ชีวิตที่พอเพียง : 289. กำไรหด ๒๑% กับชีวิตที่พอเพียง


          ตามปกติผมไม่ค่อยได้อ่านหน้า Business ของ นสพ. เดอะ เนชั่น ที่ผมบอกรับเฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์      แต่วันนี้ (๑๙ พ.ค. ๕๐) ไม่ทราบมีอะไรบันดาลใจให้ผมอ่าน     แล้วก็พบข่าวใหญ่     ว่าตลาดหลักทรัพย์ประกาศว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์รวมกว่า ๕๐๐ บริษัท กำไรหดลงไป ๒๑% ในไตรมาสแรกของปี     แสดงว่า "สุขภาพด้านเศรษฐกิจ" ของประเทศไม่ดี 

          ผมไม่ค่อยเข้าใจความหมายของข่าวนี้นัก     แต่เดาว่าข่าวนี้คงจะทำให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ไม่สบายใจ     ฝ่ายค้านหรือศัตรูของรัฐบาล ก็คงจะหาทางบอกว่า เห็นไหม รัฐบาลนี้ไม่มีฝีมือ

          เราดูฝีมือกันที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่วัดด้วยอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์     เป็นวิธีวัดที่ถูกต้องแล้วหรือ      แล้ว SME อีกจำนวนมากมายหลายร้อยเท่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แค่ห้าร้อยเศษ ล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง   เรามีตัวเลขชี้วัดการเติบโตหรือไม่     และควรเป็นข่าวที่ใหญ่กว่าหรือไม่

          เราดูฝีมือกันที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมเท่านั้นหรือ     ไม่ดูที่ความสามารถในการสร้างรากฐานความมั่นคงระยะยาว โดยเฉพาะรากฐานด้านสติปัญญาของผู้คนเลยหรือ      ผมสงสัยว่าในบ้านเมืองของเรา ผู้คนจะสนใจแต่เรื่องเฉพาะหน้า เรื่องผิวเผิน เท่านั้น     ไม่สนใจเรื่องลึกๆ เรื่องระยะยาว อย่างเพียงพอ      โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้ (กว้างและลึกกว่าเรื่องการศึกษา)  เรื่อง (สัมมาทิฐิ) ของผู้คน

          รัฐบาลนี้เน้นพัฒนาประเทศสู่เป้าหมายเศรษฐกิจพอเพียง ชีวิตที่พอเพียง      จึงต้องมียุทธศาสตร์หามาตรวัดความสำเร็จในการขับเคลื่อนชีวิตที่พอเพียง      ผมลองตั้งชื่อง่ายๆ ว่า ดัชนี ชพพ.     แต่ละไตรมาสก็มีตัวเลขประกาศผล ดัชนี ชพพ. ที่วัดโดยสถาบันที่ผู้คนเชื่อถือ      มีการเปรียบเทียบกับของปีที่แล้ว กับปีโน้น      ก็จะทำให้สังคมมีเรื่องให้ยึดเหนี่ยวอีกแนวหนึ่ง     เป็นแนว ศพพ.     ขณะนี้เราโดนครอบงำโดยแนวขยายตัวทางเศรษฐกิจมากไป

          นี่คือความเชื่อ ความคิดคำนึงของผม     ซึ่งอาจเป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิงก็ได้     แต่เคยบอกแล้วว่าผมมีนิสัยชอบเถียงมาตั้งแต่เด็ก     แก้ไม่หาย      ผมบอกตัวเองว่า อย่าไปเชื่อไอ้ตัวเลขเหล่านั้นให้มากนัก     มันอาจเป็นตัวเลขที่ให้ความหมายหลอกเราก็ได้     หลอกให้เราหลงไปตามกระแสที่คนอื่นชักจูง      เราควรเป็นตัวของเราเอง     มีภูมิคุ้มกันจากกระแสลวงให้มากที่สุด    

วิจารณ์ พานิช
๑๙ พ.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 100004เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2007 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
มันคงมาจากคำถามที่มีคนคนหนึ่งถามตัวเองว่า "ฉันจะรู้ได้อย่างเที่ยงแท้แน่นอนได้อย่างไรว่าฉันมีอยู่?"...ไม่น่าเชื่อนะครับ...คำถามนี้มันทรงพลังมาก...ผ่านไปกว่าสามร้อยปีแล้ว...มันยังทรงอิทธิพลอยู่ในวิธีคิดของมนุษย์ครอบคลุมตั้งแต่ระบบการศึกษา...ระบบเศรษฐกิจ ฯลฯ...

ผมเคยพยายามจะทำลายการคิดแบบนี้ครั้งหนึ่ง...ตอนนั้นผมมีโอกาสไปร่วมประชุมพิจารณาโครงการพัฒนาชุมชน...พอโครงการมาถึงภาคที่ว่าด้วยการประเมิน...โครงสร้างคำถามแบบศตวรรษที่สิบเจ็ดก็ผุดขึ้นมากลางวงแต่ต่างกันตรงถ้อยคำ...ผมจึงลุกขึ้นหมายจะโจมดีระบบคิดแบบเก่าด้วยถ้อยคำว่า

"การฟื้นฟูป่าชายเลน...คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนไม้โกงกางที่ชาวบ้านปลูกตามโครงการละมั้ง?...การที่ชาวบ้านได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกันเพราะต้องมาทำโครงการร่วมกันเนี่ย...น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับโครงการฟื้นฟูป่าชายเลน...ฉะนั้นรายงานการประเมินผลโครงการแทนที่จะเป็นจำนวนไม้โกงกาง...จำนวนผู้เข้าประชุม...เปลี่ยนมาเป็นราวที่เกิดขึ้นจากการมาพบปะกันของชาวบ้าน...น่าจะช่วยฟื้นฟูป่าชายเลนได้ดีกว่ามั้งครับ?"

เท่านั้นหละครับ...ผมก็กลายเป็น "ตัวประหลาด"  อย่างสมบูรณ์...หลังจากที่ปรากฏกายด้วยท่าทางประหลาดก่อนหน้านี้แล้ว...ผมเดาว่า...ถ้าขืนมีใครบ้ามาทำอย่างผมพูด...เขาก็คงจะถามคำถามที่มีโครงสร้างเหมือนกันว่า..."ผมจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผมจะได้งบประมาณ?"...มันแรงจริง ๆ นะครับ  โครงสร้างคำถามแห่งศตวรรษที่ 17 เนี่ย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท