ว่าด้วยวรรณกรรมกับวิชาการของอาจารย์ปัทมาวดี


ผมชักไม่ค่อยเชื่อถืองานวิชาการซะแล้วซี :)

ตอนแรกคิดว่าจะร่วมแจมประเด็นนี้ในblogของอาจารย์  แต่ดูท่าจะเขียนยาว เลยขอเขียนในblogตัวเองแบบวิวาทะข้ามblogดีกว่า

ผมนึกไม่ออกว่าวิชาการจะสื่อปรากฏการณ์ความรู้สึกของคนที่คิดถึงผู้อื่นในเสี้ยววินาทีหลังจากผ่านการดิ้นรนเพื่อหนีความตาย ในขณะจิตที่ประจวบเหมาะในเรื่องคนกับนายได้อย่างไร
ผมเดาว่าก็คงเหมือนผมเอามาเขียนเล่าไว้ใน
blogอย่างนักวิชาการกระมัง? ซึ่งไม่มีพลังปลุกจิตสำนึกในความดีงามของมนุษย์ที่ผมได้รับจากการอ่านเหลืออยู่เลย
ผมเห็นว่าสิ่งที่งานวิชาการพยายามไปถึงคือ
พลังอธิบาย ซึ่งมีประโยชน์ตามที่พรมแดนนี้มีอยู่ โดยที่หลายเรื่องก็ไม่มีอยู่ในพรมแดน วิชาการ เช่นตัวอย่างที่พูดถึง

เอ้า ถ้ามีวิวาทะว่า พรมแดนวิชาการทางมนุษย์ศาสตร์น่าจะมีเรื่องเหล่านี้ด้วย ซึ่งวรรณกรรมอาจเป็นเครื่องมือในการสื่อสารงานวิจัยด้านมนุษย์ศาสตร์ที่ดี ถ้าเป็นการเขียนก็ต้องเขียนเป็นวรรณกรรมเพื่อสื่อสารให้ตรงกับความรู้ที่ค้นพบ  แต่ในแวดวงวิชาการด้านมนุษย์ศาสตร์ยอมรับความรู้ที่ไม่เป็นรายงานวิจัยทางวิชาการแบบนี้หรือเปล่า?

ผมนึกถึงวรรณกรรมเรื่องอื่นๆที่ผมชื่นชอบ เช่น เหยื่ออธรรม ของ         วิคตอร์ ฮูโก ที่เล่าเรื่องวัยรุ่นที่ต้องโทษจากการขโมยขนมปัง              มีความทรงจำและความนึกคิดที่เป็นปรปักษ์ต่อสังคม และการฟื้นคืนชีพของจิตสำนึกใหม่จากเชิงเทียนของหลวงพ่อ ภายใต้โครงสร้างและการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส

ถ้าผมใช้แว่นวิชาการทางประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์   ก็จะได้รายงานปรากฏการณ์และปัจจัยที่เป็นต้นเหตุแบบหนึ่งโดยที่   ตัวละครที่ผมพูดถึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลที่เกิดขึ้นเลย ซึ่งอาจจะ ไม่ใช่ เพราะปัจจัยเล็กน้อยของตัวละครที่ไม่สำคัญอาจทำให้เหตุการณ์เปลี่ยนไปอย่างสำคัญก็ได้


ประเด็นนี้ตอลสตอยนำมาเขียนในสงครามและสันติภาพ ซึ่งอ.ธรแย้งไว้แล้วว่าความจริงจริงๆนั้นไม่มีหรอก ขึ้นอยู่กับจินตนาการของใคร เรื่องที่ตอยสตอยเขียนเล่าไว้ในสงครามและสันติภาพเพื่อบอกว่าเหตุการณ์จริงๆจะซับซ้อนอย่างนี้ก็ไม่ใช่ความจริง ก็เหมือนกับที่ท่านมุ้ยให้สัมภาษณ์เรื่องสมเด็จพระนเรศวรนั่นแหละครับ

ผมสงสัยว่านักมนุษย์ศาสตร์ที่ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นพื้นหลังเพื่ออธิบายความเป็นมนุษย์นั้น จะเขียนรายงานวิจัยทางมนุษย์ศาสตร์(วิทยา)จะออกมาอย่างไร?
ที่สงสัยอีกอย่างคือ เฉพาะความรู้เกี่ยวกับมนุษย์เท่านั้นหรือที่ต้องการรายงานแบบภาพยนตร์หรือวรรณกรรม ความรู้อื่นๆเล่า
รายงานวิชาการได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
หรือทำให้คนที่อยู่ในเหตุการณ์รู้สึกขำ
หรือเป็นเครื่องมือพัฒนาที่ไม่ได้ยืนอยู่บนความเข้าใจที่ถูกต้องอยู่เลย(เป็นของเล่นของรัฐและนักวิชาการ)

สรุปแล้ว ผมชักไม่ค่อยเชื่อถืองานวิชาการซะแล้วซีครับ :)

 
หมายเลขบันทึก: 101436เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ต้องวิวาทะยาวค่ะ

ยังทำรายงานไม่เสร็จ แต่แวบมาอ่าน ถือว่าเป็นการพักสมองหลังทานข้าวเที่ยงตอนบ่าย (แต่ทำให้สมองต้องทำงานหนักขึ้น ??)

รายงานที่ทำก็เป็นงานวิชาการ ที่พยายามสะท้อนอะไรให้ตรงไปตรงมามากที่สุดเท่าที่ข้อมูลจะมีให้ และเท่าที่มันสมองพอจะกลั่นกรองเหตุผลออกมาได้

ไม่ต้องเชื่อทั้ง 100% ก็ดีอยู่แล้ว  ไม่เช่นนั้นจะมีการถกเถียง การสร้างทฤษฎีใหม่ไปทำไม ถ้าไม่ใช่เพื่อพยายามอธิบายโลกให้ใกล้เคียงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด  

วรรณกรรมมีที่ว่างมากกว่า สำหรับผสมผสานความจริง จินตนาการ โลกทัศน์ และอื่นๆ ของผู้เขียน

แต่วิชาการไม่มีที่ว่างให้มากขนาดนั้นค่ะ

อาจจะยังไม่ค่อยตรงประเด็นมากนักเพราะเขียนเร็วๆ  ทำงานเสร็จแล้วจะเข้ามาวิวาทะด้วยใหม่ค่ะ

ขอบคุณที่เปิดเวทีข้ามบล็อกนะคะ  เดี๋ยวจะเขียนบอกไว้ที่บล็อก econ4life ด้วยค่ะ

 "ข้าวแข็ง น้ำแกงเย็น ยังทานข้าวไม่เสร็จ  งานเขียนรอค้างอยู่  อาจารย์ใหญ่รออ่านอยู่ในห้องข้างๆ  นาฬิกาบอกเวลา 14.25 น. ... โอ ..ชีวิต"

...เขียนแบบบอกความจริงที่จะไม่ถูกนับเป็นวิชาการ... เพราะมีนัยสำคัญต่อสังคมน้อยเกินไป และภาษาก็ไม่เป็นประโยคที่ถูกต้องแบบวิชาการ...

 

 

เห็นชื่อน่ารักดี เลยแวะเข้ามาทักคะ

  • บล๊อกประมาณแบบนี้แหละที่ผมจะอ่านได้สะใจ และให้อดที่จะแปะชื่อไว้ไม่ได้ "อ่านแล้วครับ"
  • ครั้นจะวิวาทด้วย ความรู้ไม่ถึง จึงได้แต่เก็บประสบการณ์ของบัณฑิต

 

                ผมอ่านแล้วนึกถึงคำให้สัมภาษณ์ของเฮมิงเวย์

                ครั้งหนึ่งมีนักศึกษาวรรณคดีไปขอสัมภาษณ์เฮมิงเวย์เพื่อทำวิทยานิพนธ์   ตอนหนึ่ง นักศึกษาขอให้เฮมิงเวย์ให้คำจำกัดความ 'วรรณกรรมที่ดี'   เฮมิงเวย์ตอบสั้นมากว่า "ต้องไม่เป็นวิชาการ"

            เฮมิงเวย์เป็นนักเขียนทั้งจิตใจและวิญญาณ ไม่เข้ามหาวิทยาลัย เกลียดการเมือง ความสนใจของเขาจึงไม่มีที่ว่างสำหรับงานวิชาการ  ทำนองเดียวกับที่นักวิชาการไม่อ่านงานวรรณกรรมนั่นแหละ

 

                'วรรณกรรม' และ 'วิชาการ' เป็นเครื่องมือสำหรับอธิบายความจริงต่างประเภทกัน   แต่ในบางกรณีวรรณกรรมกับวิชาการก็ปนกันจนแยกไม่ออก  อย่างใน 'สงครามและสันติภาพ' ของตอลสตอย  แม้แต่ตอลสตอยเองยังบอกไม่ได้เลยว่าเป็นอะไรกันแน่  เขาเขียนอธิบายเมื่อถูกวิจารณ์ ตอนหนึ่งว่า

                "...สงครามและสันติภาพ เป็นอะไรน่ะหรือ?  มันไม่ใช่นิยายหรอก ไม่ใช่กวีนิพนธ์ด้วย และยิ่งไม่ใช่ลำดับเหตุการณ์ทางประศาสตร์เข้าไปใหญ่   สงครามและสันติภาพ ก็เป็นสิ่งที่ผู้ประพันธ์อยากและสามารถแสดงออกมาในรูปแบบที่มันได้ถูกแสดงออกมาแล้ว (นั่นแหละ)..."            อย่างที่รู้กัน  สงครามและสันติภาพ ประกอบด้วยเรื่องราวของผู้คน การกระทำและเหตุการณ์ต่างๆ สอดประสานกับการบรรยายปรัชญาประวัติศาสตร์ของตอลสตอยตลอดเรื่อง  แม้แต่ใน 'ภาคส่งท้าย' ก็ยังมีทั้งสองส่วนนี้  ส่วนแรกคล้ายกับวรรณกรรม (หรือนิยาย)  ส่วนหลังคล้ายๆบทความทางวิชาการ                กรณี สงครามและสันติภาพ  ถ้าจะถามว่าส่วนไหนสำคัญหรือน่าสนใจกว่ากัน ก็ตอบได้ยาก  ขึ้นอยู่กับความสนใจหรือรสนิยมของแต่ละบุคคลกระมัง   สำหรับเฮมิงเวย์แล้ว ส่วนที่เป็นเรื่องราวของผู้คนคือ 'ความจริง (true)  ยืนยง และสำคัญ'  ในขณะที่ส่วนที่เป็นปรัชญาประวัติศาสตร์ (ซึ่งเฮมิงเวย์เรียกว่าความคิดทางการเมือง) นั้น ไม่จริง ไม่มีความสำคัญอีกต่อไปแล้ว  เวลาอ่านต้องอ่านข้ามๆ                แต่สำหรับ Isaiah Berlin นักวิชาการประวัติศาสตร์ความคิด คงจะไม่ 'อ่านข้ามๆ' แน่  เพราะเขาเขียนบทความทางวิชาการขนาดยาว (ประมาณ 60 หน้า) ชื่อ The Hedgehog and The Fox บรรยายเกี่ยวกับปรัชญาประวัติศาสตร์ของตอลสตอย โดยแทบจะไม่กล่าวถึงเรื่องราวของผู้คนในเรื่องเอาเลย  เอ่ยถึงบ้างนานๆครั้ง รวมๆแล้วไม่เกินสิบประโยค 

                ในเรื่อง เหยื่ออธรรม ของวิคตอร์ อูโก ก็เช่นกัน  อูโกได้สอดแทรกส่วนที่เป็นบทความ 'คล้ายวิชาการ' ยาวๆไว้หลายตอน ได้แก่ การรบที่วอเตดร์ลู  อารามชี  ภาษาเฉพาะหรือภาษาลับ ระบบระบายน้ำใต้ดินของปารีส   สำหรับเรื่อง 'อารามชี' นั้น ทางสำนักพิมพ์ขอให้อูโกตัดออก เพราะนอกจากยืดยาวเกินไปแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกแบนเพราะศาสนจักรไม่พอใจแน่  แต่อูโกไม่ยอม  และหนังสือก็ถูกแบนในสมัยนั้นจริงๆ   ผมเองรู้สึกว่าบทความคล้ายวิชาการเหล่านี้เป็นเสน่ห์ ช่วยเสริมความยิ่งใหญ่ของเรื่อง เป็นการสลับฉาก พักอารมณ์  คล้ายๆกับเพลงซิมโฟนี่หรือconcerto ที่ต้องมีท่อนสองหรือท่อนสามมาขั้นเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศหรืออารมณ์ของเพลง

                 พูดถึงงานวรรณกรรมกับวิชาการแล้ว ผมอดนึกถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่งไม่ได้  ชื่อ The Romantic Exiles เขียนโดย E.H.Carr  เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ชู้สาวในครอบครัวของ Alexander Herzen นักปฏิวัติรัสเซียที่ลี้ภัยอยู่ในยุโรปตะวันตกในช่วงกลางคริสตศวรรษที่ 19 (ช่วงเดียวกับที่ตอลสตอยเขียน สงครามและสันติภาพ  และอูโกเขียน เหยื่ออธรรม นั่นแหละ)   Herzen เป็นนักปฏิวัติใหญ่ อยู่หัวขบวนสังคมนิยมรัสเซียและยุโรปในสมัยนั้น  เรื่องราวที่เกิดจึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกธรรมดาๆ  มีการตั้งกรรมการภายในขบวนการสอบสวนด้วย  Carrเขียนเรื่องนี้อย่างนักประวัติศาสตร์  โดยเขียนจากหลักฐานคือจดหมาย สมุดบันทึก คำสัมภาษณ์ทายาท และอื่นๆ   งานชิ้นนี้จึงไม่ใช่นิยายหรือเรื่องแต่ง (วรรณกรรม)  หากเป็นงานวิชาการแท้ๆ  แต่ Carr เขียนได้อย่างมีชีวิตชีวามาก  ขณะที่อ่านนั้นรู้สึกเหมือนอ่าน 'นิยายที่เป็นเรื่องจริง' (แม้จะไม่ใช่ 'ความจริงจริงๆ' ก็เถอะ)    อ่านจบแล้วอยากกราบคนเขียนงามๆ 3 ครั้ง   ผมคิดว่านี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ 'วรรณกรรม' กับ 'วิชาการ' เสริมซึ่งกันและกัน

                 

                วรรณกรรมและวิชาการคงจะเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับความจริงต่างประเภท อย่างที่รู้ๆกัน  (และคงจะมีเครื่องมืออื่นๆอีกหลายชนิด)   แต่ที่สำคัญก็คือ ต้องระวังอย่าใช้เครื่องผิดประเภท เพราะอาจจะเป็นผลเสียได้  

                อย่างในเรื่อง สงครามและสันติภาพ  ตอลสตอยเล่นเอาคณิตศาสตร์ (Calculus) มาใช้กับประวัติศาสตร์ (บางตอน อ่านแล้วอดขำแกไม่ได้)  ผลก็คือไม่มีใครเอากับแกด้วย   และ 'ไม่จริงแล้ว ไม่มีความสำคัญแล้ว' อย่างที่เฮมิงเวย์ว่า

                ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง เขาเป็นคนเชื่อพระเจ้า   ตอนเรียนชั้นมัธยม เขาไม่สามารถทนเรียนวิชาชีววิทยาได้เลย  เขาบอกว่า ชีวิตเป็นเรื่องของพระเจ้า การมองชีวิตแบบวิทยาศาสตร์ของชีววิทยานั้นเขารับไม่ได้  เขาไม่ยอมเรียน ไม่ยอมสอบ ยอมได้ศูนย์คะแนน   แต่นี่อาจเป็นเรื่องของคนๆเดียว เป็นกรณียกเว้น มีไม่มากนัก  นักชีววิทยาอาจจะบอกว่า "เรื่องของเอ็ง!"

                อีกตัวอย่างของการใช้เครื่องมือผิดประเภทที่รู้กันดีก็คือ ลัทธิมาร์กซ์   ทฤษฎีของลัทธิมาร์กซ์ได้รับอิทธิพลจากความสำเร็จของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ   ชาวลัทธิมาร์กซ์มักกล่าวด้วยความภูมิใจว่าลัทธิมาร์กซ์เป็นวิทยาศาสตร์ เชื่อมั่นว่าทฤษฎีของตนสามารถทำนายอนาคตของสังคมมนุษย์ได้  เหมือนกับที่ฟิสิกส์สามารถทำนายการเคลื่อนที่ของดวงดาวหรืออะตอม   ผลของการทดลองทางวิทยาศาสตร์สังคมของลัทธิมาร์กซ์นานกว่าศตวรรษ ทำให้ผู้คนต้องล้มตายไปหลายล้านคน (รวมทั้งผู้มีจิตใจเสียสละน่ายกย่องที่ ต้องการปลดปล่อยมนุษยชาติให้พ้นจากการกดขี่ด้วย)  กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องคนๆเดียวแล้วนะ

               

                เอ...ชักจะไม่เกี่ยวกับ 'วรรณกรรมและวิชาการ'แล้ว  ขอจบดีกว่า...ผมพยายามหาเรื่องมาคุยด้วยเท่านั้นแหละ ภีม   ไม่รู้ว่าตรงประเด็นหรือเข้าเรื่องเข้าราวกับที่ภีมคุยกันอยู่เปล่า 

เรียนอาจารย์คะเน

ดีใจมากที่ได้รู้จักอาจารย์ผ่านบล็อกของคุณภีมค่ะ  คุณภีมเคยพูดถึงอาจารย์อยู่เสมอ   

ได้ประโยชน์มากจากสิ่งที่อาจารย์เล่าให้ฟังค่ะ

ข้างล่างนี้เป็นข้อคิดเห็นต่อข้อเขียนของคุณภีมค่ะ

 

ดิฉันคิดว่านักวิชาการพยายามทำงานอยู่ 2 ส่วน  ลดทอน และบูรณาการ ภายใต้ข้อมูล เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม โดยมีมนุษย์เป็นพื้นฐาน      พฤติกรรมของคนหนึ่งคน เป็นได้เพียง กรณีศึกษา   เนื่องจากคนนั้นมี ประสบการณ์เฉพาะ    วิชาการไม่ได้นำคนนั้นมาเป็นหลักในการดำเนินเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบเหมือน ตัวละคร     ในทางกลับกัน  ประสบการณ์ของคนคนหนึ่งที่ต่างออกไป ก็ไม่ใช่แปลว่าวิชาการจะเป็นเรื่องตลก  ตราบใดที่มันยังใช้อธิบายคนทั่วไปได้      วิชาการพูดถึง ข้อมูล  ข้อเท็จจริง  เท่าที่หลักฐานมีอยู่   ไม่ได้อหังการเรียกมันว่า ความจริง  และ วิชาการ  ก็ไม่ได้เท่ากับ  ความจริง   งานวิชาการที่ไม่ถูกต้องก็มีอยู่เพราะผิดข้อเท็จจริง      

บ่อยครั้งที่เราพบว่า   นักวิชาการสังเคราะห์ความรู้จากวรรณกรรม

 และวรรณกรรมก็ใช้ความรู้ทางวิชาการสร้างเป็นฉากหลังและจินตนาการ   

สังคมต้องการทั้งวรรณกรรมและวิชาการ  เพราะ  ความจริง  ความงาม  ความดี  เป็นสมดุลในชีวิตและสังคม

  คิดว่าจริงๆแล้ว เราไม่ได้เห็นต่างค่ะ

 

  • งานวิชาการก็น่าจะเป็นวรรณกรรมด้วยนะครับ (ผมว่า) และงานวิชาการบางเล่มก็เป็นวรรณคดีด้วย

ดีใจที่อาจารย์คะเนเข้ามาร่วมแจม  ความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์น่าจะตั้งวงคุยโดยการเปิดblogกับเขาด้วยนะครับ

ในหนังสือศิลปะคืออะไรของตอยสตอยนำเสนอแนวคิดศิลปะที่ดีว่า ควรมีลักษณะอย่างไร พร้อมยกตัวอย่าง
หนังสือดังๆของตอลสตอยที่คนส่วนใหญ่รู้จักคือ สงครามและสันติภาพและแอนนา คาเรนิน่า เจ้าตัวเห็นว่าเป็นศิลปะที่ไม่ได้เรื่อง ซิมโพนีหมายเลข9ของบีโทเฟ่นที่โด่งดัง ตอลสตอยก็บอกว่าไม่ได้เรื่อง    แต่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย

วิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกับศิลปะที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากซึ่งควรจะมีเป้าหมายชัดเจนว่าดำเนินการไปเพื่ออะไร (ความเห็นของ     ตอลสตอย)

วรรณกรรมน่าจะอยู่ในพรมแดนของศิลปะ

สำหรับวิชาการที่พวกเราคุยๆกันส่วนใหญ่มาจากอิทธิพลของวิทยาศาสตร์ที่ต้องการระบบอ้างอิง ตรวจสอบเป็นหลักเป็นฐานต่างๆเพราะนั่นคือ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ตอลสตอยวิพาษณ์เป้าหมายของวิทยาศาสตร์ที่เป็นเพียงเครื่องมือของนักการเมืองหรือนักพานิช

สำหรับคนที่แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หนังสือน่าอ่านอีกเล่มหนึ่งคือศิลปะคืออะไร    ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับตอลสตอย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท