ThaiLivingWill
โครงการ ส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

อนุทิน 38917


ThaiLivingWill
เขียนเมื่อ

“คนจะตาย” เรื่องของใคร?

DROP

ชั่วชีวิตคนทุกคนถักทอความสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย ไม่ว่าความสัมพันธ์จะดีหรือไม่ เป็นในรูปแบบใด การตายของคน ๆ หนึ่งจึงเกี่ยวพันโยงใยกับอีกหลายชีวิตที่เกี่ยวดอง

เมื่อแม่ผู้ชราป่วยหนัก บรรดาลูก ๆ อาจมีความคิดแตกต่างหลากหลาย ทุกคนปรารถนาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับแม่ แต่มันคืออะไร บางคน สิ่งนั้นคือการยื้อชีวิตให้ถึงที่สุด ด้วยเทคโนโลยีทุกชนิด และทุ่มเงินตราสุดตัว ในขณะที่บางคนอาจหมายถึง การให้แม่นอนสงบจนสิ้นลมไปท่ามกลางลูกหลาน

“คนไข้อาจตัดสินใจอย่างหนึ่ง แต่ลูกหลานอาจเห็นไปอีกทาง หลายครั้งลูกที่มีอำนาจตัดสินใจว่าพ่อแม่จะอยู่หรือไปอย่างไรมักเป็นลูก อำนาจทางการเงินหรือการศึกษา แต่ไม่ใช่ลูกที่ดูแลใกล้ชิดหรือเข้าใจความปรารถนาเบื้องลึกของผู้ที่จะจาก ไป” นพ. เต็มศักดิ์กล่าว

ในกรณีความขัดแย้งเช่นนี้ นพ. เต็มศักดิ์กล่าวว่า หนังสือแสดงเจตนาที่ผู้ใกล้จากไปทำไว้ล่วงหน้าจะช่วยลดทอนความขัดแย้งได้ เพราะได้ระบุสิ่งที่ต้องการและไม่ต้องการไว้แล้ว รวมถึงอาจระบุตัวบุคคลที่เราปรารถนาให้ตัดสินใจแทนในเวลาที่ไม่อาจสื่อสาร ความต้องการได้ด้วยตนเอง

การที่ผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าเพื่อวาระสุดท้าย หรือในวาระที่ไม่สามารถสื่อสารกับแพทย์ได้โดยตรง นับได้ว่าเป็นเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาดูแลตัวเองร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ซึ่งโดยมากแล้ว ในยามป่วย เรามักมอบอำนาจการตัดสินใจและสิทธิในการดูแลร่างกายของเราไว้ในมือแพทย์

“เราไม่ค่อยปฏิเสธการรักษาของแพทย์ สิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาอะไรก็ได้ ที่เราไม่เห็นด้วย หรือไม่พอใจ” ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาประจำศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ศ. นพ. วิฑูรย์ยังได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับที่มาของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ไว้ว่าเป็นการทำงานเชิงนโยบายด้านกฎหมายสาธารณสุข อย่างเช่นเรื่องสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลที่จะไม่ขอรับแผนการรักษาที่ถูก หยิบยื่นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันอาจเป็นทางเลือกที่ผู้ป่วยและญาติไม่พึง ปรารถนา

“ตอนนี้ เวลาผมไปไหนมาไหน ผมจะบอกทุกคนเลยว่า ไม่จำเป็น อย่าไปโรงพยาบาล ปัญหาใหญ่ของวงการสาธารณสุขวันนี้คือ คนไทยมักไม่เป็นตัวของตัวเอง เช่น ไม่กล้าที่จะปฏิเสธการรักษา ทั้ง ๆ ที่กฎหมายได้ให้สิทธิแก่เราที่จะขอปฏิเสธได้ ด้านแพทย์เอง เวลาที่พูดกับคนไข้ก็ชอบพูดจาแต่ภาษาหมอที่ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ซึ่งเราก็ต้องมาเสี่ยงที่จะเป็นโรคเพิ่มขึ้นจากการรักษา“

นอกจากนี้ อาจารย์หมอยังย้ำด้วยว่า เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่มุ่งเน้นเพียงการรักษามนุษย์เฉพาะร่างกายเท่านั้น โดยมองข้ามความสำคัญของจิตใจและความอ่อนไหวของอารมณ์ความรู้สึกของคนไข้เจ้าของเรือนร่าง ซึ่งลำพังความรู้และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าเข้าไม่ถึง เนื่องจากไม่อาจชั่งตวงคำนวณวัดความทรมานได้ ผิดกับปรัชญาความรู้ทางศาสนา ซึ่งพินิจความตายไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือผิดแปลกออกไปจากวิถีชีวิตปรกติแต่อย่างใด



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท