เผชิญความตายอย่างสงบ ตอน 7: Meanings of Illnesses


Meanings of illness

ในการอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบนี้ มีแบบฝึกหัดหลายประเภทและมี role-play หรือการเล่นบทบาทสมติ 2 ชุด

หลวงพี่ไพศาลชี้แจงก่อนเริ่ม session role-play ว่ามีความแตกต่างจากบทละครทั่วๆไปนิดหน่อยได้แก่ role-play ไม่มีบทให้ชัดเจน มีแต่ "บริบท" ของตัวละคร หรือ background ของเรื่องราว อาจจะมี "บุคลิก" ให้นิดหน่อยโดยที่ตัวผู้เล่นจะเป็นผู้ใส่รายละเอียด หลังจากทำความเข้าใจในตัวละครด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องเล่นโดยใช้อุปกรณ์สมจริงสมจังมากก็ได้ แต่มีก็ไม่เสียหาย อาจจะสั้น หรืออาจจะยาว ส่วนใหญ่จะมีไว้เพื่อโปรแกรมการเรียนรูเพื่อให้เข้าถึงความรู้สึก นึกคิด อารมณ์ และบริบทจริงให้มากที่สุด คล้ายๆ อตฺตานํ อุปมํ กเร คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพียงแต่เราเอาใจตัวละครมาใส่กับใจของเราออกมาเป็นพฤติกรรม

 บท role-play

แบ่งสมาชิกออกเป็นสองกลุ่ม แยกกันอธิบายโดยกระบวนกร แต่ละกล่มจะได้รับมอบหมายให้เล่นเป็นตัวเพื่อนสนิทของผู้ป่วย หรือตัวผู้ป่วยเอง

  • ผู้ป่วยเป็นหญิงวัย 30-40 ปี มีบุตรสองคน อายุ 14 และ 9 ปี สามีทำงานต่างจังหวัด ขณะนี้ผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย กำลังกังวลเรื่องลูกสองคนไม่มีคนดูแล ต้องฝากน้องสาวที่เป็นน้าของลูกดู ซึ่งเด็กๆก็ไม่ค่อยสนิท สามีกำลังทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ งานกำลังเจริญก้าวหน้า และกำลังถูกพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเป็นหวหน้าฝ่ายทำให้ไม่ค่อยมีเวลา

  • เพื่อนเป็นเพื่อนสนิท รู้จักทั้งตัวผู้ป่วยและสามี เคยพบหน้าลูกๆของคนไข้และรู้จักพอสมควรทั้งสองคน

เมื่อทำความเข้าใจบทเสร็จก็จับคู่กัน สนทนาในบริบทที่เพื่อนมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล ประมาณ 15 นาที

ผมเล่นเป็นบทเพื่อน พอเดินเข้าไปในที่ประชุม ก็พบ "คนไข้" นอนกันกระจัดกระจายเต็มห้อง มีเบาะคนเยี่ยมวางอยู่ข้างๆ แต่ละคนนอนหน้าเศร้าหมอง บางคนเล่นหนัก ถึงกับนอนหันหลังเข้าฝาเลยทีเดียว ผมก็เดินไปหาคู่ของผมที่กำลังนอนหน้าตูมอยู่ (สงสัยกำลังท่องบท) ก็เข้าไปนั่งข้างๆ

"สวัสดี เธอ ฉันมาเยี่ยมจ้ะ"

"สวัสดี" ตอบห้วนๆ สั้น หน้าตายัง apathy เหมือนเดิม

"เป็นยังไงบ้างจ๊ะ"

"ก็งั้นๆ" ห้วนลงกว่าเดิม

"นี่มาอยู่ รพ.ตั้งนานแล้วนะ หมอว่ายังไงบ้างละเธอ"

"ก็บอกว่าเป็นยังไง แล้วก็จะรักษายังไง"

"อืม.. แล้วอีกนานไหมล่ะ ที่จะอยู่ รพ."

"นานเหมือนกันจ้ะ"

"เหรอ... แล้วนี่แฟนเธอเขารู้เรืองไหม รู้แผนการอะไรไหม?"

"ก็รู้ แต่เขามีงานยุ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ กำลังจะทำงานเพื่อเลื่อนขั้น เลยไม่มีเวลามาหาฉันที่นี่"

"อือ.. เหรอจ๊ะ แล้วนี่ลูกๆเธออยู่กับใครล่ะ?"

"ก็อยู่กับน้าเขาแหละ แต่เขาก็มีครอบครัวของเขาต้องดูแลด้วย"

ก็เป็นการพูดคุยไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าปัญหาอยู่ที่ห่วงลูก ไม่มีคนคอยดูแล สามีก็ดูจะมีปัญหาติดพันงานที่กรุงเทพฯ คนไข้คิดไปคิดมาหาทางออกไม่ได้ ก็มีอาการเศร้าซึม และท้อแท้ หลังจากนั้นก็เข้ากลุ่มใหญ่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

คุณเล็กก็ถามคนไข้ก่อน ว่ามีใครคิดว่าประทับใจ หรือคิดว่าเพื่อนคนไหนทำค่อนข้างดีบ้าง และเพราะอะไร (ผมติดอันดับไปด้วย อิ อิ) เหตุผลหรือพฤติกรรมที่ชอบมีหลายอย่าง ได้แก่

  • เพื่อนจับตัว (อันนี้ผมไม่ได้จับ เพราะเกรงใจ คนไข้เป็นผู้หญิง แต่ถ้าเป็นคนไข้จริงๆ บางทีผมก็จับได้เหมือนกันครับ)
  • เพื่อนอารมณ์ดี นำพาอารมณ์ดี (อารมณ์เป็น contagious disease อย่างนึงครับ ระบาดได้)
  • เพื่อนฟังโดยไม่เซ้าซี้ พอเราอารมณ์ไม่ดี หยุดนิ่งเงียบ ก็หยุดเงียบตาม ไม่พยายามซักไซ้ไล่เลียง สักพักถ้าเราไม่พูดต่อ เขาก็หาเรื่องอื่นมาคุยต่อไปได้ คิดว่าดี
  • เพื่อนสัญญาว่าจะช่วยดูลูกให้ ดีใจ
  • เพื่อนแนะนำให้ตนเองเป็นคนแก้ไขปัญหา หรือมองปัญหาของตัวเองจากหลายๆมุม ไม่เข้ามาก้าวก่าย คิดว่าดีเพราะเราเองที่รู้ปัญหาต่างๆมากที่สุด บางทีถ้าเขาพยายามแนะ ก็จะติดโน่นติดนี่เรื่องของเรา ที่เขาก็ไม่ทราบ

คราวนี้มีอะไรบ้างที่คิดว่าเพือ่นน่าจะทำแล้วยิ่งดียิ่งขึ้น

  • ถ้าทำให้เป็นรูปธรรม เช่น บอกว่าจะโทรไปตามสามี ก็ไปโทรจริงๆ เอาข้อมูลต่างๆมายืนยัน
  • แสดงตนว่ารู้จักและเข้าใจตนเองจริงๆ (อาจจะมีคนเข้าใจบทไม่แตก) เพื่อนบางคนพูดออกมาแล้วเหมือนไม่รู้จักอะไรของเราเลย ก็เลยไม่อยากจะปรึกษาอะไร

Meanings of Illness

คำนี้สำคัญเอามากๆสำหรับ palliative care หรือการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวม ดังที่กล่าวไว้ในหลายๆที่มากแล้วว่า การสือสาร หรือภาษานั้นมีข้อจำกัดเยอะมาก ประสาทสัมผัสเราไม่ได้แสดงอะไรที่ ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ และประสาทการแปลผลของเราก็มีแนวโน้มที่บิดเบี้ยวออกไปจากของคนอื่น หลักของ palliative care นั้น ถ้าเราจะช่วยใครสักคนหนึ่ง เราควรจะ "เข้าใจ" เขาก่อน มิฉะนั้นจะเหมือนกับการเกาหลังโดยไม่รู้ที่คัน ยิ่งเกายิ่งหงุดหงิด ทั้งคนเกา และคนถูกเกา และยิ่งคันเพิ่มขึ้น ไม่ลดลง

เช่น เวลาเราพูดว่า "อร่อย" เราไม่สามารถบรรยายได้ว่า "อร่อยยังไง" อย่างมากสุด ก็แสดงว่าเราชอบมาก มันนุ่ม ลื่น มัน ฯลฯ สุดบรรยาย เพราะคนฟังก็จะ "ไม่ได้" เข้าใจอะไรมากมาย คำว่า นุ่ม ลื่น มัน ก็จะมีความหมายเฉพาะสำหรับแต่ละคนไป

ดังนั้นเราจะต้องเพิ่ม sensitivity ในการรับรู้ให้เข้มข้นขึ้นเยอะในการทำ palliative care แสวงหา มองหา ค้นหา clues ที่คนไข้พยายามจะ (แอบ) สื่อสารกับเราตลอดเวลา แม้แต่ clue ที่อาจจะฟังดูไม่สำคัญ แต่อาจจะเป็นการเคาะประตูเพื่อนำไปสู่ข้อมูลที่สำคัญที่สดได้ หากเรามีความไวเพียงพอที่จะรับรู้และจับมาสานต่อไป

ภาษาเบื้องต้นมีความบิดเบี้ยวได้อย่างที่เราเองอาจจะนึกไม่ถึง เคยบอกคนไข้คนนึงว่า "คุณเป็นเนื้อร้าย" คนไข้ทำหน้าตาโล่งอกสุดขีด บอกว่า "โล่งอกไปที นึกว่าเป็นมะเร็ง!!" หรือคนไข้บางคนที่เราบอกไปว่าเป็นมะเร็ง ก็สังเกตเห็นหน้าตาเฉยๆไม่มีความรู้สึกอะไร เลยถามต่อว่าพอจะทราบไหมว่ามะเร็งเป็นอะไร เขาก็บอกมาเลยว่า "ไม่เข้าใจ"

นั่นแค่คำ "วินิจฉัย" อย่างเดียวนะครับ ยังมีมิติอื่นๆของ meaning of illness อีกเยอะ ได้แก่ มิติทางอารมณ์ ทางครอบครัวหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และมิติทางจิตวิญญาณว่าเจ็บป่วยครั้งนี้มีผลกระทบต่อความเป็น "ตัวตน" ของเขาอย่างไรกันบ้าง การประเมินทาง palliative care จึงจำเป็นต้องอาศัยความไว้วางใจถึงที่สุด อาศัยความอดทน ความช่างสังเกต อยากเรียนรู้ อยากรู้จักคนไข้ของเราอย่างถ่องแท้ให้มากที่สุด ความมานะพยายาม ตั้งแต่แรกพบ จนอีกหลายๆครั้งหรือทุกครั้งที่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้ เรากระตือรือร้นที่จะได้ข้อมูล ได้รู้จัก

ตรงนี้ต้องเข้าใจนิดนึงว่า การ ได้ข้อมูล ไมจำเป็นต้องได้มาโดยการซักถามแบบ formal เพียงอย่างเดียว เราได้จากการ ดู ฟัง เคาะ คลำ เหมือนๆกับการตรวจร่างกายเหมือนกัน บางที่เราทราบว่าคนไข้กลัวด้วยการสัมผัสมือเท้าว่าเย็นเฉียบ เราก็รู้ว่าที่ปากบอกว่าไม่กลัวๆนั้น กำลังกลัวอย่างยิ่ง เราสามารถ "สังเกต" สีหน้า แววตา ก็ได้ข้อมูลมาเป็นจำนวนมากได้

เพื่อที่จะนำไปใช้ในการร่วมรักษาคนไข้

หมายเลขบันทึก: 85382เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2007 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท