เจ้าหน้าที่เคหกิจเกษตร"ผู้ปิดทองหลังพระมายาวนาน"


มีน้อยคนนักที่จะทราบว่าเจ้าหน้าที่เคหกิจเกษตรเหล่านี้อยูเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้

     นับตั้งแต่มีการบรรจุเจ้าหน้าที่เคหกิจเกษตรครั้งแรกในปี 2519 จำนวน 122 คน ใน 12 จังหวัด ต่อมามีการบรรจุครบทุกอำเภอในปี 2524 ข้าราชการกลุ่มนี้ได้ปฏิบัติภารกิจในการส่งเสริมการมีสุขอนามัยที่ดีของครอบครัวและชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและเครือข่าย ผลงานที่ผ่านมาในช่วงกว่า 30 ปีมีมากมาย ตัวอย่างเช่น

ผลลัพธ์เชิงปริมาณ

  • กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 13,999 กลุ่ม สมาชิก 533,735 คน
  • สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรได้รับการยอมรับในการเป็นผู้นำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ผู้นำองค์การต่าง ๆ จำนวน 8,676 คน
  • กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมีเงินออมจำนวน  3,729 กลุ่ม สมาชิก13,185 คน มีเงินออมทั้งสิ้น 130 ล้านบาท

ผลลัพธ์เชิงคุณภาพ

  • เกิดแหล่งอาหารในครัวเรือนอย่างเพียงพอ มีกิน ถูกหลักโภชนาการ กินเป็น ลดรายจ่าย
  • สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมีบทบาทในชุมชนมากขึ้น
  • เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า ซื้อขายทั้งภายในและภายนอกชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้
  • เกิดธุรกิจในระดับที่กว้างขวางขึ้น เกืดเครือข่ายเช่น ทุเรียนทอด กล้วยตาก สมุนไพร ฯลฯ
  • คนในชุมชนมีงานทำ ไม่ต้องไปขายแรงงานนอกพื้นที่
  • เกิดการอนุรักษ์และเสริมสร้างทรัพยากรของชุมชน และพัฒนาสาธารณะและประโยชน์ร่วมกัน
  • เกิดระบบสวัสดิการที่ดีในกลุ่มและชุมชน
  • สมาชิกในครัวเรือนมีส่วนร่วมในกิจกรรม ทำให้เกิดความรัก ความผูกพัน และความอบอุ่นในครอบครัว

งานทั้งหมดที่ได้ทำมาเป็นเวลายาวนานส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้เกิดการกินดีอยู่ดี เพิ่มพูนรายได้ ดังกลอนที่ประพันธ์โดย คุณเกตุอร ทองเครือ  สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี

            สอนงาน " ผ้า" "อาหาร" มานานหนัก

             เป้าหมายหลัก "กินอยู่เป็น" เห็นคุณค่า

     "หัตถกรรม"  "จักสาน"  ละลานตา

ล้วนนำพา รายได้เสริมเพิ่มทวี

 

                                คุณภาพสินค้าดีที่คาดหวัง

                           เคหกิจร่วมพลังทุกถิ่นที่

                                            สร้างชื่อเสียงกลุ่มแม่บ้านมานานปี

                                "นี่แหละ กินอยู่ดี" ที่ต้องการ

 

     งานเคหกิจเกษตรที่ดำเนินการมานาน เป็นพื้นฐานก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด กลายมาเป็น OTOP หรือที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนในปัจจุบัน มีน้อยคนนักที่จะทราบว่าเจ้าหน้าที่เคหกิจเกษตรเหล่านี้อยูเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้

     อย่างไรก็ตามปัจจุบันท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเห็นความสำคัญและกระตุ้น/ส่งเสริมให้มีการทำงานเคหกิจเกษตรควบคู่กับงานส่งเสริมการเกษตร โดยเชื่อมโยงกับโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร 

     รวมทั้งจะจัดให้มีการสัมมนาเคหกิจเกษตรทั่วประเทศวันที่ 31  กรกฎาคม 2550- 2 สิงหาคม 2550  ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานในวันที่ 1 สิงหาคม 2550 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณทรงสนพระทัยงานส่งเสริมเคหกิจเกษตร เพราะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมโภชนาการและสุขอนามัยที่ดีของครอบครัว การสร้างรายได้เสริม และการรวมกลุ่มกันพัฒนาไปสู่ธุรกิจชุมชน

     เราคงจะเห็นผลงานและพลังของเคหกิจเกษตรทั่วประเทศในที่สัมมนาดังกล่าว งานนี้คงจะสามารถสร้างกำลังใจให้แก่บุคคลากรเหล่านี้ในการสร้างสรรค์งานแก่เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนประเทศชาติสืบไป นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าบุคคลอื่น ๆ ในสังคมจะได้รับรู้และยอมรับผลงานของเคหกิจเกษตรเหล่านี้ที่ได้ทำงานอยู่เบื้องหลังในลักษณะปิดทองหลังพระมานานปี คอยติดตามดูนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจากคุณอมรทิพย์ ภิรมย์บูรณ์ สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ธุวนันท์ พานิชโยทัย

5 มิถุนายน 2550

 

หมายเลขบันทึก: 100838เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2007 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • งานสถาบันฯ ส่วนใหญ่มาจาก เคหกิจฯ แต่ อยู่ๆ กรมฯก็ล้มตำแหน่ง เขาซะ
  • งานด้าน สถาบันในพื้นที่เลย ชะงักไป ตอนนี้ ก็จะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่
  • ต้องติดตามผลงานกันต่อไป ครับ
  • ปิดทองหลังพระ จนเกือบ โดนทองปิดตัวเองไปด้วย เคหกิจ สู้ๆๆ ยังมีกำลังใจจาก เครือข่ายอีกเยอะครับ

เรียนคุณหนุ่มร้อยเกาะ

  • เช่นเดียวกันคะ ส่งกำลังใจให้เคหกิจสู้ต่อไป

ผมว่า ปัญหาอยู่ที่ในกรมส่งเสริม ฯ นั่นแหละครับ หลายงานที่เป็นสินค้า otop ในปัจจุบันเริ่มมาจากเคหกิจ ของกรมส่งเสริม ยกตัวอย่างง่ายๆ น้ำยาล้างจาน หรือที่เรียกว่าน้ำยาเอนกประสงค์ในปัจจุบันนี้ หากจำไม่ผิด เริ่มมาจากอาสามฃสมัครอเมริกัน ราวๆปี 2515 มาสอนให้แม่บ้านเกษตรกรทำใช้กัน และอีกสารพัดงาน แต่ตอนนี้ความดีความชอบไปตกอยู่กับกรมอื่นๆ หมด ไม่อยากเอ่ยชื่อ เดี๋ยวจะโดนฟ้องร้อง อีกงานก็คือ ยุวเกษตร หรือ FFT ตอนนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรก็ทำการฌาปนกิจไปแล้วใช่ไหมครับ งานกลุ่มเกษตรกร เมื่อเช้าที่ร้านกาแฟ เขาบอกว่า ตั้งแต่ให้กรมส่งเสริม(เหมือนกัน)สหกรณ์ มาดูแลแทน เขาบอกว่า ดีกว่าก่อนเยอะ

ผมก็เรียนมาทางนี้ แต่ไม่ได้ทำงานในกรมนี้ ตอนนั้น อ.ทำนอง มาสอนเองครับ แต่คนที่เรียนทางส่งเสริมการเกษตร ไม่เห็นได้ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งสักคน 

ผมเห็นด้วยกับหนุมร้อยเกาะ และคุณธุวนันท์ เราจะต้องส่งแรงใจและให้กำลังใจแก่จนท.เคหกิจเกษตรต่อไป ถ้าลงไปในพื้นที่จริงฯแล้วชาวบ้านเขารู้และชาวบ้านจะเป็นผู้บอกเองครับ

เรียนคุณเฒ่าหน้าเหมน

มีความเข้าใจงานส่งเสริมการเกษตรมากเลยนะคะสำหรับงานยุวเกษตรกรเราก็ยังทำอยู่คะแต่ไม่ค่อยดังเรามีศูนย์เยาวชนเกษตรที่เมืองกาญจนบุรีมีผลงานในการสร้างเยาวชนมาก ขอบคุณมากนะคะที่ยังมองเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่เรา

เรียนคุณเขียวมรกต

จริงด้วยคะ คนทำจริงไม่ต้องกลัวนะคะ ผลงานจะทำให้คนต่าง ๆ เห็นในที่สุด

เห็นใจเจ้าหน้าที่เคหกิจ บางทีนโยบายไม่ต่อเนื่อง ไม่มีความชัดเจน บางทีผู้บริหารไม่เข้าใจ ผมว่าเราคงต้องช่วยกัน ผลงานที่ผ่านมาขอชื่นชมด้วยใจจริง ไม่ว่าแชมพู สบู่ อาหารแห้ง เย็บปักถักร้อย จักสาน จิปาถะ มาจากฝีมือล้วน ๆ ตอนนี้กำลังเจรจากับ ก,พ, ท่านอธส. ก็ดูแลอยู่ครับ

คือทุกอย่าง ของสำนักงานเกษตร ใน กลุ่มงานสถาบันเกษตรกร  โดยเฉพาะ ตอนนี้ เราส่งเสริม และจัดหนักกับ กลุ่มยุวเกษตรกร และเข้าไปมีบทบาท ในโรงเรียน เพื่อ ส่งเสริมให้เด็ก ๆ ที่จะเป็น กำลัง ของชาติ ในอนาคต ให้มีความภาคภูมิใจ กับอาชีพเกษตร เพื่อ สร้างรากฐาน ทางเศรษฐกิจของประเทศ ชาติ และ ตอนนี้ ยุวเกษตรกร ที่มีผลงานก็ได้ ไปดูงาน ฝึกงาน ที่ต่างประเทศ หลายประเทศ แล้ว ค่ะ ภูมิใจจัง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท