ลูกเล่นของ “คุณอำนวย”


ไม่ว่าจะเป็น “คุณอำนวย” สไตล์ใด เป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การช่วยจัดกระบวนการเพื่อให้ “คุณกิจ” เปลี่ยนวิถีชีวิต จากเน้นการรับรู้ เป็นเน้นการเรียนรู้ เน้นที่การเรียนรู้จากการปฏิบัติ แล้วนำผลการปฏิบัติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ลูกเล่น สำหรับ “คุณอำนวย ระหว่างจัดประชุม / จัดเวที

วิจารณ์ พานิช

๔ มิ.ย. ๔๘

            ผมขอเก็บตกลูกเล่นของ  คุณอำนวยผู้มีประสบการณ์    ที่เล่าสู่กันฟังที่บ้านผู้หว่านเมื่อวันที่ ๒ มิย. ๔๘    โดยจดตรงไหนได้  นึกตรงไหนออก ก็เอามาเล่า  คงจะไม่ครบถ้วน  หรือบางประเด็นอาจซ้ำๆ กัน แต่อาจใช้ถ้อยคำต่างกัน   และจะมีความเห็นส่วนตัวของผมแทรกเข้าไปด้วย

·        การประเมินความคาดหวัง ของสมาชิกกลุ่มที่มาร่วมกิจกรรม    ที่จริงเรื่องนี้ต้องหาข้อมูลของสมาชิกกลุ่มที่จะมาร่วมประชุม  และประเมินความคาดหวังไว้ล่วงหน้า    และต้องประเมินมากกว่าความคาดหวัง    คือต้องทำความรู้จักสมาชิกกลุ่มให้มากที่สุด ไว้ล่วงหน้า     สำหรับไว้เผชิญความไม่แน่นอนในระหว่างการจัดเวที     หลักที่จะต้องท่องไว้คือ ต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญสิ่งที่ไม่คาดหวังว่าจะเกิด    เพราะฉะนั้นถ้าเราลองสมมติสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ไว้ล่วงหน้า   และคิดไว้ล่วงหน้าว่าจะแก้ไขหรือเผชิญสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร     เวลาเกิดเหตุการณ์จริงเราจะไม่ช็อค 

·        การสร้างความผ่อนคลาย คุ้นเคย  ความเป็นกันเอง    ความรู้สึกเท่าเทียมกัน   ความรู้สึกเป็นอิสระ   อาจจัดกิจกรรมละลายน้ำแข็ง

·        การจัดที่นั่ง    ที่นั่งเป็นวงกลม   มีเฉพาะเก้าอี้   ช่วยให้ความรู้สึกใกล้ชิด เท่าเทียมกัน

·        ภาษา   สมาชิกกลุ่มที่มาจากต่างวัฒนธรรมมักใช้ภาษาคนละชุด    คำเดียวกันอาจมีความหมายต่างกัน    คำบางคำอาจระคายหู ระคายใจ คนในบางวัฒนธรรม    คุณอำนวย ต้องไวต่อเรื่องนี้

·        คอยเตือน มือบันทึก” (note taker) ให้บันทึกลงกระดาษ flip chart เพื่อให้สมาชิกกลุ่มได้เห็นอยู่ตลอดเวลา    เป็นการกระตุ้นหรือสร้างบรรยากาศทางตาไปพร้อมๆ กับการฟัง

·        เตือนมือบันทึกให้ตั้งชื่อเรื่องเล่า  บันทึกชื่อเจ้าของเรื่องเล่า ประกอบรายการ ขุมความรู้ ที่ได้จากเรื่องเล่านั้น

·        ตกลงเกณฑ์ กติกา ร่วมกัน   เพื่อให้การแลกเปลี่ยนราบรื่น

·        พาทำ ให้สัมผัสเอง  กระตุ้นให้คิดเอง  นี่หมายความว่า คุณอำนวย ต้องไม่เข้าไปแสดงบทของสมาชิกกลุ่มเสียเอง     ต้องให้สมาชิกกลุ่มได้มีโอกาสแสดงบทเองให้มากที่สุด

·        จับตาอารมณ์  ถ้าเบื่อ/ตึงเครียด พาเล่น   มีเกมที่เหมาะต่อกลุ่ม

·        ยกระดับความรู้  เชื่อมโยงความรู้ โดยตั้งคำถาม  หรือให้วาดรูป   การวาดรูปเป็นการสื่อสารความคิดอย่างบูรณาการ     และช่วยกระตุ้นความรู้ด้านอารมณ์    ช่วยสร้างอารมณ์ร่วมภายในกลุ่ม

·        เตรียมหน้าม้าไปเล่าเรื่อง

·        กระตุ้นกลุ่มให้ร่วมกันสร้างเป้าหมาย    เป็นเป้าหมายของกลุ่ม   

·        สังเกตความแตกต่างของสมาชิกกลุ่ม

·        สร้างบรรยากาศ โอกาสให้ทุกคนได้พูด อย่างเท่าเทียมกัน

·        เพิ่มคุณค่าให้แก่ประสบการณ์ของสมาชิก ในกลุ่ม 

·        ให้ถ้อยคำชมเชย   สร้างความครึกครื้นสนุกสนาน   ความภาคภูมิใจ  ความชื่นชมยินดี ในการปฏิบัติ และผลที่ได้จากการปฏิบัติ

·        สร้างความเชื่อถือ  ความไว้วางใจ  (trust) ระหว่างสมาชิกกลุ่ม   มีการปิดใจระหว่างกัน   จนสมาชิกกล้าเล่าเรื่องเกี่ยวกับความล้มเหลวของตนเอง    นำมาเป็นบทเรียนของเพื่อนสมาชิกกลุ่ม

·        ขัดจังหวะอย่างนุ่มนวล    รักษาเวลา

·        เมื่อถูกถาม  มีวิธีเอาตัวรอด   โดยโยนคำถามกลับเข้าวง    เรื่องนี้ผมคิดว่า เมื่อมีคำถามที่ซับซ้อน และมีได้หลายคำตอบ ไม่มีถูก-ผิด    วิธีดีที่สุดคือโยนคำถามกลับเข้าวง    เพื่อให้ผู้ถามได้สัมผัสด้วยตนเองว่าคำถามแบบนั้นไม่ได้มีคำตอบเดียว    การอธิบายคำตอบแต่ละคำตอบ จะช่วยขยายมุมมองของสมาชิกกลุ่ม

·        คอยจับประเด็นสำหรับให้สมาชิกนำไปปฏิบัติ    และนำผลกลับมาเล่าสู่กันฟังในการพบปะกันแบบเห็นหน้า    หรือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านพื้นที่เสมือน  เช่น ผ่านการบันทึกในบล็อก    คือต้องคอยโยงสู่การปฏิบัติหลังการประชุม

·        แนะให้สมาชิกกลุ่มจด ปิ๊งแว้บ ระหว่างการประชุม    และนำมาเล่าสู่กันฟัง

·        คอยโยนคำถามเข้าไปในกลุ่ม เพื่อกระตุ้นความคิด    เน้นที่คำถามว่าปฏิบัติอย่างไร    ข้อสรุปนั้นมาจากเหตุการณ์จริงอย่างไร   คือต้องคอยโยงสู่การปฏิบัติ ในอดีต

·        การทวนกลับ  ตรวจสอบความเข้าใจร่วมกันของสมาชิกกลุ่ม ต่อประเด็นสำคัญ    หรือทบทวนบันทึกของ มือบันทึก” (note taker) เป็นระยะๆ

·        กระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มหยิบปัญหาสำคัญ และวิธีแก้ไขที่ทำได้ผลมา แลกเปลี่ยนเรียนรู้

คุณอำนวย คงจะมีหลายแบบ หลายสไตล์ หลายจุดเน้น    บางคนอาจจะเน้นที่การเป็น วิทยากรกระบวนการ มากหน่อย    บางคนอาจเน้นที่ความสันทัดด้านเนื้อหาบางเรื่อง เช่นเรื่อง HA     บางคนอาจเน้นที่การ พาทำ     บางคนอาจเน้นที่การกระตุก คุณกิจให้เปลี่ยนโลกทัศน์ เปลี่ยนวิธีคิด    ไม่ว่าจะเป็น คุณอำนวยสไตล์ใด เป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การช่วยจัดกระบวนการเพื่อให้ คุณกิจ เปลี่ยนวิถีชีวิต จากเน้นการรับรู้ เป็นเน้นการเรียนรู้   เน้นที่การเรียนรู้จากการปฏิบัติ แล้วนำผลการปฏิบัติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  

 

   

 

หมายเลขบันทึก: 57เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2005 00:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นข้อมูลที่ดีมากๆ สามารถนำไปใช้ได้ดีทีเดียวค่ะ

  • มาเรียนรู้ลูกเล่นจากท่านอาจารย์ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท