ThaiLivingWill
โครงการ ส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

อนุทิน 38793


ThaiLivingWill
เขียนเมื่อ

สิทธิที่จะตายดี และ คุณภาพชีวิตที่ดีก่อนจากไป

drops

 

การปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายตามเจตนารมณ์ของ พรบ. สุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2550 มาตรา 12 นี้ หมายถึง การไม่ขอรับการรักษาที่เป็นไปเพียงยืดการตาย ยื้อชีวิตที่กำลังถดถอยไม่อาจฟื้นดีดังเดิม และปล่อยให้กระบวนการทางกายและการตายเป็นไปอย่างธรรมชาติ โดยที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลทางกายอย่างดีที่สุด และความรู้สึกทางใจและความเชื่อได้รับการตอบสนอง

“กรณีผู้ที่เป็นห่วงว่าในบั้นปลายชีวิตอาจมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ แล้วก็อาจมีความทุกข์ทรมาน โดยหลักของการตายดีหรือในมาตรา 12 ที่ให้สิทธิไว้ สมมติเราบอกว่า ขอไม่ให้แพทย์มาทำอะไรเรา เช่น เจาะคอ ใช้เครื่องช่วยหายใจ อะไรต่าง ๆ แล้วก็อาจเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลก็ตามที่มีญาติพี่น้องอยู่รายรอบ ถ้ามีอาการเจ็บปวดทรมาน แพทย์ต้องให้บริการสาธารณสุข หรือให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ลดความทุกข์ทรมาน ไม่ใช่พอแสดงเจตนารมณ์ไม่รักษาในหนังสือแล้ว หมอจะปฏิเสธทุกอย่าง เพียงแต่หมอจะไม่ทำในสิ่งที่ผู้ป่วยได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ เพื่อยืดความตายซึ่งไม่เป็นประโยชน์“ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

 

องค์กรระหว่างประเทศให้การยอมรับสิทธิในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นแพทยสภาคมโลก (WMA) ที่ให้การรับรองคำแถลงเรื่อง เอกสารแสดงเจตจำนงล่วงหน้าของแพทยสมาคมโลก (World Medical Association) นอกจากนี้ ยังมีบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายประเทศ เช่น กฎหมายสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, เดนมาร์ก เป็นต้น
  
การปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้าย ไม่ได้หมายถึงการไม่เหลียวแลรักษาผู้ป่วยอีกต่อไป สำหรับผู้ป่วยที่อาการของโรคอยู่ในระยะสุดท้าย หมดหวังจากการรักษาให้หายจากโรค แล้ว แนวทางการดูแลที่กำลังพูดถึงกันมาก คือ End of Life หรือ Palliative care


“หากคนไข้ปฏิเสธการรักษาไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะไม่ดูแลอีกแล้ว เมื่อโรคไปถึงที่สุดหมดหนทางรักษาได้ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการดูแลผู้ป่วยไปตามอาการ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดทรมาน และให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิต” รศ. นพ. เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี แพทย์รังสีรักษา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

 

นอกจากนั้น การดูแลแบบ Palliative care ยังเน้นให้ความสำคัญกับมิติทางจิตใจ สังคมและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

ในรายของผู้ป่วยอิสลามท่าน หนึ่ง เมื่อวาระสุดท้ายของโรคเอดส์มาถึง ผู้ป่วยได้คุยกับญาติและตกลงกันว่า ตามความเชื่อของอิสลามจำต้องทำพิธีการ ผู้ป่วยจึงขอให้แพทย์และพยาบาลอำนวยความสะดวกในการเยียวยาด้านจิตวิญญาณด้วย คือ ขอห้องเพื่อทำความสงบ สวด ญาซีน ซึ่งสำหรับชาวมุสลิมเป็นการสวดเพื่อขอกลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ญาติมิตร ชุมชนจะทยอยและร่วมกันสวดอ้อนวอนพระเจ้า จนผู้ป่วยสิ้นลมหายใจอย่างสงบ


สำหรับการดูแลแบบประคับประคองนี้ รศ. นพ. เต็มศักดิ์อธิบายเพิ่มว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ต้องให้ข้อมูลกับคนไข้อย่างครบถ้วนและรอบด้านที่สุด เพื่อให้คนไข้ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ตนเองปรารถนา

 

รังสิมา บุณยภูมิ คุณแม่ของน้องอ๋อง ปองพล บุณยภูมิ เด็กชายที่จากโลกนี้ในวัย 10 ขวบด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว กล่าวถึงความสำคัญของการได้รับข้อมูลในการดูแลเยียวยาแก่คนไข้ว่า


"แม่ของเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดวัย 3 ขวบคนหนึ่ง ยังทำใจไม่ได้กับความเจ็บป่วยของลูก พยายามทำทุกวิถีทางที่จะยื้อชีวิตมากที่สุด"


"เด็ก 3 ขวบ มีสายและท่อระโยงรยาง 5 จุดทั่วตัว เพื่อประคองการหายใจ ให้อาหาร และ การขับถ่าย เด็กอยู่ในภาวะไม่รู้เรื่องและสื่อสารอะไรไม่ได้ และแม่ต้องการยื้อให้ถึงที่สุด เราก็ให้ข้อมูลว่า ถ้าทำอย่างนี้ เจออะไรบ้าง ถ้าไม่ทำ เจออะไร เราไม่ตัดสิน ไม่ชี้บอก เพียงแต่ให้ข้อมูลให้ครบ การตัดสินใจอยู่ที่แม่ของเด็ก”


สำหรับลูกชายของเธอ น้องอ๋อง เธอมักพูดคุยถามไถ่ความต้องการของลูกเสมอ โดยให้ข้อมูลกับลูก “เขาเป็นเจ้าของชีวิต เขาต้องมีส่วนตัดสินใจด้วย” เธอกล่าว


น้องอ๋องเลือกที่จะอยู่บ้านและใช้ชีวิตอย่างปรกติ เขาเล่นวีดีโอเกมส์ นอนในห้องนอนของตัว และทำกิจกรรมเหมือนเดิม แต่มีการดูแลตามอาการ ทั้งการบรรเทาความเจ็บปวดและการหายใจ “ลูกของเราอยากกินอะไรก็ได้กิน อยากทำอะไรก็ได้ทำ”


หนึ่งวันก่อน น้องอ๋องจากไป แม่รังสิมาพาน้องอ๋องไปเที่ยวทะเล ระหว่างทางกลับบ้าน น้องอ๋องซบหัวบนไหล่แม่ และบอกว่า “น้องมีความสุขจังเลยหม่าม๊า”


วันรุ่งขึ้น น้องอ๋องก็จากไปอย่างสงบในอ้อมกอดแม่ และเสียงนำทางของพยาบาล ก่อนจากกัน น้องอ๋องพูดคำสุดท้าย “หม่าม๊า ลาก่อน”

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท