อนุทิน 134721


ต้นโมกข์
เขียนเมื่อ

     อยากพูดเรื่องนี้มานานแล้ว ในเรื่อง โรงเรียนสตรีวิทยา 2 ได้ไปขอเงินจากคุณตัน ภาสกร นที แบบจู่โจม ซึ่งผมจะวิเคราะห์เรื่องนี้ในเชิงมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ และมุมมองของทฤษฎีแลกเปลี่ยนกันนะครับ

     ก่อนอื่นผมจะนำเสนอทฤษฎีในแนวมานุษวิทยาเศรษฐกิจกันก่อน เรื่องที่ผมอยากเสนอ มีดังนี้

1. แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ กับ เศรษฐกิจ ไม่เหมือนกัน

     แนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์ กับ เศรษฐกิจมีความต่างกัน กล่าวคือเศรษฐกิจคือแบบแผนของกิจกรรมที่มีเป้าหมายเป็นผลตอบแทนทางวัตถุ ส่วน เศรษฐศาสตร์คือแนวคิดทฤษฎี หรือสมมุติฐานเพื่อใช้สำหรับวิเคราะห์กิจกรรมที่หวังผลตอบแทน แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์จะมีลักษณะแบบ ถ้า......แล้วจะทำอะไรได้ เช่น เศรษฐกิจของไทยเป็นแบบผสม ถ้ารัฐโอบอุ้มคนยากจนมาก โดยมีมีวินัยการคลัง แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้น

     โดยนัยนี้ เศรษฐกิจจึงหมายถึง 1. การผลิตและการแจกจ่ายผลผลิต สินค้า และบริการ ซึ่งถูกให้คุณค่าเพื่อการแลกเปลี่ยนและใช้สอย 2. กิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติให้เป็นวัตถุสิ่งของบางอย่าง ซึ่งเป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่พบเห็นทั่วไป 3. นอกจากนั้นเศรษฐกิจยังหมายถึงการสร้างระบบคุณค่า และวิธีการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมนั้นๆ กล่าวคือสังคมที่มีระบบเศรษฐกิจต่างกันย่อมมาจากการปรับตัวที่ต่างกัน การจัดระเบียบและระบบคุณค่าทางสังคมของมนุษย์ที่มีชีวิตเร่ร่อนอาศัยรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆเรียบง่าย ย่อมจะมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจต่างไปจากสังคมขนาดใหญ่ที่มีการเพาะปลูก ซึ่งผลผลิตส่วนเกินสามารถเก็บสะสมไว้ได้ เช่น ฝูงสัตว์เลี้ยง และสังคมเร่ร่อนหรือเพาะปลูกก็ต่างไปจากสังคมเมืองอุตสาหกรรม ทั้งเรื่องขนาด ความซับซ้อน และผลผลิตส่วนเกิน

2. การผลิตและแจกจ่ายผลผลิตและบริการ

     แต่ที่ผมสนใจในเรื่องการขอเงินจากคุณตัน ภาสกร นที เกี่ยวข้องกับ การผลิตและแจกจ่ายผลผลิตสินค้นและบริการ ซึ่งถูกทำให้มีคุณค่าเพื่อการแลกเปลี่ยนใช้สอย มีนักมานุษยวิทยาคนหนึ่ง ชื่อมาร์เซล มอสส์ (1872-1950) เป็นนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส เป็นทั้งหลานชายและลูกศิษย์ของเดอฺร์ไคม์ ได้เขียนหนังสือ The gift (1925) หรือของขวัญ ในหนังสือ มอสส์ได้ศึกษาเปรียบเทียบระบบการแลกเปลี่ยนของชนชาติต่างๆทั่วโลก ท่านเสนอว่า ในวัฒนธรรมหลายแห่ง การแลกเปลี่ยนสินค้ากระทำในรูปของของขวัญ ในทางทฤษฎีแล้ว ของขวัญจะให้กันโดยไม่มีการบังคับ และผู้แลกเปลี่ยนอาจหยุดให้เมื่อไรก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติ การแลกเปลี่ยนของขวัญกระทำโดยมีข้อผูกมัด ทั้งผู้ให้และผู้รับจะต้องกระทำตามข้อผูกมัดหรือพันธะที่ตนมีต่อคู่สัญญา และหลักการภายใต้รูปแบบการแลกเปลี่ยนนี้ก็คือ การตอบแทนผลหรือประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกัน (reciprocity)

     ระบบการแลกเปลี่ยนทุกระบบ จะต้องมีพันธะผูกพัน 3 อย่างด้วยกัน คือ 1. พันธะที่จะต้องให้ การให้จึงเป็นหัวใจสำคัญของระบบการเมืองและการควบคุมทางสังคม เพราะการให้จึงเป็นแหล่งที่จะให้คนอื่นยอมรับ ทำให้คนเกรงกลัวในบารมี 2. พันธะที่จะต้องรับ หากเราปฏิเสธการรับของขวัญ สังคมจะมองเราว่าอ่อนแอ เสียหน้า หรือ กลัวว่าจะต้องใช้คืน 3. พันธะกรณีที่จะต้องใช้คืน

     นอกจากนี้ การให้สินค้าและบริการเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ร่วมกันยังแบ่งได้อีก 3 แบบ นั่นคือ 1. การให้หรือแลกเปลี่ยนโดยไม่หวัวผลตอนแทนทันที หรือมิได้กังกลต่อการตอบแทนคืน เช่น การที่พ่อแม่เลี้ยงลูก หรือพี่รหัสให้ของขวัญแก่น้องรหัส เป็นต้น 2. การให้หรือแลกเปลื่ยนแบบสมดุล การให้หรือแลกเปลี่ยนประเภทนี้ เป็นการให้รพร้อมกับความคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนทันที หรือในระยะเวลาอันสั้น 3. การแลกเปลี่ยนแบบลบ เป็นการแลกเปลี่ยนบนพื้นฐานของการใช้กำลัง หรือการบังคับข่มขู่ มักจะใช้กับการแลกเปลี่ยนที่ต่างกลุ่ม หรือเป็นศัตรูกัน

     มอสส์สรุปเรื่องของขวัญว่า นอกจากจะเห็นแก่ประโยชน์ร่วมกันในสังคมแล้ว การให้ของขวัญยังทำให้สังคมมีแต่ความสมานสามัคคี มีความกลมเกลียว และเป็นตัวไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับกลุ่มที่ใหญ่กว่า

     นอกจากการตอบแทนผลหรือประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกัน ทุกวันนี้ยังมีการบริโภคแบบทุนนิยมอีกด้วย แล้วการบริโภคแบบทุนนิยมเป็นอย่างไร การบริโภคแบบทุนนิยมก็เป็นจิตสำนึกอันใหม่ของผู้คนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ เราเรียกสิ่งนี้ว่า "อุดมการณ์แห่งการบริโภค" เนื้อหาของอุดมการณ์ใหม่นี้ก็คือ ความพึงพอใจที่ได้มาจากการบริโภค ความสุขของมนุษย์ถูกทำให้เหลือเพียงคำจำกัดความว่า คือความรื่นรมย์จากการได้เสพวัตถุ ถึงแม้ว่าการตอบสนองในทางที่เป็นจริงอาจจะไม่สมบูรณ์ครบถ้วน แต่ทว่าอุดมการณ์แห่งการบริโภคก็ได้เข้ายึดกุมจิตใจของผู้คนโดยผ่านสื่อมวลชนและการโฆษณา อุดมการณ์ดังกล่าวผลักดันให้ผู้คนวิ่งตามการบริโภคอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน ผลที่ตามมาจากความแปลกแยกแบบใหม่นี้ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลถูกตัดขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เหลือแต่ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของล้วนๆ

3. ทฤษฎีแลกเปลี่ยน

     นอกจากนี้ยังมีนักมานุษยวิทยาอีกคนหนึ่งชื่อว่า เฟรดริก บาร์ท (Fredrik Barth) เป็นนักมานุษยวิยาชาวนอร์เวย์ บาร์ทเป็นลูกศิษย์ของเอ็ดมุน ลีช (Edmund Leach) และได้โจมตีทฤษฎีโครงสร้างนิยมของแรดคลิฟฟ์ บราวน์ โดยเฉพาะการศึกษากฎระเบียบและบรรทัดฐานทางสังคมเพื่อผดุงสังคมเอาไว้ไม่ให้แตกแยก บาร์ทเสนอว่าเราควรอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในลักษณะกระบวนการ (process) ซึ่งมีปัจจัยมากมายเป็นตัวกำหนด

     ในการติดต่อแลกเปลี่ยนของสมาชิกทางสังคม (transaction) มนุษย์จะตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด หรือตักตวงผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และในขณะเดียวกันก็พยายามทำให้ตนเองสูญเสียประโยชน์ให้น้อยที่สุดด้วย บาร์ทเสนอว่า กฎระเบียบและบรรทัดฐานทางสังคมต่างๆ เป็นเพียงผู้ให้ทางเลือกให้กับมนุษย์ ซึ่งมนุษย์สามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะทำอะไรในสถานการณ์หนึ่งๆ โดยการตีความจากกฎระเบียบและบรรทัดฐานทางสังคม การตัดสินใจจะทำให้เกิดการวางแผน (strategy) ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมหรือแบบแผนพฤติกรรมขึ้นมา

4. ทำไมคุณตันถึงให้เงินวงโยทวาทิตไปถึง 3 ล้านกว่าบาท

     ในความรู้สึกของผม เห็นว่าการที่คุณตันไม่ให้เงิน ก็ไม่ใช่เป็นความผิดของคุณตัน แต่ที่คุณตันให้เป็นเพราะ ตัวเด็กเองบอกคุณตันว่าต้องการจะเอาเงินนี่ไปแข่งวงโยทวาทิต เพื่อเป็นชื่อเสียงของประเทศ หากคุณตันไม่ให้ สังคมก็จะกล่าวหาคุณตันว่ารวยแต่ขี้เหนียว อย่างไรก็ตามนักการตลาดอย่างคุณตัน เมื่อบวกลบคิดอย่างสะตะระแล้ว คงจะคิดว่าหากไม่ให้ สังคมก็จะประณามหยามหมิ่นแน่นอน จึงมอบเงินจำนวน 3 ล้านกว่าบาทให้นักเรียนไป และบอกนักเรียนว่าขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย (ขอให้สังเกตคลิปคุณตันตอนนำเงินมาให้เด็กๆยังใส่ชุดประจำ นี่แสดงว่าเป็นนักการตลาดโดยแท้) ต่อมาเมื่อเบื้องหลังปรากฏว่ามีผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ รวมทั้งตัวเด็กเป็นคนร่วมมือกันมาขอเงินนี้ อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาใช้การแลกเปลี่ยนแบบลบ เป็นการแลกเปลี่ยนบนพื้นฐานของการใช้กำลัง หรือการบังคับข่มขู่ ผสมกับการให้หรือแลกเปลี่ยนโดยไม่หวัวผลตอนแทนทันที หรือมิได้กังกลต่อการตอบแทนคืน การที่คุณตันมาบอกกับสังคมว่าเงินที่ให้เป็นเงินของเมีย นั่นแสดงว่าคุณตันอาจคิดเรื่องนี้มาก่อนแล้วก็ได้ว่าอาจถูกหลอก จึงเอาเงินเมียมาให้

5. อุดมการณ์บริโภคนิยมในสถานการณ์นี้เป็นอย่างไร

     ในแง่นี้ เราอาจตีความได้ว่า สังคมไทยไม่สนใจกระบวนการที่จะได้เงิน กระบวนการที่จะได้เงินนั้นอาจทำโดย หาสปอนเซอร์ หรือจัดวงโยทวาทิตให้ผู้อื่นดู แต่สนใจผลที่ได้ในเชิงวัตถุมากกว่า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ขอให้ได้เงินที่จะไปแข่งขันมาก่อน ให้ได้รางวัลมาก่อน เดี๋ยวก็มีสปอนเซอร์ทั้งหลายมาให้เงินเอง ก็คือใช้เงินคุณตัน เพื่อไปหาคนอุปถัมภ์รายอื่นนั่นเอง แล้วความสัมพันธ์ในแง่มนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ถูกตัดขาด ขอให้ได้เงินไปแข่งวงโยทวาทิตที่ต่างประเทศก็เพียงพอแล้ว นี่คือการทำให้การทำบุญกลายเป็นวัตถุที่ไร้ชีวิตจิตใจไปโดยปริยาย (ในปัจจุบันนี้ เมื่อเราต้องการจะไปทำบุญโดยการใส่บาตร หากเราไปตลาด เราจะเห็นแม่ค้าหลายเจ้า นำแกงถุงมาวางขาย เราเองไม่รู้คุณภาพแกงถุงนั้นว่าทานได้หรือไม่ เสียแล้วหรือไม่ ที่เราทำได้ก็คือ เอาเงินไปซื้อแกง และได้ถวายพระเป็นพอ)

       แล้วเราจะมีอะไรมาทัดทานอุดมการณ์บริโภคนิยมอย่างนี้ได้อย่างไร

หนังสืออ้างอิง

ยศ สันตสมบัติ. (2540) มนุษย์กับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 



ความเห็น (2)

ได้แง่มุมมากมายจริงๆ กับเรื่องราวที่เกิดกับสตรีวิทยฯ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท