มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐในต่างประเทศ


 

          ในการประชุม กพอ. วันที่ ๒๕ พ.ค. ๕๐   ประธาน คือ ท่าน รมว.ศึกษาธิการ  ศ.ดร.วิจิตร  ศรีสะอ้าน  
เล่าเรื่องการไปดูงานต่างประเทศเรื่องการออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ และญี่ปุ่น

          ในสิงคโปร์ เขาไม่เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า corporatization   แต่เรียกว่า public autonomous university   ซึ่งก็ตรงกับในบ้านเราที่ไม่ใช่การออกไปเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน   ดังนั้นที่มีคนเรียกว่าเป็นการ privatization จึงผิด

          ศ.ดร.วิจิตร   ไปพบ รมต.ศึกษาฯ ของสิงคโปร์และถามคำถาม ๒ ข้อ
          ๑. ในเมื่อมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์ที่อยู่ในระบบราชการ (มี ๓ แห่ง)   คุณภาพติดอันดับโลกอยู่แล้ว   ทำไมต้องเปลี่ยนไปออกนอกระบบราชการ
          ๒. มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการไปแล้ว ๑ ปี  เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

          คำตอบข้อแรก  คือ มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ต้องแข่งขันกับทั่วโลก   ต้องมีการปรับปรุงให้แข่งขันได้อยู่ตลอดเวลา   การยังอยู่ในระบบราชการพบข้อจำกัด ๒ ข้อ
          (๑) ระเบียบราชการบางอย่างไม่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่มหาวิทยาลัย
          (๒) มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ต้องการรับอาจารย์จากทั่วโลก   คนเก่งหลายคนเมื่อรู้ว่ามหาวิทยาลัยในสิงคโปร์เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ  เขาไม่อยากมา  เขารังเกียจราชการ
          คำตอบข้อหลัง คือ มีแต่ผลดี  ทำให้กิจการของมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ดีขึ้น  ไม่มีข้อเสียเลย

          ในการออกนอกระบบราชการนี้   รัฐบาลสิงคโปร์ให้คำมั่นว่าจะให้งบประมาณสนับสนุนอย่างน้อย ๗๐% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด   และให้อิสระในการขึ้นค่าเล่าเรียน  แต่ต้องไม่เกินปีละ ๑๐%


          ในญี่ปุ่น   มีดำริจะเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการมานาน   แต่คนมหาวิทยาลัยต่อต้าน  จึงดำเนินการไม่สำเร็จ   ต่อมาอดีตอธิการบดี ม.โตเกียว มาเป็น รมต.ศึกษาฯ เอง   และเห็นความจำเป็นจึงออกกฎหมายเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการพร้อมกันคราวเดียว ๘๗ แห่ง  ในวันที่ ๑ เม.ย. ๒๐๐๔   โดยให้คำรับรองว่า  ในการออกนอกระบบราชการนั้น   เงินสนับสนุนจากรัฐไม่ลดลง   และเงินเดือนของอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งสูงอยู่แล้วจะไม่ลดลง มีแต่จะสูงขึ้น

          เคล็ดลับในความสำเร็จของการที่รัฐบาลต่างประเทศจัดระบบใหม่ด้านอุดมศึกษา   ให้มหาวิทยาลัยของรัฐออกไปอยู่นอกระบบราชการ คือ การให้คำรับรองด้านความมั่นคง   ทำให้อาจารย์และพนักงานอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยไม่กลัวว่าตนจะสูญเสีย   และนักศึกษาก็ไม่กลัวว่าจะถูกขึ้นค่าเล่าเรียน

วิจารณ์   พานิช
๒๖ พ.ค. ๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 101478เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท