ชีวิตที่พอเพียง : ๑๓๒๒. เชื่อมพลังเครือข่าย ขยายคุณค่างานประจำ


          สวรส. และองค์กรภาคี จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ครั้งที่ ๔  ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๒ ก.ค. ๕๔  ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็คท์ เมืองทองธานี   และเชิญผมไปเป็นผู้แสดงปาฐกถาเปิดงาน เรื่อง เชื่อมพลังเครือข่าย ขยายคุณค่างานประจำ   และผมได้นำ narrated ppt มา ลปรร ที่นี่ แล้ว

          บัดนี้คณะทำงานของการประชุมได้สรุปคำบรรยายของผมเสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่างมีคุณภาพสูงยิ่ง   จึงขอนำข้อสรุปนั้นมา ลปรร. อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

 

บันทึก การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย ครั้งที่ 4
“เชื่อมพลังเครือข่าย ขยายคุณค่างานประจำ”
วันที่ 20-22 กรกฎาคม 2554 ณ อาคารชาแลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นนทบุรี

 

          ชื่อผู้เล่า : ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช   คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
          E-mail : pvicharn(at)gmail.com

          ชื่อผู้บันทึก : นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา  สำนักนโยบายและแผน สปสช.
          เบอร์โทรศัพท์ -                     E-mail: waraporn.s(at)nhso.go.th

          บันทึกในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย ครั้งที่ 4
          วันที่บันทึก 20 กรกฎาคม 2554 เวลา 09.30-10.00 น. ณ ห้อง Royal Jubilee Ballroom
          ชื่อเรื่อง การบรรยายพิเศษ เรื่อง “เชื่อมพลังเครือข่าย ขยายคุณค่างานประจำ”

 

          เนื้อหา
       • เปลี่ยนมุมมองต่องานประจำ
          งานประจำ เป็นการทำงานตาม Standard of Practice (SOP) ในขณะที่ R2R ทำให้เกิดการปรับปรุง SOP โดยผู้ปฏิบัติงานเอง เพื่อพัฒนางานให้ดีขึ้น
          ความหมายและคุณค่าของ R2R หากรู้จักนำ R2R มาใช้จะทำให้เปลี่ยนมุมมองต่องานประจำ จากภาระเปลี่ยนเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพื่อทำประโยชน์ให้กับคนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วยและญาติ ฯลฯ   จากการทำงานจำเจ เปลี่ยนเป็นทำงานด้วยความคิดสร้างสรรค์   จากการทำงานซ้ำๆ เดิมๆ เปลี่ยนเป็นการพัฒนางานอย่างไม่หยุดนิ่ง   จากความรู้สึกบีบคั้นของภาระจากงานประจำ เปลี่ยนเป็นความอิสระที่จะสร้างสรรค์ เกิดสิ่งใหม่ๆ มีมิตรสหายร่วมคิดร่วมทำและเป็นโอกาสในการเปิดศักยภาพและใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่และหลากหลายมิติมากขึ้น โดยเฉพาะมิติของจิตใจที่ต้องการทำเพื่อผู้อื่นและจะทำให้ชีวิตมีความสุข (ปกติคนเราใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการทำงานเพียง 10-20% เท่านั้น)   จากการทำงานตามหน้าที่ปกติที่อาจไม่มีใครรู้จัก กลายเป็นคนสำคัญที่มีส่วนพัฒนางานที่รับผิดชอบให้ดีขึ้นและเป็นคนสำคัญในที่ทำงาน   นั่นคือ R2R เป็นเครื่องมือทำให้เกิดคุณค่าต่อชีวิตอย่างหาค่ามิได้ และสร้างให้มีความมั่นใจมากขึ้น

       • จากงานประจำสู่การเรียนรู้
          การทำ R2R ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งขั้นตอนการเรียนรู้ที่สำคัญและมีคุณค่า เช่น

- เรียนรู้การตั้งคำถามที่ดี กล้าคิดแตกต่างจาก SOP เดิม   และกล้าที่จะปรึกษา ซึ่งเป็นเรื่องยาก ต้องท้าทายและใช้ความพยายามในการหาคำตอบ ค้นคว้าหาความรู้ และมีการปรึกษาหารือร่วมคิดกับผู้อื่น เพื่อให้งานดีขึ้น
- เรียนรู้ที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและมีทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง (Continuous Quality Improvement : CQI)   ต้องทำให้ฝังรากลึกเข้าไปในจิตใจและเกิดความเชื่อความศรัทธาในสมองที่จะพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous Learning Improvement: CLI) และต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทั้งเนื้อหาสาระและเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ ซึ่งเป็นคุณค่าของการทำงาน และกระบวนการ R2R จะทำให้เกิดความเข้าใจและซึมซับเรื่อง CLI ซึ่งจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ยุ่งยาก
- เรียนรู้เครื่องมือที่ดี เพื่อใช้ในการพัฒนางานและเกิดกระบวนการวิจัย ซึ่งเครื่องมือมีมากมายให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น CQI, LEAN ฯลฯ
- เรียนรู้การตั้งโจทย์ ค้นคว้า ออกแบบการวิจัย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ ตีความฯ   อย่างไรก็ตาม หลักการและการเรียนรู้ในการทำ R2R เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนกระบวนการอาจเป็นขั้นตอนง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก และไม่จำเป็นต้องยึดติดทฤษฎี
- เรียนรู้คุณค่าของการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน   ซึ่งการทำ R2R เป็นกระบวนการที่ช่วยเหลือและปรึกษาหารือกัน มีการทำงานเป็นทีม และระบบพี่เลี้ยง ทำให้เกิดแรงหนุนเสริม เกิดมิตรไมตรี เกิดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน

          และสรุปได้ว่า การทำ R2R เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อชีวิตของตนเองและผู้อื่นในฐานะมนุษย์

 

       • ข้อพิเศษของ R2R
          R2R มีความพิเศษ คือ เป็นกระบวนการที่เกิดจากแรงบันดาลใจภายในหรือจิตวิญญาณอิสระที่อยากจะพัฒนางานเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่การทำตามคำสั่งจากภายนอก
          ผู้บริหารควรแสดงบทบาทสนับสนุน (Empower) ให้ผู้ทำงานใช้จิตสำนึกบริการเป็นตัวนำในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นและหนุนเสริมให้งาน R2R ดำเนินการได้ ไม่ควรสั่งการให้ทำ หรือกำหนดเป็นตัวชี้วัด
          การทำ R2R อาจไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคำว่า Research หรือผลลัพธ์ในเชิงการวิจัยมากเกินไป แต่ใช้กระบวนการ R2R เป็นเครื่องมือการเรียนรู้และพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาองค์กร และพัฒนาความสัมพันธ์การสื่อสารแบบแนวระนาบ
          ดังนั้น ความพิเศษของ R2R คือ ความมีคุณค่า และไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ยากหรือลำบาก

       • หลัก PLC
          หลักเกณฑ์สำคัญของคนที่เป็นวิชาชีพ (Profession) คือ นอกจากการมีความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษแล้ว ต้องเป็นผู้สร้างความรู้เพื่อการปฏิบัติและพัฒนาวิชาชีพนั้นได้ด้วย   และเนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว การสร้างความรู้ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง   คนที่เป็นวิชาชีพต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและอยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้ดีเพื่อความอยู่รอด   ซึ่งการทำ R2R เป็นเครื่องมือหนึ่งของการสร้างความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์   และเป้าหมายที่แท้จริงคือ การเปลี่ยนคน หรือการพัฒนาคนอย่างสร้างสรรค์จากการทำงานประจำ
          สิ่งที่มีคุณค่าในวงการวิชาชีพ คือ ชุมชนการเรียนรู้อย่างวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC)   นั่นคือ คนในวิชาชีพต้องมีการเรียนนรู้และสร้างความรู้ตลอดเวลา ซึ่งจะเรียนรู้ได้ดี ต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่ม/ชุมชน   และสอดคล้อง/เป็นเรื่องเดียวกับ Community of Practice: COP ซึ่งเป็นการรวมตัวกันทำหรือเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่เกิดในกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge management: KM)   ดังนั้น PLC, COP และ R2R จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันที่เป็นการรวมกลุ่มกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปัน และพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
          ดังนั้น R2R, COP, PLC, และ KM จึงเป็นจุดรวมของเครื่องมือของการเรียนรู้สมัยใหม่และเครื่องมือพัฒนาคน เรียนรู้จากการดำรงชีวิตและการทำงานประจำวัน และทักษะที่ได้สามารถนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆได้ด้วย โดยเฉพาะในครอบครัว เช่น ทักษะการฟังของคุณอำนวย ที่ต้องฟังคนอื่นอย่างตั้งใจ ฟังให้ได้ยินสิ่งที่อยู่ในหัวใจของคนพูด จะทำให้เกิดความเข้าใจและสำเร็จได้ 

 

       • R2R เริ่มที่ศิริราช  ขยายสู่ “ประเทศไทย”

 
          R2R มีมานานแล้วและมีอยู่ทั่วไปในทุกวงการ รวมทั้งในทุกโรงพยาบาล   แต่เริ่มพัฒนาอย่างจริงจังและเป็นระบบตั้งแต่ปี 2547 ที่ รพ. ศิริราช และค่อยๆพัฒนาภายใต้หลักการ/เป้าหมายในการปรับปรุงงานประจำ ขยายเครือข่ายด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันกัน จนเป็นความสำเร็จในปัจจุบัน
          R2R เป็นเครื่องมือหนึ่งของการปลดปล่อย ด้วยการเล่าเรื่องความสำเร็จเล็กๆ (success story) แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันกัน ช่วยสร้างความมั่นใจว่า “มนุษย์ทุกคนสร้างสรรค์ได้”
          R2R ขยายวงจากศิริราชออกไปยังเครือข่ายต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข สปสช.และเครือข่ายอื่นๆทั่วประเทศไทย โดยใช้ยุทธศาสตร์ INN : Individual, Node, Network   พัฒนาบุคคล แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นเครือข่าย และเชื่อมโยงเครือข่ายขยายผลออกไปทั่วประเทศ   ไม่ใช้แนวทางรวมศูนย์ รวมตัวกันอย่างอิสระ แต่ยึดโยงกันด้วยความเชื่อและคุณค่า   ไม่มีการกำหนดหรือสั่งการ และใช้ความสัมพันธ์แนวราบเป็นเครื่องมือสำคัญ ผ่านคุณกิจ คุณอำนวย และหนุนด้วยคุณเอื้อ   ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบสวนทางจากที่คุ้นเคย คือ เรียนรู้จากการปฏิบัติ (การลงมือทำ) ปฏิเวธ (การสัมผัสผลที่เกิดขึ้น) และปริยัติ (การตีความสิ่งที่เกิดขึ้น/เสริมด้วยทฤษฎี)
          [การเรียนรู้แบบที่คุ้นเคย จะเริ่มจากปริยัติ (การตีความ/ทฤษฎี) ปฏิบัติ (ลงมือทำ) และปฏิเวธ (สัมผัสผลที่เกิดขึ้น)]

       • เครือข่าย R2R เผยคุณค่าของความเป็นมนุษย์
          พลังของเครือข่าย R2R ทำให้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ไม่มีขีดจำกัด และเห็นโอกาสในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความมหัศจรรย์ของพลังที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การเรียนรู้และทำความเข้าใจจากการปฏิบัติ (action learning / learning by doing) การเรียนรู้จากการตีความผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ (AAR) การเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ (interactive learning through action – learning by sharing) การเรียนรู้ผ่านการเล่าเรื่อง (Storytelling) การเรียนรู้ผ่านความรู้จากการปฏิบัติที่มีอยู่ในตัวคน (Tacit knowledge) ซึ่งมีคุณค่าและหนุนเสริมซึ่งกันและกันกับความรู้จากทฤษฎี (Explicit knowledge) นั่นคือ พลังของ “มนุษย์สัมผัสมนุษย์” ผ่านการลงมือทำในรูปแบบต่างๆ

       • การเรียนรู้สมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21 : R2R เป็นเครื่องมือทำให้เกิดทักษะการเรียนรู้ (21st Century Skills)
          R2R เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้สมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นทักษะการเรียนรู้ (learning skills) เพื่อการดำรงชีวิตในโลกยุคนี้ และ R2R เป็นตัวสร้างให้เกิดทักษะการเรียนรู้ขึ้น
          การเรียนรู้สมัยใหม่ ต้องเรียนรู้ให้เกิดทักษะ/ทำได้จริง ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อตอบคำถามได้เท่านั้น ทักษะที่สำคัญและต้องสร้างให้เกิดขึ้น ประกอบด้วย 3 Rs + 7 Cs + 2L ได้แก่ Reading, ‘Riting, ‘Rithmetics, Critical thinking & Problem Solving, Creativity & Innovation, Collaboration, Teamwork & Leadership, Cross-cultural understanding, Communication, Information & Media literacy, Computing & Media literacy, Career & learning self-reliance และ Change

       • เวที R2R ครั้งที่ 4
          สรุป การจัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ต้องการสานเชื่อมพลังเครือข่าย ขยายคุณค่างานประจำ ยกระดับการทำงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง ผู้อื่น องค์กร และประเทศ   และหวังว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน 3 วันนี้ จะช่วยสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับทั้งคุณกิจ คุณอำนวย และคุณเอื้อในการสร้างสรรค์งานในวันอื่นๆต่อไปตลอดปี   โดยเน้นการจัดการแบบขยายเครือข่ายและเลือกใช้เครื่องมือต่างๆอย่างเหมาะสม เพื่อปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของคนหน้างาน ทำให้เกิดสำนึกในคุณค่าของคนและมีความสุขในการทำงาน

 

          ประเด็นซักถาม/เสนอแนะ

               ไม่มี

 


วิจารณ์ พานิช
๕ ส.ค. ๕๔

                  

หมายเลขบันทึก: 457439เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2011 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาตอาจารย์นำไปเผยแพร่ต่อในการไปทำกระบวนการเชียร์ๆ...R2R นะคะ

ขอบพระคุณค่ะ

กะปุ๋ม

Large_zen_pics_007 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท