้านการจัดการความรู้เรียกว่า คุณกิจ(กรรม) บทบาทของส่วนราชการในฐานะผู้สนับสนุนการเรียนรู้หรือ คุณอำนวย ซึ่งโครงการKMเมืองนครโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด      ได้ลงทุนลงแรงและสติปัญญาสร้างความเข้าใจมากว่า3ปีก็จะเป็นจริงขึ้นโดยง่าย โดยที่การขยายผลให้เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศก็จะทำได้โดยไม่ยากเย็นนัก จากการสรรหาตัวช่วยในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของชุมชนตามที่กำหนดไว้ในพรบ. โดยใช้กระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้จักตนเอง รู้จักชุมชนท้องถิ่นของตน และรู้จักโลกภายนอกที่กว้างไกลออกไปจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาตนเองเพื่อก้าวไปสู่ชุมชนอินทรีย์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

การตราพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นจึงถือเป็นยุทธศาสตร์รุกแบบตั้งรับของรัฐบาล โดยการรุกให้องค์กรชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ(คุณกิจ) ถัดมาคือการสนับสนุนกำลังคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่นทั้งหมดให้พร้อมรับเพื่อเป็นตัวช่วยในฐานะผู้สนับสนุนการเรียนรู้(คุณอำนวย)ที่มีความสามารถทั้งทักษะและความรู้อย่างพอเพียง

ผมเห็นด้วยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก แต่เชื่อว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าใจเจตนาและร่วมกันแก้ไขอย่างดีแล้ว    ก็คงจะให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญฉบับนี้ ซึ่งจะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปอย่างมากทีเดียว

 
หมายเลขบันทึก: 102815เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2007 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กระผมกำลังสนใจประเด็นนี้พอดีครับ

ติดตามอ่านเรื่อยๆครับ คิดว่าข้อมูลในอินเทอร์เนตมันน้อยไป

เมื่อสักครู่แลกเปลี่ยนกับปลัดอำเภอท่านหนึ่งเรื่องนี้ ก็คิดว่า ประเด็นนี้เราควรนำมาแลกเปลี่ยนในวงกว้างมากขึ้น

จะติดตามต่อเรื่อยๆนะครับ

อาจารย์ภีมคะ

ขอบคุณที่  blog rviolet "สถานการณ์องค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชน" ให้ข้อมูล ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนไว้  ซึ่งเป็นประโยชน์มากค่ะ

แต่เพิ่งสังเกตว่า  จริงๆแล้ว ขณะนี้ พรบ.มี 2 ร่าง  ไม่ทราบว่าข้อมูลใน rviolet เป็นร่างแรกหรือร่างสองคะ  (ทำให้เห็นความสำคัญของ "การอ้างอิง" ขึ้นมาทันทีค่ะ)

เท่าที่อ่านจากไทยรัฐ  ร่างที่สองตัดทอนข้อความไปเยอะพอสมควร  

บางท่านถามถึงความแตกต่างจาก พรบ.วิสาหกิจชุมชน  ฯลฯ

ถ้ามานั่งวิเคราะห์กันจริงๆ (รวมถึง พรบ.อื่นๆ  เช่น พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช .... ) คงจะทำให้เห็นภาพของ "สิทธิชุมชน" ในมิติต่างๆ ทั้งระบบนะคะ   ไม่ทราบว่าทีมวิจัยด้าน กม.ในงานสังเคราะห์สวัสดิการชุมชนจะสนใจไหม   เป็นอีกเรื่องใหญ่ๆ หนึ่งเรื่องเลยค่ะ

น่าจะเป็นร่างแรกครับ คุณศักดิ์ณรงค์กรุณานำทั้ง2ร่างมาลงไว้ใน http://gotoknow.org/blog/66489/102760 ครับ

 

ยินดีครับ การแลกเปลี่ยนความรู้จะทำให้ชุมชนเข็มแข็งขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท