ฟิกฮ์สำหรับผู้ป่วย การเช็ดบนสิ่งที่ปิดบาดแผลกรณีที่ต้องทำตะยัมมุมร่วมกับวุดุอ์


             อิสลามบัญญัติให้ผู้ป่วยต้องทำละหมาด ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งของศาสนาอิสลามและทำองค์ประกอบต่างๆ ของการละหมาด เท่าที่กระทำได้ ในกรณีของผู้ป่วยที่สามารถอาบน้ำวาญิบ (อัลฆุสล์) หรือน้ำละหมาด(วูดุอ์) ได้ แต่อวัยวะบางส่วนมีบาดแผล หรือมีสิ่งที่ปิดบาดแผล เช่น พลาสเตอร์ติดแผล ผ้าพันแผล หรือเฝือก อิสลามก็ได้บัญญัติให้ทำการเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผล

นักวิชาการอิสลามมีทัศนะในเรื่องการเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผลดังนี้

ทัศนะที่ 1 นักวิชาการอิสลามส่วนใหญ่ ได้แก่ นักกฎหมายมัซฮับฮานาฟีย์ มาลิกีย์ ชาฟิอีย์ ฮัมบาลีย์ และอิบนุตัยมียะต์ เห็นพ้องกันว่า ผู้ป่วยที่ต้องใส่เฝือก ใช้ผ้าพันแผล หรือติดพลาสเตอร์ที่จำเป็น จะต้องทำการล้างอวัยวะที่ปกติ และสามารถเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผลดังกล่าวได้ โดยที่ไม่ต้องทำตะยัมมุมเพิ่มอีกตามทัศนะของมัซฮับฮานาฟี มาลิกีย์และฮัมบะลีย์ ส่วนมัซฮับชาฟิอีย์มีทัศนะว่าจะต้องทำตะยัมมุมด้วย

ทัศนะที่ 2 เห็นว่า ไม่ต้องเช็ดและไม่ต้องทำการใด ๆ ทั้งสิ้น ทัศนะนี้เป็นทัศนะของอิบนุหัซม์

อย่างไรก็ตามทัศนะของนักวิชาการอิสลามปัจจุบัน ไม่ได้ถือทัศนะดังกล่าวแบบเคร่งครัดมากนัก นักวิชาการอิสลามปัจจุบัน เช่น ชัยค์บินบาซ และ ศ.ดร.ยูซุฟ อัลกอรอฎอวีย์ จึงมีทัศนะว่า จำเป็นที่จะต้องทำการเช็ดบนสิ่งที่ปิดบาดแผลสำหรับอวัยวะที่มีบาดแผล พร้อมกับการอาบน้ำวาญิบ (อัลฆุสล์) หรือน้ำละหมาด(วูดุอ์)สำหรับอวัยวะที่ยังใช้น้ำได้ตามปกติ ส่วนการทำตะยัมมุมรวมกับการเช็ดสิ่งปิดบาดแผลพร้อมกับการอาบน้ำวาญิบ (อัลฆุสล์)หรือน้ำละหมาด(วูดุอ์)สำหรับอวัยวะที่ยังใช้น้ำได้ตามปกติด้วยหรือไม่นั้น นักวิชาการอิสลามมีทัศนะที่เปิดกว้าง ซึ่ง ชัยค์บินบาซ ได้ฟัตวาว่าถ้าหากว่าบนแผลไม่มีผ้าพันแผล หรือมีผ้าพันแผลบางๆ ที่น้ำสามารถซึมลงไปยังแผลซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ก็ให้ล้างอวัยวะที่ปกติ ส่วนอวัยวะที่มีบาดแผลไม่ต้องเช็ด แต่ให้ทำตะยัมมุมแทนหลังจากล้างอวัยวะที่ปกติแล้ว

ในกรณีของหลักฐานอ้างอิงในเรื่องการเช็ดบนสิ่งที่ปิดบาดแผลนั้น นักหะดิษหลายๆท่าน ไม่ยอมรับ เรื่องนี้จึงเป็นกรณีที่นักวิชาการอิสลามจะต้องค้นคว้าในรายละเอียดจนกว่าจะสามารถนำเสนอทัศนะที่ถูกต้องที่สุดต่อสังคมได้ต่อไปในอนาคต

บทนำ

            อิสลามเป็นศาสนาที่มีอัลลอฮ์ประทานมาให้แก่มนุษยชาติ เพื่อนำมวลมนุษย์ไปสู่ความดีงามทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อิสลามเป็นศาสนาที่มีจุดยืนอันมั่นคง และมีความยืดหยุ่นตามความจำเป็นเสมอ

            ดังนั้นในกรณีของผู้ป่วยอิสลามก็ยังคงบังคับให้ต้องทำละหมาด

ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งของศาสนาอิสลามและทำองค์ประกอบต่างๆ ของการละหมาด เท่าที่กระทำได้ หากละหมาดยืนไม่ได้ ก็ให้นั่งละหมาด หากนั่งไม่ได้ก็ให้นอนละหมาด และทำละหมาดเท่าที่จะกระทำได้ ตราบเท่าที่ยังคงมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

            นอกจากนั้น อิสลามยังบัญญัติให้ผู้ป่วย อาบน้ำวาญิบ (อัลฆุสล์) หรือน้ำละหมาด(วูดุอ์) โดยการทำตะยัมมุมแทนในบางกรณี หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำน้ำละหมาดได้ ก็ยังอนุญาตให้ละหมาดได้ โดยไม่ต้องทำน้ำละหมาด[1]

            แต่ในกรณีของผู้ป่วยที่สามารถอาบน้ำวาญิบ (อัลฆุสล์) หรือน้ำละหมาด(วูดุอ์) ได้เฉพาะอวัยวะบางส่วน แต่อวัยวะบางส่วนมีบาดแผล หรือมีสิ่งที่ปิดบาดแผล เช่น พลาสเตอร์ติดแผล ผ้าพันแผล หรือเฝือก บุคคลดังกล่าวจะทำอย่างไร จะต้องอาบน้ำทั้งหมด หรือทำตะยัมมุมอย่างเดียว โดยไม่อาบน้ำเลย ได้หรือไม่ หรือจะต้องทำรวมกันทั้งการอาบน้ำวาญิบ (อัลฆุสล์) หรือน้ำละหมาด(วูดุอ์)กับตะยัมมุม ซึ่งนักวิชาการอิสลามมีทัศนะต่างๆ ดังรายละเอียดซึ่งจะกล่าวต่อไป

ความหมาย

สิ่งที่ปิดบาดแผล หมายถึง ผ้าพันแผล เฝือกที่ทำจากไม้หรือปูนพลาสเตอร์ หรือพลาสเตอร์ปิดแผล หรือยา หรือสิ่งอื่นๆ ที่ผู้ป่วยใช้ปิดบาดแผล

บทบัญญัติการเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผล

             นักวิชาการอิสลามมีทัศนะในเรื่องการเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผลดังนี้

              ทัศนะที่ 1 ทัศนะของนักวิชาการอิสลามส่วนใหญ่ ได้แก่ นักกฎหมายมัซฮับฮานาฟีย์ มาลิกีย์ ชาฟิอีย์[2] ฮัมบาลีย์ [3] และอิบนุตัยมียะต์[4] โดยเห็นพ้องกันว่าอนุญาตให้ใช้น้ำเช็ดบนสิ่งที่ปกปิดบาดแผลได้ในกรณีจำเป็น แทนการอาบน้ำวาญิบ (อัลฆุสล์) หรือน้ำละหมาด(วูดุอ์) ได้ โดยมีหลักฐานดังต่อไปนี้

1.ญาบีรกล่าวว่า ครั้งหนึ่งขณะที่เรากำลังอยู่ในระหว่างการเดินทาง มีพวกเราคนหนึ่งศีรษะแตกจากการโดนหิน ต่อมาเขาฝันเปียก เขาจึงถามเพื่อนๆว่า พวกท่านคิดว่าฉันสามารถทำตะยัมมุมได้หรือไม่ พวกเขาตอบว่า เราเห็นว่าท่านไม่สามารถทำตะยัมมุมได้ เพราะท่านยังอาบน้ำได้ เขาจึงอาบน้ำแล้วเสียชีวิต ต่อมาเมื่อเรามายังท่านนาบี صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ เมื่อท่านทราบข่าว ท่านกล่าวว่า

قَتَلُوهُ قَتَلَهُمْ اللَّهُ أَلَا سَأَلُوا إِذْ لَمْ يَعْلَمُوا فَإِنَّمَا شِفَاءُ الْعِيِّ السُّؤَالُ إِنَّمَا كَانَ يَكْفِيهِ أَنْ يَتَيَمَّمَ وَيَعْصِرَ أَوْ يَعْصِبَ عَلَى جُرْحِهِ خِرْقَةً ثُمَّ يَمْسَحَ عَلَيْهَا وَيَغْسِلَ سَائِرَ جَسَدِهِ

พวกเขาฆ่าเขา อัลลอฮ์จะฆ่าเขา ทำไมพวกเขาไม่ถาม ในเมื่อไม่รู้ อันยาบำบัดความโง่นั้นคือการถาม เพียงแค่เขาทำตะยัมมุมแล้วพันแผลด้วยผ้า แล้วเช็ดบนบาดแผลแล้วอาบส่วนอื่นๆของร่างกายก็เพียงพอแล้วรายงานโดยอบูดาวูด ดาร์กุตนีย์ และบัยฮากีย์ ซึ่งอิบนุหะญัร เห็นว่าเป็นหะดิษอ่อน

             2. อาลี บิน อบี-ตอลิบ กล่าวว่า ข้อมือฉันแตกในสงครามอุหุด ฉันจึงถามท่านรอซูลุลลอฮ์ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ท่านจึงใช้ให้ฉันเช็ดบนเฝือก หะดิษรายงานโดยอิบนุมาญะต์และบัยฮากีย์ ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นหะดิษอ่อน

3. อิบนุอุมัรรายงานว่า ท่านนบี صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ เช็ดบนผ้าปิดบาดแผล

4. อิบนุมุนซิร รายงานว่า อิบนุอุมัรมีบาดแผลที่นิ้วเท้า ท่านจึงเอาเชือกไปปิดไว้แล้วเช็ดบนนั้น รายงานโดยฏอบรอนีย์

ทัศนะที่ 2 เห็นว่า ไม่ต้องเช็ดและไม่ต้องทำการใด ๆ ทั้งสิ้น

            ทัศนะนี้เป็นทัศนะของอิบนุหัซม์ [5]

ทัศนะนี้ให้เหตุผลว่า การกระทำอีบาดะต์เป็นสิ่งที่ต้องมีหลักฐานจากตัวบทอัลกุรอ่านและหะดิษที่ชัดเจน แต่เรื่องการเช็ดสิ่งที่ปิดบาดแผลไม่มีในอัลกุรอ่าน หรือซุนนะต์ที่ถูกต้อง มีเพียงหะดิษที่มีสายรายงานอ่อนอย่างยิ่ง จนไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงในการกระทำอีบาดะต์ได้ แต่สิ่งที่มีอยู่ในอัลกุรอ่านและซุนนะต์คือ

อัลลอฮ์กล่าวว่า

لاَ يُكَلِّفُ اللّهُ نَفْسًا إِلاَّ وُسْعَهَا) 286 : البقرة )

ความว่า อัลลอฮ์ไม่บังคับผู้ใดนอกจากเท่าที่เขาสามารถ

และท่านศาสดา صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า

إِذَا أَمَرْتُكُمْ بِشَيْ فَأْتُوا مِنْهُ مَا اسْتَطَعْتُمْ وَإِذَا نَهَيْتُكُمْ عَنْ شَيْءٍ فَدَعُوهُ

            ความว่า เมื่อฉันใช้ให้ทำสิ่งใด พวกท่านจงทำเท่าที่พวกท่านสามารถ เมื่อฉันห้ามสิ่งใดก็จงละทิ้งมัน ( อัลบานีย์เห็นว่าเป็นหะดิษศอเหี๊ยะ )

ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ สิ่งนั้นก็ไม่เป็นสิ่งที่ต้องทำ ดังนั้น ในเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถอาบน้ำวาญิบ วุดุอ์ บนอวัยวะที่มีสิ่งปกปิดบาดแผลได้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำ

ส่วนหะดิษที่นักวิชาการส่วนใหญ่นำมาอ้างอิง ก็เป็นหะดิษอ่อน

หะดิษที่รายงานจากญาบีรนั้น อิบนุหะญัร อัลอัสกอลานีย์และบัยฮากีย์ เห็นว่าเป็นหะดิษอ่อน เพียงแต่มีหะดิษอิบนุอับบาส ซึ่งเป็นหะดิษหะซัน มายืนยัน แต่ว่าหะดิษอิบนุอับบาสไม่มีคำว่า ให้เช็ดบนผ้าพันแผล ดังนั้น ชัยค์อัลบานีย์ จึงเห็นว่า     

ถึงแม้ว่าหะดิษญาบีรจะมีหลายสายรายงานก็ตามแต่ทุกสายรายงานอ่อนอย่างยิ่งจึงไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้[6] เนื่องจากคำว่า ويعصب ، أو يعصر على جرحه ให้ใช้ผ้าปิดบาดแผลรวมกับการทำตะยัมมุมนั้น อยู่ในสายรายงานที่มุงกัร

ส่วนหะดิษอาลี อิบนุหะญัรอัลอัสกอลานีย์กล่าวไว้ในหนังสือบูลูฆุลมารอมว่า [7] เป็นสายรายงานที่อ่อนอย่างยิ่ง อันนาวาวีย์กล่าวว่า นักหะดิษเห็นพ้องกันว่าหะดิษนี้เป็นหะดิษอ่อน [8]

ส่วนหะดิษอิบนุอุมัร ที่ดาร์กุตนีย์รายงานนั้น ดาร์กุตนีย์กล่าวว่า เป็นหะดิษอ่อนอย่างยิ่ง ส่วนสายรายงานของบัยฮากีย์เป็นสายรายงานที่ถูกต้องแต่ก็หยุดลงที่อิบนุอุมัร

ส่วนหะดิษที่รายงานโดยฏอบรอนีย์นั้น ชัยค์อัลบานีย์กล่าวว่าไม่พบประวัติผู้รายงานทุกคนในสายรายงาน แต่อันนาซาอีย์กล่าวว่าหนึ่งในสายรายงานนั้นคือ حفص بن عمرไม่น่าเชื่อถือ [9]

อย่างไรก็ตามมีหะดิษเศาะเหียะห์บางหะดิษที่กล่าวถึงการทำตะยัมมุมสำหรับผู้มีบาดแผล เช่นหะดิษอิบนุอับบาส แต่ในหะดิษกล่าวเพียงให้ทำตะยัมมุมแทนเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงการเช็ดสิ่งปิดบาดแผล [10]

เงื่อนไขในการเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผล

1. จะต้องเป็นแผลที่ห้ามโดนน้ำ หรือกลัวว่าจะเป็นอันตรายหรือหายช้า

2. การล้างอวัยวะที่ปกติไม่มีบาดแผลจะต้องไม่เป้นอันตรายต่ออวัยวะที่มีบาดแผล หากกลัวว่าเป็นอันตรายก็ให้ทำตะยัมมุมแทน โดยไม่ต้องเช็ดบนสิ่งปกปิดบาดแผล

วิธีการเช็ดสิ่งปิดบาดแผลตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่

ตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ การเช็ดบนสิ่งที่ปิดบาดแผล ให้กระทำดังต่อไปนี้

1. ให้อาบหรือล้างอวัยวะที่ไม่มีบาดแผล

2. ให้เช็ดบนสิ่งปิดบาดแผล

3. ทัศนะของมัซฮับชาฟิอีย์ หลังจากที่ล้างอวัยวะที่ปกติที่ไม่มีบาดแผล และเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผลแล้ว จะต้องตามด้วยการทำตะยัมมุม แทนการเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผล [11]

4. ส่วนทัศนะของมัซฮับอะหมัด หลังจากที่ล้างอวัยวะปกติ และเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผลแล้ว จะต้องตามด้วยการทำตะยัมมุม แทนการเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผล ในกรณีต่อไปนี้

1. กรณีที่ปิดบาดแผลโดยไม่มีวุดุอ์

2. กรณีปิดบาดแผลเกินความจำเป็น

ตามทัศนะของมัซฮับชาฟิอีย์และอะหมัด จะต้องปิดบาดแผลในขณะที่มีวุดุอ์เท่านั้น

หากว่าปิดบาดแผลโดยไม่มีวุดุอ์ ทัศนะของชาฟิอีย์เห็นว่า หลังจากหายเป็นปกติแล้วจะต้องละหมาดชด แต่มัซฮับอะหมัดเห็นว่าไม่ต้องละหมาดชด เพียงแต่ต้องทำตะยัมมุมแทนเท่านั้น[12]

5. ทัศนะของมัซฮับฮานาฟีย์และมาลิกีย์ เห็นว่า หลังจากที่ล้างอวัยวะปกติ และเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผลแล้ว ไม่ต้องตามด้วยการทำตะยัมมุมแทนการเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผล[13]

ฟัตวาของนักวิชาการปัจจุบัน

ศ.ดร.ยูซุฟ กอรอฎอวีย์ มีทัศนะว่า ผู้ป่วยที่ใช้ผ้าพันแผล หรือพลาสเตอร์ติดแผลที่อวัยวะใดๆ สามารถใช้น้ำเช็ดบนผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ติดแผลได้เลย แต่จะให้ทำการตะยัมมุมด้วยหรือไม่นั้น หรือต้องพันแผลขณะที่มีน้ำละหมาดหรือไม่นั้น นักวิชาการมีทัศนะที่แตกต่างกัน[14]

ชัยค์บินบาซ[15] ได้ฟัตวาว่า หากว่ามีบาดแผล หรือผ้าพันแผลหรือเฝือก โดยให้ล้างอวัยวะปกติที่ไม่มีบาดแผล ส่วนอวัยวะที่มีผ้าพันแผลก็เช็ดเพียงเบาๆโดยไม่ต้องทำตะยัมมุมอีก แต่ถ้าหากว่าบนแผลไม่มีผ้าพันแผล หรือมีผ้าพันแผลบางๆ ที่น้ำสามารถซึมลงไปยังแผลซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ก็ให้ล้างอวัยวะที่ปกติ ส่วนอวัยวะที่มีบาดแผลไม่ต้องเช็ด แต่ให้ทำตะยัมมุมแทนหลังจากล้างอวัยวะที่ปกติแล้ว ซึ่งชัยค์อับดุรรอฮ์มานอัสสะอ์ดีย์[16] ชัยค์อิบนุญิบรีน[17] ก็ได้ฟัตวาเช่นเดียวกับชัยค์บินบาซ

ดังนั้นตามทัศนะของชัยค์บินบาซ ชัยค์อับดุรรอฮ์มานอัสสะอ์ดีย์ ชัยค์อิบนุญิบรีน กรณีที่สามารถเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผลได้ก็ไม่ต้องรวมระหว่างวุดุอ์และตะยัมมุม แต่ถ้าไม่สามารถเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผลได้ ก็ต้องทำทั้งน้วาญิบหรือน้ำละหมาดและตะยัมมุมร่วมกัน โดยให้ล้างอวัยวะที่ไม่มีบาดแผลและทำตะยัมมุมแทนการเว้นไม่ล้างอวัยวะที่มีสิ่งปิดบาดแผล

สรุป

นักวิชาการอิสลามส่วนใหญ่ ได้แก่ นักกฎหมายมัซฮับฮานาฟีย์ มาลิกีย์ ชาฟิอีย์ ฮัมบาลีย์ และอิบนุตัยมียะต์ เห็นพ้องกันว่าอนุญาตให้ใช้น้ำเช็ดบนสิ่งที่ปกปิดบาดแผลได้ในกรณีจำเป็น และให้อาบหรือล้างหรือเช็ดอวัยวะที่ไม่มีบาดแผล ในการอาบน้ำวาญิบ (อัลฆุสล์) หรือทำน้ำละหมาด(วูดุอ์)

แต่นักวิชาการกลุ่มนี้มีทัศนะที่แตกต่างกันเรื่องความจำเป็นที่จะต้องทำตะยัมมุม พร้อมกับการเช็ดบนสิ่งที่ปิดบาดแผลสำหรับอวัยวะที่มีบาดแผล และการอาบน้ำวาญิบ (อัลฆุสล์) หรือน้ำละหมาด(วูดุอ์)สำหรับอวัยวะที่ยังใช้น้ำได้ตามปกติ

ดังนั้นโดยสรุป ผู้ป่วยที่ต้องใส่เฝือก ใช้ผ้าพันแผล หรือติดพลาสเตอร์ที่จำเป็น จะต้องทำการล้างอวัยวะที่ปกติ และสามารถเช็ดบนสิ่งปิดบาดแผลดังกล่าวได้ โดยที่ไม่ต้องทำตะยัมมุมเพิ่มอีกตามทัศนะของมัซฮับฮานาฟี มาลิกีย์และฮัมบะลีย์ ส่วนมัซฮับชาฟิอีย์มีทัศนะว่าจะต้องทำตะยัมมุมด้วย

บรรณานุกรม



[1]อะหมัด อัดดุวีช( ผู้รวบรวม) 1413 فتاوى اللجنة الدائمة للبحوث العلمية والإفتاء เล่ม 5 หน้า 347 ริยาฎ มักตะบะต์อัล

มะอาริฟ ลิลนัชร์

[2] อัลคอฏีบ อัชชัรบีนีย์ 1995 مغنى المحتاج เล่ม 1 หน้า 150 เบรุต ดารุลฟิกร์

[3] วะอ์บะต์ ซุฮัยลีย์ 1989 الفقه الإسلامى وأدلته พิมพ์ครั้งที่ 3 เล่ม 1 หน้า 347 เบรุต ดารุลฟิกร์

[4] อิบนุตัยมียะต์ มปป. مجموع فتاوى เล่ม 21 หน้า 179 218 เบรุต ดารุลฟิกร์

[5] อิบนุหัซม์ มปป. المحلى . เล่ม 1 หน้า 74 76 ดารุลฟิกร์

[6] อัลอัลบานีย์ 1998تمام المنة في التعليق على فقه السنة หน้า 134 ริยาฎ ดารุรรอยะต์ พิมพ์ ครั้งที่ 5

[7] อัลอัสกอลานีย์ 2000بلوغ المرام เล่ม 1 หน้า 27-28 เบรุต มุอัสาสะต์รัยยาน

[8] อัศศอนอานีย์ มปป.سبل السلام เล่ม 1 หน้า 203-204 ไคโร ดารุรรอยยาน ลิตตูรอษ พิมพ์ครั้งที่ 4

[9] อัลอัลบานีย์ อ้างแล้ว หน้า 134

[10] อัลอัลบานีย์ อ้างแล้ว หน้า 134

[11] อัชชัรบีนีย์ อ้างแล้ว หน้า 150

[12] กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม 1989 الموسوعة الفقهية เล่ม 15 หน้า 106-111 คูเวต ดาร์ซาต อัสสลาสิล

[13] อัซซุฮัยลีย์ อ้างแล้ว หน้า 352

[14] www.islamonline.net/bankfatwa

[15] อับดุลลอฮ์ อัตตัยยาร( ผู้รวบรวม) 1416 مجموع فتاوى سماحة الشيخ عبد الغزيز بن عبد الله بن باز เล่ม 4 หน้า 75-

76 ริยาฎ ดารุลวะฎอน

[16] อับดุรรอฮ์มานอัสสะอ์ดีย์ 1983 الفتاوى السعدية หน้า 143 ไคโร อัลกัยลานีย์

[17] ชัยค์อิบนุญิบรีน 1994فتاوى إسلامية หน้า 231 ริยาฎ ดารุลวะฎอน

คำสำคัญ (Tags): #ตะยัมมุม
หมายเลขบันทึก: 101316เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2007 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมอยากทราบหุก่มของการเช็ดบนถุงเท้าของคนที่อาบน้ำละหมาดนะครับ จะใช้ได้หรือเปล่า เพราะถุงเท้ามันไม่เหมือนกับคุฟ ??

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท